Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ปัญหายุโรปจบแล้วหรือ ติดต่อทีมงาน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้น 5-6% หลังจากผู้นำยุโรปประชุมกันและประกาศว่าได้ตกลงกันในประเด็นหลัก 3 เรื่อง

คือ 1. ให้เอกชนลดหนี้ให้กับประเทศกรีกโดย “สมัครใจ” 50% ของมูลหนี้ที่ถืออยู่

2. ตกลงให้ธนาคารในยุโรปเพิ่มทุนสำรองขั้นที่หนึ่งให้ไม่ต่ำกว่า 9% โดยจะให้พยายามแสวงหาทุนด้วยตัวเองก่อนและหากทำไม่ได้ก็ให้รัฐบาลของประเทศตนเพิ่มทุนให้หากรัฐบาลไม่มีเงินก็จะมีกระบวนการขอเงินจากกองทุน EFSF และ

3. สำหรับกองทุน EFSF มูลค่า 4.4 แสนล้านยูโรนั้น ซึ่งปัจจุบันมีวงเงินที่ยังไม่มีภาระผูกพัน 2.4 แสนล้านยูโรนั้น ให้สามารถกู้ (leverage) ให้ได้เม็ดเงินทั้งสิ้นอีก 1 ล้านล้านยูโร โดยเงินดังกล่าวจะใช้แทรกแซง ซื้อหรือค้ำประกันพันธบัตรของรัฐบาลยูโรที่มีสถานะอ่อนแอให้มีสภาพคล่องเพียงพอและไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยที่สูงเกินไป


ผู้ที่มองโลกในแง่ดีตีความว่ามาตรการข้างต้นเป็น “ข่าวดี” สำหรับตลาดหุ้นเพราะเป็นมาตรการที่ไปในทิศทางที่ถูกต้องคือ ลดหนี้ให้กรีก เพิ่มทุนให้ธนาคารและปกป้องรัฐบาลประเทศที่อาจมีปัญหา เช่น สเปนและอิตาลี ที่สำคัญคือเป็นการหลีกเลี่ยงสภาวะวิกฤติ เช่น กรณีที่สหรัฐปล่อยให้เลแมน บราเดอร์สล่มสลาย จนนำโลกเข้าสู่สภาวะถดถอยในปี 2009 นอกจากนั้นตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐ ได้แก่จีดีพีไตรมาส 3 ก็คาดว่าจะขยายตัวสูงถึง 2.5% เมื่อเปรียบเทียบกับประมาณ 1% ในครึ่ง แรกของปีนี้ ทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐเองก็มีแนวโน้มว่าจะไม่เกิดภาวะถดถอยดังที่เคยกังวล คำถามคือเมื่อหุ้นทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้น 15-16% ในเดือนตุลาคมและหุ้นไทยเองก็ปรับกลับมาใกล้ 1000 หมายความว่าปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาของยุโรปนั้นได้รับการแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จแล้วหรือไม่ และหากยังไม่เป็นเบ็ดเสร็จ อย่างน้อยก็จะไม่ต้องห่วงว่าจะเกิดสภาวะวิกฤติขึ้นในอนาคต ตลอดจนวางใจได้ว่าตลาดหุ้น ค่าเงิน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ฯลฯ จะลดความผันผวนและกลับสู่สภาวะปกติหรือไม่


คำตอบในใจของผมคือ “ไม่” เพราะหากวิเคราะห์อย่างละเอียดแล้วจะเห็นว่ามาตรการแก้ปัญหาอย่าง “เบ็ดเสร็จ” (comprehensive) ของผู้นำยุโรปเมื่อ 29 ต.ค.นั้นยังมีจุดอ่อนอยู่มาก ดังนั้นผมจึงเชื่อว่าปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรปจะปะทุขึ้นมาได้อีกใน 2-3 เดือนข้างหน้าเป็นอย่างช้า และในครั้งต่อไปน่าจะรุนแรงมากกว่าครั้งนี้ด้วย 2 เหตุผลหลักๆ คือ

ประการที่ 1. ครั้งหน้าปัญหาอาจจะเกิดขึ้นกับประเทศอิตาลี ซึ่งมีหนี้สาธารณะมูลค่า 1.9 ล้านล้านยูโร ซึ่งมากกว่าหนี้ของกรีกประมาณ 4-5 เท่า และ

2. มีความเป็นไปได้สูงว่าคณะกรรมการร่วมเพื่อแก้ปัญหาหนี้สาธารณะของสหรัฐก็จะไม่สามารถหาข้อสรุปได้ภายใน 23 พฤศจิกายน ตามที่ได้ขีดเส้นตายเอาไว้ ทำให้เกิดความไม่แน่นอนและอาจนำไปสู่การลดอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอีกรอบ การคาดการณ์นี้เป็นความคิดส่วนตัวของผมเองที่เชื่อว่าปัญหาหนี้สาธารณะทั้งของยุโรปและสหรัฐยังไม่ได้รับการแก้ไขที่ปัจจัยพื้นฐาน จึงมองว่าเป็นเพียงการซื้อเวลาเท่านั้น


ศ. Ken Rogolf แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและอดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟ ผู้ซึ่งเขียนหนังสือเรียบเรียงปัญหาหนี้สาธารณะของโลกใน 800 ปีที่ผ่านมา (หนังสือชื่อว่า “This Time is Different”) มองว่าการตอบรับของตลาดหุ้นต่อข้อตกลงของผู้นำยุโรปเมื่อวันที่ 29 ต.ค.จะเป็นเพียงความพึงพอใจชั่วคราว เพราะยังไม่ได้ตอบโจทย์สำคัญ 3 ข้อคือ

1. หากใช้เงินสกุลเดียวกันทั้ง 17 ประเทศแล้วก็จะต้องใช้นโยบายการคลัง (และวินัยทางการคลัง) ที่รวมศูนย์ด้วยจะปล่อยให้มีนโยบายการคลังที่เป็นอิสระจากกันไม่ได้ แต่ผู้นำของกลุ่มเงินยูโรก็ยังไม่ได้มีมาตรการชัดเจนในการรวมอำนาจทางการคลัง  

2. การเพิ่มทุนธนาคาร ซึ่งสรุปตัวเลขที่ 106,000 ล้านยูโร แต่ก่อนหน้าไอเอ็มเอฟประเมินว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจสูงถึง 2 แสนล้านยูโร แปลว่าธนาคารน่าจะเพิ่มทุนไม่เพียงพอและเนื่องจากกลไกในการเพิ่มทุนมีความไม่แน่นอนสูงและยืดเยื้อ ธนาคารก็น่าจะหลีกเลี่ยงการเพิ่มทุนทำให้จะมีปัญหาทุนไม่เพียงพอในระยะยาว ทำให้ธนาคารไม่สามารถทำหน้าที่ในการระดมเงินฝากและสินเชื่ออย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ขาดแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และ

3. ซึ่งเป็นข้อที่สำคัญที่สุดคือผู้นำยุโรปไม่ได้มีมาตรการใดๆ ที่จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจหรือกระตุ้นให้เศรษฐกิจยุโรปขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน ทั้งนี้การแก้ปัญหาหนี้สินนั้น ตัวแปรที่สำคัญที่สุดคือการขยายตัวของเศรษฐกิจเพราะหากเศรษฐกิจขยายตัวได้ดี หนี้ต่อจีดีพีก็จะลดลง นอกจากนั้นเมื่อจีดีพีขยายตัวดี รัฐบาลก็เก็บภาษีได้มากขึ้น ทำให้สามารถจ่ายคืนหนี้ได้อีกด้วย ท่านผู้อ่านที่ทำธุรกิจจะทราบดีว่าหากบริษัทมีหนี้สินมากและต้องพยายามปรับโครงสร้างหนี้ให้ประสบความสำเร็จ คือการเชื่อมั่นได้ว่ายอดขายของบริษัทจะขยายตัวได้ดีหากยอดขาย (หรือจีดีพี) ไม่ขยายตัว การปรับโครงสร้างหนี้จะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ยาก


ในกรณีของยุโรปนั้นจีดีพีโดยรวมคาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 1% ในปีหน้า แต่ประเทศที่น่าเป็นห่วงที่สุดคืออิตาลี เพราะมีหนี้สาธารณะสูงถึง 1.9 ล้านล้านยูโรหรือ 120% ของจีดีพี ในขณะที่การคาดการณ์ล่าสุดเศรษฐกิจจะขยายตัวเพียง 0.7% ในปี 2011 และ 0.6% ในปี 2012 (เดิมทีคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 1.3% ในปี 2012) พร้อมกันนี้รัฐบาลผสมของนายกรัฐมนตรีแบร์ลุสโคนีก็มีปัญหาระหองระแหงจนนายกรัฐมนตรีต้องออกมาปฏิเสธข่าวลือว่าเขาผลักดันข้อเสนอต่อยุโรปว่าอิตาลีจะยอมรัดเข็มขัดทางการคลังเพิ่มขึ้น โดยการให้สัญญากับพรรคร่วมรัฐบาลว่าจะยอมลาออกจากตำแหน่งในต้นปีหน้าเพื่อเปิดทางให้มีการเลือกตั้งเร็วขึ้นอีก 1 ปี ในขณะเดียวกันข้อเสนอของนายกอิตาลีก็ถูกต่อต้านจากสหภาพแรงงานใหญ่ 2 แห่ง ซึ่งประกาศว่าจะเดินขบวนต่อต้านมาตรการดังกล่าว


ประเด็นคือหากมีความปั่นป่วนดังกล่าว การขยายตัวของจีดีพีที่คาดการณ์เอาไว้ที่ 0.6% นั้นก็อาจจะทำไม่ได้ เช่นกรณีของประเทศกรีกที่จีดีพีหดตัวลงติดต่อกันมา 3 ปีแล้ว ในกรณีของอิตาลีนั้น หากจีดีพีขยายตัว 0.6% และหากเงินเฟ้อเท่ากับ 2.4% ก็แปลว่าจีดีพีรวมเงินเฟ้อจะขยายตัว 3% ในขณะที่หนี้สาธารณะนั้นต้องจ่ายดอกเบี้ยอยู่ในสภาวะที่จะขยายตัวกว่า 2 เท่าของจีดีพี กล่าวคือมีหนี้ 120% ของจีดีพีที่ดอกเบี้ย 6% แปลว่ามูลหนี้เพิ่มขึ้น 7.2% ของจีดีพีทุกปีและจีดีพีขยายตัวเพียง 3% ต่อปี หากเป็นเช่นนี้ปัญหาก็จะมีแต่รุนแรงขึ้น


ในกรณีของกรีกนั้นแม้จะได้รับการลดหนี้ แต่ปัญหาก็ยังหนักหน่วงอย่างมาก กล่าวคือเดิมหนี้สาธารณะจะพุ่งขึ้นสูงถึง 180% ของจีดีพีในปีหน้า แต่เมื่อมีการลดหนี้ ในกรณีที่ดีที่สุดหนี้สาธารณะจะค่อยๆ ลดลงเหลือ 120% ของจีดีพีในปี 2020 กล่าวคือกรณีของกรีกนั้นการจะกลับมา “ดี” เหมือนอิตาลีในปัจจุบันจะต้องรอไปอีก 9 ปี ซึ่งผมไม่ค่อยจะแน่ใจว่าประชาชนกรีกจะรับสภาพความยากลำบากดังกล่าวได้อีกนานเท่าใด เพราะเศรษฐกิจตอนนี้ก็ย่ำแย่ อัตราการว่างงานเท่ากับ 16.7% โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 15-24 ปีนั้นมีอัตราการว่างงานสูงถึง 42.9% และหนี้สาธารณะนั้นคำนวณออกมาเท่ากับ 48,000 ยูโรต่อหัว แปลว่าประชาชนกรีกแต่ละคนนั้นต้องแบกหนี้สาธารณะกว่า 2 ล้านบาทครับ

www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/supavut/20111107/417093/ปัญหายุโรปจบแล้วหรือ.html

จากคุณ : ขอบฟ้าบูรพา
เขียนเมื่อ : 7 พ.ย. 54 10:08:20




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com