Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
หนังสือการลงทุน/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ติดต่อทีมงาน

Link : http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=50579
Credit : คุณ little wing และ ดร.นิเวศน์ ครับ ^^"


โลกในมุมมองของ Value Investor                    26 พฤศจิกายน 54
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


ในระยะสองสามปีที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ต้องถือว่าเป็นยุคทองของการลงทุนในตลาดหุ้น  เพราะผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์นั้นสูงลิ่วเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์  ผลจากความเฟื่องฟูของตลาดทำให้นักลงทุนจำนวนไม่น้อยสามารถทำกำไรจากตลาดหุ้นมหาศาล   บางคนกลายเป็นคนร่ำรวยหรือเป็น “เศรษฐี”  จากการซื้อขายหุ้นทั้ง ๆ  ที่ไม่ได้เริ่มจากเงินต้นมากมาย   หลายคนอายุยังน้อยและไม่ได้ลงทุนมานานนัก  หุ้นกลายเป็น “สิ่งมหัศจรรย์”  ที่สามารถทำให้คนรวยได้อย่างง่ายดายโดยที่ไม่ต้องทำงานหนัก  “ฮีโร่”  นักลงทุนเกิดขึ้นคนแล้วคนเล่า  เช่นเดียวกับ  “อัจฉริยะ” ด้านการลงทุน  ทั้งหมดนี้ได้ดึงดูดให้ผู้คนจำนวนมากหันมาสนใจการลงทุนในหุ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน  และสิ่งที่สะท้อนให้เห็นก็คือ  “หนังสือการลงทุน”  ที่ออกมามากมายและมียอดขายติดอันดับหนังสือขายดีอย่างต่อเนื่อง  บางช่วงและในบางร้านนั้น  ว่ากันว่าในจำนวนหนังสือขายดี 20 อันดับ  เป็นหนังสือการลงทุนถึง 4-5 เล่ม  ลองมาดูว่าหนังสือเหล่านี้เป็นอย่างไร

หนังสือการลงทุนที่ขายดีและมีจำนวนมากที่สุดก็คือ  หนังสือ  “แนว  VI”  หรือแนวเน้นคุณค่า   เพราะนี่คือแนวการลงทุนที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงเนื่องจากเป็นวิธีการลงทุนที่มีเหตุมีผลสามารถอธิบายให้เข้าใจได้ตามหลัก  “วิทยาศาสตร์”  แต่ที่สำคัญก็คือ  เป็นแนวการลงทุนที่ใช้โดยนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ “สูงที่สุด”  ของโลก อย่าง  วอเร็น บัฟเฟตต์  ยิ่งไปกว่านั้น  นี่คือวิธีการลงทุนที่ Value Investor ของไทยจำนวนมากใช้แล้วประสบความสำเร็จ  สามารถสร้างผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกำจนหลายคนกลายเป็นเศรษฐีและบางคนก็เขียนเป็นหนังสือเผยแพร่วิธีการที่ตนเองใช้แล้วประสบความสำเร็จ

กลุ่มหนังสือแนว VI กลุ่มแรกเป็นหนังสือแปลที่มักจะเรียบเรียงจากหนังสือที่มีชื่อเสียงขายดีระดับโลก  จำนวนมากเน้นที่หลักการและวิธีการลงทุนของนักลงทุนมืออาชีพ  เช่น  วอเร็น บัฟเฟตต์  ปีเตอร์ ลินช์  เป็นต้น  นอกจากนั้น  ก็มีหนังสือที่เขียนโดยนักวิชาการที่ศึกษาการลงทุนและส่วนมากอาจจะเกี่ยวข้องกับการลงทุนด้วย  เช่น  หนังสือของ เบน เกรแฮม  และฟิลิปส์ ฟิสเชอร์ เป็นต้น  หนังสือเหล่านี้  ส่วนใหญ่แล้วก็ให้ความรู้และหลักการที่ผมคิดว่าเป็นมาตรฐานสูง   ได้รับการพิสูจน์มาช้านานในระดับโลก  อย่างไรก็ตาม  บ่อยครั้งเจ้าตัวไม่ได้เขียนเอง  ดังนั้น  การวิเคราะห์ตีความจึงอาจจะผิดเพี้ยนไปได้และทำให้เราที่เป็นคนอ่านเข้าใจผิดไปได้เหมือนกัน  นอกจากนั้น  การเป็นหนังสือแปลก็อาจจะทำให้ความสละสลวยและความราบรื่นของภาษาลดลง  เช่นเดียวกัน  สภาพแวดล้อมที่แตกต่างรวมถึงตัวหุ้นที่อาจจะกล่าวถึงก็เป็นสิ่งที่  “ไกลตัว”  ทำให้ความ “น่าอ่าน” นั้นลดลงไป  อย่างไรก็ตาม  หนังสือแปลนั้น  มักจะมีการ “คัดสรร”  มาหลายชั้น  ดังนั้น  ความ “เสียหาย” หรือ “เสียเวลา” จากการอ่านน่าจะมีไม่มาก

หนังสือ  “แนว  VI”  ที่เขียนขึ้นเองโดยนักเขียนไทยนั้นเริ่มจะมีมากขึ้น  ความที่เขียนโดยคนไทย  และเขียนโดยอิงและใช้ข้อมูลในตลาดหุ้นไทยทำให้หนังสือนั้นน่าสนใจ  เหนือสิ่งอื่นใด  เราคิดว่านี่คือหนังสือที่บอกวิธีที่น่าจะใช้ได้กับหุ้นไทยมากกว่าหนังสือแปลที่อิงกับหุ้นและตลาดหุ้นต่างประเทศเป็นหลักและนี่คือจุดแข็ง   อย่างไรก็ตาม  นักเขียนไทยนั้น  ส่วนใหญ่มักจะเป็น  “นักเขียน”  ดังนั้น  สิ่งที่เขียนจึงมักจะมาจากการศึกษา  “ศาสตร์ด้านการลงทุน”  มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของประสบการณ์จริงในการลงทุน     แต่ปัญหาใหญ่ก็คือ  มันไม่มี  “ศาสตร์” ที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้โดยไม่ต้องรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น   ดังนั้น   การเขียนเรื่องการลงทุนจำนวนไม่น้อยจึงมักจะเป็นการใช้หลักการที่เป็นที่ยอมรับหลาย ๆ  อย่าง  ผสมผสานกับจินตนาการของผู้เขียน   ถ้าเราอ่านโดยคิดว่านั่นคือสิ่งที่ถูกต้องและเราเชื่อ  ความคิดเราก็จะผิดไปโดยไม่รู้ตัว

แม้แต่นักเขียนที่เป็นนักลงทุนที่  “ประสบความสำเร็จสูง”   (รวมถึงผมเองด้วย)  ก็ไม่ได้แปลว่าจะทำให้เนื้อหาและสิ่งที่เขียนเป็นสิ่งที่ถูกต้องจริงแท้แน่นอน   เหตุผลก็คือ  ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นอาจจะเป็นเรื่อง  “ฟลุ๊ก”  หรืออาจเป็นเรื่อง “เฉพาะกาล”  หรือเป็นเรื่องที่  “รับความเสี่ยงมากกว่าปกติ” นั่นคือ  วิธีการหรือกลยุทธ์ที่อ้างว่าสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมนั้น  อาจจะดีเพราะเป็นช่วงเวลาที่ตลาดหรือหุ้นบางประเภทเหมาะสมกับกลยุทธ์แบบนั้น  แต่ถ้านำไปใช้ในอีกสถานการณ์หนึ่งผลตอบแทนก็อาจจะไม่ดีก็ได้   ตัวอย่างเช่น  หุ้น “VI”  นั้น  อาจจะให้ผลตอบแทนสูงในช่วงที่ผ่านมา 10 ปี  แต่ในอนาคต 10 ปีข้างหน้าอาจจะให้ผลตอบแทนต่ำก็ได้  เหนือสิ่งอื่นใด  ตลาดหุ้นที่ก่อตั้งมายาวนานอย่างในอเมริกาก็พบว่าในบางช่วงบางเวลานั้น  หุ้น  “VI”  ก็ให้ผลตอบแทนที่ย่ำแย่เมื่อเทียบกับหุ้นแบบอื่นเหมือนกัน   ดังนั้น  การอ่านหนังสือที่เขียนโดยนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จในตลาดหุ้นไทยจริง ๆ  ก็ไม่จำเป็นที่เราจะต้องเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์  สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ  เขาสำเร็จจริงหรือไม่  ทำมานานแค่ไหน  มีโอกาสแค่ไหนที่มันเป็นเรื่องของความบังเอิญ  หรือเป็นเรื่องของการรับความเสี่ยงที่สูงเกินไป  ต่าง ๆ  เหล่านี้ เป็นต้น

หนังสือกลยุทธ์การลงทุนอีกกลุ่มหนึ่งที่วางขายกันมากก็คือแนว  “เท็คนิค”  นี่คือหนังสือที่บอกว่าจะใช้จังหวะเข้าซื้อขายหุ้นตอนไหน  ซึ่งก็มักจะบอกถึงจังหวะ  “เข้าตลาด”  นั่นคือเข้าไปซื้อหุ้นในตลาดโดยดูจากดัชนีและปริมาณการซื้อขายหุ้นในตลาดโดยรวม  และจังหวะเข้าซื้อหุ้นเป็นรายตัวโดยดูจาก “สัญญาณ”  ต่าง ๆ  เกี่ยวกับตัวหุ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นตัวนั้นที่ผ่านมา  

ปัญหาของหนังสือแนวเท็คนิคก็คือ  คนมักจะเขียนจาก “สิ่งที่ผ่านมาแล้ว”  ที่สอดคล้องกับความคิดและวิธีการของตน  เพื่อที่จะสรุปว่าแนวทางของตนนั้นถูกต้อง    ส่วนที่ไม่ตรงและอาจจะขัดแย้งกับวิธีที่อธิบายซึ่งอาจจะมีมหาศาลนั้นไม่ถูกกล่าวถึง  ดังนั้น  ถ้าเราทำตามหรือนำวิธีการนั้นไปใช้กับหุ้นตัวใหม่หรือในสถานการณ์ใหม่เราอาจจะผิดได้ง่าย ๆ    แม้แต่หลักการที่มีการแปลมาจากหนังสือต่างประเทศเองนั้น  ก็มักจะ “ไม่นิ่ง”  นั่นคือ  ในช่วงเวลาหนึ่งวิธีหนึ่งอาจใช้ได้ผล   แต่เมื่อเวลาผ่านไปหรือในอนาคต  วิธีนั้นก็ใช้ไม่ได้อีกต่อไป   ดังนั้น  หนังสือเกี่ยวกับการลงทุนแนวเท็คนิคผมคิดว่าคนอ่านจะต้องเข้าใจว่ามันอาจจะไม่ใช่ของจริงและมีวงจรชีวิตที่ค่อนข้างสั้น

หนังสือแนวสุดท้ายที่ก็มีการเขียนกันมากก็คือ  แนว  “การบริหารเงินส่วนบุคคล”  หนังสือแนวนี้จะพูดถึงการออมเงินและจัดสรรเงินลงทุนตามหลักวิชาการที่มีหัวใจสำคัญอยู่ที่การกระจายความเสี่ยงของการลงทุนโดยการกระจายการลงทุนไปในหลาย ๆ  ทรัพย์สินเพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทน   นี่คือหนังสือที่ไม่ได้เน้นที่ “นักลงทุนผู้มุ่งมั่น”  ที่อยากจะรวยจากการลงทุน  แต่เน้นที่คนชั้นกลางธรรมดาที่ต้องการผลตอบแทนที่ดีขึ้นกับเงินที่ตนเองเก็บออมเพื่อเอาไว้ใช้ยามเกษียณ  หนังสือแนวนี้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นประโยชน์โดยเฉพาะทำให้เราเข้าใจถึงการบริหารเงินที่เน้นความปลอดภัยและใช้ชีวิตที่ไม่เครียดกับการลงทุน

ข้อสรุปสุดท้ายของผมก็คือ  การอ่านหนังสือการลงทุนนั้น  เราควรจะต้องเลือกอ่านอย่าง  “ชาญฉลาด”  เพราะถ้าเราเลือกผิดหรือไม่เข้าใจข้อจำกัดต่าง ๆ   เราอาจจะเสียเวลา  หรือถ้าเลวร้ายเราก็จะได้ความรู้ที่ผิดซึ่งจะเป็นอันตรายกับการลงทุนของเรา  การเลือกหนังสือลงทุนนั้น  ผมคิดว่าเราต้องทำเหมือนกับการเลือกหุ้นลงทุนนั่นคือ  ต้องเลือกหนังสือให้ถูก  ถ้าทำได้  ความสำเร็จของเราก็เกินครึ่งไปแล้ว      

(ปล. ....เกือบลืมมาแปะ เล่นเกมส์เพลินไปหน่อย ฮ่าฮ่าฮ่า )

จากคุณ : มิ่งกลิ้ง
เขียนเมื่อ : 26 พ.ย. 54 23:48:19




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com