เตือนภัยยูโรโซนเสี่ยง"แตก" เจพีมอร์แกน-มูดี้ส์-ประสานเสียง ไม่เชื่อถกสุดยอดได้ผล-แนะเลิกถือยูโร
|
|
วาณิชธนกิจและเรตติ้ง เอเยนซี่ชื่อดังประสานเสียงเตือน ความเสี่ยงที่ยูโรโซนจะแตกเป็นเสี่ยงมีสูงมากขึ้นตามลำดับ มูดี้ส์-เจพีมอร์แกนชี้มีโอกาสถึง 20 เปอร์เซ็นต์แล้ว
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม สำนักข่าวบลูมเบิร์ก และ หนังสือพิมพ์ วอลสตรีท เจอร์นัล รายงานว่า บรรดานักเศรษฐศาสตร์ของวาณิชธนกิจหลายแห่ง อาทิ เจพี มอร์แกน, โนมูระ อินเตอร์เนชั่นแนล, มอร์แกน สแตนลีย์, ยูบีเอส รวมถึงบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลกอย่าง มูดี้ส อินเวสเตอร์ เซอร์วิส และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ออกมาเตือนเป็นเสียงเดียวกันว่าด้วยท่าทีที่ชัดเจนมากที่สุดว่า กลุ่มประเทศยูโรโซนเสี่ยงต่อการแตกแยกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ 2 วันก่อนหน้าที่บรรดาแกนนำของสหภาพยุโรป (อียู) 27 ประเทศ มีกำหนดเปิดประชุมสุดยอดเพื่อทำความตกลงในแนวทางแก้ปัญหาวิกฤตตราสารหนี้ในเขตยูโรโซนทั้งระยะสั้นและระยะยาวขึ้นที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ในวันที่ 9 ธันวาคม รายงานข่าวระบุว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เร่งรัดให้รัฐบาลอียูและธนาคารกลางสหภาพยุโรป (อีซีบี) เร่งมือในการตอบสนองต่อภาวะวิกฤตให้มากขึ้น ทั้งนี้ มูดี้ส์ระบุชัดเจนในวันเดียวกันนี้ว่าวิกฤตลุกลามออกไปรวดเร็วมาก กลายเป็นภัยคุกคามต่ออันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ทั้งหมดของภูมิภาค ความเสี่ยงของเครดิตในยูโรโซนในระยะสั้นมีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ หากไม่มีการดำเนินการใดๆ เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดและความเคลื่อนไหวของผู้กำหนดนโยบายยังเป็นที่กังขากันอยู่ว่าเคลื่อนไหวไม่เร็วพอในการสนองตอบต่อปัญหาอยู่ต่อไป
นายปีเอร์ คาร์โล พาโดอัน หัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ประจำโออีซีดี องค์กรตัวแทนของชาติอุตสาหกรรม 34 ชาติ ระบุว่าถึงตอนนี้ความเคลือบแคลงต่อบรรดาตัวผู้นำยูโรโซนว่าจะสามารถรับมือกับความท้าทายสำคัญที่เผชิญหน้าอยู่อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่เพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ความเสี่ยงในทางลบอย่างร้ายแรงจึงยังคงอยู่ และเชื่อมโยงอยู่กับการสูญเสียความเชื่อมั่นทั้งต่อตลาดตราสารหนี้และต่อตัวยูโรโซนเองอย่างแนบแน่น นายพาโดอันระบุด้วยว่า ทางโออีซีดีได้ปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้ง สหภาพยุโรปและของโลกลดลง โดยคาดว่ากลุ่มประเทศสมาชิกของโออีซีดีทั้ง 34 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปจะขยายตัวเพียง 1.6 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ ลดลงจากที่เคยประเมินไว้ว่าอยู่ที่ 2.8 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาสูงมาก
นายโจอาคิม เฟลส์ หัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ของมอร์แกน สแตนลีย์ ย้ำว่า โอกาสที่จะยังคงไม่มีแนวทางแก้ปัญหาที่ครอบคลุมทั้งหมดหลังวันที่ 9 ธันวาคม ยังมีความเป็นไปได้ และทางมอร์แกน สแตนลีย์เองเชื่อว่า ความล้มเหลวดังกล่าวจะนำไปสู่สถานการณ์ที่มืดมนกว่าเดิม ซึ่งในท้ายที่สุดจะลงเอยด้วยการที่ยูโรโซนแตกออกเป็นเสี่ยง ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ของโนมูระ เห็นว่าอีซีบีจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรไม่จำกัดของตัวเองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแตกเป็นเสี่ยงของยูโรโซน ซึ่งตอนนี้ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้อีกต่อไป แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้แล้ว ในส่วนของรายงานล่าสุดที่เผยแพร่ในวันเดียวกันนี้ เจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค. เตือนนักลงทุนให้ลดการถือครองทรัพย์สินที่เป็นยูโรให้เหลือน้อยที่สุดเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยนายจอห์น นอร์มันด์ หัวหน้าทีมยุทธศาสตร์อัตราแลกเปลี่ยนเชื่อว่า ระบบธนาคารของยุโรปอาจล่มสลายและเศรษฐกิจโลกจะถดถอยตามมาถ้าหากยูโรโซนเกิดแตกเป็นเสี่ยงขึ้นมา ซึ่งโอกาสที่จะเป็นไปได้ยังมีแม้ว่าจะไม่สูงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม แต่หากเกิดขึ้นสถานการณ์จะเลวร้ายยิ่งกว่าเมื่อครั้งที่ เลห์แมน บราเธอร์ส ล้มเมื่อปี 2008 อย่างแน่นอน โดยเชื่อว่าค่าเงินยูโร/ดอลลาร์อาจลดลงถึง 15 เปอร์เซ็นต์
ที่มา : matichon http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1323395830&grpid=03&catid=&subcatid=
จากคุณ |
:
BT82
|
เขียนเมื่อ |
:
9 ธ.ค. 54 09:25:53
|
|
|
|