Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
เจาะตำรา "เซียนหุ้นมูลค่า" ยุทธวิธีลงทุน ปี 2550 ติดต่อทีมงาน

อาจเป็นบทความเก่าปี 2550  แต่ยุทธวิธีของเซียนหุ้น "คร.นิเวศน์" ยังใช้ได้ทุกเมื่อ จึงนำมาแชร์ให้อ่านกันคิดว่าคงได้ประโยชน์ และหุ้นทีดร.นิเวศน์เคยลงทุน ส่วนใหญ่ก็ยังถืออยู่นะครับ

เจาะตำรา "เซียนหุ้นมูลค่า" ยุทธวิธีลงทุน ปี 2550 ทางรวย..บนเส้นทาง "เต่า"

แหม! ใคร..? จะเชื่อว่าเล่นหุ้นอย่าง "เต่า" จะชนะ "กระต่าย" ได้ กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ไขปริศนา...แนวคิด และวิธีเลือกหุ้น ของ "แวลูอินเวสเตอร์" ระดับเซียนของเมืองไทย พร้อมเล่ายุทธวิธีการลงทุน ปี 2550 ควรจะ "ซื้อ" หรือ "ถอย" ดี

...เซียนเต่า แต่ละคนคิดอย่างไร ? กับโอกาสท่ามกลางภาวะตลาดหุ้นที่สามารถพลิกผันได้เสมอ

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ต้นตำรับแวลูอินเวสเตอร์ของเมืองไทย เปิดมุมมองว่า วิธีการลงทุนในปีนี้ ควรมองหาหุ้นประเภท บริษัทที่ยิ่งใหญ่ อยู่ในธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ และกำลังเติบโต..แต่ต้องไม่ใช่ยิ่งใหญ่เพราะสัมปทาน ต้องใหญ่ด้วยการทำธุรกิจขึ้นมาเอง

ที่สำคัญ ความยิ่งใหญ่ของหุ้นประเภทนี้..มันยากมากที่จะตกเพียงชั่วข้ามคืน

แต่ทั้งนี้ เศรษฐกิจของประเทศปีนี้อาจจะไม่ค่อยเอื้อต่อการลงทุน แต่ส่วนตัวยังเชื่อว่าหุ้นในกลุ่ม "โมเดิร์นเทรด" คงเป็นกลุ่มที่แข็งแกร่งที่สุด และยังเป็น "เทรนด์" ที่น่าลงทุน

"นักลงทุนควรมองหาหุ้นบริษัทที่ยิ่งใหญ่ ประเภท Great Company เข้ามาในพอร์ต และช่วง 3 ปีที่ผ่านมา..ผมซื้อหุ้นโมเดิร์นเทรดแทบทุกตัว และเกือบทุกตัวที่ซื้อเข้าพอร์ตไว้ก็ขึ้นทั้งหมด และขึ้นเยอะมาก"

แม้ว่าอาจารย์นิเวศน์จะไม่เปิดเผยตัวหุ้น แต่กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ไปแอบสืบมาได้ว่า พอร์ตหุ้นโมเดิร์นเทรดของอาจารย์ อาทิเช่น IT SVOA CENTEL HMPRO SE-ED APRINT และ MINT เป็นต้น

เพียงแต่ว่า หุ้นแต่ละตัวอาจขึ้นในช่วงเวลาที่ต่างกัน บางตัวซื้อแล้วราคาก็ขึ้นทันที แต่บางตัวซื้อแล้วช่วงแรกๆ ราคาแทบไม่กระดิก แต่วิ่งเร็วในช่วงหลัง

ท่านเจ้าสำนักแนะนำว่า ลองไปค้นดูว่ายังมีหุ้นโมเดิร์นเทรดตัวไหนอีกบ้าง..ที่ราคามันยังไม่ขึ้น รีบไปซื้อไว้ซะ เพราะสตอรี่ของหุ้นโมเดิร์นเทรด อีก 10 ปีข้างหน้าก็ยังเติบโตต่อได้

สำหรับคำว่า Great Company หมายถึง บริษัทอันดับ 1 และ 2 มียอดขายเหนือกว่าคู่แข่ง(อันดับรอง) มหาศาล ส่วนหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ บางคนไปมองว่า คือหุ้นที่ยิ่งใหญ่ เป็น Great "แต่คิดผิด" เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ในเมืองไทยมันมีแต่ประเภท Good ..ไม่มีทางเป็น Great ได้

เซียนเต่ายังแนะนำด้วยว่า มีเงื่อนไข 3 ประการ ที่แวลูอินเวสเตอร์ควรใช้เป็นแนวทางหลัก เพื่อตัดสินใจเลือกหุ้นในแต่ละโอกาส

เงื่อนไขแรก เมื่อตลาดหุ้นซบเซา คือ ไม่ค่อยมีคนเล่น วอลุ่มตลาดย่ำแย่ โบรกเกอร์มีอาการร้อนรน แสดงถึงช่วงเวลาที่ดี...ซื้อ (หุ้น) ได้ แต่ต้องเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่ (Great Company) และอยู่ในธุรกิจที่ยิ่งใหญ่

"ซื้อตอนที่ตลาดหุ้นแย่ๆ ยิ่งแย่มากยิ่งน่าซื้อ หุ้นพวกนี้ยังไงเสีย..เดี๋ยวเงินปันผลก็มา"

เงื่อนไขที่สอง ในยามที่อุตสาหกรรมนั้นๆ แย่ลงหรือซบเซา หรือมีเหตุการณ์บางอย่างจนส่งผลต่อยอดขายเริ่มตกลง..เพียงแต่ว่าภาพเศรษฐกิจยังดี

"ถ้าตลาดหุ้นดี แล้วบังเอิญอุตสาหกรรมนั้นไม่ดี แต่เรารู้ว่าบริษัทแห่งนี้ยังยิ่งใหญ่และแข็งแกร่งในอุตสาหกรรม ถ้าหุ้นบริษัทนี้ตกมาก เราก็เข้าไปซื้อ"

เงื่อนไขที่สาม เมื่อบริษัทประเภท Great Company ต้องเผชิญเหตุการณ์บางอย่าง แล้วจากกำไรที่เคยดีมาตลอด..กลับลดลงน่าใจหาย หรืออาจขาดทุน เช่น ผู้บริหารทะเลาะกัน หรือมีปัญหาในธุรกิจด้วยกัน จนทำให้ราคาหุ้นตกลงมามาก

"ถ้าเรามองแล้วว่าบริษัทแห่งนี้ยิ่งใหญ่จริงๆ ธุรกิจแข็งแรงมาก และอนาคตก็ยังจะเติบโต ให้ซื้อหุ้นไว้"

เงื่อนไขทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่ "วอร์เร็น บัฟเฟตต์" ทำมาตลอด

ไม่ว่าเหตุการณ์อะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม แต่ความยิ่งใหญ่ของบริษัทไม่ได้สึกหรอไป จงซื้อแล้วถือยาวโดยตั้งเป้าถือหุ้นตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป เป็นหลักการลงทุนอย่าง "เต่า" ต้องอดทน คิดช้าเดินช้า แต่ตายยาก..และอายุยืนยาว แม้จะเดินช้า..แต่ถึงเส้นชัยก่อน เพราะถอยหลังไม่เป็น

ด้าน วิบูลย์ พึงประเสริฐ ผู้เขียนหนังสือ วิถีเซียนหุ้นมูลค่า Value Way เปิดเผยวิธีคิดว่า โดยส่วนตัวไม่ได้สนใจดัชนี SET จะขึ้นหรือจะลง ...แต่สิ่งที่สนใจก็คือ "ราคาหุ้น" บนกระดาน เทียบกับ "มูลค่ากิจการ" ว่ามันสวนทางกันหรือไม่

"ถ้าเมื่อใดที่ตลาดยิ่งลง..ผมยิ่งดีใจ และช่วงนี้ผมซื้อหุ้นเข้าพอร์ตแทบทุกวัน เพราะมันลงมาให้ผมซื้อทุกวัน ทยอยเก็บไปเรื่อยๆ แม้แต่หุ้นตัวที่ผมถือไว้..ราคามันก็ลงเหมือนกัน แต่เมื่อมองทิศทางแล้วก็ยังโอเค เพราะแนวโน้มข้างหน้ายังดี

สำหรับหุ้นตัวที่เล็งๆ ไว้ เมื่อตกลงมาก็เข้าไปซื้อเพิ่ม โดยไม่สนใจดัชนี

นี่คือสิ่งที่เกิดจากแนวคิดว่า "มูลค่าหุ้น" กับ "ราคาหุ้น" มันเป็นคนละเรื่องกัน

วิบูลย์ยกตัวอย่างว่า เมื่อเดินไปที่ตลาด เห็นส้มราคากิโลละ 30 บาท...แต่มูลค่ามันอาจมากกว่า เพราะถ้าเราเอาส้มมาคั้นเป็นน้ำส้มแล้วขาย เราอาจได้เงินสัก 200 บาท

เท่ากับว่า ส้มนั้นจะมีมูลค่าถึง 200 บาท แต่ราคาคือ 30 บาท...ในขณะที่คนในตลาดหุ้นส่วนใหญ่จะมองเพียงแค่ "ราคาหุ้น" ไม่ได้มองที่ "มูลค่า"

อย่างไรก็ตาม ในทางทฤษฎี "มูลค่า" กับ "ราคาหุ้น" ถือเป็นเรื่องเดียวกัน อย่างเช่นทฤษฎี Efficiency Market ที่บอกว่าราคาหุ้นที่ปรากฏบนกระดานทุกวัน ก็คือมูลค่าของกิจการ

แต่ถามว่า ในความเป็นจริงอย่างเมื่อ 19 ธันวาคม 2549 ช่วงที่ตลาดหุ้นตกจากมาตรการ 30% ถามว่ามูลค่ากิจการมันจะลดลงไป 20-30% ภายในวันเดียว..เป็นไปได้หรือไม่ ?

เพราะฉะนั้น ถ้านักลงทุนสามารถแยกกันให้ออกระหว่าง "ราคา" กับ "มูลค่า" ก็จะพบว่า โอกาสในตลาดหุ้นมันมีอยู่ตลอดเวลา

นอกจากนี้ แนวทางของการลงทุนแบบ Value Investor ยังจำเป็นต้องค้นหาด้วยว่า มูลค่าในขณะนั้นมันเท่าไร และมูลค่าในอนาคตจะเป็นเท่าไร

หรือแม้แต่ เมื่อซื้อหุ้นมาแล้ว..เริ่มขาดทุน คือจากราคา 10 บาท เหลือ 8 บาท

ถ้าเป็นนักเก็งกำไรเขาจะบอกว่าต้อง Cut Loss แต่นักลงทุนที่เน้นมูลค่า ก่อนจะซื้อต้องคิดไว้แล้วว่าถ้าซื้อที่ราคา 10 บาท เท่ากับมีความเชื่อว่ามูลค่าของหุ้นต้องมากกว่า 10 บาท ถ้าราคาเหลือ 8 บาท หมายความว่า "เรามีโอกาสซื้อของได้ถูกลง"

เปรียบกับตลาดหุ้นในปีนี้ ผมมองแล้วหุ้นมาร์เก็ตแคปใหญ่ๆ หลายตัวบนกระดาน..มาตามตำรานี้เลย

ทางด้าน มนตรี นิพิฐวิทยา ประธานชมรมนักลงทุนเน้นมูลค่า และผู้ร่วมเขียนหนังสือ วิถีเซียนหุ้นมูลค่า Value Way กล่าวเสริมถึงวิธีการลงทุนตลาดหุ้นแบบเน้นมูลค่า โดยเฉพาะช่วงที่ตลาดหุ้นยังเอาแน่เอานอนได้ยาก ยิ่งต้องมองหาหุ้นบริษัทที่นักลงทุนสามารถถือลงทุนไว้ได้นานเป็นสิบปี ซึ่งต้องเป็นหุ้นที่มีกระแสเงินสดสูงๆ และต้องมี "หนี้สินน้อย" โดยที่ "ยอดขาย" และ "กำไร" มีการเติบโตมาตลอด ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา หรือหากเป็นหุ้นเกิดใหม่ก็ต้องประมาณ 3-4 ปี ถือว่าใช้ได้แล้ว

ที่สำคัญ ธุรกิจที่ลงทุนยังต้องมีโอกาสหรือช่องทางขยายตัวได้ต่อไป แม้ว่าเศรษฐกิจในวันข้างหน้ามันจะไม่ดี บริษัทก็ยังต้องเติบโตได้

เมื่อค้นหาหุ้นได้ตรงตามสเปค..ต้องรอจังหวะดีๆ แล้วค่อยเข้าไปซื้อ เพราะบางครั้งแม้หุ้นนั้นจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ก็จริง แต่ราคาหุ้น ณ ตอนนั้น อาจยังไม่สมควรซื้อ และ "ต้องรอ" ไม่เช่นนั้น คุณอาจพลาดพลั้งไปซื้อ "หุ้นกิจการที่ดี ในราคาแพง" จึงควรสำรองเงินสดไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อรอจังหวะในการเก็บหุ้นเป้าหมาย อยู่เสมอ

Bizweek .. วันศุกร์ที่ 06 เมษายน พ.ศ. 2550

จากคุณ : Wild Rabbit
เขียนเมื่อ : 25 ธ.ค. 54 21:42:25




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com