จัดการและกระจายการลงทุน:ValueWay มนตรี นิพิฐวิทยา
|
|
Value way มนตรี นิพิฐวิทยา : montri@viknowhow.com
ยุทธศาสตร์การลงทุน ที่7 : จัดการและกระจายการลงทุน
จากประสบการณอันยาวนานในการลงทุนในสินทรัพย์หลายชนิดทั่วโลกของ เซอร์จอร์น เทมเพอร์ตัน ท่านได้นำเอาสิ่งที่ได้พบได้เห็นและได้ปฏิบัติมาเป็นยุทธศาสตร์ที่น่าสนใจ นั่นคือการกระจายการลงทุน และไม่ใช่แค่เพียงการกระจายการลงทุนไปในหุ้นของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นการกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์หลายๆชนิด
บุคคลระดับนี้กล่าวเช่นนี้ไม่ใช่ไม่มีเหตุผล จากการผ่านร้อนผ่านหนาวมามากจากการเป็นผู้บุกเบิกการลงทุนทั่วโลก ท่านกล่าวว่า
“ในการลงทุนในสินทรัพย์ชนิดใดชนิดหนึ่งนั้น ไม่ว่าเราจะรอบครอบละเอียดถี่ถ้วนอย่างไรก็ตาม เราก็ไม่สามารถทำนายหรือแม้แต่ควบคุมอนาคตได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด”
ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ การหยุดงานประท้วง หรือความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและสินค้าใหม่ๆที่ออกมาโดยบริษัทคู่แข่ง หรือแม้กระทั่งกฏระเบียบที่รัฐฯออกมาควบคุมบังคับ ทั้งหมดทั้งสิ้นที่กล่าวมานี้อาจสร้างผลกระทบต่อรายได้ ต้นทุน และกำไรของบริษัทที่แม้ว่าจะมีการบริหารจัดการที่ดีเยี่ยม มีประวัติการดำเนินงานที่ดีมาโดยตลอดได้โดยที่เราไม่อาจรับรู้หรือคาดการล่วงหน้าได้เลย
ส่วนตัวผมเองนั้นก็เคยมีประสบการณ์กับเรื่องเช่นนี้เหมือนกัน ปกติผมจะเป็นคนที่จะลงทุนอะไรค่อนข้างยาก ประสบการณ์สอนผมว่า ถ้าเราพลาดแม้กับเรื่องเล็กๆน้อยๆมันอาจทำให้เราเสียหายค่อนข้างรุนแรง ฉนั้นผมจะไม่เพียงลงทุนในบริษัทที่ดีแล้ว ผมยังคงต้องมีความอดทนรอที่จะซื้อตอนมันมีราคาถูก และถึงแม้ว่าจะซื้อมันได้ในราคาที่ถูกมีส่วนต่างความปลอดภัยที่สูงแล้ว ก็ยังไม่อาจล่วงรู้หรือควบคุมเหตุที่ไม่สามารถคาดถึงได้อยู่ในหลายๆครั้ง ฉนั้น ไม่ต้องสงสัยอะไรเลยกับข้อความของเซอร์จอร์น เทมเพอร์ตันข้างบนเลย
เซอร์จอร์น เทมเพอร์ตัน ได้แนะนำการกระจายการลงทุนในแบบกว้างๆต่อไปอีกว่า
“ในการกระจายการลงทุนนั้น เราควรกระจายไปหลายๆอุตสาหกกรม หลายๆประเทศ ถ้าคุณมองออกไปสู่โลกกว้าง คุณจะเห็นโอกาสมากมาย และอาจจะเป็นโอกาสที่ดีกว่าการลงทุนในสินทรัพย์ชนิดเดียวในประเทศเดียวอย่างแน่นอน”
ข้อความของเซอร์จอร์น เทมเพอร์ตันข้างต้นนี้ได้เปลี่ยนทัศนคติและการลงทุนของผมไปจากเดิมมาก ประกอบกับการหันกลับมามองสิ่งแวดล้อมรอบตัวรวมถึงการลงทุนที่ผมลงทุนอยู่ในปัจจุบัน ผมพบว่า ผมพลาดการลงทุนในทองคำ สินค้าโภคภัณฑ์และหุ้นในประเทศเกิดใหม่ตั้งแต่ปี 2000 แต่โชคยังเข้าข้างผมอยู่บ้างคือเกิดวิกฤติการเงินในปี 2007-2009 ทำให้สินทรัพย์ดังกล่าวปรับตัวลงมาในจุดที่เรียกว่า “เริ่มต้นใหม่” และเนื่องจากมันขึ้นไปสูงมากและลดลงกลับมาที่เดิมในเวลาไม่ถึงปีสิ่งที่ต้องคิดต่อไปคือ
“หากลงทุนไปแล้วในอนาคตอาจเกิดเหตุการที่สินทรัพย์เหล่านี้ปรับตัวลดลง เศรษฐกิจล้มพังทลายลงมาอีก จะทำอย่างไร?”
หากเราพิจารณาคำแนะนำของเซอร์จอร์น เทมเพอร์ตัน ให้ลึกซึ้งเราจะเห็นสิ่งที่เป็นกฏที่ไม่อาจละเมิดได้เลยห้าประเด็นคือ 1) กระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์หลายๆชนิด ในหลายๆแห่งทั่วโลก 2) เน้นไปที่สิ่งที่น่าจะเกิดในระยะยาว ใช้ประโยชย์จากความผันผวนในระยะสั้น 3) ให้ความสำคัญกับพื้นฐานเฉพาะตัวของหุ้น หรือสินทรัพย์ที่จะลงทุน เพื่อกำหนดตัวแปรที่จะชี้ให้เห็นจุดผลิกผันของพื้นฐานเฉพาะตัวที่จะกระทบต่อมูลค่าของมัน 4) บริหารเงินลงทุนโดยกำหนดสัดส่วนการลงทุนและต้องมีการปรับสมดุลสินทรัพย์ไปตามระดับความเสี่ยงตลอดเวลา และมีเงินสดไว้เสมอเพื่อพร้อมรับโอกาสที่อาจจะเกิดตลอดเวลา 5) จัดพอล์ตการลงทุนให้มีการลงทุนแกนหลัก และแกนลอง
เหตุผลที่เกิดห้าประเด็นนี้ขึ้นมาคือ หุ้นหรือสินทรัพย์อื่นๆอาจมีการปรับตัวขึ้นลงไม่เท่ากัน หรืออาจสวนทางกันด้วยซ้ำ เนื่องจากตัวแปรที่กระทบต่อพื้นฐานไม่เท่ากันหรือไม่เหมือนกัน บางบริษัทมีอำนาจต่อรองสูง สามารถผลักต้นทุนไปให้ผู้ขายวัตถุดิบหรือแม้กระทั่งลูกค้าได้ หรือแม้แต่บริษัทที่ครอบครองแหล่งสินค้าที่เป็นที่ต้องการและขาดแคลนก็จะมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งและลูกค้าได้ การมองภาพที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการลงทุนนั้นคือการลงทุนกับสิ่งที่กำลังจะเกิดไม่ใช่สิ่งที่เกิดมาแล้ว มองภาพที่กำลังจะเกิดไม่ได้ ก็ลงทุนไม่ได้แน่นอน และแม้ว่าระหว่างทางอาจจะมีความผันผวนเกิดขึ้น ถ้าภาพข้างหน้าชัดเจนแล้วนั้น ความผันผวนจะเป็นตัวช่วยเพิ่มผลตอบแทนและส่วนต่างความปลอดภัย แน่นอนว่าในสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น บางบริษัทหรือสินทรัพย์ที่อยู่ในข่ายที่จะได้รับประโยชน์นั้นอาจจะได้รับประโยชน์ไม่เท่ากันหรืออาจจะถูกกระทบให้ย่ำแย่ลงด้วยซ้ำ ฉนั้นพื้นฐานเฉพาะตัวของบริษัทและสินทรัพย์นั้นก็สำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อเป็นการควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในวงจำกัด ฉนั้นการกำหนดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆไปตามระดับความเสี่ยงให้แน่นอนและต้องคอยลดหรือเพิ่มสัดส่วนของสินทรัพย์ต่างๆตลอดเวลา สุดท้ายนั้นการจัดพอล์ตการลงทุนนั้นต้องมีส่วนที่เป็นแกนหลักที่เน้นผลตอบแทนในระยะยาว และมีส่วนที่เป็นแกนรองที่จะได้รับผลตอบแทนตามสถานการณ์เช่นจากหุ้นที่มีมูลค่าตำ่มากๆในขณะนั้น หรือจากสินทรัพย์ที่มูลค่าต่ำเกินกว่าปัจจัยที่เป็นจริง
สำคัญที่สุดคือ “เงินสดต้องมีตลอดเวลา และในสัดส่วนที่พอเพียงที่พร้อมจะรับโอกาสงามๆจากความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้นในขณะใดขณะหนึ่ง”
จากคุณ |
:
Wild Rabbit
|
เขียนเมื่อ |
:
25 ธ.ค. 54 22:03:16
|
|
|
|