12 Guru...12 Money Tips...รับปี 2012 [กระทู้ต้อนรับปีใหม่ ^___^]
|
|
[กระทู้ต้อนรับปีใหม่ ^___^] 12 Guru...12 Money Tips...รับปี 2012 การเงิน - การลงทุน : การเงินส่วนบุคคล โดย : กาญจนา หงษ์ทอง
Fundamentals มีความเห็น12 Guruที่มาให้ 12 Money Tips ของปี 2012 อาจจะเป็นความเห็นและมุมมองที่ค่อนข้างหลากหลาย แต่เชื่อว่าเป็นประโยชน์แน่นอน
หากคุณคิดว่าการลงทุนในปี 2011 เป็นเรื่องยาก ขอให้คุณทำใจว่าปี 2012 คุณอาจจะเจอโจทย์การลงทุนที่ยากยิ่งกว่า เพราะไม่ว่าจะเหลียวไปมองตัวแปรทั้งในและต่างประเทศ ก็ถือได้ว่าเรายังต้องเผชิญหน้ากับ "เรื่องยากๆ" และ "โจทย์หินๆ" แทบทั้งสิ้น Fundamentals ฉบับแรกของปี จึงขอความเห็นจาก 12 Guru ที่จะมาให้ 12 Money Tips รับปี 2012 อาจจะเป็นความเห็นและมุมมองที่ค่อนข้างหลากหลาย แต่อย่างน้อย คุณจะได้รู้เท่าทันสถานการณ์ของปีนี้ ว่าดีร้ายอย่างไร มีอะไรบ้างที่ต้องเตรียมตัวเพื่อรับมือกับเรื่องยากๆ ที่คาดว่าจะดาหน้าเข้ามาทักทายตลอดทั้งปี ****
อารมณ์ยังคงเป็นผู้นำตลาด "วรวรรณ ธาราภูมิ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง ในฐานะนายกสมาคมธุรกิจจัดการกองทุน มองว่า "ปี 2012 เรายังคงเจอเรื่องความวุ่นวายจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง และแน่นอนว่าจะไม่มีเทวดาองค์ไหนหรือคนไหนเป็นอัศวินขี่ม้าขาวมาทำให้วิกฤติผ่านพ้นไปได้โดยง่าย ถ้าจะมองย้อนไปถึงรากเหง้าของปัญหา จะพบว่า ปมต้นเหตุของสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากความเอาแต่ใจ เกินพอดี อยากได้อยากสบายแต่ไม่ยอมทำอะไรของประชาชนในหลายประเทศ รอแต่ให้รัฐบาลคอยช่วยสนับสนุนจนติดนิสัยเรียกร้อง เอาแต่ได้ ขณะที่รัฐเหล่านั้นก็ใช้ประชานิยมเพื่อสร้างฐานคะแนนนิยมให้กับตัวเอง แต่ทิ้งปัญหาหมักหมมไว้จนเละเทะอย่างทุกวันนี้" ประเทศในเอเชียหลายประเทศรวมทั้งบ้านเรากำลังเจริญรอยตามกระแสประชานิยมแบบผิดๆ มากขึ้นเรื่อยๆ อยากได้โดยไม่ต้องลงแรง เราจึงต้องถามตนเองได้แล้วว่าถึงเวลาหรือยังที่จะกระตุ้นให้คนในสังคมของเรารู้จักทำมาหากิน และเก็บออม ลงทุนให้เป็น ทำมาหากินเป็น จะไม่มีวันอดตาย "เก็บออม ลงทุนเป็น จะไม่มีวันลำบาก ได้เวลาหรือยังที่ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนจะจริงจังและจริงใจช่วยกันทำให้คนไทย รู้จักพอ รู้จักเก็บ รู้จักจ่าย รู้จักการบริหารเงินได้และใช้เงินให้เป็น ดังนั้น สิ่งที่อยากเห็นมันเกิดขึ้นก็คือ ขอให้คนไทย อ่านออกเขียนได้ทางการเงิน กันเสียที" เรื่องหรือปัญหาท้าทายที่สุดสำหรับเงินๆ ทองๆ ในปีนี้คือวิกฤติที่ยังอยู่จะทำให้ตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดโภคภัณฑ์ จะยิ่งผันผวนมากขึ้นอีก อารมณ์จะยังคงเป็นผู้นำตลาดอยู่ แต่ความตื่นเต้นหวาดกลัวจะค่อยๆ ลดลง ความชินชาจะเกิดขึ้น สิ่งที่ท้าทายคือการแสวงหาโอกาสในช่วงจังหวะของวิกฤติที่เต้นแรงบ้าง เบาบ้าง และแม้ว่าผู้ที่หาเจอ (และหาได้ถูก) จะเป็นผู้ชนะในยกสั้นๆ แล้วก็ขึ้นมาสู้ในยกต่อไป แต่คนที่เข้าใจรากเหง้าของปัญหา แสวงหาโอกาสที่มั่นคงได้จากปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริงจะเป็นแชมเปี้ยนตัวจริงในระยะยาว "สำหรับผู้ลงทุนที่ไม่ได้ชกเอง การแสวงหามวยดีๆ หมัดหนักๆ ตาไว และอดทนให้ได้นั่นแหละ คือสิ่งที่ท้าทาย"
ตั้งสมาธิท่ามกลางความสับสนวุ่นวาย "ธีระ ภู่ตระกุล" ผู้ก่อตั้ง JT Financial Planners ให้ทัศนะว่า"ในโลกนี้มีนักพยากรณ์อยู่สองประเภท กลุ่มแรกคือคนที่ไม่รู้เรื่อง และกลุ่มที่สองคือคนที่ไม่ทราบว่าตนเองไม่รู้เรื่อง ดังนั้นผมควรที่จะละเว้นจากการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2555 เพราะตัวผมเองไม่ทราบอะไรมากไปกว่าผู้อ่านของกรุงเทพธุรกิจ แต่ผมขอแบ่งปันบางส่วนของข้อสังเกตส่วนตัวของผมเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่มีแนวโน้มที่จะมีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อนักลงทุนในปีมังกร ก่อนอื่นผมขอเริ่มต้นด้วยข่าวร้าย ความผันผวนในตลาด หุ้น พันธบัตร อัตราแลกเปลี่ยนและสินค้าโภคภัณฑ์ มีแนวโน้มที่จะยังคงไม่ลงตัวเป็นเวลาอีกนานในขณะที่นักการเมืองในประเทศที่พัฒนาแล้วเผชิญหน้ากับวิกฤติหนี้ของรัฐและสถานการณ์ที่น่าเศร้านี้จะไม่สิ้นสุดจนกว่าจะมีมาตรการการปรับโครงสร้างหนี้และกล้าปฏิรูปสวัสดิการสังคมอย่างจริงจัง เมื่อการปฏิรูปเหล่านี้เกิดขึ้นในที่สุด ผมคาดว่า ธนาคาร โบรกเกอร์ บริษัทประกันและกองทุนป้องกันความเสี่ยง (Hedge funds) หลายบริษัทจะล้มละลาย ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา" สำหรับประเทศไทย เรามีปัญหาภายในประเทศของเราเองไม่น้อยโดยเฉพาะจากภัยธรรมชาติน้ำท่วมจากปีที่ผ่านมา แต่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากการรองรับนโยบายการเงินประเภท ผ่อนคลายจาก ธปท. และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากกระทรวงการคลัง ในสภาพแวดล้อมที่อัตราดอกเบี้ยแท้จริง (Real interest rate) ติดลบ (อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ) การพึ่งพารายได้จากดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวจะไม่เพียงพอสำหรับนักลงทุนหลายราย เงินปันผลจากหุ้นจะเป็นตัวเสริมทดแทนที่สำคัญ จึงขอแนะนำให้นักลงทุนใช้โอกาสจากความผันผวนของตลาดหุ้นให้เป็นประโยชน์โดยกลเม็ดเฉลี่ยต้นทุน (Dollar Cost Averaging) ให้คิดทำนองว่า "การสูญเสียของคนหนึ่งคือลาภลอยของคนอื่น" พวกเราหลายรายเคยตกเป็นเหยื่อของวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 1997 มาแล้ว และโดนฝรั่งมังค่ารุมกินโต๊ะในครั้งนั้น ตอนนี้ก็เป็นโอกาสให้เราไปร่วมงานเลี้ยง Midnight Sale การขายสินทรัพย์ราคาถูกในยุโรปและสหรัฐอเมริกา สิ่งที่ท้าทายที่สุดในปี 2012 คือการตั้งสมาธิท่ามกลางความสับสนวุ่นวาย ไม่ต้องฟุ้งซ่านหวาดกลัวกับสถานการณ์ในต่างประเทศมากเกินไปเนื่องจากว่านักลงทุนชาวไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลของกรีซหรือ อิตาลี เพราะฉะนั้นคุณไม่มีอะไรที่ต้องกังวล แต่นี่ไม่ใช่เวลาที่จะชะล่าใจ เพราะจากสิ่งที่เราได้เรียนรู้ในช่วงวิกฤติซับไพร์ม ในปี 2008 เศรษฐกิจทั่วโลกจะได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย คงเป็นที่ยอมรับว่าสภาวการณ์ทางการเงินของรัฐบาลในยุโรป ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาไม่สวยนัก แต่ไม่ได้หมายความว่าบริษัท ภาคเอกชนในประเทศเหล่านี้อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ในความเป็นจริงบริษัทข้ามชาติเหล่านี้จำนวนมากมีความแข็งแกร่งทางการเงินและมีความสามารถที่ดีที่จะเผชิญ หน้ากับความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจในปีนี้ ดังนั้นคุณไม่ควรมองโลกในแง่ร้ายมากเกินไปและใช้สถานการณ์นี้เพื่อการลงทุนในระยะยาว
รับมือวิกฤติด้วยการลงทุนที่หลากหลาย "ลดาวรรณ เจริญรัชต์ภาคย์" กรรมการผู้จัดการ บลจ.แอสเซท พลัส เห็นว่า "ปี 2012 นี้ อยากให้ทุกคนลองปรับสัดส่วนการออมเงินใหม่ โดยอาจต้องเพิ่มสัดส่วนเงินออมเผื่อสำรองฉุกเฉินมากขึ้น เพราะจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อทรัพย์สินอย่างไม่คาดฝัน และอาจทำให้บางท่านต้องเจียดเงินออมส่วนอื่นๆ มาเยียวยาความเสียหายในส่วนนี้ " ดังนั้น ในปีใหม่นี้อยากขอแนะนำทุกคนให้ความสำคัญกับการวางแผนการลงทุนมากขึ้น ทั้งจากหลักเกณฑ์การคุ้มครองเงินฝากที่เปลี่ยนไป โดยหลังจากวันที่ 11 ส.ค. 2555 เงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองโดยสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะเป็นเงินฝากที่มีวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อรายผู้ฝากต่อสถาบันการเงินเท่านั้น ประกอบกับสภาวะการลงทุนทั่วโลกที่ยังคงผันผวน ผู้ลงทุนจะต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้นโดยยึดหลักการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ทั้งนี้ ในยุคข่าวสารในโลกออนไลน์ ผู้ลงทุนจะต้องปรับตัวให้เร็วต่อการรับรู้ข่าวสารและสภาวะการลงทุนที่เปลี่ยนไป เพื่อจะได้สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนให้เข้ากับสถานการณ์แต่ละขณะ เพื่อบรรลุเป้าหมายการลงทุนที่ตั้งไว้ ส่วนเรื่องท้าทายที่สุดในปีนี้ ต้องบอกว่าในยุคเทคโนโลยี การสื่อสาร และข่าวสารที่รวดเร็ว ได้ส่งผลต่อทัศนคติ และพฤติกรรมของนักลงทุนที่เปลี่ยนไป นักลงทุนส่วนหนึ่งเปลี่ยนพฤติกรรมการลงทุนเป็น นักเก็งกำไร ที่ตัดสินใจซื้อ-ขายอย่างรวดเร็ว ผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้ตลาดหุ้นมีความเสี่ยงสูงขึ้นสำหรับนักลงทุนในระยะกลางและระยะยาว ประกอบกับปัญหาด้านปัจจัยพื้นฐาน ที่มีความไม่แน่นอนสูง ทั้งปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปที่ยืดเยื้อ และปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งผลให้ผู้ลงทุนขายสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น ออกไป และหันมาลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ เช่น ตราสารหนี้ และทองคำ ประกอบกับวิกฤติมหาอุทกภัยภายในประเทศในช่วงหลังของปี ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการลงทุนเช่นกัน ทำให้ในปีที่ผ่านมานักลงทุนเริ่มตระหนักได้ว่า การลงทุนในสินทรัพย์เพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถตอบโจทย์การลงทุนท่ามกลางวิกฤติดังเช่นในช่วงที่ผ่านมาได้ ดังนั้น แนวทางการลงทุนเพื่อรับมือวิกฤติทำได้ด้วยการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เช่น หุ้น ตราสารหนี้ น้ำมัน และทองคำ เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน โดยผู้ลงทุนจะต้องคำนึงถึงระดับความเสี่ยงที่ตนเองรับได้เป็นสำคัญ
ต้องมีสติมีวินัยในการลงทุน "ธีรนาถ รุจิเมธาภาส" กรรมการผู้จัดการ บลจ.ทิสโก้ มองว่า เนื่องจากในขณะนี้และปี 2012 ความกังวลในเรื่องปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปและการเติบโตที่เชื่องช้า อาจจะส่งผลให้การลงทุนในตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นทั่วโลกมีการปรับตัวผันผวนในระยะสั้น ในขณะที่การลงทุนในเงินฝากหรือซื้อตราสารหนี้ระยะสั้นๆ แม้จะให้ความอุ่นใจในเงินต้น แต่ผลตอบแทนนั้นจะต่ำมาก ดังนั้น แม้การลงทุนในสินทรัพย์เช่น หุ้น ก็ยังมีความน่าสนใจลงทุนอยู่โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศในแถบเอเชียรวมถึงไทยด้วย เนื่องจากบริษัทต่างๆ ยังมีการเติบโตของผลกำไรที่ดี และเศรษฐกิจไม่มีปัญหามากนัก โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียประกอบกับในปี 2011 ที่ผ่านมาหุ้นในประเทศดังกล่าวมีการปรับตัวมารอรับสถานการณ์ที่นักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวจนมูลค่าหุ้นเริ่มถูกมากแล้ว จึงอยากให้ผู้ลงทุนมีการวางแผนการลงทุนในการจัดสัดส่วนการลงทุนให้ดี และมองหาโอกาสในการเข้าลงทุนในหุ้นดังกล่าว โดยเฉพาะเมื่อมีข่าวร้ายและหุ้นตกมากๆ ในขณะเดียวกันก็ต้องคอยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและมีการปรับพอร์ตเพื่อลดความเสี่ยงบ้าง เมื่อเงินลงทุนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นคือ "พูดง่ายๆ ว่าจะต้องมีสติมีวินัยในการลงทุนและแอ็คทีฟขึ้นในการปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมนั่นเอง" ส่วนปัญหาที่ท้าทายของปี 2012 ไม่ใช่เรื่องการคาดการณ์เศรษฐกิจ แต่เกิดจากการที่ผู้ลงทุนต้องคาดเดาการทำงานของฝ่ายการเมือง ว่าจะจัดการแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างไร เพราะหากฝ่ายการเมืองไม่ทำอะไรหรือมีแนวทางที่ไม่ชัดเจน หรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดที่ไม่ช่วยให้ปัญหาเศรษฐกิจดีขึ้น ก็จะทำให้ผู้ลงทุนขาดความมั่นใจ และไม่กล้าที่จะลงทุน อย่างไรก็ดี ในทุกวิกฤตินั้นมักเป็นโอกาสโดยเฉพาะผู้ลงทุนระยะยาว ก็จะอาศัยเป็นจังหวะในการเข้าลงทุนในหุ้นของบริษัทหรือประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อย แต่ราคาตกลงมามากๆ เพราะเมื่อสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้นและผู้ลงทุนรายอื่นๆ เริ่มเชื่อมั่นและเข้ามาลงทุนราคาหุ้นก็จะปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังเช่นตัวอย่างที่เราเห็นได้ในปี 2009 และ 2010
ธรรมชาติสอนให้รู้ว่าชีวิตต้องเตรียมพร้อม "ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการลงทุน บลจ.อยุธยา แนะว่า "จากวิกฤติน้ำท่วมในปี 2011 ทำให้หลายคนได้ตระหนักว่า ชีวิตมีความเสี่ยงในหลายๆ มิติ และความเสี่ยงจากธรรมชาติมากระทบกับวิถีชีวิต การดำเนินชีวิต และได้สร้างความเสียหายทางวัตถุให้กับคนหลายๆ คน ไม่ว่าจะจะเป็นบ้าน รถยนต์ โรงงาน เครื่องจักร และอื่นๆ อีกมากมาย หลายคนประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างยาวนานอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน บางคนต้องหยุดงานและไม่มีรายได้ ในขณะเดียวกันก็มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงหลังน้ำลด ในการที่จะต้องเข้ามาฟื้นฟูสิ่งที่ได้เสียหายไป " สำหรับคนที่มีการเก็บออมและลงทุนมาอย่างยาวนาน ก็สามารถที่จะมีกำลังในการใช้เงินที่มีอยู่มาจับจ่ายใช้สอยได้อย่างไม่มีปัญหา แต่สำหรับคนที่ไม่เคยหรือเพิ่งเริ่มต้นเก็บออม ก็อาจประสบปัญหาในการที่หาเงินมาจับจ่ายใช้สอย จนถึงขั้นต้องไปกู้ยืมเงินมาแก้ไขสถานการณ์ สำหรับหลายคนที่อาจจะต้องตกงานและไม่มีงานทำ หากไม่มีเงินออม ก็จะประสบกับความยากลำบากในการใช้ชีวิตค่อนข้างมากในปี 2012 ธรรมชาติได้สอนให้เรารู้อย่างชัดเจนว่า ชีวิตต้องมีการเตรียมพร้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการออม การลงทุน ที่จะต้องมีการวางแผนและลงมือกระทำอย่างต่อเนื่อง เผื่อไว้ในวันข้างหน้าที่เราแก่ตัวลงและไม่มีรายได้ หรือ เมื่อเราจำเป็นต้องใช้จ่ายฉุกเฉิน จะได้มีเงินไว้ใช้โดยไม่เดือนร้อน และไม่รบกวนผู้อื่น รวมทั้งถ้าเรามีมากก็สามารถที่จะเป็นผู้หยิบยื่นความช่วยเหลือไปให้ผู้อื่นได้ ถึงแม้จะต้องประสบกับปัญหาเช่นเดียวกัน ซึ่งเราก็ได้ประสบพบเห็นในสื่อต่างๆ ว่า หลายๆ คนที่ถูกน้ำท่วม แต่ก็ยังสามารถที่จะไปช่วยเหลือผู้อื่นทั้งการด้านการเงิน แรงกาย และจิตใจ เพราะคนเหล่านั้นเขาได้เก็บออมและลงทุนมาอย่างยาวนาน เพื่ออนาคตที่มั่นคง สำหรับความท้าทายในปี 2012 คือ ปัญหาทางเศรษฐกิจในประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่จะเป็นสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือ ญี่ปุ่น จะยังเป็นปัจจัยที่สร้างความไม่แน่นอน ทางด้านเสถียรภาพทางด้านราคาของสินทรัพย์ต่างๆ ในทุกๆ ภูมิภาค อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น การจัดสัดส่วนการเก็บออมและลงทุนอย่างเหมาะสมกับความเสี่ยงที่แต่ละคนรับได้ และมีการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลายอย่าง ย่อมช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทนที่ดีในปี 2012 ได้ ถึงแม้ว่าเราอาจจะต้องเจอกับปัญหาและความยากลำบากพอสมควร
วางแผนชัดเจนเพื่อรับมือความผันผวน "พวรรณ์ นววัฒนทรัพย์" รองประธานกรรมการ บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล ให้คำแนะนำว่า "การจัดการเงินที่เหลือใช้เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คนส่วนมากมักจะเริ่มต้นด้วยการออมเงินฝากธนาคารหรือซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่เรียกได้ว่ามีความปลอดภัยสูง แต่ถึงกระนั้นในปี 2012 วายแอลจียังเชื่อว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวลดลง เนื่องจากวิกฤติน้ำท่วมในประเทศที่เกิดขึ้นหรือปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรปจะกดดันเศรษฐกิจไทยให้อ่อนแอลง ส่งผลให้การออมในรูปเงินฝาก หรือพันธบัตร อาจได้รับผลตอบแทนที่ต่ำเกินไป ดังนั้นการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเช่นหุ้น หรือ ทองคำจะมีโอกาสที่สร้างผลตอบแทนที่ดีได้" โดยนักลงทุนควรกระจายความเสี่ยงโดยลงทุนในสินทรัพย์หลายชนิดในพอร์ตการลงทุน แต่อาจเน้นไปในสินทรัพย์ที่นักลงทุนมีความรู้ความเข้าใจหรือสินทรัพย์ที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจซึ่งวายแอลจีประเมินว่าทองคำจะยังเป็นสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนได้เป็นอย่างดีเหมือนเช่นปี 2011 เช่นราคาทองคำแท่งในประเทศปรับตัวขึ้นประมาณ 15-20% ในขณะที่ตลาดทุนในประเทศแทบจะไม่ปรับตัวขึ้นเลย อย่างไรก็ตาม วายแอลจีขอให้นักลงทุนเน้นความสำคัญไปที่การจัดพอร์ตการลงทุนและระเบียบวินัยที่ต้องทำตามแผนการที่วางไว้อย่างเคร่งครัด ปัญหาที่ท้าทายบรรดานักลงทุนในปี 2012 นั้นยังคงเป็นปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรป ในขณะที่ทางฝั่งสหรัฐเองนั้นก็มีปัญหาการขาดดุลการคลังที่เรื้อรังมายาวนาน ทำให้เชื่อว่าในปี 2012 นั้น ทางฝั่งยุโรปและสหรัฐฯจะมีการออกมาตรการที่เข้ามาช่วยเหลือปัญหาให้บรรเทาลง เพียงแต่นักลงทุนต้องจับตาดูว่ามาตรการเหล่านั้นคืออะไรและจะส่งผลกระทบข้างเคียงมายังตลาดเงินและตลาดทุนอย่างไร เพราะต้องยอมรับว่ามาตรการต่างๆ ที่ออกมามีนัยสำคัญกับการเคลื่อนไหวของตลาดการลงทุนทั้งสิ้น โดยเฉพาะตลาดทองคำ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการ QE หรือ Operation Twist ของฝั่งสหรัฐฯ หรือเป็นมาตรการให้เงินช่วยเหลือประเทศยุโรป "ทำให้เชื่อได้ว่า ปี 2012 ตลาดเงินและตลาดทุนจะเคลื่อนไหวผันผวนไม่แตกต่างจากปี 2011 สำหรับแนวทางการลงทุนในปี 2012 นั้น วายแอลจีเชื่อว่าจำเป็นต้องใช้การวางแผนที่ชัดเจนเพื่อรับมือความผันผวน โดยมีการกำหนดสินทรัพย์ที่จะลงทุน โดยประเมินสถานการณ์จากภาพใหญ่เพื่อเลือกสินทรัพย์ให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจโลกในช่วงนั้นๆ พร้อมทั้งกำหนดจุดซื้อ จุดขายทำกำไรและจุดตัดขาดทุนให้ชัดเจน อีกทั้งต้องติดตามความเคลื่อนไหวของกระแสเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด"
เลี่ยงเก็งกำไรจนกลายเป็นความเสี่ยง "สมจินต์ ศรไพศาล"กรรมการผู้จัดการ บลจ. ทหารไทย บอกว่า "ความสำเร็จทางการเงินของคนเราดูได้จากงบกำไรขาดทุนส่วนบุคคล ซึ่งแสดงได้โดย รายได้-รายจ่าย = กำไร" ความมั่งคั่งของเราจึงมาจากความสามารถในงาน 3 งานคือ การหารายได้ให้มากๆ การควบคุมรายจ่ายให้รัดกุม และ การบริหารกำไรด้วยการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เราอาจสรุปเป็นงาน 3 งานให้จำง่ายว่า 1.พากเพียรในการทำงาน 2.พอเพียงในการจับจ่าย 3.เพลิดเพลินในการลงทุน ถ้าใครทำหน้าที่ทั้งสามนี้ได้ดี รับรองว่าต้องประสบความสำเร็จทางการเงินอย่างแน่นอน "ผมเคยถามผู้เข้าสัมมนาว่า งานทั้งสามนี้ อันไหนยากที่สุด ส่วนใหญ่ตอบว่า เรื่องพอเพียงในการจับจ่ายนั่นแหละยากที่สุด สาเหตุที่การควบคุมการใช้จ่ายเงินยาก ก็เพราะว่าการจับจ่ายซื้อของ เป็นที่มาของความสุขของเราไง เมื่อการจับจ่ายเป็นที่มาหลักของความสุข เราก็คอยจับจ้องของที่จะซื้อชิ้นต่อไปอยู่เสมอ เงินเดือนออกปั๊บ ก็รีบซื้อ รีบมีความสุข การควบคุมการใช้จ่ายจึงเป็นการฝืนใจเสมอ เราต้องต่อสู้กับกิเลสของตัวเอง ซึ่งมักจะแพ้มากกว่าชนะ เพราะเป็นเสมือนการพายเรือทวนน้ำ คำถามก็คือ ทำอย่างไรเราจึงจะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้หลุดพ้นจากสภาพของการพายเรือทวนน้ำ ฝืนใจไม่ชอปปิงเกินจำเป็นได้ คำตอบก็คือ เมื่อเราพบว่ามีแหล่งที่มาของความสุขที่ลุ่มลึกกว่า ยั่งยืนกว่าความสุขที่ซื้อด้วยเงิน ลองหลับตาลง หายใจสบายๆ สัก 1 นาที ค่อยๆ นึกถึงเวลาแห่งความสุขในชีวิต เวลาที่คุณมีสันติสุข มีความชื่นชมยินดีมากที่สุด คุณเห็นภาพอะไร บางคนจะนึกถึงเวลาที่ได้อยู่กับครอบครัว คุยกัน ทานอาหารด้วยกัน กอดกัน บางคนจะนึกถึงเวลาที่ได้ออกต่างจังหวัดกับเพื่อนฝูง เข้าใกล้ธรรมชาติ อยู่ใกล้เพื่อนผู้รู้ใจ บางคนนึกถึงเวลาที่ทำงานได้ผลสำเร็จ เช่น คุณหมอรักษาคนไข้ จนคนไข้กลับแข็งแรงยิ้มได้ คุณครูเห็นลูกศิษย์เติบโตชาญฉลาด บางคนนึกถึงเวลาที่ได้อยู่อย่างสงบกับหนังสือเล่มใหม่ เข้าวัดปฏิบัติธรรม หรือเข้าโบสถ์นมัสการพระเจ้า หรือล่าสุดการไปออกแรงแพ็คถุงทราย ทำอาหาร ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม" ความสุขเหล่านี้นอกจากจะไม่ค่อยต้องใช้เงินแล้ว ยังมีความสงบเย็น ความอบอุ่น และมีลักษณะของการลงทุนบนฐานของความรัก กับครอบครัว กับเพื่อนฝูง กับลูกค้า กับงานการ กับธรรมชาติ กับสังคม กับธรรมะ กับพระเจ้า ดอกผลของการลงทุนกับความรัก ก็คือความสัมพันธ์ที่แนบแน่นขึ้น พลังใจที่จะทำให้เราพร้อมที่จะยืนหยัด และก้าวไปข้างหน้าอย่างชื่นชมยินดีในทุกๆ วันของปีใหม่ เมื่อเราตระหนักในแหล่งแห่งความสุขที่แท้จริงบนฐานแห่งความรัก ตลอดจนความภูมิใจในความหมายของหน้าที่การงานแล้ว ความดีใจในวันเงินเดือนออก เพื่อไปซื้อของชิ้นใหม่จะเป็นเพียงส่วนเสริมของความสุข ไม่ใช่แกนหลักของความสุขอีกต่อไป "พอเราไม่ต้องจ้องจะใช้เงินซื้อความสุข ทีนี้อะไรๆ ก็ง่าย มีความสุขก็ง่าย ออมเงินก็ง่าย ที่เหลือก็จัดทัพลงทุนให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ หลีกเลี่ยงการเก็งกำไรจนกลายเป็นความเสี่ยงที่กระจุกตัวในทรัพย์สินบางอย่าง"
อยากให้ตระหนักวางแผนการเงิน "นริศ อจละนันท์" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต เชื่อว่า "ในปีที่ผ่านมาหลายๆ คนประสบกับเหตุอุทกภัย ซึ่งแน่นอนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวคงส่งผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่และเงินทองของทุกคน ไม่ว่าจะต้องเตรียมรับมือกับน้ำ หรือแม้แต่ต้องซ่อมแซมบ้านและซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่ ดังนั้นเราควรต้องมีความรอบคอบในการใช้จ่ายเงิน รวมถึงต้องเตรียมตัวรับกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะประสบ ทั้งความผันผวนทางเศรษฐกิจ การเมือง รวมถึงภัยธรรมชาติ สิ่งที่อยากจะให้ทุกคนได้ตระหนักถึงคือเรื่องของการวางแผนการเงิน เราอยากจะทำอะไร เราอยากได้อะไร รวมถึงการวางแผนชีวิต เช่นเราอยากเกษียณอายุเท่าไหร่ เกษียณแล้วอยากมีเงินใช้จ่ายเดือนละเท่าไร และจะใช้จ่ายด้วยค่าใช้จ่ายที่กำหนดไปอีกกี่ปี" ที่สำคัญที่สุด นอกจากการกำหนดเป้าหมายแล้ว อยากให้ทุกคนมีวิธีการที่จะทำให้แผนต่างๆ เป็นจริงขึ้นมา เพราะหลายๆ คนมีเป้าหมายที่ดี แต่ไม่มีวิธีการที่จะทำให้แผนที่คิดเป็นจริง ง่ายๆ เลย หลายคนยังมีมุมมองเรื่องการออมที่ยังไม่ค่อยถูกต้อง นั่นคือ รายได้ - ค่าใช้จ่าย = เงินออม ซึ่งจริงๆ แล้ว ควรจะเป็น รายได้ - เงินออม = ค่าใช้จ่าย เพราะหากหักค่าใช้จ่ายที่เหลือเป็นเงินเก็บ บางเดือนจะพบว่า ไม่เหลือเงินออมให้เก็บเลย สำหรับเรื่องที่ท้าทายในปี 2012 คือเรื่องความผันผวนทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งจะส่งผลต่อการออมและการลงทุนของทุกคน ดังนั้นควรจะมีการกระจายความเสี่ยงในการออมและลงทุน ประกันชีวิตเองก็สามารถที่จะเป็นเครื่องมือในการช่วยออมให้กับทุกคนได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การออมทั่วไป การออมเพื่อการศึกษา การออมเพื่อเป็นเงินเกษียณ รวมถึงยังสามารถนำเบี้ยประกันไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
2012 ปีแห่งความท้าทาย "อุมาพันธุ์ เจริญยิ่ง" ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนการเงินส่วนบุคคลสายงานธุรกิจ ลูกค้าบุคคลและเครือข่ายบริการธนาคารกสิกรไทย บอกว่า "ปี 2012 สำหรับครอบครัวที่อยากมีลูกในปีนี้ แนะนำให้ think through ในเรื่องของการวางแผนชีวิตให้กับลูก เพราะในปีที่มีเด็กเกิดเยอะ ลูกของเราก็จะมีการแข่งขันสูง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ไปจนถึงทำงาน ส่วนคนทั่วไป ก็ต้องบอกว่า ปี 2012 เป็นปีที่คุณต้องตัดสินใจ ทบทวนว่า แผนเก็บเงิน ลงทุน ที่ผ่านมามีข้อผิดพลาดตรงไหน จุดไหนที่เราขาดไป เลือกทำในสิ่งใหม่ เพราะปี 2012 จะเป็นปีแห่งความท้าทาย การลงทุนจะมีความผันผวนมากขึ้น " ในเรื่องวางแผนการเงิน นอกจากต้องให้ความสำคัญกับการจัดสรรเงินออมเพื่อเป้าหมายต่างๆ แล้วต้องอย่าลืมเรื่องความคุ้มครองด้วย เพราะในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา ความเสี่ยงภัยมีเพิ่มขึ้นและใกล้ตัวเรามากขึ้น แนะนำให้สำรวจดูว่า คุณมีความคุ้มครองครบถ้วนแล้วหรือยัง ไม่ว่าจะเป็นความคุ้มครองชีวิต อุบัติเหตุ โรคร้ายแรง ชดเชยรายได้ ทรัพย์สิน และหนี้สิน "สุดท้าย อย่ามัวแต่วางแผนเก็บเงินอย่างเดียว ต้องวางแผนหาความสุขในชีวิตด้วย " ปัจจัยที่ทำให้ปี 2012 แตกต่างจากปีอื่นมี 5 เรื่องหลักๆ ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการลดวงเงินคุ้มครองของสถาบันประกันเงินฝากเหลือเพียง 1 ล้านบาทในเดือนสิงหาคม อัตราดอกเบี้ยที่เคยเป็นขาขึ้นกลับคาดว่าจะปรับลดลง ทองคำไม่ใช่สินทรัพย์ปลอดภัยเหมือนดังเดิม เศรษฐกิจยุโรปยังไม่ฟื้นตัวในขณะที่สหรัฐอเมริกากำลังจะมีเลือกตั้ง "ปี 2012 ปัจจัยลบมากกว่าบวก จึงเป็นปีที่ผันผวน ต้องระมัดระวังในการออมและลงทุนให้มากขึ้น รับมือได้ด้วยการตั้งสติสำรวจตรวจเช็คว่า วันนี้เป้าหมายในชีวิตเราเดินมาถึงจุดไหน มีจุดไหนที่ต้องปรับ ต้องทำเพิ่ม ออมเพิ่ม คุ้มครองเพิ่ม ส่วนเรื่องลงทุนก็ต้องปรับพอร์ตให้ระมัดระวังมากขึ้น โดยปีนี้ต้องเพิ่มน้ำหนักของการลงทุนความเสี่ยงต่ำ ไม่ว่าจะเป็นเงินฝาก พันธบัตร หุ้นกู้เครดิตดี กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางอาจให้น้ำหนักลงทุนในตราสารดังกล่าวสูงถึง 50-60% ของพอร์ตลงทุน สิ่งที่ต้องระวังคือ ทางเลือกลงทุนมีเยอะ แต่ไม่ใช่ทุกทางที่เหมาะกับเรา ควรเลือกในสิ่งที่เราเข้าใจ และรับความเสี่ยงได้ ไม่ใช่เลือกตามเพื่อน ก็เหมือนคุณไปตัดผม ไม่ว่าช่างจะออกแบบ เทรนด์ล่าสุด มีคนชมมากมายยังไง แต่ถ้าคุณส่องกระจกแล้วรู้สึกว่ามันไม่ใช่ ก็คือไม่ใช่ ตัวคุณเองนั่นแหละที่รู้ดีที่สุดว่า อะไรที่เหมาะสำหรับคุณ"
กระจายลงทุน-เตรียมสภาพคล่อง "วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ" ประธานกรรมการบริหาร บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2012 นี้ คาดว่าเศรษฐกิจของโลกจะเติบโตในอัตราที่ชะลอลง และบางประเทศในยุโรปอาจจะเกิดปัญหาเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากปัญหาหนี้สาธารณะที่ยังไม่จบลงง่ายๆ และหากยูโรต้องแตกกลุ่ม เศรษฐกิจก็จะเลวร้ายยิ่งขึ้น การลงทุนจึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพราะตลาดหุ้นโดยเฉพาะตลาดในยุโรปจะปรับตัวลดลง และตลาดหุ้นในประเทศแถบเอเชียซึ่งถึงแม้เศรษฐกิจจะยังมีการเจริญเติบโตอยู่แต่ก็จะเติบโตในอัตราที่ช้าลง เพราะการส่งออกไปยังประเทศตะวันตกลดลง นอกจากนี้ เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว ความต้องการใช้สินค้าโภคภัณฑ์ เช่นเหล็ก น้ำมัน ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ก็จะลดลง ทำให้ราคาปรับตัวลดลงด้วย " ผู้ลงทุนจึงต้องระมัดระวังและปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนให้เป็นพอร์ตที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าระดับปกติ หรืออีกนัยหนึ่งคือ ควรเพิ่มการลงทุนในพันธบัตรและตลาดเงิน การวางแผนการเงิน หากในปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และต้องนำเงินสำรองออกมาใช้ในยามฉุกเฉิน เมื่อสถานการณ์กลับเป็นปกติแล้ว ขอให้รับกลับมาวางแผนเก็บออมและลงทุนเพื่อเป้าประสงค์ระยะยาวต่อไป" เรื่องท้ายทายที่จะมีในปี 2012 คือเรื่องของความไม่แน่นอน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ทั้งในเรื่องของภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น การลงทุนที่ผันผวนยิ่งขึ้น ผันผวนบ่อยขึ้น ขอแนะนำให้ผู้ลงทุนเตรียมตัวดังนี้ "กระจายการลงทุนให้ดี" อย่าลงทุนในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงเกินไป "เตรียมสภาพคล่อง" เตรียมเงินสำรองฉุกเฉิน กรณีเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น จะสามารถรับมือได้ดีกว่าการไม่เตรียมตัว ขณะเดียวกันต้อง"มีความฉับไวต่อสถานการณ์" ติดตามสถานการณ์และสามารถตัดสินใจทำได้ทันที เช่น ตัดขายขาดทุน เข้าไปซื้อเมื่อมีโอกาส ฯลฯ และเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ที่แย่ที่สุด หรือที่เรียกว่า worst case scenario ตั้งสติให้ดีและเตรียมตัว จะทำให้เราผ่านสถานการณ์ไปได้อย่างไม่ยากเย็น
อยากเห็นทุกคนวางแผนการเงินจริงจัง "เรืองวิทย์ นันทาภิวัฒน์" กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอกวิทย์ จำกัด ฝากว่า ในปี 2012 นี้อยากเห็นทุกคนมีการวางแผนการเงินส่วนบุคคลกันอย่างจริงจังขึ้น คนที่มีหนี้มากควรจะปรับปรุงตัวหาทางลดภาระหนี้ลงด้วยการพิจารณา ว่าทำอย่างไรเราจึงจะมีรายได้มากขึ้น และรายจ่ายน้อยลง เพื่อให้เหลือเงินไปลดหนี้ลงให้ได้ สำหรับคนที่มีเงินเก็บสะสมไว้บ้าง ก็ขอให้ใส่ใจกับการตั้งเป้าหมายการเงินระยะยาว เช่น การใช้ชีวิตเมื่อเกษียณอายุกันมากขึ้น อย่าลืมว่าเราทุกคนอาจมีเป้าหมายทางการเงินหลายเป้าหมาย ระยะสั้นบ้าง ระยะกลางบ้าง ระยะยาวบ้าง ดังนั้นการจัดการการเงินให้บรรลุเป้าหมายต่างๆ ควรจะแบ่งพอร์ต และใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินการลงทุนให้เหมาะสมด้วย เช่น ถ้าเรามีเวลาอีก 15-20 ปีจะเกษียณ การลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. หรือ RMF ของเราก็ควรมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาก ไม่ใช่มีอยู่ในตราสารหนี้มาก ในทางกลับกันพอร์ตเพื่อเป้าหมายการเงินระยะสั้น เช่น การเดินทางไปยุโรปในช่วงฤดูร้อนปีหน้า ก็ไม่ควรมีการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูง เช่น หุ้น และสินค้าโภคภัณฑ์ครับ "ปัญหาที่ท้าทายที่สุดในปีนี้คือ การจัดสรรพอร์ตการลงทุนให้ทนต่อภาวะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และการเมืองทั้งในและต่างประเทศให้ได้ เนื่องจากในช่วงปี 2012 นี้ เศรษฐกิจยุโรป และอเมริกายังไม่น่าจะพ้นจากปัญหาหนี้ภาครัฐสูง และอัตราการว่างงานสูงได้ ทำให้เศรษฐกิจภูมิภาคและเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงอยู่มาก ดังนั้นการลงทุนของผู้มีเงินออมส่วนใหญ่ควรจะมีการกระจายไปในภูมิภาค และประเภทสินทรัพย์ที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ลงทุนในหุ้นของประเทศกลุ่ม BRIC สินค้าโภคภัณฑ์ ตราสารหนี้ภาครัฐ เป็นต้น"
แจกเลขเด็ด 30-8-0 "เดิมพัน อยู่วิทยา" ประธานกรรมการ บริษัทแพลตตินัม คอนซัลติ้ง บอกว่า "ในปีใหม่นี้ผมก็มีเลขเด็ดที่เป็นเลขมงคลมาแชร์ให้กับท่านผู้อ่านทุกท่านเก็บเอาไว้ใช้ในปีนี้ ซึ่งเป็นเลขเด็ดที่สามารถนำไปใช้วางแผนการเงินทั้งการออม การลงทุนที่ทำให้ฝันเป็นจริงได้อย่างแน่นอน นั่นคือ 30-8-0 ซึ่ง 30 คือ สัดส่วนการออมต้องพยายามทำให้ได้ 30% ของรายได้ต่อเดือน ส่วน 8 คือผลตอบแทนเฉลี่ยของทั้งพอร์ตต้องไม่ต่ำกว่า 8% และ 0 คือต้องพยายามบริหารความเสี่ยงให้ใกล้ 0 ที่สุด" ถ้าเป็นความเสี่ยงด้านการลงทุนก็ต้องลดด้วย DCA (Dollar Cost Averaging) หรือ Rebalancing แต่ถ้าเป็นความเสี่ยงด้านความไม่แน่นอน ต้องวางแผนสภาพคล่อง รวมถึงความคุ้มครองที่เพียงพอสำหรับตัวคุณ ครอบครัวและทรัพย์สินให้ดี อีกเลขเด็ดคือ 20-30 คือ คุณต้องมีเวลาลงทุนหรือจัดการแผนทางการเงินของท่านเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางการเงิน ขั้นต่ำ 20-30 ปี ไม่ใช่ทำแค่ปีหรือสองปีก็เลิกทำ ถ้าทำได้ตามนี้ก็ไม่มีอะไรที่จะกั้นคุณกับอิสรภาพทางการเงินได้ ส่วนการลงทุนส่วนตัวในปีหน้านี้ อสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโด ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี ทองคำก็อยู่ในระดับที่ลงทุนได้เนื่องจากราคาที่อ่อนตัวลง ซึ่งการลงทุนในทั้งสองประเภทนี้ในระยะยาวก็น่าจะช่วยทำให้พอร์ตเติบโตได้อย่างดี "เนื่องจากในปีที่ผ่านมา เราได้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกี่ยวกับน้ำท่วมทำให้รู้ว่าในยามคับขันและจำเป็นสภาพคล่องและเงินสำรองฉุกเฉินนั้นสำคัญมาก ทั้งต่อการดำเนินชีวิตและป้องกันความเสียหายจากการลงทุน โดยปกตินั้นมักจะมีคำถามว่าเราควรจะมีเงินในส่วนนี้ปริมาณเท่าไร มากน้อยเพียงใด โดยส่วนมากที่ปรึกษาการเงินทั่วโลกมักจะแนะนำ ให้มีเงินสดเตรียมไว้ 3-6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือนแต่จริงๆ แล้ว สัดส่วนนี้ไม่ได้เป็นสัดส่วนคงที่ แต่แปรผันกับสภาพเศรษฐกิจและอัตราการว่างงาน ซึ่งปัจจุบันในประเทศอเมริกาแนะนำอยู่ที่ 8.8 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน ส่วนในประเทศไทยนั้นผมคิดว่าถ้าเป็นในปัจจุบันก็ไม่ควรมีน้อยกว่า 8 เท่า ยกเว้นแต่ว่าคุณจะเป็นพนักงานของบริษัทที่มีความมั่นคงทางการเงินสูง มีเงินสำรองเป็นจำนวนมากอาจจะลดสัดส่วนอยู่ที่ 3-6 เท่า" นี่คือ ข้อแนะนำของกูรูการเงินทั้ง 12 คน ที่ต่างมุมมอง ต่างความคิด และหลากหลาย แต่ที่แน่ๆ ไม่มีคำแนะนำของใครที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพทางการเงินของคุณเลยv
Tags : ลงทุน
credit : http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/finance/personal/20120101/425874/12-Guru...12-Money-Tips...รับปี-2012.html
จากคุณ |
:
มิ่งกลิ้ง
|
เขียนเมื่อ |
:
วันปีใหม่ 55 16:25:18
|
|
|
|