'ประกาศิต ทิตาราม' จับสัญญาณ 'วอลุ่ม' พิชิตหุ้น 'ไอพีโอ'
|
|
ปิดตัวนักลงทุนหนุ่มวัย 40 ผู้ใช้เครื่องมือทางเทคนิคสร้างผลตอบแทนอย่างงดงาม ภายใต้เป้าหมายสุด 'คอนเซอร์เวทีฟ' พอใจกับกำไรที่เอาชนะเงินเฟ้อ
"ปุย" ประกาศิต ทิตาราม นักธุรกิจหนุ่มผู้บริหาร บริษัท ทิตาราม คอนซัลแตนท์ จำกัด ประกอบกิจการ Manpower Outsources ให้บริการด้านทรัพยากรบุคคลครบวงจร อีกบทบาทเขาเป็นนักลงทุนผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิค สร้างผลตอบแทนการลงทุนอย่างงดงาม
“ผมเป็นเจ้าของกิจการบริหารธุรกิจครอบครัว เล่นหุ้นเพื่อให้ได้ผลตอบแทนดีกว่าฝากเงินไว้กับธนาคารเท่านั้น” ปุย เจ้าของนิคเนม "Wave Rider บนโลกออนไลน์" นั่งสนทนาเบาๆ กับทีมงาน "ถนนนักลงทุน" กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ที่สำนักงานสต็อกทูมอร์โรว์ ย่านสีลม
หนุ่มใหญ่วัย 40 ปี เล่าจุดเริ่มต้นของการเป็นนักลงทุนให้ฟังว่า สมัยก่อนพอมีเงินเก็บจากธุรกิจก็จะนำไปฝากธนาคาร ซื้อกองทุนกับซื้อที่ดินเก็บไว้ แต่พอดอกเบี้ยปรับลดลงเรื่อยๆ เริ่มไม่จูงใจ จึงเริ่มคิดลงทุนในตลาดหุ้นโดยเริ่มจากคุณพ่อเป็นคนจุดประกายให้นำเงินกองกลางของครอบครัวมาลงทุนในหุ้น "บิ๊กแคป" พื้นฐานดีมีการจ่ายปันผลเรื่อยๆ ก่อน ต่อมาแต่ละคนในครอบครัวก็มีพอร์ตลงทุนส่วนตัวด้วย
“ตอนแรกผมเป็นนักลงทุนแนว "วีไอ" ก่อนเพราะเริ่มจากนำเงินฝากมาลงทุน แต่พบว่าแนวนี้จะต้องศึกษามูลค่าหุ้นกับมูลค่ากิจการต้องใช้เวลาเยอะไม่เหมาะกับนิสัยผม บางครั้งก็เกิดสงสัยว่าเมื่อไรถึงจะซื้อขายหุ้นได้ จึงเริ่มสนใจการใช้เทคนิคในการลงทุน”
เขาเสริมว่าตนเองมีพื้นฐานการศึกษาจบมาทางด้านวิศวกร แน่นอนว่าต้องคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล เน้นเรื่องของสถิติและความเป็นไปได้ เลยเริ่มศึกษาปัจจัยทางเทคนิคอย่างจริงจังด้วยการไปอบรมตามที่ต่างๆ ตั้งแต่ 7-8 ปีที่แล้ว และพยายามหาสไตล์ของตัวเองมาโดยตลอดทั้งเล่นสั้นเล่นยาว เดย์เทรดก็เคยทำ จนกระทั่ง 4 ปีที่แล้วเริ่มหาสไตล์ของตัวเองได้คือเป็นแนว “เทรนด์ ฟอร์โลเวอร์” หรือเล่นรอบใหญ่ เพราะงานหลักยังต้องบริหารกิจการที่บ้านจะให้ไปนั่งดูจอคอมพิวเตอร์ตลอดเวลาเป็นไปไม่ได้ จนตอนนี้เป็นคนเดียวในบ้านที่ใช้เทคนิคในการเล่นหุ้น ส่วนน้องชายจะเป็นคนคัดเลือกหุ้น
พอมีเพดานบินสูงขึ้น เขาเริ่มนำความรู้และประสบการณ์ถ่ายทอดลงบนบล็อกส่วนตัวโดยใช้ชื่อว่า Wave Rider ตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว ตอนแรกๆ คิดเพียงว่าจะเขียนเอาสนุกๆ แต่ทำไปทำมามีคนให้ความสนใจเข้ามาอ่านมากขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้มีคนเข้ามาอ่านรวมสองแสนกว่าครั้งแล้ว จนกระทั่งได้มาพบกับ "หยง" ธำรงชัย เอกอมรวงศ์ และต่อมาก็พบกับ "แพท" ภาววิทย์ กลิ่นประทุม และ "ป้อม" ปิยะพันธ์ วงศ์ยะรา คุยไปคุยมาสไตล์เราตรงกันเลยถูกชวนให้มาสอนหลักสูตรเทคนิคขั้นพื้นฐานที่สต็อกทูมอร์โรว์
จากเมื่อก่อนที่มีเพียงแค่พอร์ตลงทุนระยะสั้น ปัจจุบันได้แบ่งพอร์ตส่วนตัวออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก..เป็นพอร์ตลงทุน "ระยะยาว" แบบ "วีไอ" ที่ถือมาแล้ว 3-4 ปี ตั้งแต่ช่วงวิกฤติปี 2008 (2551) เก็บปันผลกินมาเรื่อยๆ ตอนนี้ผลตอบแทนก็ 40-50% แล้ว ส่วนที่สอง..ก็มีพอร์ต "เล่นรอบ" โดยใช้เทคนิค อีกส่วนจะเป็นพอร์ต "อนุพันธ์" อย่าง SET50 โกลด์ฟิวเจอร์ส เน้นลงทุนเฉพาะในประเทศยังไม่อยากข้ามขั้นไปเทรดต่างประเทศอีกหน่อยถ้าเป็นนักลงทุนเต็มตัวก็ค่อยว่ากัน
ถามถึงพอร์ตตอนนี้มีอยู่เท่าไร เขาบอกว่า "ไม่เยอะมาก" เพียงแค่ "เลขสองหลัก" (หลักสิบล้านบาท) ขนาดพอร์ตก็ขึ้นๆ ลงๆ เพราะปีที่แล้วนำเงินบางส่วนไปซื้อบ้านใหม่ทำให้มูลค่าลดลงไปบ้าง
เซียนเทคนิคเวฟไรเดอร์ กล่าวอย่างมั่นใจว่าช่วงเวลาที่ลงทุนโดยใช้เทคนิคถือได้ว่าประสบความสำเร็จเพราะได้เป็นตัวของตัวเองสามารถหาคำตอบให้ตัวเองได้ว่าจะต้องซื้อหรือขายตอนไหน เลยมีโอกาสเป็นนักลงทุนแนววีไอแค่ "ปีเดียว" แต่เวลาเลือกหุ้นที่จะลงทุนก็จะเริ่มจากพื้นฐานก่อนเสมอไม่ใช่เก็งกำไรอย่างเดียว แต่เราต้องเข้าไปซื้อใน
จังหวะที่ถูกต้องถึงจะได้เปรียบคนอื่น ขอยืนยันว่าการดูเทคนิคไม่ยาก แต่ที่ยากคือ "ต้องมีวินัย" ในตัวเอง โดยเฉพาะต้องรู้จักการตั้ง Stop Loss และราคาที่เหมาะสมถ้า "แพงกว่านี้" (แพงเกินพื้นฐาน) เราต้องเลิกสนใจ สิ่งเหล่านี้ฝึกกันยากทำให้ส่วนใหญ่ไม่สำเร็จในทางสายนี้
สไตล์การลงทุนส่วนตัวเขาบอกว่า จะคัดเลือกหุ้นที่พื้นฐานดีมา 40 ตัว และคัดออกด้วยกราฟและสัญญาณทางเทคนิคให้เหลือ 20 ตัว แต่จะเทรดจริงๆ แค่ 5 ตัว ที่สามารถเล่นรอบได้ไกลๆ บางทีก็มีเลือกผิดบ้างก็ต้อง Stop Loss เลือกใหม่
"ปกติผมจะเทรดหุ้น 5-7 ตัวในพอร์ตที่เล่นรอบ โดยจะไม่ซ้ำกับพอร์ตวีไอ เวลาจะเอาหุ้นตัวใหม่เข้าก็จะหยิบตัวที่แย่สุดออกไป สไตล์การเทรดแบบเทรนด์ฟอร์โลเวอร์จะไม่ซื้อเมื่อราคาถูกสุดและไม่ขายเมื่อแพงที่สุด จะซื้อเมื่อมีสัญญาณว่าจะไม่ลงแล้ว ขายเมื่อแสดงว่าราคาไม่ไปแล้ว ประสบการณ์ที่ผ่านมาเวลาได้กำไรแล้วก็จะปล่อยทิ้งยาวไปเรื่อยๆ ให้ได้ผลตอบแทน 20% ในภาวะที่ตลาดปกติ แต่ถ้าเป็นตลาดกระทิงอาจได้มากกว่านั้น ถ้าตลาดไซด์เวย์อาจได้แค่ 10-15% ส่วนพอร์ตวีไอจะดูกราฟภาพใหญ่ระดับสัปดาห์และเดือนขึ้นไป"
สำหรับโปรแกรมที่ใช้วิเคราะห์ ก็คือ APEX เครื่องมือที่ใช้บ่อยก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไรจะดูกราฟแท่งเทียน, MACD, Stochastic และใช้เส้นค่าเฉลี่ย 5 เส้นตั้งแต่ 5, 15, 35, 90 และ 233 วัน เวลาเลือกหุ้นจะดูกราฟสัปดาห์หาตัวที่หน้าตาสวยๆ คือ หลายสัปดาห์ก่อนวิ่งขึ้นแล้วพักตัวออกข้างแบบนี้เรียกว่า "กำลังสะสมกำลัง" ดูแล้วน่าสนใจที่สุด แต่ถ้าหุ้นตัวไหนวิ่งขึ้นๆ ลงๆ จะไม่สนใจ จากนั้นก็จะย่อมาดูกราฟ DAY ถ้า MACD "ตัดศูนย์ลง" หรืออยู่ใต้กว่าเส้น "จะไม่เอา"
แต่ถ้า MACD ขึ้นมาอยู่ "ใกล้ตัดศูนย์ขึ้น" อันนี้ "น่าสนใจเป็นพิเศษ" ก็จะหันมาดูกราฟชั่วโมงหากวิ่งขึ้นมาชนเทรนด์ไลน์แล้วมันจะถูกทดสอบก่อนจากแนวต้านจะกลายเป็น "แนวรับ" หากยืนได้จะวิ่งต่อจะเข้าไป "ซื้อ" ตอนนั้น
สวนตอนขายจะปล่อยของเมื่อมีสัญญาณเช่น ราคาลงมาตัดเส้นค่าเฉลี่ย 15 วัน หรือตกเทรนด์ไลน์เช่น MACDตัดศูนย์ลงก็จะขายทั้งหมด นี่คือแนวทางของเทรนด์ฟอร์โลเวอร์ คือ "ดูภาพใหญ่" หลายครั้งเจอว่าหุ้นบางตัวสัญญาณเทคนิคออกก่อนข่าวสัก 3-7 วัน หลายครั้งพอเราขายตามสัญญาณพอข่าวออกก็ "ลงเลย" หุ้นบางตัวถือนานที่สุด 3 เดือน เคยได้ผลตอบแทน 30% เร็วที่สุดบางตัวถือแค่สองอาทิตย์วิ่งไป 20% ก็ขายเลย ถ้าเป็นพอร์ตเล่นรอบจะ "ไม่สนใจเงินปันผล" เลยถือเป็นแค่ของแถม
เขาเล่าประสบการณ์ลงทุนว่าหลายครั้งก็ “ผิดพลาด” อย่างช่วงที่หุ้นไทยออยล์ (TOP) เข้าตลาดหุ้นใหม่ๆ ประมาณปี 2004 ตอนนั้นยังไม่ใช้เรื่องเทคนิคมาจับและจองหุ้นไว้ปรากฏว่าติดหุ้นอยู่สองปีขายไม่ได้เลย ทำให้ตัดสินใจไม่จองซื้อหุ้นไอพีโออีกต่อไป อีกเหตุการณ์ที่โดนหนักๆ ตอนที่ "หม่อมอุ๋ย" ประกาศใช้มาตรการ 30% (19 ธันวาคม 2549) ตอนนั้นเปิดสถานะ Long TFEX อยู่ พอเปิดตลาดมาก็ติดลบอย่างหนักจนต้องรีบปิดและเปิดสถานะ Short แทน ปรากฏว่าช่วงเย็นไม่ยอมปิดสถานะและทางการประกาศเลิกใช้มาตรการ 30% ทำให้หุ้นพุ่งในวันรุ่งขึ้นก็เจ็บตัวอีก แทนที่จะได้กำไรก็ได้คืนมาไม่เท่าที่เสีย
ประสบการณ์หุ้นไอพีโออีกตัวคือ หุ้นเอสโซ่ (ESSO) ตอนนั้นวิเคราะห์ว่าตัวบริษัทไม่ใช่ผู้นำในธุรกิจน้ำมัน ถ้าเข้าตลาดโอกาสลงมีสูง ประกอบกับประสบการณ์ (ไม่ดี) กับหุ้นไทยออยล์ทำให้ตัดสินใจไม่จองหุ้นแต่รอเล่นหลังจากเข้าตลาดไปแล้ว หลังจากนั้นเอสโซ่พอเข้าตลาดก็ลงจริงแล้วใช้เวลาพักตัวอยู่หลายเดือน พอตีกราฟเห็นแล้วว่ามีโอกาสจะขึ้นแน่นอนก็ค่อยๆ เข้าไปเก็บหุ้นเอาไว้ จากนั้นหุ้นก็วิ่งขึ้นพอสมควร
หุ้นอีกตัวคือเอไอเอส (ADVANC) ส่วนตัวสังเกตราคาหุ้นเคลื่อนไหวที่ 80-90 บาทนานเป็นเดือน เป็นสัญญาณของการสะสมกำลัง พอตีกราฟรายสัปดาห์รู้ว่ามันวิ่งขึ้นมาแล้วพักตัวอยู่ ผมก็ตีเส้นรอ "ถ้ามีวอลุ่มเข้าถึงจะตามเข้าไป" พอมาถึงประมาณกลางปีสัญญาณขาขึ้นและวอลุ่มเริ่มมาเลยเริ่มเข้าไปเก็บตั้งแต่ราคา 88-100 บาท จนตอนนี้หุ้นวิ่งขึ้นไปที่ 140 บาท ก็ยังไม่คิดจะขาย เพราะภาพสัญญาณมันชัดมากว่ายังจะขึ้นได้อีก
เขาเล่าว่าประสบการณ์เล่นหุ้นที่พอจะเล่าให้เป็นแนวทางให้นักลงทุนได้คือ "เทคนิคการเล่นหุ้นไอพีโอ" ให้ได้กำไรจะต้องดูที่ “วอลุ่ม” การซื้อขายในช่วงชั่วโมงแรกจะรู้แล้วว่าหุ้นตัวนั้นจะ "ขึ้น" หรือ "ลง" โดยจะดูการตั้ง Bid และ Offer ถ้ามีการซื้อแบบ "ตบข้ามช่อง" หรือ "ไล่ซื้อหลายช่อง" (ตั้งราคาห่าง) มันจะสะท้อนอารมณ์ตลาดว่า "คนอยากได้หุ้นมาก" แปลว่าหุ้นตัวนี้ "น่าสน" แล้ว จากนั้นมาดูตอนช่วง "พีค" ของการซื้อขายประมาณ 10.00-10.30 น.
จากนั้นมาดูช่วงเวลา 11.00-12.00 น. เพราะจะมีบางคนขายทำกำไรช่วงเวลานั้น และดูต่ออีกทีช่วง "เปิดตลาดภาคบ่าย" ถ้าราคาสามารถวิ่งกลับไปเหนือ "จุดสูงสุดเดิมช่วงเช้า" ถึงจะเข้าไปซื้อช่วงนั้น แต่ถ้า "ไม่ผ่าน" จะไม่เอาเลยแปลว่า "หุ้นไม่วิ่งต่อแน่"
“อารมณ์หุ้นไอพีโอส่วนมากจะเป็นแบบนี้ ถ้าหุ้นตัวไหนมีคนต้องการเยอะตามแบบที่บอกหุ้นจะวิ่ง 3-4 วันเป็นอย่างน้อย แต่ถ้าวิ่งไม่ขึ้นทำ New Low แปลว่าคนไม่สนใจ”
นอกจากนี้ยังต้องวิเคราะห์ช่วงเวลาที่ต้องขายโดยใช้เส้นค่าเฉลี่ยและกราฟแท่งเทียนรายครึ่งชั่วโมงถ้ายังยืนอยู่ได้ก็ยังถือต่อแต่ถ้าเริ่มตกก็จะขาย ทำแบบนี้คาดหวังกำไร 12-20% ประสบการณ์เล่นหุ้นไอพีโอที่น่าสนใจอย่างเช่นหุ้นน้ำมันพืชไทย (TVO) แล้วก็หุ้นเนชั่นเอ็ดดูเทนเมนท์ (NINE) แต่ส่วนตัวจะไม่เล่นหุ้นไอพีโอทุกตัว อย่างน้อยต้องดูพื้นฐานและความน่าสนใจด้วย เทคนิคที่เกิดขึ้นมาจากประสบการณ์ที่นั่งเฝ้าดูวอลุ่มสมัยเล่นเดย์เทรดเป็นหลัก
ยังมีเทคนิคการอ่านวอลุ่มคู่กราฟแท่งเทียนเพื่อแบ่งพฤติกรรมนักลงทุนเป็น 4 แบบคือ หนึ่ง..แท่งเทียนเปิดสูงแต่วอลุ่มไม่มีแปลว่า "ราคาหุ้นขึ้นไม่จริง" สอง..แท่งเทียนเปิดสั้นแถมไม่มีวอลุ่มแปลว่า "ไม่มีใครสนใจ" สาม..แท่งเทียนสั้นวอลุ่มหนาแปลว่ามีคนตั้ง Offer หนา ราคาวิ่งอยู่ไม่กี่ช่อง ศัพท์เทคนิคเรียกว่า "กำลังนั่งยองๆ เก็บของ" แบบนี้ไม่เกิน 3 วันจะ "วิ่งแบบบ้าเลือด" สี่..แท่งเทียนยาวและวอลุ่มหนา ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นหลังนั่งยองๆ เก็บของแล้วไม่นาน "หุ้นจะวิ่ง" เทคนิคนี้จะเกิดจากการนั่งมองกราฟบ่อยๆ เท่านั้น
"ปุย" ปิดท้ายด้วยเป้าหมายส่วนตัวในการลงทุน เขาขอเพียงแค่ให้เงินเก็บเติบโตไม่ถดถอยไปตามเงินเฟ้อเท่านั้นโดยไม่เคยตั้งเป้าให้กับตัวเองเพราะจะไปสร้างแรงกดดัน นอกจากลงทุนแล้วถ้าเป็นไปได้ก็จะพยายามให้ความรู้กับนักลงทุนโดยเฉพาะการใช้เทคนิคช่วยให้การลงทุนประสบความสำเร็จ
ประกาศิต ทิตาราม ให้ทัศนะทิศทางตลาดหุ้นไทยปี 2555 โดยใช้เครื่องมือทางเทคนิค ค่อนข้างมั่นใจว่า SET จะเป็น “ขาลง” โดยพิจารณาจากเครื่องมือ MACD บนกราฟรายเดือนและนับคลื่น สิ่งที่เห็นคือสัญญาณ MACD ในระดับสัปดาห์เริ่มถอยลงมาเรื่อยๆ ติดต่อกัน จุดสังเกตขอให้ดูหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปีเริ่มวิ่งแปลกๆ หลังจากขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 1,140 จุดแล้ว พอลงมามันไม่สามารถขึ้นไปเท่ากับยอดเดิมได้อีกแล้ว ตามหลักการถ้าจะขึ้นต่อต้องไปได้สูงกว่าเดิมเพราะยอดเดิมจะกลายเป็น "แนวต้าน" พอไม่ผ่านแสดงว่า "แรงไม่มีแล้ว"
“จากจุดพีคสุดปี 2554 ผมมองว่าถ้าหลุด 1,000 จุด รับรองว่าลงยาวแน่นอนแล้วก็มาหยุดที่ 850 จุดยังแปลกใจเลยว่าทำไมลงแค่นี้ สำหรับปี 2555 ส่วนตัวให้ตัวเลข SET Index น่าจะหลุด 700 จุด แม้จะเป็นขาลงแต่เชื่อว่าน่าจะยังมีการเด้งขึ้นลงเป็นรอบๆ”
สำหรับปีถัดไปยังตอบไม่ได้ว่าจะลงต่ออีกหรือไม่ แต่น่าจะเป็นการเคลื่อนตัวไซด์เวย์ค่อยๆ กลับตัว หุ้นเวลาที่ลงมาแรงๆ การกลับตัวต้องใช้เวลา อย่างตอนที่ SET ลงมาจาก 1,700 จุด มาเหลือ 200 จุด ตอนนั้นใช้เวลาสองปีกว่าจะขึ้นมาอยู่ที่ 500 จุด การลงรอบนี้ถ้าจะกลับตัวขึ้นมาเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะยุโรปต้องเคลียร์ ถ้ายังไม่เรียบร้อยตลาดหุ้นอาจเคลื่อนตัวออกข้างหรือลงหนัก
ส่วนตัวเคยมีประสบการณ์ปรับพอร์ตในช่วงวิกฤติเลแมน บราเดอร์ส จากจุดสูงสุดที่ 900 จุด พอลงมา 700 จุดสัญญาณเทคนิคบอกชัดเจนว่าเอาไม่อยู่แน่นอน ส่วนตัวจึงได้ขายหุ้นในพอร์ตแบบวีไอออกไปจนหมด และเปิดสถานะชอร์ตในฟิวเจอร์ จนหุ้นไทยลงมาที่ 350 จุด พอเห็นสัญญาณว่าจะไม่ลงแล้วก็ปิดสถานะ พอมาถึงปี 2009 ตอนนั้นยังไม่แน่ใจเลยว่าหุ้นจะขึ้น พึ่งจะมาเก็บเข้าพอร์ตระยะยาวในปี 2010 นี่เอง...เขากล่าว
ถนนนักลงทุน วันที่ 10 มกราคม 2555 01:00
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/finance/investment/20120110/428096/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%95-%E0%B8%97%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1-%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%93-%E0%B8%A7%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%A1-%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%AB%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%99-%E0%B9%84%E0%B8%AD%E0%B8%9E%E0%B8%B5%E0%B9%82%E0%B8%AD.html
จากคุณ |
:
Wild Rabbit
|
เขียนเมื่อ |
:
15 ม.ค. 55 22:07:54
|
|
|
|