|
สวัสดีครับทุกท่าน
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (2 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนมีความระวัดระวังการซื้อขายก่อนที่กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรในคืนวันศุกร์ตามเวลาไทย อย่างไรก็ตาม ดัชนีดาวโจนส์ขยับลงเพียงเล็กน้อย หลังจากที่พุ่งขึ้นในช่วงเช้า เพราะตลาดได้แรงหนุนจากตัวเลขว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐที่ปรับตัวลดลง ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดในแดนบวก เพราะได้ปัจจัยบวกจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งบริษัท ควอลคอมม์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิพรายใหญ่ของสหรัฐ
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ขยับลง 11.05 จุด หรือ 0.09% ปิดที่ 12,705.41 จุด ดัชนี S&P 500 ดีดขึ้น 1.45 จุด หรือ 0.11% ปิดที่ 1,325.54 จุด และดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้น 11. 41 จุด หรือ 0.40% ปิดที่ 2,859.68 จุด
ในช่วงแรกนั้น ตลาดหุ้นนิวยอร์กดีดตัวขึ้นขานรับรายงานของกระทรวงแรงงานสหรัฐที่ระบุว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 28 ม.ค. ลดลง 12,000 ราย มาอยู่ที่ 367,000 รายซึ่งตัวเลขดังกล่าวลดลงจากระดับ 379,000 ในสัปดาห์ก่อนหน้า ส่วนจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานโดยเฉลี่ย 4 สัปดาห์ ปรับตัวลดลง 2,000 ราย สู่ระดับ 375,750 ราย
ข้อมูลดังกล่าวมีความสอดคล้องกับรายงานของ ADP Employer Services ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยด้านตลาดแรงงานในสหรัฐซึ่งระบุว่า ภาคเอกชนทั่วสหรัฐเพิ่มการจ้างงาน 170,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค.
อย่างไรก็ตาม แม้ข้อมูลด้านแรงงานออกมาในด้านบวก แต่นักลงทุนกลับมีท่าทีระมัดระวังก่อนที่กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตร (nonfarm payrolls) ประจำเดือนม.ค.ในวันนี้เวลา 20.30 น.ตามเวลาไทย ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 145,000 - 150,000 ตำแหน่ง ขณะที่อัตราว่างงานจะทรงตัวที่ 8.5% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี
ดัชนี Nasdaq ดีดตัวขึ้นสวนทางกับการปิดลบของดัชนีดาวโจนส์ หลังจากบริษัทควอลคอมม์คาดการณ์ว่า ยอดขายในไตรมาสที่สิ้นสุด ณ เดือนมี.ค. จะพุ่งขึ้นแตะระดับ 4.6-5 พันล้านดอลลาร์ และคาดว่ารายได้ในปีงบการเงินปีนี้จะเพิ่มขึ้น 25-32% สู่ระดับ 1.87-1.97 หมื่นล้านดอลลาร์
หุ้นบริษัทเหมืองแร่ของสหรัฐดีดตัวขึ้น หลังจากเอ็กสตราต้า ซึ่งเป็นบริษัทเหมืองแร่ของอังกฤษยืนยันว่าทางบริษัทกำลังเจรจาเรื่องการควบรวมกิจการกับเกลนคอร์ ซึ่งเป็นเทรดเดอร์สินค้าโภคภัณฑ์ โดยหุ้น นิวมอนท์ ไมนิ่ง คอร์ป พุ่งขึ้น 19% หุ้นอัลโค อิงค์ ดีดขึ้น 2.2% และหุ้นคลิฟส์ เนเชอรัล รีซอสเซส ขยับขึ้น 0.3%
หุ้นกลุ่มค้าปลีกดีดตัวขึ้น หลังจากบริษัทหลายแห่งเปิดเผยผลประกอบการเมื่อวานนี้ โดยหุ้นคอสโค ดีดขึ้น 2.8% หุ้นทาร์เก็ต ขยับขึ้น 1.1% และหุ้นแก๊ป พุ่งขึ้น 10.7% หลังจากทั้ง 3 บริษัทเปิดเผยผลประกอบการที่ดีเกินคาด
หุ้นมาสเตอร์การ์ด พุ่งขึ้น 6.7% หลังจากบริษัทเปิดเผยกำไรไตรมาส 4 ที่แข็งแกร่งเกินคาด ขณะที่หุ้นซิตี้กรุ๊ป ดีดขึ้น 1.3% และหุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา พุ่งขึ้น 1.2%
หุ้นกลุ่มอินเตอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ปรับตัวขึ้นถ้วนหน้า เพราะได้แรงหนุนจากข่าวเฟซบุ๊กเสนอขายหุ้น IPO โดยหุ้นซินก้า ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเกมสำหรับเครือข่ายเฟซบุ๊ก พุ่งขึ้น 17% หุ้น Groupon พุ่งขึ้น 7.4% และหุ้น Renren Inc ทะยานขึ้น 8.2%
นอกเหนือจากตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรประจำเดือนม.ค.แล้ว สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) จะเปิดเผยดัชนีภาคบริการ เดือนม.ค.ในวันนี้เวลา 22.00 น.ตามเวลาไทย ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าดัชนี ISM ภาคบริการของสหรัฐจะอยู่ที่ 53.0 จุดในเดือนม.ค. เพิ่มขึ้นจากระดับ 52.6 จุดของเดือนธ.ค.
สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (2 ก.พ.) หลังจากทางการสหรัฐเปิดเผยว่าความต้องการพลังงานภายในประเทศชะลอตัวลงในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากรายงานสต็อกน้ำมันดิบที่พุ่งขึ้นเกินคาดของสหรัฐด้วย
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ที่ตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนมี.ค.ร่วงลง 1.25 ดอลลาร์ หรือ 1.28% ปิดที่ 96.36 ดอลลรร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้น 51 เซนต์ หรือ 0.46% ปิดที่ 112.07 ดอลลาร์/บาร์เรล
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบ WTI ร่วงลงติดต่อกัน 5 วันทำการ หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงภายในประเทศในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 27 ม.ค. ร่วงลง 8.3% มาอยู่ที่ระดับ 17.7 ล้านบาร์เรล/วัน
ส่วนสต็อกน้ำมันที่ศูนย์กลางการจัดเก็บน้ำมันที่เมืองคุชชิง รัฐโอกลาโฮมา ซึ่งเป็นจุดส่งมอบน้ำมันดิบสำหรับตลาดน้ำมัน NYMEX พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์ ข้อมูลเหล่านี้ทำให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะหดตัวของอุปสงค์พลังงาน อันเนื่องมาจากผู้บริโภคปรับลดการใช้จ่าย โดยรายงานล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐระบุว่า ตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคของสหรัฐไม่มีการขยายตัวในเดือนธ.ค.
อย่างไรก็ตาม กระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดในอิหร่านได้ช่วยพยุงสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในระหว่างวัน และเป็นปัจจัยหนุนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ให้ดีดขึ้นมาปิดในแดนบวกด้วย
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ผู้สังเกตุการณ์ในตลาดมองว่า ความตึงเครียดเกี่ยวกับสถานการณ์อิหร่านอาจลดน้อยลง หลังจากมีรายงานว่าคณะผู้ตรวจการของสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) จะเจรจาเพื่อตกลงกับอิหร่านในเรื่องโครงการนิวเคลียร์อีกครั้งในระหว่างวันที่ 21-22 ก.พ. หลังจากการเดินทางเยือนอิหร่านเสร็จลงเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา
แบงก์ ออฟ อเมริกา คอร์ป คาดการณ์ว่า สัญญาน้ำมันดิบ WTI จะพุ่งขึ้นแตะระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล จากระดับเฉลี่ยในปัจจุบันที่ 92 ดอลลาร์/บาร์เรล และคาดว่าสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์จะปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล จากระดับปัจจุบันที่ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล
นักลงทุนจับตาดูตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนม.ค.ซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยในวันพรุ่งนี้เวลา 20.30 น.ตามเวลาไทย โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือนม.ค.ของสหรัฐ จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 145,000-150,000 ตำแหน่ง และคาดว่าอัตราว่างงานจะอยู่ที่ระดับ 8.5% ในเดือนม.ค.
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (2 ก.พ.) ทำสถิติปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 3 เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อทองคำเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการลุกลามของวิกฤตหนี้ยุโรป อันเนื่องมาจากการเจรจาเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างกรีซและกลุ่มเจ้าหนี้เอกชนยังไม่ประสบความสำเร็จจนถึงขณะนี้
สัญญาทองคำที่ตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย.พุ่งขึ้น 9.8 ดอลลาร์ หรือ 0.6% ปิดที่ 1,759.3 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้น 36.8 เซนต์ ปิดที่ 34.175 ดอลลาร์/ออนซ์ และสัญญาโลหะทองแดงส่งมอบเดือนมี.ค.ร่วงลง 1.6% ปิดที่ 3.781 ดอลลาร์/ปอนด์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย.ปิดที่ 1629.90 ดอลลาร์ พุ่งขึ้น 6.70 ดอลลาร์ และสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค.ปิดที่ 707.65 ดอลลาร์ พุ่งขึ้น 10.95 ดอลลาร์/ออนซ์
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นักลงทุนแห่เข้าซื้อทองคำเพราะมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยในช่วงที่วิกฤตหนี้ยุโรปยังไม่คลี่คลาย โดยเฉพาะเมื่อการเจจรจาเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างรัฐบาลกรีซและกลุ่มเจ้าหนี้เอกชนยังคงยืดเยื้อจนถึงขณะนี้
ไมค์ ดาลีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทองคำจากบริษัท PFGbest ในเมืองชิคาโก กล่าวว่า "เทรดเดอร์กำลังจับตาดูสถานการณ์ในสหภาพยุโรป (อย่างใกล้ชิด) โดยเฉพาะปัญหาหนี้ของกรีซ ซึ่งรัฐบาลกรีซและกลุ่มเจ้าหนี้เอกชนยังคงเจรจาเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ และทั้งสองฝ่ายต่างก็คาดหวังว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงได้ในไม่ช้านี้ แต่อย่างไรตาม นักลงทุนวิตกกังวลว่ากรีซอาจจะไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ได้ และอาจจะต้องขอรับความช่วยเหลือรอบใหม่"
สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับยูโรและปอนด์ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (2 ก.พ.) หลังจากทางการสหรัฐเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงตัวเลขว่างงานรายสัปดาห์ที่ร่วงลงเกินคาด อย่างไรก็ตาม สกุลเงินดอลลาร์ได้รับแรงกดดันในระหว่างวัน โดยดอลลาร์สหรัฐอ่อนแรงลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินเยนและออสเตรเลีย หลังจากนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้กล่าวปกป้องนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำ
ค่าเงินยูโรอ่อนตัวลง 0.15% แตะที่ 1.3138 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันพุธที่ 1.3158 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์ขยับลง 0.18% แตะที่ 1.5799 ปอนด์ จากระดับ 1.5828 ปอนด์
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลง 0.07% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 76.150 เยน จากระดับ 76.200 เยน และพุ่งขึ้น 0.13% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 0.9166 ฟรังค์ จากระดับ 0.9154 ฟรังค์
ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้น 0.10% แตะที่ 1.0706 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.0695 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์พุ่งขึ้น 0.20% แตะที่ 0.8333 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.8316 ดอลลาร์สหรัฐ
สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐดีดตัวขึ้นหลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 28 ม.ค. ลดลง 12,000 ราย มาอยู่ที่ 367,000 รายซึ่งตัวเลขดังกล่าวลดลงจากระดับ 379,000 ในสัปดาห์ก่อนหน้า ส่วนจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานโดยเฉลี่ย 4 สัปดาห์ ปรับตัวลดลง 2,000 ราย สู่ระดับ 375,750 ราย
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การปรับตัวลงของตัวเลขว่างงานทำให้นักลงทุนมีมุมมองที่เป็นบวกต่อตลาดแรงงานของสหรัฐและเป็นปัจจัยหนุนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐด้วย โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์สหรัฐและอีก 6 สกุลเงินที่มีสภาพคล่องสูงสุดของโลก ปรับตัวขึ้น 0.08% แตะที่ 78.98 จุดเมื่อวานนี้
อย่างไรก็ตาม สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐไดรับแรงกดดันในระหว่างวัน และยังได้อ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย หลังจากเบอร์นันเก้กล่าวปกป้องนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำ ในระหว่างการแถลงต่อคณะกรรมาธิการด้านการเงินของสภาคองเกรสเมื่อวานนี้ว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ยังไร้ทิศทางของสหรัฐ ทำให้เฟดเล็งเห็นความจำเป็นในการตรึงอัตราดอกเบี้ยต่ำไปจนถึงช่วงปลายปี 2557
นักลงทุนจับตาดูตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนม.ค.ซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยในวันพรุ่งนี้เวลา 20.30 น.ตามเวลาไทย โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือนม.ค.ของสหรัฐ จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 145,000-150,000 ตำแหน่ง และคาดว่าอัตราว่างงานจะอยู่ที่ระดับ 8.5% ในเดือนม.ค.
นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงจับตาดูการเจรจาเรื่องการปรับโครงสรางหนี้ของกรีซ หลังจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IIF) ซึ่งเป็นผู้นำการเจรจาในนามเจ้าหนี้ของกรีซ เปิดเผยว่า เจ้าหนี้ภาคเอกชนและรัฐบาลกรีซใกล้จะบรรลุข้อตกลงขั้นสุดท้ายในการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์นี้
นายพอล ธอมเซน หัวหน้าคณะผู้ตรวจสอบจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่า กรีซต้องเร่งดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและชะลอการปรับลดยอดขาดดุลงบประมาณ หลังจากนโยบายรัดเข็มขัดที่กำหนดขึ้นในปี 2553 เพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือ 1.10 แสนล้านยูโรจากอียู/ไอเอ็มเอฟนั้น ได้กระตุ้นให้เกิดความไม่สงบทางสังคม และทำให้กรีซเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่รุนแรงเกินคาด
ทั้งนี้ นายธอมเซนเปิดเผยกับหนังสือพิมพ์ของกรีซว่า มาตรการช่วยเหลือรอบสอง ซึ่งกำลังมีการหารือกันในขณะนี้นั้น ต้องมุ่งเน้นการปฏิรูปที่เร็วขึ้นเพื่อทำให้เศรษฐกิจมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น
จากคุณ |
:
ฮะ ว่าไงนะ
|
เขียนเมื่อ |
:
3 ก.พ. 55 07:53:39
|
|
|
|
|