ผลวิจัยศศินทร์พบกองทุนทองคำเสี่ยงสูง
|
|
วันพุธที่ 08 กุมภาพันธ์ 2012 เวลา 10:48 น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ การเงิน Financial - การเงิน Financial
ศศินทร์ เผยผลวิจัยชี้ชัดนักลงทุนในกองทุนเปิดทองคำของไทยมีความเสี่ยงสูง ระบุมีช่องโหว่จากการอ้างอิงราคากองทุนทองคำสิงคโปร์ แนะก.ล.ต.รักษาผลประโยชน์นักลงทุนไทย
เผยหากราคายังถูกบิดเบือนได้ง่ายจะทำให้การดำเนินงานของกองทุนโดยรวมตกต่ำและสร้างความเสียหายแก่ผู้ลงทุนทุกคน ผศ.ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และการตลาด สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือศศินทร์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีกองทุนเปิดทองคำในไทยทั้งแบบกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และแบบปกติ นำเงินกองทุนไปลงทุนในกองทุนอีทีเอฟทองคำที่ประเทศสิงคโปร์ จากการวิจัยของศศินทร์ พบว่าที่ผ่านมานักลงทุนในกองทุนเปิดทองคำของไทย ได้เผชิญกับปัญหาเรื่องความไม่ยุติธรรมต่อผู้ที่ซื้อขายหน่วยลงทุน ทั้งนี้เนื่องจากมีช่องโหว่ที่ทำให้เกิดกำไรแบบไร้ความเสี่ยง (อาร์บิทราจ ) โดยเฉพาะถ้ากองทุนเปิดทองคำในไทยกองใดมีกลุ่มคนที่คอยทำกำไร ก็สามารถดำเนินการทำให้ราคาปิดจากตลาดสิงคโปร์สูงแบบผิดปกติ ส่งผลให้การดำเนินงานของกองทุนโดยรวมตกต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งจะสร้างความเสียหายแก่ผู้ลงทุน ปัญหานี้เกิดจากการที่กองทุนเปิดทองคำในไทยใช้ราคาที่ถูกบิดเบือนมากำหนดราคาซื้อขายหน่วยลงทุน ดังนั้นหากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการกำหนดราคาซื้อขายของกองทุนเปิดทองคำจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน( บลจ.) ต่างๆ นักลงทุนก็ยังไม่ควรลงทุนในกองทุนเปิดทองคำที่อ้างอิงกับราคาปิดของกองทุนทองคำสิงคโปร์ เพราะมีความเสี่ยงของราคาที่ผิดปกติ หรืออาจได้รับความเสียหายถ้ามีกลุ่มนักทำราคาดำเนินการอยู่ นอกจากนี้แล้วปัญหาดังกล่าวยังเป็นช่องโหว่ให้มีการทำกำไรโดยไม่มีความเสี่ยงหรือการทำอาร์บิทราจ อาจมีคนบางกลุ่มใช้เงินทุ่มซื้อเพื่อทำราคาปิดให้สูงในช่วงปิดตลาดอย่างจงใจ เพื่อให้กลุ่มตนเองสามารถซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนเปิดทองคำในไทยได้ในราคาที่ต่ำเกินจริงหรือขายในราคาที่สูงเกินจริง สาเหตุของปัญหาดังกล่าวเกิดจากการที่กองทุนเปิดทองคำในไทยอ้างอิงราคาปิดของตลาดในสิงคโปร์ที่สามารถถูกบิดเบือนได้ง่ายมากำหนดเป็นมูลค่าราคาซื้อขายหน่วยลงทุน ดร.ชนวีร์ สุภัทรเกียรติ นักวิจัยและอาจารย์ประจำสถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ ในฐานะผู้วิจัยและค้นพบช่องโหว่จากการอ้างอิงราคาปิดของกองทุนทองคำในประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า ขณะนี้ศศินทร์ ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและได้แจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งขณะนี้ทาง ก.ล.ต. และบลจ. กำลังพิจารณาออกมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่สิ่งที่น่าสนใจจากนี้ไปก็คือ จะมีมาตรการใดที่จะช่วยรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน ที่สำคัญนักลงทุนควรทำอย่างไรหากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการกำหนดราคาที่ใช้อ้างอิง และมีกองทุนใดในประเทศไทยบ้างที่อ้างอิงตลาดสิงคโปร์และมีความเสี่ยงอยู่ในขณะนี้ รวมทั้งควรจะลงทุนกับกองทุนใดที่ไร้ความเสี่ยง ดังนั้นทางออกในเรื่องนี้ ศศินทร์เตรียมจัดงาน "Sasin Faculty Research Forum" เพื่อถกถึงปัญหาดังกล่าว ในวันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 ระหว่างเวลา 13.30 - 15.00 น. ณ ห้อง 502 ชั้น 5 สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งงานนี้เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจทั่วไปรับฟังฟรี สำรองที่นั่งและสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0-2216-8333#210 หรือ ที่เว็บไซต์ www.sasin.edu
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,712 9-11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=106550:2012-02-08-03-50-42&catid=104:-financial-&Itemid=443
จากคุณ |
:
Wild Rabbit
|
เขียนเมื่อ |
:
12 ก.พ. 55 23:23:37
|
|
|
|