Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
"กองทุนติดดาว"ช่วยทำหน้าที่เป็นเข็มทิศการลงทุนได้จริงหรือ? ติดต่อทีมงาน

"กองทุนติดดาว"ช่วยทำหน้าที่เป็นเข็มทิศการลงทุนได้จริงหรือไม่ ลองคลิกเข้าไปอ่านในสกู๊ปสัปดาห์นี้

“เบื่อมั้ย?” กับการลงทุนที่ไร้ทิศทางจนทำให้ตัวเองต้องไกลห่างจากเป้าหมายการลงทุนที่ได้วางแผนไว้ในชีวิต เช่น การมองภาพระยะสั้นเกินไป มักทำให้นักลงทุนถอยห่างจากเป้าหมายที่ต้องการโดยไม่รู้ตัว หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ การพยายามมองหา “กองทุนที่มีผลงานอันดับ 1” ของแต่ละปีเพื่อจะเข้าไปลงทุน

จากอดีตที่ผ่านมา พบว่า “กองทุนที่มีผลงานอันดับ 1” ของแต่ละปีนั้น ก็มักจะ “หมุนเวียนเปลี่ยนไป” ในทุกๆ ปีที่ผ่านไป หมุนเวียนสลับกันไปในแต่ละปีเช่นเดียวกัน

“เบื่อมั้ย?” ถึงเวลาลงทุนก็ไม่รู้จะเลือกลงทุนในกองทุนไหนดี มีตั้ง 22 บลจ. มีกองทุนตั้งมากมายเต็มไปหมด สุดท้ายไม่รู้จะเลือกกองทุนไหนดี เลยตัดสินใจเลือกกองทุนจาก “ความสะดวกสบาย” ในการลงทุน “ของแถม” หรือ “โปรโมชั่น” ต่างๆ เป็นหลัก แทนที่จะดูที่ “ผลการดำเนินงานของกองทุน” เป็นสำคัญ
“จะดีกว่ามั้ย?” ถ้าจะปรับจูนมุมมองการลงทุนให้ถูกต้อง พร้อมมี “ตัวช่วย” เป็น “กองทุนติดดาว” เรทติ้งกองทุนที่เข้าใจง่ายจากสถาบันจัดอันดับที่เป็นกลางอย่าง “Morningstar” มาเป็นตัวช่วยในการเลือกกองทุน Fundamentals สัปดาห์นี้ มีเรื่องราวมาฝากกัน
...........................

<  เรทติ้งต่าง-ผลตอบแทนต่าง >

เกี่ยวกับเรื่องนี้ “พีร์ ยงวณิชย์” กรรมการผู้จัดการ บจ.มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) บอกว่า นักลงทุนไทยเองยังมีการใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจไม่มากนักและส่วนใหญ่มักจะให้ความสนใจกับภาพระยะสั้นในช่วงนั้นๆ

เช่น กองทุนไหนที่มีผลงานดีสุดในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งตามข้อเท็จจริงกองทุนที่ได้อันดับ 1 ก็จะหมุนเวียนเปลี่ยนไปทุกปีไม่ซ้ำกันเลย ทาง “มอร์นิ่งสตาร์” เองอยากให้นักลงทุนไทยมีการใช้ “ข้อมูล” เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวมให้มากยิ่งขึ้น

โดยแทนที่จะดูจากผลการดำเนินงานในระยะสั้นก็ควรที่จะหันมาสนใจเลือกกองทุนที่มี “ผลงานสม่ำเสมอ” มีความคงเส้นคงวาในระยะยาวเพื่อลงทุนน่าจะช่วยตอบโจทย์นักลงทุนได้ดีกว่า โดยบริษัท “เป็นตัวกลาง” ในการให้บริการข้อมูลการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อช่วยนักลงทุนโดยทั่วไปในการตัดสินใจเลือกลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเป็นการเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะ “ฟรี” ผ่านทางเว็บไซต์ www.morningstarthailand.com สำหรับผู้ลงทุนที่สนใจสามารถเข้าไปใช้บริการค้นหาข้อมูลได้ฟรี

ตัวอย่าง หากคุณลงทุนแบบครั้งเดียว ณ ต้นปี 2009 ใน “กองทุน 5 ดาว” ด้วยเงินลงทุนเริ่มแรก 500,000 บาท ในระยะเวลาการลงทุน 2 ปี 10 เดือน (ถึง 31 ต.ค. 2011) จะได้รับผลตอบแทนมากกว่า 141% โดยเงินคุณจะเพิ่มจาก 500,000 บาท เป็น 1,205,403 บาท

ถ้าเลือกลงทุนใน “กองทุน 4 ดาว” เงินจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,209,132 บาท หรือเพิ่มขึ้น 141%
ถ้าลงทุนใน “กองทุน 3 ดาว” เงินจะเพิ่มขึ้นเป็น 998,242 บาท หรือเพิ่มขึ้น 100%
ถ้าลงทุนใน “กองทุน 2 ดาว” เงินจะเพิ่มขึ้นเป็น 948,113 บาท หรือเพิ่มขึ้น 90%
แต่ถ้าเลือกลงทุนใน “กองทุน 1 ดาว” คุณจะได้รับผลตอบแทนเพียง 88% โดยเงินจะเพิ่มขึ้นเป็น 937,570 บาท เท่านั้น

พีร์ ยังบอกอีกว่า การจัดอันดับของ Morningstar เป็นการจัดอันดับกองทุนตามกลุ่มหรือประเภทตามที่บริษัท Morningstar กำหนด “Morningstar Category” ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ที่เรียกว่า “Morningstar Riske-Adjusted Return : MRAR” นั้นมีทั้งหมด 4 ขั้นตอน คือ

1) คำนวณผลตอบแทนทั้งหมด (Total Return) เป็นการคำนวณผลตอบแทนรายเดือนของทุกกองทุน

2) คำนวณผลตอบแทนที่ปรับค่าคอมมิชชั่น (Load-Adjusted Return) เป็นการคำนวณผลตอบแทนโดยนำค่าคอมมิชชั่นที่ต้องจ่ายในการซื้อหน่วยลงทุนมารวมในการคำนวณผลตอบแทนด้วย ดังนั้นกองทุนที่ผลตอบแทนเท่ากัน 2 กอง กองที่มีค่าคอมมิชชั่นมากก็จะมีผลตอบแทนหลังปรับค่าคอมมิชชั่นแล้วน้อยกว่าอีกกองทุนหนึ่งที่มีค่าคอมมิชชั่นต่ำกว่า เป็นต้น

3) Morningstar Return เป็นผลตอบแทนที่คำนวณได้จากส่วนต่างของผลตอบแทนรายเดือนที่ปรับค่าคอมมิชชั่น (Monthly load-Adjusted Returns) ของกองทุนกับผลตอบแทนที่ไม่มีความเสี่ยง (Risk Free Rate)

4) Morningstar Riske-Adjusted Return : MRAR คือการคำนวณความเสี่ยงเข้ามาคำนึงถึงในการคำนวณหาผลตอบแทน
โดย Morningstar ปรับการคำนวณผลตอบแทนตามความเสี่ยงโดยใช้ทฤษฎีอรรถประโยชน์ (Utility Function) เพื่อประเมินผลดีหรือผลเสียระหว่างผลตอบแทนและความเสี่ยง ดังนั้นวิธีการ MRAR เป็นการคำนวณผลตอบแทนที่ทำให้มั่นใจว่าผลตอบแทนที่ได้นั้นให้อรรถประโยชน์หรือความพึงพอใจกับนักลงทุน โดยคำนึงถึงผลตอบแทนในช่วงต่างๆ

“สำหรับกองทุนที่จะได้รับการจัดอันดับโดย Morningstar จะต้องมีผลการดำเนินงานต่อเนื่องอย่างน้อย 36 เดือน โดยจะแบ่งการจัดอันดับเป็น 3 ช่วงเวลา คือ 3 ปี ,5 ปี และ 10
ทั้งนี้กองทุนที่มีผลงานดีที่สุด 10.0% แรกจะได้ “5 ดาว”
กองทุนที่มีผลงานดีถัดมา 22.5% จะได้ “4 ดาว”
กองทุนที่มีผลงานดีที่สุดถัดมา 35.0% จะได้ “3 ดาว”
กองทุนที่มีผลงานดีสุดถัดมาอีก 22.5% จะได้ “2 ดาว”
และกองทุนที่มีผลงานดีที่สุดใน 10.0% สุดท้ายจะได้ “1 ดาว”
โดยกองทุนในแต่ละประเภททุกกองจะได้รับการจัดอันดับหมดไล่ไปตั้งแต่ 5 ดาวจนถึง 1 ดาว ซึ่งนักลงทุนจะต้องนำเรทติ้งของกองทุนในแต่ละประเภทมาเปรียบเทียบกันเอง ไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบข้ามนโยบายการลงทุนได้”

ตัวอย่าง หากนักลงทุนเลือกกองทุนโดยใช้เรทติ้งกองทุนเป็นเครื่องมือหนึ่งในการพิจารณาจะทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับแตกต่างกันในระดับหนึ่งเลยทีเดียว ในกรณีของ “ผลตอบแทนและความเสี่ยง” ของกลุ่ม “กองทุนหุ้นขนาดใหญ่” ณ วันที่ 31 ต.ค. 54 ในช่วง 10 เดือนแรก
“กองทุน 5 ดาว” ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 3.05% “
กองทุน 4 ดาว” ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 3.20% “
กองทุน 3 ดาว” ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบ 4.56% “
กองทุน 2 ดาว” ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบ 5.92%
และ “กองทุน 1 ดาว” ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบ 11.54%

@มองผลตอบแทน-ความเสี่ยงเป็นหลัก

เกี่ยวกับเรื่องนี้ “ฉัตรพี ตันติเฉลิม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.กรุงศรี ยอมรับว่า นักลงทุนไทยยังมีพฤติกรรมการลงทุนที่ไม่ค่อยถูกต้องเท่าไรนัก ทั้งที่เรื่องของ “การลงทุน” ควรจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องของ “ผลตอบแทน” และ “ความเสี่ยง” เป็นหลักสำคัญ และการลงทุนไม่ใช่เรื่องที่ทำเพียงครั้งเดียวแล้วจบกันไปแต่จะต้องมีการลงทุนที่สม่ำเสมอต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลงทุนด้วย ไม่ใช่เหมือนการทานข้าวที่จะเอาเรื่อง “ความสะดวก” เป็นที่ตั้ง ทานครั้งเดียวแล้วก็จบกันไปในลักษณะนั้น แต่นักลงทุนไทยส่วนใหญ่เลยก็ยังเลือกลงทุนในกองทุนรวมโดยพิจารณาในเรื่องของ “ความสะดวกสบาย” ในการลงทุนเป็นหลัก รวมทั้งดูในเรื่อง “ของแถม” หรือ “โปรโมชั่น” ต่างๆ ที่จะได้รับจากการซื้อกองทุน ซึ่งตามกฎเกณฑ์ของทาง “สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)” ก็ให้มอบรางวัลได้ไม่เกิน 2.0% ของมูลค่าเงินลงทุนอยู่แล้ว ซึ่งถือว่าเล็กน้อยมาก หากไปเทียบกับการเลือกลงทุนให้ถูกต้องเพื่อรับผลตอบแทนที่ดีกว่า

ตัวอย่าง จากข้อมูลผลการดำเนินงานของ “กองทุนหุ้นขนาดใหญ่” ณ วันที่ 31 ต.ค. 54 ย้อนหลัง 3 ปี และ 5 ปี ถ้าเลือก
“กองทุน 5 ดาว” ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 41.06% ต่อปี และ 14.44% ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่
“กองทุน 1 ดาว” ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 25.37% ต่อปี และ 6.92% ต่อปี ตามลำดับ หรือมีผลตอบแทนต่างกันของกลุ่มกองทุนที่ได้ 5 ดาว กับ 1 ดาว ประมาณ 15.69% ต่อปี และ 7.52% ต่อปี ตามลำดับ

“เรียกว่าถ้านักลงทุนเลือกกองทุน 5 ดาว ที่ให้ผลตอบแทนดีในระยะยาว กับกองทุน 1 ดาว ที่ให้ผลตอบแทนอยู่ท้ายตารางในระยะยาว 3 - 5 ปี ผลตอบแทนแตกต่างกันเฉลี่ยปีละ 10% เลยทีเดียว
ถ้าไปสนใจกับของแถมที่คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.0% ของเงินลงทุนแล้ว โดยไปเลือกลงทุนในกลุ่มกองทุน 1 ดาวคุณก็ทำผลตอบแทนหายไปกว่า 8.0% ต่อปี ซึ่งถือว่าไม่น้อยเช่นกัน”

@ พฤติกรรมที่เปลี่ยนตามกัน

ด้าน “ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.กรุงศรี มองว่า แม้เรื่องของ “เรทติ้งกองทุน” อาจจะเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่สำหรับอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยไม่เฉพาะในฝั่งของ “นักลงทุน” เท่านั้น ในแง่ของ “บลจ.” เองก็ถือว่าใหม่เช่นเดียวกันในเรื่องนี้ และข้อมูลของ “Morningstar” เองก็เพิ่งจะเข้ามาในอุตสาหกรรมกองทุนรวมของไทย ในช่วงปี 2009 ที่ผ่านมานี้เอง
แต่ข้อมูลตรงนี้ถือว่ามีประโยชน์มาก จะเห็นได้จำนวนผู้เข้ามาใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากหลัก “ร้อยคน” ต่อเดือนในช่วงแรก ในปัจจุบันมีคนเข้าไปใช้ข้อมูลเป็นหลัก “หมื่นคน” ต่อเดือนและจะมีผู้เข้าไปใช้มากเป็นหลัก “แสนคน” ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.ซึ่งเป็นเทศกาลลงทุนในกองทุนประหยัดภาษี ซึ่งในอนาคตตัวเลขการเข้าไปใช้ของผู้ลงทุนก็น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและน่าจะได้เห็นตัวเลขในระดับหลักแสนคนต่อเดือนได้เช่นกันในอนาคต หากนักลงทุนมีความตื่นตัวในการใช้ข้อมูลเพื่อการลงทุนเพิ่มมากขึ้น

“ผลตอบแทนในอดีตอาจมิได้เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงผลตอบแทนในอนาคตก็จริง แต่ด้วยกระบวนการจัดอันดับกองทุนของ Morningstar เองด้วยการให้ดาวกองทุนต่างๆ นั้น ก็น่าจะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้นักลงทุนสามารถใช้พิจารณาตัดสินใจเลือกกองทุนได้ง่ายขึ้น เพราะในกลุ่มกองทุน 5 ดาว นั้น ก็จะมีเพียง 10% เท่านั้น เป็นต้น ซึ่งการให้ดาวของ Morningstar เองจะพิจารณาถึงความสม่ำเสมอของผลตอบแทนในระยะยาวเป็นสำคัญ แล้วดาวที่ได้นี้เปลี่ยนทุกเดือน จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้ขึ้นกับฝีมือในการบริหารกองทุนว่ามีความสม่ำเสมอมากน้อยเพียงใด”

หากพฤติกรรมของผู้ลงทุนเปลี่ยนไปมีความสนใจในการเข้ามาใช้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจมากขึ้นเชื่อว่าจะทำให้พฤติกรรมของผู้ขายหรือตัวแทนขายเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน
เพียงแต่นักลงทุนอาจจะต้อง “ทำการบ้าน” ด้วยการหาข้อมูลก่อนที่จะตัดสินใจเลือกลงทุน ในช่วงแรกของการพัฒนาอาจจะเป็นการขับเคลื่อนในแง่ของ “โปรดักท์” ซึ่งจำเป็นต้องให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ลงทุนซึ่งเป็นผู้บริโภค แต่การพัฒนาในขั้นถัดไปการเปลี่ยนแปลงอีกส่วนจำเป็นต้องมาจากฝั่ง “ผู้บริโภค” หรือ “ผู้ลงทุน” ด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดการ “สื่อสารในลักษณะ 2 ทาง” ระหว่าง ผู้ลงทุนและผู้ขายโปรดักท์เกิดขึ้น ประโยชน์ด้วยรวมก็จะเกิดกับทุกฝ่ายที่อยู่ในอุตสาหกรรมกองทุนรวมเอง

“แม้บางครั้งจะเป็นเรื่องที่ยาก เพราะในส่วนของผลตอบแทนเองบางครั้งเหมือนสิ่งที่จับต้องไม่ค่อยได้ จำเป็นต้องใช้ความเข้าใจ แต่การให้เรทติ้งด้วยการให้ดาวของ Morningstar เองก็จะเป็นเครื่องมือที่มากกว่าในการช่วยผู้ลงทุนอีกทางหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์มากและในต่างประเทศเอง นักลงทุนเขามีความตื่นตัวในการใช้ข้อมูลเหล่านี้มากกว่านักลงทุนไทยอย่างมาก ก็หวังว่าประเทศไทยเองจะเดินไปในพัฒนาการดังกล่าวด้วยเช่นเดียวกัน”

@แบ่งเงินลงทุนกับกองทุนที่ได้เรทติ้งดี

ฉัตรพี ยังบอกอีกว่า อีกประเด็นที่นักลงทุนมักเข้าใจผิด คือ เรื่องของ “มูลค่าสินทรัพย์สุทธิต่อหน่วย (NAV)” ของกองทุนที่นักลงทุนบางคนมักเชื่อว่า กองทุนที่มี NAV ต่ำ คือกองทุนที่มีราคาถูก และจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ในทางกลับกัน กองทุนที่มีราคา NAV สูงคือกองทุนที่มีราคาแพง ซึ่งถือเป็น
“ความเข้าใจที่ผิด”  เพราะ NAV ของกองทุนต่างกับราคาหุ้นรายตัว NAV ได้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์ในราคาตลาดอยู่แล้ว ดังนั้น กองทุนที่มี NAV ต่ำกว่าจึงไม่ได้หมายความว่ามีราคาถูกเสมอไป
นักลงทุนที่ต้องการซื้อกองทุนรวมจึงควรเข้าใจว่า “ราคา NAV จะสูงหรือต่ำไม่มีผลต่อผลตอบแทนของกองทุนนั้นๆ หรือทำให้กองทุนนั้นมีความน่าสนใจมากขึ้นหรือน้อยลง และไม่ควรนำประเด็นนี้มาประกอบการตัดสินใจลงทุน”

แต่สิ่งที่สำคัญที่ควรพิจารณาในเรื่องของการลงทุน คือ ความสามารถในการบริหารจัดการของผู้จัดการกองทุนที่จะสามารถบริหารเงินให้ได้ผลประโยชน์สูงสุดและตรงตามเป้าหมายของนักลงทุนหรือผู้ถือหน่วยลงทุนต่างหาก

“เรทติ้งกองทุนอย่างการให้ดาวของ Morningstar ก็ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยนักลงทุนในการเลือกกองทุนเพื่อจะลงทุนได้ในระดับหนึ่ง นักลงทุนเองอาจจะเริ่มต้นโดยแบ่งเงินบางส่วนเพื่อมาลองลงทุนกับกองทุนที่ได้เรทติ้งดีๆ บางส่วนก่อนก็ได้ โดยเปรียบเทียบกับกองทุนเดิมที่เคยลงทุนอยู่เดิม แล้วลองเปรียบเทียบดูว่าผลลัพธ์ที่ได้ในระยะกลางถึงยาวเป็นอย่างไร แต่ไม่ใช่ตั้งเป็นข้อสงสัยว่า เรทติ้งกองทุนจะดีจริงหรือไม่ แล้วก็ไม่ได้มาทดลองใช้ดูจะทำให้เสียโอกาสในการขยับสู่การเรียนรู้ในเรื่องของการลงทุนไปได้”

@ภาษีแค่ของแถม-ผลตอบแทนคือของจริง

เช่นเดียวกับประภาส ที่มองว่า การที่สัดส่วนการลงทุนใน “กองทุนหุ้นทั่วไป” ไม่เติบโต แต่ “กองหุ้นที่มีประโยชน์ทางภาษี” กลับเติบโตนั้น ก็สะท้อนถึงภาพที่แสดงให้เห็นว่านักลงทุนไทยยังไม่ได้มองในเรื่องของการลงทุนจริงจังมากนัก และหากยังเป็นไปในลักษณะเช่นนี้เมื่อถึงปี “2559” ที่ประโยชน์ทางภาษีหมดไป เราก็อาจจะเห็นภาพเดิมที่เคยเป็นมาคือกองทุนหุ้นไม่เติบโตเหมือนในอดีตได้เช่นกัน ในกรณีของ “กองทุนประหยัดภาษี” นักลงทุนส่วนใหญ่อาจจะไม่สนใจที่จะเลือกกองทุนที่ผลการดำเนินงานมากนัก เพราะมองว่าเลือกกองไหนก็เหมือนกัน เพราะ “ได้ประโยชน์ทางภาษีไปแล้ว” ซึ่งถือเป็นการมองที่ถูกเพียงส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่ถูกที่สุด นักลงทุนยังไม่ได้ตัดสินใจเลือกลงทุนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับตัวเองหากจะมองในลักษณะที่เอาประโยชน์ภาษีเป็น “ตัวตั้ง” ในการเลือกลงทุน

ในอดีตรัฐให้ประโยชน์ทางภาษีกับ “กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)” เพื่อให้นักลงทุนเปลี่ยนพฤติกรรมมาเลือกลงทุนในกองทุนหุ้นมากขึ้น ซึ่งถือเป็นขั้นแรกที่ต้องการเอาภาษีมาเป็นสิ่งจูงใจว่ามาลงทุนแล้วนักลงทุนจะประหยัดภาษีได้ 10 - 37% ตามฐานภาษีของตัวเอง แต่นั่นเป็นเพียงขั้นเริ่มต้น แต่ที่รัฐต้องการเห็นคือคนหันมาสนใจลงทุนในกองทุนหุ้นเพิ่มมากขึ้นจริงๆ นั่นคือ นักลงทุนต้องเข้าใจว่าเป็นทางเลือกการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าในระยะยาวกับผู้ลงทุนได้จริง

ดังนั้น หากนักลงทุนไม่สนใจเรื่องของผลตอบแทน นักลงทุนก็เหมือนมี 3 ทางเลือก คือ 1) ได้ประโยชน์ภาษี แต่ผลตอบแทนเป็นศูนย์ 2) ได้ประโยชน์ทางภาษี แต่ผลตอบแทนติดลบ หรือ 3) ได้ประโยชน์ทางภาษี และได้ผลตอบแทนที่ดีด้วย

“ถ้านักลงทุนเลือกกองทุนโดยดูที่ผลตอบแทนด้วยก็คือการพยายามเลือกทางเลือกที่ดีให้กับตัวเอง ผลตอบแทนเป็นของจริงเป็นเรื่องหลักที่จะได้ ส่วนประโยชน์ทางภาษีก็จะเป็นเรื่องรองเป็นของแถมไป ซึ่งหากนักลงทุนก้าวมาถึงจุดนี้ได้ กองทุนหุ้นทั่วไปก็จะเติบโตด้วยเช่นกัน เพราะนักลงทุนเห็นประโยชน์ว่าลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนที่ดีจริงถ้าลงกองทุน LTF เต็มวงเงินแล้ว ก็แบ่งมาลงในกองหุ้นทั่วไปได้ หรือในอนาคตเมื่อประโยชน์ทางภาษีหมดไป เขาก็ยังลงทุนในกองทุนหุ้นปกติได้ นี่คือภาพที่รัฐอยากเห็น อุตสาหกรรมกองทุนไทยเองก็อยากจะเห็นเช่นกัน ซึ่งเรทติ้งกองทุนของ Morningstar ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้นักลงทุนตัดสินใจเลือกกองทุนได้ในระดับหนึ่งเช่นเดียวกัน แนะนำให้ลองจัดสรรเงินที่มีอยู่เดิมบางส่วนมาหรือเงินใหม่ที่กำลังจะลงทุนมาลงทุนในกองทุนที่ได้เรทติ้งดีๆ ดูเพื่อที่จะเปรียบเทียบดูก่อนก็ได้อยากให้ทุกคนลองใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจดู”

เชื่อว่าการปรับจูนความคิดปรับเปลี่ยนทัศนคติในการลงทุนให้ถูกต้อง และเลือกใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่เป็นประโยชน์อย่าง “เรทติ้งกองทุน” หรือ “กองทุนติดดาว” ของ “Morningstar” น่าจะช่วยให้คุณจัดสรรเงินไปลงทุนในกองทุนที่เหมาะสมเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการลงทุนของคุณได้ดียิ่งขึ้นไม่มากก็น้อย

ขอขอบคุณ ที่มา การเงินส่วนบุคคล กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2554
โดย : สรวิศ อิ่มบำรุงรวรรณ

จากคุณ : Wild Rabbit
เขียนเมื่อ : 11 มี.ค. 55 13:28:10




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com