Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
มนุษย์เงินเดือนหัวหมุน ปั๊มเงินไม่ทัน “ค่าครองชีพ" ติดต่อทีมงาน

Home ฐ.Blogger สุวิภา บุษยบัณฑูร มนุษย์เงินเดือนหัวหมุน ปั๊มเงินไม่ทัน “ค่าครองชีพ"
Air conditioners
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
วันอังคารที่ 03 เมษายน 2012 เวลา 06:59 น. สุวิภา บุษยบัณฑูร ฐ.Blogger - สุวิภา บุษยบัณฑูร

การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทที่ได้เริ่มแล้วในกทม.ปริมณฑล และในจังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ส่วนจังหวัดที่เหลืออีก 70 จังหวัดจะขึ้น 39.5% ก่อนจะเป็น 300 บาทในวันที่ 1 มกราคม 2556

สำหรับแรงงานที่จะได้รับประโยชน์โดยตรงจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ ตามข้อมูลรายงานภาวะเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีประมาณ 3.2 ล้านคน คิดเป็น 29.3% ของลูกจ้างเอกชน และส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างกิจการขนาดเล็ก มีรายได้เฉลี่ย 257 บาทต่อวัน และอยู่ในสาขาก่อสร้าง 24.9% หรือประมาณ 8 แสนคน ตามด้วยสาขาผลิตภัณฑ์อาหาร สาขาการค้า สาขาบริการอาหาร และเครื่องดื่ม และสาขาผลิตเครื่องนุ่งห่ม

( มหาวิทยาลัยหอการค้าประเมินว่าแรงงานที่ได้ประโยชน์มีประมาณ  3.5-5 ล้านคน  , สภาพัฒน์ ประเมินรวมถึงแรงงานที่จะได้ปรับขึ้น 300 บาทในปี 2556 ด้วยทั้งระบบสูงถึง 7 ล้านคน)

ผลในแง่บวกที่จะเกิดขึ้นหลัง 1 เมษายน  อาจถือเป็นการปรับโครงสร้างประสิทธิภาพแรงงานครั้งสำคัญของระบบแรงงานไทย เพราะแรงงานที่จะอยู่ได้จำเป็นต้องยกระดับความสามารถ หาไม่แล้วคงยากที่ผู้ประกอบการจะยอมควักทุน โดยไม่มีผลตอบแทนกลับ หรือเพิ่มต้นทุนให้ตัวเอง และหากกลุ่มแรงงานเหล่านี้มีรายได้เพิ่ม ก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนสร้าง  Multiplier  ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทางหนึ่งตามเป้าจีดีพีประเทศที่คาดกันไว้ว่าจะเติบโตที่ 5.5-6.0%

หอการค้าประเมินว่าจำนวนแรงงานที่ได้ประโยชน์   3.5-5 ล้านคน หากมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 60 บาทต่อวัน หรือ 1,800 บาทต่อเดือน ก็จะมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 7,000-9,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 70,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะส่งผลต่อจีดีพีเพิ่มขึ้น 0.5-0.6% ต่อปี

แต่ทั้งนี้การเพิ่มรายได้ เอาเข้าจริงแล้ว การใช้จ่ายหรือการบริโภคจะเพิ่มตามด้วยหรือไม่ยังต้องดูกันต่อไป

ขณะที่นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวในรายการ “ รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน”  เมื่อเสาร์ที่ 31 มีนาคม. ว่าไม่อยากให้ตื่นตระหนักมองเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต ค่าครองชีพสูงขึ้น เพราะอีกทางหนึ่งก็ทำให้เกิดการพัฒนาฝีมือแรงงาน และเมื่อแรงงานมีกำลังซื้อก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตามผลในอีกด้าน ต้นทุนที่สูงขึ้นของบรรดาผู้ประกอบการจากการปรับขึ้นค่าจ้างในครั้งนี้จะถูกส่งผ่านมากับการปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการต่างๆ (Cost Push)  จากก่อนหน้าที่มีสินค้าหลายตัวปรับรอรับไปบ้างแล้วไม่ว่าจะเป็น ยาคูลท์ ที่อั้นมานาน 14-15 ปี และปรับขึ้น 2 บาท หรือคิดเป็น 40% จากขวดละ5บาท เป็น 7.0 - 7.50  บาท เมื่อกลางมีนาคมที่ผ่านมา  ,กลุ่มอาหารภาชนะบรรจุปิดสนิท ผงซักฟอก กระเทียม ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง อาหารสัตว์ กลุ่มข้าวสาร ข้าวโพด น้ำตาลทราย นมผง นมสด แบตเตอรี่รถยนต์ ยารักษาโรค กลุ่มครีมเทียม นมข้น

และที่กำลังจะปรับขึ้นตามมาในเดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป อาทิ ข้าวหอมมะลิบรรจุถุง จากการเปิดเผยของนายสมเกียรติ  มรรคยาธร นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย ที่บอกให้รู้ล่วงหน้าว่าภายในปลายเดือนเมษายนนี้จะขอปรับขึ้นอีกเฉลี่ย 10 บาทต่อถุงสำหรับข้าวถุงขนาด 5 กิโลกรัม ,ผลิตภัณฑ์สินค้าในกลุ่มศรีไทยซุปเปอร์แวร์ ประกาศจะปรับเพิ่มราคาอย่างต่อ 10% ปลายเมษายน เช่นกัน  ,ชุดเครื่องแบบนักเรียน ,ค่าขนส่งแก๊สเพิ่มถังละ 5 บาท กรมการค้าภายใน ประเมินว่าต้นทุนจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทจะส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบสินค้าเพิ่มเพียง 1-5 %   ฯลฯ

และโดยเฉพาะด้วยแล้วค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวัน  ในกลุ่มสินค้าและบริการประเภท “ค่าเดินทางค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าเช่าบ้าน ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ฯลฯ “ ที่มีสัดส่วนสูงถึง 60 % ในชีวิตประจำวัน ก็น่าเป็นวิตกหากปล่อยเป็นไปตามกลไกตลาด มนุษย์เงินเดือน หาเช้ากินค่ำ ต้องหัวหมุนกับรายจ่ายที่วิ่งแซงหน้ารายได้เข้าไปทุก

จากที่ขณะนี้ต้นทุนพลังงานราคาก๊าซเอ็นจีวีปรับขึ้นไปแล้ว 12% ดีเซลปรับขึ้น 8% และยังมีสินค้าบริการอื่นจ่อปรับเร็ว ๆนี้ ไม่ว่าค่าโดยสารแท็กซึ่ ซึ่งกลุ่มสหกรณ์รถแท็กซี่อยู่ระหว่างต่อรองจะขอปรับขึ้นเฉลี่ยที่ 15 % หรือที่กิโลเมตรที่ 0-1  กิโลเมตรคิดอัตราค่ามิเตอร์ 35 บาท กิโลเมตรที่ 2-50 อัตราค่ามิเตอร์เพิ่มเฉลี่ยขึ้น 12% กิโลเมตรที่ 51-150 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8% และมากกว่า 151 กิโลเมตร เพิ่มขึ้น 15 % , รถสองแถวจ่อปรับขึ้น 45% จากราคาปัจจุบัน 5.50 เป็น 8 บาท,รถร่วมขสมก.จ่อปรับขึ้นอีกระยะละ 2 บาท , รถร่วมวิ่งต่างจังหวัดขึ้นอีก 6 สตางค์ต่อกิโลเมตร

กลุ่มค่าโดยสารทั้งหมดกำลังรอคำตอบจากรัฐมนตรีคมนาคมและกรมการขนส่งทางบก ที่จะถกหารือกันในวันที่ 25 เมษายน ก่อนที่จะสรุปความชัดเจน โดยอ้างผลกระทบจากต้นทุนหลักเหมือนกันคือ ราคาพลังงาน และการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท  ยังไม่ต้องพูดถึงวินมอเตอร์ไซค์เข้าซอยที่ปรับขึ้นไปตั้งแต่มหาอุทกภัยแล้ว 5-10 บาท จากที่เคยส่งในเส้นทางเดิมอยู่ที่ 20-25 บาท ปรับเป็น 30-35 บาท  ,  ค่าโดยสารเรือ ที่กรมเจ้าท่าไฟเขียวให้ผู้ประกอบการเรือสามารถขึ้นได้ทันที  หากราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้นมาอยู่ที่ 33 บาทต่อลิตร ( ปัจจุบันอยู่ 32.33 บาท  )

ตัวอย่างในหลายตัวอย่าง ค่าครองชีพกำลังเร่งถีบตัว  

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าแรงผลักดันจาก Cost Push  เมื่อบวกกับแรงหนุนจากด้านการเติบโตของอุปสงค์ ( Demand Pull ) และผลจากการปรับขึ้นราคาพลังงานและปัจจัยอื่นๆ จะหนุนให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.6 -0.7   ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2555 ทรงตัวสูงที่ระดับร้อยละ 3.9   ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์เงินเฟ้อจะปรับขึ้นเป็น  3.3-3.8 ในปีนี้  เทียบกับเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ 3.35 %  ก่อนไต่ขึ้นมาอยู่ระดับ 3.45 % ในเดือนมีนาคม

ผลสำรวจภาวะหนี้ภาคครัวเรือนมหาวิทยาลัยหอการค้าจากกลุ่มตัวอย่าง 1,237 ราย ระหว่างวันที่ 22-26 มีนาคม ก่อนหน้าที่ค่าจ้าง 300 บาทจะมีผลบังคับตามกฏหมาย พบว่าค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่งผลให้จำนวนหนี้ครัวเรือปี 55 เฉลี่ยอยู่ที่ 168,517 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 5.7% เทียบจากปีก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 159,432 บาทต่อครัวเรือน  

หนี้ดังกล่าวสัดส่วน 53.6% เป็นเงินกู้ยืมในระบบ นอกระบบ 46.4% เทียบจากปี 54  หนี้ในระบบมีสัดส่วน 54.2% นอกระบบ 45.8 %  แสดงให้เห็นว่าคนเริ่มหันพึ่งเงินกู้นอกระบบมากขึ้นในสภาวะค่าครองชีพแพง ปั๊นเงินไม่ทัน

และอาจเป็นไปได้หนี้ต่อครัวเรือน การก่อหนี้นอกระบบ หลังวันที่ 1 เมษายน  จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ที่น่าเป็นห่วงคือ แรงงาน  ที่ส่วนหนึ่งที่อาจถูกเลิกจ้างหรือการเลิกกิจการของบริษัทขนาดเล็กเอสเอ็มอี

อย่างที่กล่าวข้างต้นว่า แรงงานที่ได้ประโยชน์จากการปรับค่าจ้าง 300 บาท ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่อยู่ในธุรกิจขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอี ซึ่งแทบจะไม่ได้ประโยชน์จากการที่รัฐบาลจะลดภาษีนิติบุคคลจาก30 % เป็น 23% ผิดจากบริษัทขนาดใหญ่ที่ได้ประโยชน์จากการมาตรการลดภาษีนิติบุคคล ที่พอจะชดเชยต้นทุนเพิ่มจากการปรับค่าจ้างหลังวันที่ 1 เมษายนครั้งนี้



นายภูมินทร์ หะรินสุต  รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผย ว่า ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ที่มีการจ้างแรงงานตั้งแต่ 1-25 คน หรือคิดเป็นสัดส่วน 98% ของผู้ประกอบการทั้งประเทศ จำนวน 2.2 ล้านราย จะได้รับผลกระทบ และคาดประมาณ 10% หรือ 200,000 ราย อาจต้องปิดกิจการ หรือย้ายฐานการผลิต ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่จ้างแรงงานตั้งแต่ 500-1,000 คนขึ้นไป ได้รับผลกระทบไม่ถึง 1% ของสถานประกอบการทั่วประเทศ

ก็คงต้องจับตาดูค่าใช้จ่ายหลังจากนี้ รัฐจะคุมไม่ให้ราคาสินค้าโดยเฉพาะจากผู้ผลิตรายใหญ่ปรับขึ้น  ได้นานแค่ไหน ไม่เช่นนั้นมนุษย์เงินเดือน แรงงานหาเช้ากินค่ำก็ต้องปั๊มหาเงิน กู้เพิ่ม

อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2555 ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง มีผลบังคับใช้ 1 เมษายน 2555

 
 

จากคุณ : Wild Rabbit
เขียนเมื่อ : 9 เม.ย. 55 10:48:04




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com