Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ดร.โกร่ง คนเดินตรอก : การบริหารจัดการมหเศรษฐกิจ ติดต่อทีมงาน

วันที่ 07 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 21:03:47 น.
คอลัมน์ คนเดินตรอก ในประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 9-11 เมษายน 2555
โดย วีรพงษ์ รามางกูร

การบริหารจัดการมหเศรษฐกิจหรือเศรษฐกิจส่วนรวม เป็นคำที่แปลมาจากภาษาฝรั่ง "macro economics management" ทุกวันนี้และในทุกประเทศที่พูดว่าเศรษฐกิจของตนเป็นระบบเศรษฐกิจเสรี มีกลไกการตลาดเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าทิศทางเศรษฐกิจของตนจะไปในทิศทางใด ระดับราคาสินค้าและบริการ อัตราดอกเบี้ย ระดับการจ้างงาน อัตราค่าจ้างแรงงาน ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด แต่ไม่มีประเทศใดปล่อยทุกอย่างเป็นไปตามกลไกตลาดอย่างเสรีจริง

แม้แต่สหรัฐอเมริกาที่ประชาชนมีค่านิยมไปในทางเสรีนิยมอย่างสุดโต่ง ก็ยังต้องมีการจัดการเศรษฐกิจมหภาค คอยคัดหางเสือให้เรือแล่นไปในทิศทางที่ต้องการ

การบริหารจัดการให้ระบบเศรษฐกิจเดินไปในทิศทางที่วางแผนไว้ในอนาคตซัก 5-10 ปีข้างหน้า แต่ในระยะสั้น ในระหว่างทางก็ไม่เกิดมีปัญหาล้มละลายไปเสียก่อน เป็นเรื่องของการบริหารจัดการเศรษฐกิจส่วนรวม

ประเทศต่าง ๆ ต้องการการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น การที่ระบบเศรษฐกิจจะเจริญเติบโต ขยายตัวมั่งคั่งขึ้นก็จะต้องมีการลงทุน ผู้ที่จะลงทุนก็มีเอกชนกับรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ

ข้อจำกัดของการลงทุนก็คือ ฐานะการเงินของประเทศ เหมือนกับบริษัทเอกชนที่ใคร ๆ ก็อยากลงทุน แต่มีข้อจำกัดคือ ฐานะการเงินของบริษัท

ในขณะเดียวกัน ผลตอบแทนของการลงทุนว่าจะทำให้ฐานะของบริษัทดีขึ้น เพราะกิจการที่ลงทุนก่อให้เกิดรายได้คุ้มค่า ถ้าเป็นเงินของชาติหรือของประเทศเอง หรือคุ้มค่ากับอัตราดอกเบี้ยในกรณีของบริษัทเอกชน

ในขณะเดียวกันก็มีข้อเท็จจริงอีกอันหนึ่งว่า ในสังคมใดถ้าทั้งสังคมโดยส่วนรวม ผู้คนรวมทั้งรัฐบาลปล่อยให้สังคมเก็บออมมากกว่าการลงทุน ระบบเศรษฐกิจโดยส่วนรวมจะหดตัวลงหรือขยายตัวในอัตราที่ช้าลง ถ้าสังคมใดที่การลงทุนสูงกว่าการออม ค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่สูงกว่าเงินออมจะเป็นตัวดึงให้เศรษฐกิจขยายตัว อันนี้ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องการลงทุนที่ทำให้เกิดการเพิ่มพูนประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขัน

ทีนี้เราจะทราบได้อย่างไรว่าสถานะของประเทศอยู่ในสถานการณ์ใด สถานะที่การออมสูงกว่าการลงทุน หรือการลงทุนสูงกว่าการออม ก็มีหลักจากสูตรง่าย ๆ อยู่ว่า

การออม-การลงทุน = การส่งออก-การนำเข้า

การส่งออกสินค้าและบริการลบด้วยการนำเข้าสินค้าและบริการ ก็คือดุลบัญชีเดินสะพัดนั่นเอง สมการข้างต้นมาได้อย่างไร ถ้าจะอธิบายก็ยืดยาวเกินไป เป็นสูตรทางบัญชี แต่มีความหมายทางพฤติกรรมด้วย เช่น ในทางพฤติกรรม ความอยากออมถ้าสูงกว่าความอยากลงทุน เศรษฐกิจจะชะลอตัวลง ความอยากกับความจริงไม่จำเป็นต้องเท่ากัน ความอยากออมหักด้วยความอยากลงทุนจะเท่ากับความอยากส่งออกลบด้วยความอยากนำเข้าสินค้าและบริการ ถ้าความอยากลงทุนสูงกว่าความอยากออม หรือความอยากนำเข้าสูงกว่าความอยากส่งออก อยากอย่างนี้จะมีแรงผลักให้เศรษฐกิจขยายตัวสูงขึ้น

ทีนี้ลองมาดูเศรษฐกิจประเทศไทยของเรา เราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาโดยตลอด ตั้งแต่หลังปีต้มยำกุ้งเป็นต้นมาคือตั้งแต่ปี 2540 มาเรื่อย ๆ เริ่มจากที่ค่าเงินบาทตกต่ำลงไปจาก 25 บาทต่อดอลลาร์ไปเป็น 55 บาทต่อดอลลาร์ และต่อมาจึงค่อย ๆ แข็งค่าขึ้น

การที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมา

เรื่อย ๆ เกือบ 15 ปี ก็เท่ากับการออมของประเทศสูงกว่าการลงทุนมาเรื่อย ๆ สูงกว่าประมาณปีละหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ มาช่วงหลัง ๆ นี้ค่อยเกินดุลน้อยลง นับดูแล้วตั้งแต่ปี 2541 มาจนถึงปี 2554 คือ 14 ปีมานี้ รวมยอดการเกินดุลการออมหรือการออมสุทธิ ซึ่งเท่ากับการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดรวมได้กว่า 120,800 ล้านดอลลาร์ รวมเอาไปใช้หนี้ไอเอ็มเอฟก็แค่ 17,000 ล้านดอลลาร์ ดังนั้น ในทุนสำรองระหว่างประเทศทั้งหมด 180,000 ล้านดอลลาร์เป็นเงินที่เราทำมาหาได้เองเสียประมาณ 120,000 ล้านเหรียญ

ที่เหลืออีก 6-7 หมื่นล้านเหรียญที่เกินมาก็เป็นเพราะใน 14 ปีที่ผ่านมาเงินไหลเข้าประเทศในรูปของเงินทุนสูงกว่าเงินไหลออก 6-7 หมื่นล้านเหรียญ อีกทั้งเงิน 6-7 หมื่นล้านเหรียญที่ไหลเข้ามากกว่าไหลออกนั้น ส่วนใหญ่ไหลเข้ามาลงทุนในบริษัททั้งในรูปของการเพิ่มทุนหลังต้มยำกุ้ง มาเพื่อขยายงานขยายกิจการของบริษัท ที่เราเรียกว่า "การลงทุนโดยตรงของต่างประเทศ" หรือ "Foreign Direct Investment" หรือ FDI ส่วนที่เหลือซึ่งส่วนมากไม่ได้มาในรูปเงินตรา แต่มาในรูปเครื่องจักรเครื่องยนต์กลไก โรงงาน โรงเรือน ฯลฯ ซึ่งไหลออกไปไม่ได้ง่าย ๆ นอกจากขายให้คนไทยแล้วเอาเงินออกไป อีกส่วนคือเงินกู้ยืม เช่น รัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ กู้ยืมเงินตราต่างประเทศมาใช้จ่ายเพื่อการลงทุน สร้างถนนหนทาง ท่าเรือ สนามบิน ทางรถไฟ หรือเอกชนออกหุ้นกู้มาขยายงาน เงินกู้เหล่านี้มีทั้งระยะสั้นไม่เกินปี และระยะยาว 5 ปี 10 ปี ถึง 30 ปีก็มี

ที่เหลือก็เป็นเงินไหลเข้ามาซื้อตราสารหนี้ในตลาดรอง หรือที่เรียกว่า secondary markets เช่น ซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ พันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนในตลาดทุนของเรา การลงทุนของเงินตราต่างประเทศ ส่วนนี้เรียกว่า portfolio investment หรืออาจจะเรียกว่า "hot money" ก็ได้

เมื่อลองดูเงินที่ไหลเข้ามาเพื่อการนี้ จะเห็นว่าเป็นตัวที่ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินสะบัดไปมา แม้จะมีจำนวนไม่มากนักก็ตาม ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีที่ว่าราคาของก็ดี ราคาเงินก็ดี ไม่ได้ขึ้นกับจำนวนสินค้าทั้งหมดว่ามีเท่าใด แต่ขึ้นอยู่กับหน่วยสุดท้ายว่ามีราคาเท่าใด

เมื่อเป็นอย่างนี้ เราควรจะเปลี่ยนทัศนคติได้แล้วว่า ประเทศของเราไม่ได้เป็นประเทศที่ลงทุนเกินตัวหรือเกินไป แต่เป็นประเทศที่ลงทุนน้อยเกินไป เมื่อเปรียบเทียบกับการทำมาหาได้ หรือออมมากเกินไป

เงินออมส่วนเกินที่ว่านี้ไปอยู่ที่ไหน ก็ไปกองอยู่เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศของเรานั่นเอง

ถ้าเราจะเร่งรัดการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ จนทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล ถ้าจะขาดดุลสักปีละ 5,000 ล้านเหรียญติดต่อกันสัก 10 ปี ทุนสำรองที่มาจากลำแข้งตนเองก็จะหมดไปเพียง 50,000 ล้านเหรียญเท่านั้น แต่ประเทศจะได้มีรถไฟความเร็วสูงใช้ทั้งประเทศ ได้ท่าเรือน้ำลึกใหม่ ได้สนามบินที่ใหญ่และทันสมัยกว่าเดิม ได้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยมากขึ้น

ประเทศก็จะเปลี่ยนโฉมก้าวขึ้นสู่ระดับการพัฒนาอีกระดับหนึ่ง เพราะความสามารถในการแข่งขันจะสูงขึ้น โดยไม่เป็นอันตรายต่อเสถียรภาพทางการเงินเลย ทุนสำรองระหว่างประเทศก็จะยังมีเหลืออยู่อีกกว่า 130,000 ล้านเหรียญ

ทีนี้มาลองดูว่า ถ้าภาครัฐบาลซึ่งได้แก่ รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจจะลงทุนเพิ่มควรจะลงทุนด้วยการขึ้นภาษี หรือการกู้ยืมจากประชาชนในประเทศ โครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่ใช้เงินมาก ๆ ก็เป็นโครงการของรัฐวิสาหกิจเป็นส่วนใหญ่ เช่น การท่าเรือ การท่าอากาศยาน การทางพิเศษ การรถไฟ การปิโตรเลียม การบินไทย การไฟฟ้าทั้ง 3 การ การประปาทั้ง 2 การ การสื่อสาร องค์การโทรศัพท์ โครงการของรัฐวิสาหกิจเหล่านี้เป็นโครงการที่ก่อให้เกิดรายได้ สามารถยืนอยู่บนลำแข้งของตนได้ ก็ควรจะใช้วิธีการออกพันธบัตรกู้จากประชาชนในประเทศ ไม่ควรใช้โครงการ "turn key" ข้อสำคัญไม่ควรกู้จากต่างประเทศเลย

สำหรับโครงการของกรมทางหลวงแผ่นดิน กรมทางหลวงชนบท กรมชลประทาน เป็นโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้กับกรม แต่ก่อให้เกิดรายได้กับประชาชนก็คงต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน โครงการทางสังคม

อื่น ๆ เช่น การศึกษา สาธารณสุข การกีฬา การพัฒนาชุมชนทั้งในเมืองและในชนบท เช่น กองทุนหมู่บ้าน กองทุนพัฒนาสตรี กองทุนหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์และอื่น ๆ ที่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน

ต้องดูรวม ๆ งบประมาณแผ่นดินยังพอใช้หรือไม่ วินัยทางการคลังยังสามารถรักษาไว้ได้หรือไม่ ซึ่งขณะนี้มีช่องว่างเพียงพอ ยิ่งโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯกลับไปให้ ธปท.รับภาระแทนประชาชนผู้เสียภาษี ก็ยิ่งมีช่องว่างที่รัฐบาลจะนำไปใช้จ่ายเพื่อพัฒนาและเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของชาวบ้านทั้งในชนบทและในเมืองได้มากขึ้น

ที่ยึดติดกับวิกฤตต้มยำกุ้งควรเปลี่ยนได้แล้ว

 
 

จากคุณ : Wild Rabbit
เขียนเมื่อ : 9 เม.ย. 55 11:50:55




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com