รวยง่ายๆ ถ้าคุณรู้จักและเข้าใจ Mr.Market (นายตลาด)
|
|
อะไรทำให้คุณเป็นนักลงทุนที่ดี? วอรเรน บัฟเฟตต์ พูดไว้ว่า นักลงทุนที่ดี ก็คือ ใครก็ตามที่สามารถรวมเอาการเลือกธุรกิจที่ดีเข้ากับความสามารถที่จะวางเฉยต่อการแกว่งตัวอย่างรุนแรงของตลาดหุ้นได้
บัฟเฟตต์ เป็นลูกศิษย์ของ เบนจามิน เกรแฮม ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เขาเป็นนักเรียนคนเดียวที่ได้เกรด A+ ตลอดระยะเวลา 22 ปี ที่เกรแฮมสอนมา เกรแฮมได้สอนให้เขารู้จักกับแนวความคิดที่สำคัญที่สุด ซึ่งบัฟเฟตต์ยังยึดมั่นอยู่ในปัจจุบัน เรื่องแรกก็คือ แนวความคิดในการเปรียบเทียบตลาดหุ้น กับ Mr.Market และเรื่องที่สอง คือ ต้องมี Margin of Safety ในราคาหุ้นที่จะซื้อเสมอ (หุ้นที่ดี แต่มีราคาแพงเกินไป มันก็ไม่ใช่หุ้นที่ควรซื้อ)
บัฟเฟตต์พูดในงานคล้ายวันเกิดครบรอบ 100 ปี ของเกรแฮม ว่า แนวความคิดนี้ใช้ได้ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และจะยังคงเป็นแนวความคิดที่สำคัญต่อไปในอีกศตวรรษข้างหน้า
ใคร คือ Mr.Market (นายตลาด) บัฟเฟตต์ อธิบายให้ฟังว่า Mr.Market คือหุ้นส่วนทางธุรกิจของคุณ นายตลาดเป็นคนที่มีปัญหาทางด้านอารมณ์ ซึ่งเขาจะปรากฎตัวขึ้นทุกๆวันโดยไม่เคยขาด และจะเสนอราคาขอซื้อหุ้นในส่วนของคุณ หรือ ขายหุ้นในส่วนของเขาให้กับคุณ
บัฟเฟตต์ เรียกนายตลาดว่า "คนวิกลจริต" หรืออาจเรียกได้ว่าคนที่มี "บุคลิกภาพ 2 ขั้ว" ปัญหาทางด้านจิตใจของนายตลาดนั้น ส่งผลถึงราคาหุ้นที่เขาเสนอขายด้วย ถ้าวันไหนที่เขารู้สึกอิ่มเอมใจ เขาจะมองเห็นแต่สิ่งดีๆ ในธุรกิจ และจะเสนอขายหุ้นในส่วนของเขาในราคาที่สูงมาก ที่จริงแล้ว ถ้าเขาอารมณ์ดีแบบนี้ เขาไม่ได้ต้องการจะขายหุ้นของเขาให้กับคุณหรอก เขาตั้งราคาขายแพงๆเพราะเขากลัวว่าคุณจะยอมรับราคาที่เขาเสนอและซื้อหุ้นของเขา และกลัวว่าคุณจะกวาดเอาผลประโยชน์ทั้งหมดซึ่งเขาคิดว่าควรจะเป็นของเขาไป
ส่วนอามรณ์อีกด้านหนึ่งของเขา คือเมื่อนายตลาดรู้สึกหดหู่ เขาจะมองทุกอย่างเป็นปัญหาไปหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภายในหรือภายนอกธุรกิจ ถ้าเขามีอารมณ์แบบนี้ เขากลัวว่าคุณจะไม่ซื้อหุ้นของเขา และทำให้เขาต้องแบกรับภาระทั้งหมดที่เกิดขึ้นในภาวะขาลงไว้คนเดียว ในอารมณ์แบบนี้เขาจะเสนอขายหุ้นให้คุณในราคาที่ต่ำมาก และหวังว่าคุณจะเหมาเอาหุ้นของเขาไปทั้งหมด
บัฟเฟตต์ยังอธิบายอีกว่า นายตลาดเป็นนักตื้อตัวยงอีกด้วย เขาจะปรากฏตัวขึ้นทุกๆวัน ไม่ว่าเขาจะมีอารมณ์แบบไหน และเขาก็จะไม่ว่าอะไรคุณเลย ถ้าคุณจะไม่สนใจเขา เขาจะกลับมาใหม่ในวันรุ่งขึ้นพร้อมกับราคาใหม่ที่เขาจะเสนอ สิ่งที่คุณต้องทำก็คือ ต้องดูให้ออกว่าวันนี้นายตลาดอยู่ในอารมณ์แบบไหน แล้วตัดสินใจว่าคุณจะสนใจหรือไม่สนใจในสิ่งที่เขาเสนอ โดยนายจะตลาดจะไม่ต่อว่าคุณไม่ว่าคุณจะตัดสินใจอย่างไร
แต่บัฟเฟตต์ บอกว่ากุญแจสำคัญอยู่ที่คำพูดของเกรแฮมที่ว่า "อย่าตกอยู่ภายใต้อิทธิพลขอลนายตลาด" ซึ่งอิทธิพลนั้นทรงพลังมาก ความหดหู่ของเขาสามารถปกคลุมไปได้ทั่ว และความอิ่มเอมใจของเขาก็ทำให้ตลาดหลงระเริงได้เช่นกัน บัฟเฟตต์พูดว่า "อ่านอารมณ์เขาให้ออก และจงพิจารณาอย่างถี่ถ้วน แต่อย่าตกลงไปอยู่ในหลุมพรางของอารมณ์นั้นซะเอง"
คำเปรียบเทียบของเกรแฮม ในเรื่องของ นายตลาด นั้น นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าควรจะใช้มันเป็นพื้นฐานของการทำความเข้าใจกับกลไกการกำหนดราคาของตลาดหุ้น มันสามารถช่วยให้คุณเข้าใจความบ้าคลั่งของตลาดหุ้นได้ และยังจะช่วยส่งสัญญาณและขีดเส้นใต้คำว่าโอกาสเมื่อมันมาถึง ในฐานะนักลงทุนคุณควรพร้อมที่จะใช้ประโยชน์จากนายตลาดเมื่อเขารู้สึกหดหู่และเสนอขายราคาที่ต่ำมาก เพราะนั่นหมายความว่าธุรกิจที่ดีกำลังถูกกดทับด้วยก้อนหินก้อนโต และนี่คือโอกาสที่เหมาะสมสำหรับนักฉวยโอกาสตัวยงที่จะฉกฉวยเอาไว้เมื่อตลาดหุ้นล้มป่วย และตัดสินใจเดิมพันลงทุนหมดหน้าตักเพราะคุณเชื่อว่ามูลค่าที่แท้จริงของธุรกิจนั้นสูงกว่าที่นายตลาดเสนอ
หลังจากที่คุณทำความเข้าใจกับแนวความคิดเรื่องนายตลาดแล้ว คุณยังต้องรวมเอาแนวความคิดที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งเข้าไว้ด้วยกัน นั่นคือ เรื่องของ Margin of Safety ซึ่งหมายถึง คุณจะต้องซื้อหุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าของธุรกิจนั้นมากๆ คุณคงไม่ต้องการให้ราคาที่คุณจะซื้อกับมูลค่าที่แท้จริงใกล้เคียงกัน คุณคงต้องการช่องว่างมากๆ สำหรับมูลค่าที่แท้จริงกับราคาที่คุณสนใจ ซึ่ง บัฟเฟตต์เรียกว่า "ช่องว่างขนาดใหญ่" กล่าวคือ คุณต้องซื้อแบงค์ 1 ดอลลาร์ ในราคา 40 เซ็นต์ หรืออีกนัยหนึ่ง บัฟเฟตต์บอกว่าเหมือนกับการขับรถบรรทุก 10,000 ปอนด์ ข้ามสะพานที่รับน้ำหนักได้ 30,000 ปอนด์ น้ำหนักที่เหลือก็คือเผื่อไว้สำหรับความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้่น คุณคงไม่อยากบรรทุกน้ำหนักใกล้เคียงกับน้ำหนักที่สะพานรับไว้หรอกจริงไหม
คุณควรใช้ ความไร้เหตุผลของนายตลาดให้เป็นประโยชน์กับคุณ เมื่อเขาเกิดอารมณ์หดหู่อย่างรุนแรง เขาจะทำให้ตลาดหุ้นดิ่งเหว ซึ่งนั่นจะเป็นโอกาสที่สามารถสร้าง Margin of Safety ให้กับคุณได้ และในท้ายที่สุดตลาดหุ้นจะประเมินมูลค่าหุ้นของคุณใหม่และจะปรับเพิ่มขึ้นไม่ช้าก็เร็ว เพราะ "ของมีค่าย่อมมีราคาเสมอ"
อย่าปล่อยให้นายตลาดดูดคุณเข้าไปภายใต้อารมณ์ของเขา อย่าปล่อยให้เขาเป็นคนกำหนดมูลค่าของธุรกิจแทนคุณ จงหนักแน่นไว้ นายตลาดคือทาสของคุณไม่ใช่ผู้นำทาง ถ้าคุณสามารถพัฒนาระดับของความมีวินัยและรอจนโอกาสที่เหมาะสมมาถึง คุณจะได้รับรางวัลก้อนโตจากความอดทน!!!!
บางคนบ่นเกี่ยวกับความแปรปรวนของนายตลาด แต่ไม่ใช่กับบัฟเฟตต์ เพราะเขามองว่าความแปรปรวนของนายตลาดนั้นเป็นเพียงการแกว่งตัวทางอามรณ์ที่น่าทึ่งต่างหาก เพราะว่ามันสามารถสร้างโอกาสให้นักลงทุนที่เข้าใจมัน ให้เราสามารถรอจนกว่าคนอื่นๆจะทำอะไรโง่ๆ แล้วเราค่อยทำอะไรที่ฉลาดๆ และรอรับรางวัลที่เราควรจะได้ ก็แค่นั้นเอง ที่แหละ คือการลงทุนอย่างแท้จริง !!!!!
เครดิต : ส่วนหนึ่งจากหนังสือ How Buffett Dies it ที่มา :2binvestor.** ไม่ใช่ลิควิด **/2012/04/mrmarket.html
จากคุณ |
:
maymaru
|
เขียนเมื่อ |
:
16 เม.ย. 55 19:26:57
|
|
|
|