"Cut Loss" Vs. "ซื้อถัวเฉลี่ยขาลง" ความต่างกันสุดขั้วระหว่าง Technical และ VI
|
|
สิ่งที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วระหว่างนัก Technical และ VI ก็คือการกระทำที่กลุ่มคนทั้งสองจะทำเมื่อราคาหุ้นปรับตัวลดลง (Cut Loss vs. ซื้อถัวเฉลี่ยขาลง) เรื่องที่เราต้องคิดก่อนเสมอทุกๆครั้งก่อนซื้อขายหุ้นก็คือ "เราใช้ปัจจัยอะไรมาตัดสินในการซื้อหุ้น?" เราซื้อหุ้นตัวนั้นมาเพราะเห็นสัญญาณทางเทคนิค หรือว่าเราซื่้อเพราะเชื่อว่ามูลค่าที่แท้จริงของหุ้นยังต่ำกว่าราคา สิ่งที่เป็นตัวตัดสินความสำเร็จในตลาดหุ้นก็คือ "วินัย" ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราต้องไม่เปลี่ยนม้ากลางศึก
ก่อนอื่นมาดูคำนิยามของศาสตร์ทั้งสองกันก่อน
Technical - ศาสตร์ของ Technical นั้นคือการซื้อขายหุ้นตาม Trend (Trend Follower) เมื่อเราพิจารณาเห็นว่าหุ้นตัวหนึ่งอยู่ในช่วงขาขึ้น เราก็ซื้อและถือไว้จนกว่ามันจะหมดรอบ และขายเมื่อมันเข้าสู่ Trend ขาลง เป็นเรื่องปกติที่นัก Technical จะซื้อหุ้นที่ "แพง" เพราะหุ้นที่มีสัญญาณชัดเจนส่วนใหญ่ก็คือหุ้นที่ราคาปรับตัวขึ้นไปแล้ว สิ่งที่ต้องทำก็คือ ซื้อแพง เพื่อไปขายแพงกว่า
Value Investment - การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เราจะซื้อหุ้นเมื่อเราเห็นว่ามูลค่าของกิจการบริษัทนั้นสูงกว่าราคาที่สะท้อนออกมาในหุ้นที่ซื้อขายกันอยู่ในกระดาน และจะขายก็ต่อเมื่อราคานั้นปรับตัวขึ้นไปสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงมากๆ หรือมีปัจจัยสำคัญเปลี่ยนแปลงซึ่งทำให้มูลค่าของกิจการนั้นลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
เราอาจจะไม่ต้องเป็น VI หรือ Technical 100% ก็ได้ หุ้นบางตัวเราอาจจะซื้อเพราะเห็นสัญญาณทางเทคนิค หุ้นบางตัวเราอาจจะเห็นว่าราคาต่ำกว่ามูลค่าจึงซื้อ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ เราต้องจำให้ได้ว่า ซื้อตัวไหนเพราะอะไร ห้ามเอามาปนกัน
ความผิดพลาดอย่างหนึ่งที่เห็นได้บ่อยก็คือ การซื้อถัวเฉลี่ยขาลงหุ้นที่เราซื้อมาด้วยปัจจัยทางเทคนิคแทนที่จะ Cut Loss เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ไม่ใช่ทุกครั้งที่เราจะสามารถคาดการณ์ Trend ได้อย่างแม่นยำ 100% โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดไทยที่มีการควบคุมราคาอยู่ส่วนหนึ่ง นัก Technical ที่เข้าถูก Trend 7 ใน 10 ครั้งก็นับว่าเก่งแล้ว เป็นเรื่องธรรมชาติที่เราจะเข้าผิด Trend (เราคิดว่ามันอยู่ใน Trend ขาขึ้น แต่พอซื้อแล้วราคากลับลง) เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็น "กุญแจ" สำคัญที่จะทำให้นัก Technical ได้กำไรก็คือการ "Cut Loss" และ "Let Profit Run" ต่อให้เราเข้าถูก Trend แค่ 5ใน 10ครั้ง เราก็สามารถได้กำไรได้หากปฏิบัติตามวินัย เพราะฉะนั้นเราต้องระลึกไว้เสมอว่า หุ้นที่เราซื้อตามสัญญาณเทคนิค ถ้าลงเกินจุด Cut Loss ที่ตั้งไว้ตอนซื้อ ต้องขาย Cut Loss เสมอ ห้ามซื้อถัวเฉลี่ยเด็ดขาด
อีกหนึ่งข้อผิดพลาดก็คือการ Cut Loss หุ้นทั้งๆที่เราซื้อมาเพราะปัจจัยพื้นฐาน ทั้งๆที่เราคำนวณอย่างดีแล้วว่าราคาที่เราซื้อมันต่ำกว่ามูลค่า แต่เรากลับนำวิธีการ Cut Loss มาประยุกต์ใช้ เมื่อเห็นว่าราคามันตกลงไปอีก กลายเป็นว่า ซื้อถูก แต่ไปขายถูกกว่า สิ่งที่ VI ต้องทำก็คือการวิเคราะห์ให้แน่ชัดก่อนว่าหุ้นที่ซื้อนั้นราคาต่ำกว่ามูลค่า และหากราคาลดลงไปอีก สิ่งที่ต้องทำก็คือการซื้อถัวเฉลี่ยไม่ใช่ Cut Loss
คนจำนวนไม่น้อยที่ซื้อหุ้นตามสัญญาณเทคนิค แต่ถึงเวลาเข้าผิด Trend กลับไม่ยอม Cut Loss และผันตัวไปถือยาว เรียกตนเองว่า VI ทั้งๆที่รู้อยู่แก่ใจว่าต้นทุนเราสูงกว่า VI จริงๆอยู่มาก เพราะการซื้อตามสัญญาณ Technic มักจะได้หุ้นแพงอยู่แล้ว
ในทางกลับกัน การซื้อหุ้นแบบ VI มักจะซื้อหุ้นที่ราคายังไม่ปรับตัวขึ้นไป ซึ่งถ้ามองในมุม Technical อาจจะเป็นหุ้นที่อยู่ใน Trend ขาลง หรือ Side way จึงไม่แปลกเลยที่ VI จะซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง แล้วราคากลับลงต่อ เพราะฉะนั้นมันเป็นธรรมชาติที่เราจะซื้อหุ้นโดยอิงปัจจัยพื้นฐานและต้องอดทนเห็นพอร์ตการลงทุนเราแดงอยู่สักพัก เป็นไปได้ยากมากที่เราจะซื้อหุ้นแบบ VI และเห็นราคาปรับตัวขึ้นไปทันทีแบบหุ้น Technical เพราะมันต้องใช้เวลากว่าที่มูลค่าเหล่านั้นจะสะท้อนออกมาถึงราคาหุ้น (เพราะถ้ามันสะท้อนทันที เราก็คงไม่มีโอกาสได้ซื้อหุ้นถูกเหมือนกัน) เรื่องตลกก็คือ มีนักลงทุน VI จำนวนไม่น้อยเช่นกันที่ไม่สามารถ อดทนรอเวลาได้ เมื่อเห็นราคาปรับลดลงไปเรื่อยๆ แทนที่จะดีใจซื้อเพิ่ม กลับขายออกไป และอ้างว่าตนเองมีวินัยจึง Cut Loss (คงลืมไปแล้วว่าตัวเองซื้อมาเพราะอะไร)
ติดตามอ่านบทความของผมได้ที่ Blog : http://jo-of-glue.bloggang.com หรือใน Facebook: http://www.facebook.com/JoOfGlueInvestmentTalk ขอบคุณครับ :)
จากคุณ |
:
Jo_oF_GluE
|
เขียนเมื่อ |
:
11 พ.ค. 55 13:47:54
|
|
|
|