'นายฝรั่ง' คุย!! อีกสองปี พบ 'เหมราช' ที่จุดสูงสุด
|
|
การเงิน - การลงทุน : ถนนนักลงทุน วันที่ 28 พฤษภาคม 2555 01:00 โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
จับตาแผนปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ 'เหมราชพัฒนาที่ดิน' จากบริษัทขายที่ดินสู่ 'โฮลดิ้งคอมปะนี' ลงทุนในระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน
ผลพวงจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554 ที่ผ่านมา สร้างความเสียหายให้กับนิคมอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี อย่างหนัก แต่กลับส่งผลดีต่อนิคมอุตสาหกรรมในเขตภาคตะวันออก โดยเฉพาะนิคมฯ อมตะและเหมราช ที่ได้รับ "ส้มหล่น" ไปเต็มๆ
สำหรับ บมจ.เหมราชพัฒนาที่ดิน ของ สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง อดีตเจ้าพ่อโรงเหล็กเจ้าของวลี "ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย" ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทิศทางผลการดำเนินงานเริ่มดีขึ้นอย่างชัดเจน ขณะที่ สวัสดิ์ เลือกที่จะเร้นกายอยู่เบื้องหลังแล้วผลักดันให้ เดวิด ริชาร์ด นาร์โดน ลูกน้องคนสนิทก้าวออกมาอยู่ในสปอตไลท์ของนักลงทุนแทน
ขณะเดียวกันเหมราชพัฒนาที่ดิน ก็เริ่มปล่อยสตอรี่ข่าวดีออกมาเป็นชอตๆ พร้อมทั้งมีการส่งสัญญาณเบาๆ จาก "นายใหญ่" สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง ประธานที่ปรึกษาของบริษัทที่ระบุว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าโครงสร้างรายได้ของเหมราชจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างผิดหูผิดตา หันมาเน้นรายได้ที่ "มั่นคง..กินยาว" มากขึ้น
“มีสิทธิเห็นราคาหุ้น HEMRAJ ไปไกล "เลขสองหลัก" ไหมครับ!!” เสียงจากผู้ถือหุ้นรายย่อยยิงคำถามไปยังผู้บริหารในงานประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2555
“ผมว่าอีกสองปีน่าจะได้เห็นสิ่งที่ผู้ถือหุ้นถามมา” เดวิด ริชาร์ด นาร์โดน กรรมการผู้จัดการ บมจ.เหมราชพัฒนาที่ดิน ตอบคำถามกับนักข่าวในภายหลัง
นายฝรั่งอธิบายเหตุผลว่าทำไม! ถึงมั่นใจเช่นนั้น เริ่มจากแผนงานในปี 2555 บริษัทได้ปรับเป้ายอดขายที่ดินใหม่อีกครั้งจากเดิม 1,700 ไร่ เป็น 2,000 ไร่ เพิ่มขึ้น 15% จากปีที่แล้วที่ขายที่ดินได้ 1,670 ไร่ รวมทั้งหมด 100 สัญญา โดยเป็นลูกค้าใหม่ 65 สัญญา ส่วนใหญ่เป็นการย้ายฐานการผลิตมาจากพื้นที่น้ำท่วม และลูกค้าญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น เฉพาะไตรมาส 1 ปีนี้ เหมราชขายที่ดินไปแล้ว 928 ไร่ รวม 39 สัญญา
นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มส่วนธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปเพิ่มเติม รวมถึงเปิดให้บริการอาคารคลังสินค้าของเหมราชโลจิสติกส์พาร์ค 1 และอีก 7 อาคารคาดว่าจะให้บริการได้ในกลางปีนี้ ขณะเดียวกันก็มีแผนจะสร้างโครงการเหมราชโลจิสติกส์พาร์ค 2 ในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ดเพิ่มเติมอีก 37,000 ตารางเมตร น่าจะเสร็จได้ในเดือนพฤศจิกายนนี้ รวมทั้งปี 2555 จะมีพื้นที่ใช้งานโรงงานสำเร็จรูปและโลจิสติกส์พาร์ครวม 1 แสนตารางเมตร เพิ่มขึ้น 60% จากปีที่แล้ว
เดวิด นาร์โดน กล่าวถึงในส่วนของโรงไฟฟ้าเก็คโค่-วันขนาด 660 เมกะวัตต์ ซึ่งเหมราชร่วมถือหุ้นอยู่ 35% จะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนพฤษภาคม จะมีรายได้และเงินปันผลเข้ามาตามสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 1,400 ล้านบาทต่อปี ในช่วง 8 ปีแรก นอกจากนั้น เหมราชได้เข้าซื้อที่ดินจำนวน 228 ไร่ บนเกาะล้าน จังหวัดชลบุรี เพื่อพัฒนา โครงการมิลเลียน ไอส์แลนด์ พัทยา ประกอบด้วยรีสอร์ท ศูนย์บันเทิง และสถานที่พักผ่อน เข้าถือหุ้น 80% ในบริษัทร่วมทุนที่เริ่มต้นด้วยทุนจดทะเบียน 1,750 ล้านบาท มีการชำระแล้ว 54%
ในส่วนของเป้าหมายรายได้ในปี 2555 เขาคาดว่า เหมราชจะมีรายได้รวมเติบโต 40-50% จากปีก่อน เนื่องจากมียอดขายที่ดินมากขึ้นบวกกับการรับรู้รายได้จากยอดโอน 1,900 ล้านบาท ที่จะรับรู้รายได้ปีนี้ 70% ทั้งนี้ คาดว่ารายได้จากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมจะเติบโต 80-100% ธุรกิจให้เช่าโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าเติบโต 60% ธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภคเติบโต 20%
“ส่วนกำไรสุทธิผมไม่ขอคอมเมนท์ แต่คงพอเดาได้ว่าการรับรู้รายได้และเงินปันผลจากโครงการเก็คโค่-วัน น่าจะมีผลให้กำไรของเราเติบโตแบบทวีคูณได้” นายฝรั่งกล่าว
ผู้บริหารชาวต่างชาติของเหมราชยังให้ความเห็นเรื่องสถานการณ์ธุรกิจว่า ตอนนี้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานสำคัญยิ่งกว่าการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท แต่นักลงทุนต่างชาติยังให้ความสนใจที่จะลงทุนในประเทศไทยอยู่ดี เนื่องจากนักลงทุนบางกลุ่มที่ไปตั้งฐานผลิตในประเทศเพื่อนบ้านต้องเจอกับระบบสาธารณูปโภคที่ไม่พร้อม แรงงานไม่มีฝีมือ ทำให้นิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกตอนนี้ขยายตัวจนแรงงานมีไม่เพียงพอ
สำหรับแผนงานในอนาคต เหมราชเตรียมเข้าไปเป็นผู้ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ทั้งหมด 8 แห่งในสัดส่วนถือหุ้นโครงการละไม่เกิน 25% โดยลงทุนผ่านบริษัทย่อย บริษัท เหมราช เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด โครงการแรกที่เข้าไปลงทุนจะร่วมมือกับ บริษัท กัลฟ์ เจพี เอ็นแอลแอล จำกัด เพื่อผลิตโรงไฟฟ้า 126 เมกะวัตต์ ในเขตพื้นที่นิคมเหมราชระยองมีลูกค้าคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และลูกค้าในนิคมฯ โครงการดังกล่าวเหมราชเป็นผู้ถือหุ้น 25% จากมูลค่าโครงการทั้งหมด 5,500 ล้านบาท
มือขวาสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง กล่าวต่อว่า เหมราชตั้งเป้าที่จะเข้าไปลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้า SPP ทั้งหมด 8 โครงการภายใน 3 ปีจากนี้ คาดว่าจะต้องใช้เงินทุนทั้งหมด 2,600 ล้านบาท ซึ่งเรื่องเงินลงทุนไม่มีปัญหาตอนนี้บริษัทมีสัดส่วนหนี้สินเพียง 0.78 เท่า มีเงินสดในมือประมาณ 4,000 ล้านบาท การลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าจะนำเงินมาจากกระแสเงินสดและกำไรจากการดำเนินงานเป็นหลัก ส่วนผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ปีละกี่เปอร์เซ็นต์ยังไม่สามารถระบุได้
“เรายังคงมุ่งเน้นลงทุนในธุรกิจหลักคือนิคมอุตสาหกรรม สาธารณูปโภค พลังงาน และอสังหาริมทรัพย์ซึ่งจะเน้นไปที่โรงงานและคลังสินค้าให้เช่า ที่ตลาดกำลังมีความต้องการสูง” ซีอีโอฝรั่งกล่าว
เดวิด นาร์โดน ยังบอกด้วยว่า การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มีส่วนช่วยทางอ้อมต่อธุรกิจของบริษัท แม้ว่าตอนนี้จะมีสัดส่วนยอดขายที่ดินจากประเทศในอาเซียนเพียง 8% ส่วนใหญ่ยังเป็นลูกค้าจากญี่ปุ่น จีน อินเดีย มากกว่า แต่เชื่อว่านักลงทุนจากเอเชียต่างต้องการลงทุนที่ประเทศไทยเพื่อใช้เป็นฐานเข้าสู่อาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์จากญี่ปุ่นซึ่งระยะยาวยังคงต้องการฐานผลิตต้นทุนต่ำอยู่
ถามว่ามีโอกาสจะได้เห็นเหมราชออกไปลงทุนต่างประเทศรึไม่! ผู้บริหารชาวต่างชาติรายนี้ ตอบว่า "มีแน่นอน" ขณะนี้กำลังศึกษาความเป็นไปได้สนใจอินโดนีเซีย น่าสนใจด้วยจำนวนประชากรจำนวนมากและมีตลาดรถยนต์ขนาดใกล้เคียงประเทศไทย ส่วนโครงการทวายในประเทศพม่าถึงตอนนี้ยังไม่ได้ให้ความสนใจเนื่องจากยังเป็นแค่การเริ่มต้นเท่านั้น พอถึงปี 2558 อาจจะได้เห็นเหมราชมีโอกาสไปลงทุนต่างประเทศ แต่สัดส่วนรายได้คงยังไม่มีนัยสำคัญมากนัก
เขากล่าวปิดท้ายว่า ตอนนี้สัดส่วนรายได้ 50% ของเหมราชพัฒนาที่ดิน ยังเป็นการขายที่ดิน แต่ภายใน 2 ปีข้างหน้ารายได้จากนิคมอุตสาหกรรมจะลดลงเหลือ 40% อีก 35% เป็นรายได้จากสาธารณูปโภคและเงินปันผล และอีก 25% มาจากรายได้อสังหาริมทรัพย์และโรงงานให้เช่า
"อีก 5 ปีจากนี้เมื่อสิ้นสุดการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าทั้ง 8 แห่งแล้ว รายได้จากสาธารณูปโภคจะเพิ่มเป็น 40% อสังหาริมทรัพย์ 25% และรายได้จากการขายที่ดินจะเหลือ 35% นี่คือโครงสร้างรายได้และกำไรที่มั่นคงยั่งยืน...ดังนั้นจับตาดูเราให้ดีๆ!!" เดวิด ริชาร์ด นาร์โดน กรรมการผู้จัดการ บมจ.เหมราชพัฒนาที่ดิน มือขวาสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง กล่าว
Tags : เดวิด ริชาร์ด นาร์โดน
จากคุณ |
:
Wild Rabbit
|
เขียนเมื่อ |
:
29 พ.ค. 55 23:49:12
|
|
|
|