|
คำถามที่จะเกิดขึ้นในใจของพวกเราก็คือ ทำอย่างไรเล่า น้ำหนักของประเทศไทยในดัชนี MSCI จะเพิ่มขึ้นจากในปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 3.21% เรื่องนี้คงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะถ้าหาก % ของประเทศไทยเพิ่มขึ้น ก็ต้องแปลว่าน้ำหนักของบางประเทศในอีก 8 ประเทศที่เหลือจะต้องลดลง ซึ่งปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อน้ำหนักดังกล่าวที่เปลี่ยนได้ง่ายที่สุด ก็คือ มูลค่าตลาดของหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบอยู่ในดัชนีเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าตลาดของหลักทรัพย์ประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ในดัชนีด้วย ยกตัวอย่างเช่น หากมูลค่าตลาดรวมของประเทศไทยเพิ่มขึ้นเร็วกว่าประเทศเพื่อนบ้าน น้ำหนักของประเทศไทยก็จะสามารถไปเบียดน้ำหนักของประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ในดัชนีดังกล่าวได้
ปัจจัยที่สองคือการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทเทียบกับค่าเงินของประเทศอื่นที่อยู่ในดัชนี ปัจจัยนี้เช่นเดียวกับปัจจัยแรกครับ กล่าวคือ ถ้าค่าเงินบาทตก ก็จะทำให้มูลค่าตลาดรวมของประเทศไทยที่คิดเป็นดอลล่าร์สหรัฐลดลงด้วย และมีผลทำให้น้ำหนักการลงทุนในไทยลดลง เว้นแต่ถ้ามูลค่าตลาดของประเทศอื่นลดลงในสัดส่วนที่มากกว่า น้ำหนักการลงทุนในไทยก็อาจไม่ลด ทั้งนี้ ปัจจัยทั้งสองที่กล่าวมาจะเป็นเรื่องที่นักลงทุนสามารถหาตัวเลขมาคำนวณน้ำหนักที่เปลี่ยนไปได้ทุกวันโดยไม่จำเป็นต้องรอข่าวใด ๆ จาก MSCI
สำหรับปัจจัยที่สามที่จะมีผลกระทบต่อน้ำหนักของตลาดแต่ละประเทศในดัชนี MSCI จะขึ้นอยู่กับหลักทรัพย์แต่ละตัวที่ MSCI เลือกมาใช้ในการคำนวณมูลค่าตลาดของแต่ละประเทศซึ่งในเรื่องนี้ MSCI จะทำการปรับเปลี่ยนเป็นระยะ ๆ และ MSCI ค่อนข้างที่จะเรื่องมากทีเดียว เพราะจะไม่นำมูลค่าของหลักทรัพย์ทุกตัวในตลาดทั้งหมดมาใช้ แต่จะคัดเลือกหลักทรัพย์มามูลค่าประมาณ 85% ของมูลค่าตลาดของหลักทรัพย์ทั้งหมดในประเทศเท่านั้น และจะคำนวณมูลค่าตลาดจากเฉพาะหลักทรัพย์ในส่วนที่นักลงทุนต่างประเทศจะเข้ามาทำการซื้อขายได้ ซึ่งแปลว่า เขาเลือกเฉพาะหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าตามราคาตลาดสูง มีสภาพคล่อง และเมื่อเลือกตัวหลักทรัพย์แล้ว ยังจะนับเฉพาะส่วนที่ไม่มีข้อจำกัดการถือครองของนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งเรียกว่า Foreign Inclusion Factor (FIF) ยกตัวอย่างเช่น หุ้นของบริษัท ก . ซึ่งมีมูลค่าตามราคาตลาด เท่ากับ 10,000 ล้านบาท (1,000 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาท) แต่ถ้าหากหุ้นดังกล่าวมีส่วนที่ชาวต่างชาติสามารถจะถือครองได้เพียง 40% มูลค่าตามราคาตลาดของหุ้นดังกล่าวที่สามารถนำมาคำนวณเป็นมูลค่าตลาดของแต่ละประเทศจะเป็นเพียงแค่ 4,000 ล้านบาทเท่านั้น และ MSCI ก็จะใช้สูตรดังกล่าวให้ได้หุ้นจากทุกหมวดอุตสาหกรรมของตลาดแต่ละประเทศ เพื่อรวมเข้ากันเป็นมูลค่าตลาดรวมของประเทศไทย กล่าวโดยสรุป หากหุ้นต่าง ๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีการจำกัดสัดส่วนการลงทุนของชาวต่างชาติหรือจำนวนหลักทรัพย์ที่นักลงทุนทั่วไปสามารถจะเข้าไปทำการซื้อขายมีจำนวนน้อยแล้ว (free float) มูลค่ารวมของตลาดของประเทศไทยก็จะน้อยตามไปด้วย เพราะ เหตุนี้ จากหลักทรัพย์ทั้งหมด 400 กว่าหลักทรัพย์ มูลค่า 70,995 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (เป็นตัวเลขที่ไม่ได้ปรับ free float และ FIF)
ปัจจัยท้ายสุดนี้เรียกว่าเป็นการปรับองค์ประกอบของหลักทรัพย์ที่อยู่ในดัชนี ซึ่งปรับกันทุก ๆ เดือน กุมภาพันธ์ พฤษภาคม สิงหาคม และพฤศจิกายน โดยในเดือนพฤษภาคมจะเป็นการปรับใหญ่ประจำปี อย่างเช่นตอนที่เขายอมเพิ่มค่า FIF ให้หลักทรัพย์ของไทยเนื่องจากการนับ NVDR ก็เกิดขึ้นตอนปรับใหญ่นี่แหละครับ และเป็นเรื่องที่นักวิเคราะห์ทั้งในประเทศและต่างประเทศต่างเฝ้ารอคอย เพราะการปรับองค์ประกอบแต่ละครั้ง จะมีผลต่อการที่นักลงทุนต่างประเทศจะปรับเปลี่ยนน้ำหนักการลงทุนในประเทศต่าง ๆ ตามไปด้วย
----------------------------------------------------------------
แก้ไขเมื่อ 31 พ.ค. 55 20:33:49
แก้ไขเมื่อ 31 พ.ค. 55 20:33:03
แก้ไขเมื่อ 31 พ.ค. 55 20:33:02
แก้ไขเมื่อ 31 พ.ค. 55 20:22:00
จากคุณ |
:
แสงส่องที่ปลายฟ้า
|
เขียนเมื่อ |
:
31 พ.ค. 55 20:20:57
|
|
|
|
|