Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
อัตราส่วนทางการเงิน P/E ROA ROE และ P/BV ติดต่อทีมงาน

โดยคุณ pumai Stock2morrow



อัตราส่วนทางการเงิน P/E ROA ROE และ P/BV

   P/E (Price/Earning per Share) หรืออัตราส่วนระหว่างราคาหุ้นและกำไรต่อหุ้น ถ้าสมมติให้กำไรของบริษัทคงที่ตลอดหรือไม่มีการเติบโตเลย ค่า P/E จะหมายถึงระยะเวลาที่ใช้ในการคืนทุน เช่น ถ้าเราซื้อหุ้นราคา 10 บาท โดยหุ้นนั้นมีค่า P/E อยู่ที่ 5 เท่า หมายความว่ากำไรต่อหุ้นเท่ากับ 2 บาท เมื่อเราถือหุ้นนี้ไป 5 ปี กำไรต่อหุ้นจะเท่ากับ 2 x 5 คือ 10 บาท ซึ่งเท่ากับราคาต้นทุนที่เราซื้อนั่นเอง ค่า P/E นี้ยิ่งต่ำยิ่งดีครับ เพราะผู้ลงทุนสามารถคืนทุนได้เร็ว


   ROA (Return On Assets) เป็นค่าที่บ่งบอกถึงความสามารถในการทำกำไรจากสินทรัพย์ของบริษัท โดยคำนวณจาก Net Income/Total Assets โดยสินทรัพย์สุทธิ (Total Assets) ของบริษัทนั้นประกอบด้วยส่วนของผู้ถือหุ้นและส่วนของหนี้สิน ค่า ROA นี้ยิ่งสูงยิ่งดี เพราะแสดงว่าบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรสูงเมื่อเทียบกับมูลค่าสินทรัพย์ที่ลงทุน หากค่า ROA ของบริษัทต่ำกว่า 5% นักลงทุนมืออาชีพมักจะไม่ให้ความสนใจกับบริษัทนั้น

   นอกจากอัตราส่วนสองตัวที่กล่าวถึงในหนังสือคัมภีร์สุดยอดนักลงทุนแล้ว ลองมาดูอัตราส่วนตัวอื่นที่นักลงทุนแบบเน้นคุณค่านิยมใช้ในการเลือกหุ้นกัน

   ROE (Return on Equity) เป็นตัวที่บ่งบอกถึงความสามารถของบริษัทในการนำเงินลงทุนของผู้ถือหุ้นไปทำให้งอกเงยได้ในอัตราผลตอบแทนเท่าไหร่ ซึ่งคำนวณจาก Net Income/Equity ค่า ROE นี้ยิ่งสูงยิ่งดี โดยนักลงทุนมืออาชีพจะมองหาหุ้นที่มีค่า ROE สูงกว่า 12-15% อย่างต่อเนื่องหลายๆปี

   หากนำค่า ROA และ ROE มาพิจารณาแล้วจะพบว่าอัตราส่วนทั้งสองมีความคล้ายคลึงกันคือเป็นตัวบ่งบอกความสามารถในการทำกำไรของบริษัท จุดแตกต่างกันที่สำคัญของอัตราส่วนทั้งสองจะอยู่ที่หนี้สินของบริษัท เนื่องจาก Assets = Equity + Liabilities ดังนั้นจากสูตรการหาค่า ROA และ ROE จะเห็นว่าถ้าบริษัทไม่มีหนี้สินค่าหรือ Liabilities มีค่าเท่ากับ 0 เราจะคำนวณค่า ROA ได้เท่ากับ ROE แต่หากบริษัทมีหนี้สินเยอะอาจทำให้ค่า ROA ที่ได้มีค่าต่ำในขณะที่ ROE มีค่าเท่าเดิม ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ควรระวังหากพิจารณาเฉพาะค่า ROE ที่สูงๆโดยไม่พิจารณาถึงหนี้สินของบริษัท

   อัตราส่วนอีกตัวที่นิยมนำมาใช้ในการเลือกหุ้นคุณค่าและจะพูดถึงเป็นตัวสุดท้ายในวันนี้ก็คือ

   P/BV (Price/Book Value) โดย Book Value คิดมาจาก Equity/Number of Shares โดยทั่วๆไปแล้วค่า P/BV นี้ยิ่งต่ำยิ่งดี ตัวเลขมาตราฐานที่มักจะใช้เป็นฐานก็คือ 1 เท่า หากสามารถซื้อหุ้นที่มีค่า P/BV น้อยกว่า 1 ได้ก็หมายความว่าเราสามารถซื้อหุ้นได้ในราคาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีของบริษัท

   หลังจากได้ทบทวนอัตราส่วนทางการเงินที่นักลงทุนหุ้นคุณค่านิยมใช้ในการพิจารณาเลือกหุ้นที่จะซื้อกันแล้ว คราวหน้าหากมีโอกาสเราลองมาดูความสัมพันธ์ของอัตราส่วนพวกนี้กันดูครับ

จากคุณ : Wild Rabbit
เขียนเมื่อ : 5 มิ.ย. 55 23:18:46




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com