'พงศ์พันธ์ อภิญญากุล'กับอิสรภาพการเงิน
|
|
การเงิน - การลงทุน : การเงินส่วนบุคคล วันที่ 17 มิถุนายน 2555 10:30 โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
"พงศ์พันธ์ อภิญญากุล"เติบโตมาจากเส้นทางสายงานนักวิเคราะห์การลงทุน ก่อนที่จะผันตัวเองมาสู่นักกล ยุทธ์การลงทุนมาดูแผนการเงินของเขาดีกว่า
เติบโตมาจากเส้นทางสายงานนักวิเคราะห์การลงทุน ก่อนที่จะผันตัวเองมาสู่เส้นทางของนักกลยุทธ์การลงทุน ปัจจุบัน “พงศ์พันธ์ อภิญญากุล” นักวิเคราะห์กลยุทธ์การลงทุน บลจ.แอสเซท พลัส ผู้รับผิดชอบการวางกลยุทธ์ในการลงทุนให้เหมาะกับภาวะตลาดในแต่ละช่วง เพื่อให้การจัดสรรเงินลงทุนของลูกค้าเกิดประสิทธิภาพสูงสุดภายใต้ระดับความเสี่ยงที่สามารถรับได้ เมื่อต้องมาวางกลยุทธ์การลงทุนให้ตัวเองเขาก็มีมุมคิดที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน
พงศ์พันธ์ บอกว่า การลงทุนต้องมีมุมมอง (View) ที่ชัดเจนว่าจะออมไปเพื่ออะไร ส่วนตัวออมไปเพื่อชนะเงินเฟ้อที่ไม่ใช่เงินเฟ้อธรรมดาแต่เป็นเงินเฟ้อที่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิต เงินเฟ้อธรรมดาแค่ 3-4% แต่เงินเฟ้อที่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตอาจจะสูง 8-10% เช่น มีบ้านพักอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี มีเครื่องอำนวยความสะดวกในระดับหนึ่ง ได้ทำบุญ ได้มีสังคมได้ใช้จ่ายกับสังคมบ้าง ได้ดูแลพ่อแม่พี่น้องได้ตามสมควร ได้รับการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ เป็นต้น เรียกว่าอยู่ในมาตรฐานการดำรงชีวิตที่สูงขึ้นไปในระดับหนึ่งแต่ไม่ได้ฟุ่มเฟือย ส่วนตัวจึงจัดสรรเงินลงทุนให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมของตัวเอง เหมาะกับนโยบายการลงทุนของตัวเองเป็นหลัก ในเงินออม 100% จะเป็นเงินลงทุนใน “ทรัพย์สิน” ประมาณ 85% เช่น อสังหาริมทรัพย์และของเก่า ที่เหลืออีก 15% เป็นการลงทุนใน “สินทรัพย์ทางการเงิน” เป็นเงินออมที่มีสภาพคล่อง เช่น เงินสด เงินฝาก หุ้น รวมทั้งกองทุนรวมประหยัดภาษี เป็นต้น
“การลงทุนในทรัพย์สินเป็นส่วนใหญ่เพราะเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ทรัพย์สินที่ลงทุนในตอนนี้เพราะรู้ว่าในอนาคตมันจะเพิ่มค่าขึ้นมาอีกมาก ไปรอขายในอีก 10-20 ปีข้างหน้า จะทำให้เรา มีเงินพอที่จะชนะเงินเฟ้อที่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตแน่ๆ ถ้าเก็บเงินในปัจจุบันไว้ใช้ยามแก่แล้วมันไม่มีรายได้ เจอเงินเฟ้อเข้าไปก็จะทำให้อำนาจซื้อของเงินลดลง เงินสดถ้าถือไว้โดยไม่มีนโยบายการจัดการที่ดีก็จะแพ้เงินเฟ้อแต่ทรัพย์สินชนะ นี่จึงทำให้มีสัดส่วนการลงทุนในทรัพย์สินค่อนข้างมาก”
พงศ์พันธ์ ยังบอกอีกว่า ทรัพย์สินที่ลงทุนจะเป็น “อสังหาริมทรัพย์” ส่วนหนึ่ง ทั้งบ้านที่อยู่ ตึกแถว หรือที่ดินว่างของครอบครัวก็ไปพัฒนาให้เป็นพื้นที่เช่า ช่วงหลังๆ ก็หันมาลงทุนใน “ของเก่า” โดยเฉพาะเครื่องลายครามและแจกันกระเบื้องเคลือบเซรามิคจีน สะสมด้วยความชอบและถือเป็นการลงทุนด้วยในตัว แรกๆ ไม่ได้มองเรื่องของการลงทุนแต่ต้องการจะซื้อมาตกแต่งบ้านเพราะเป็นความชอบส่วนตัว ประมาณ 7 ปี ก่อน เพราะว่าซื้อบ้านใหม่แล้วก็พัฒนาจนมาเป็นเรื่องของการลงทุน ก็ทุ่มเงินไปในเรื่องนี้ค่อนข้างมากตามจิตวิญญาณธรรมชาติของนักสะสม แล้วก็ได้เรียนรู้ว่าของเก่ามีทั้ง “ของปลอม-ของจริง” เหมือนตอนแรกที่เริ่มต้นลงทุนในหุ้นเลย ของเก่าที่ซื้อในช่วงแรกอาจจะไม่ดีนักก็ทยอยขายออกไป หลังจากนั้นก็ปรับปรุงไปซื้อของชิ้นใหญ่ ของดี ของที่มีประกัน ไม่ได้ซื้อของที่ราคาอีกแล้วแต่เน้นซื้อของที่ “คุณภาพ” ในช่วงหลังเรียกว่าเอาของเก่าที่มีคุณภาพเข้ามาแทน
“การลงทุนในของเก่าความเสี่ยงอยู่ที่ดูพลาดกับดูไม่พลาดว่าเป็นของปลอม แต่ถ้าเป็นของจริงลงทุนไปแล้วแทบไม่เสี่ยงเลย เคยเจอคนสะสมของเก่าหลายคนแนะนำว่าถ้ามีเงินให้เล่นของเก่า 100% เพราะว่าถ้าเป็นของจริงแล้วราคามีแต่จะขึ้นไม่มีลง ไม่เคยมีเบญจรงค์ที่ราคาลงไม่เคยมี ผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อถล่มทลาย ในอนาคตของเก่าเหล่านี้ก็จะมีค่ามากขึ้นด้วย ได้ทั้งการลงทุนและความสุขทางใจด้วย”
นอกจากนี้การลงทุนในของเก่ายังมีความเสี่ยงในเรื่องของ “สภาพคล่อง” ด้วยเช่นกัน เพราะของเก่าไม่มีราคากลางไม่สามารถประเมินได้ว่ามูลค่าที่แท้จริงอยู่ตรงไหนเหมือนกับหุ้น ด้วยสภาพคล่องที่น้อยและ “ตลาดที่แคบ” ทำให้ราคามี 2 อย่าง คือ “ดีเลย” กับ “แย่เลย” แต่ปัจจุบันตัวเองกำลังอยู่ในฝั่งผู้ซื้อ เมื่อเป็นผู้ซื้อและรู้ว่าตลาดเป็นเช่นนี้ก็จะไปซื้อตอนถูกมากๆ กับคนที่ต้องการจะขาย แล้วเวลาขายต้องขายตอนรวย คือตอนที่เราไม่อยากจะขายแล้วมีคนมาร้องขอซื้อจากเรา เหมือนกับหุ้น ตอนอยู่เฉยๆ หุ้นไม่มีค่าอะไร แต่พอมีเรื่องราวที่ดีมารองรับ (story) มีคนมาเข้าคิวซื้อเราก็ขายไป แต่ว่าศาสตร์ในการขายยังไม่ได้ศึกษา แต่ศาสตร์ในการซื้อก็ประยุกต์เอามาจากการลงทุนในหุ้นเป็นหลัก
“ในช่วงหลังๆ 5 ปี ที่ผ่านมาจะไปลงทุนในทรัพย์สินค่อนข้างมาก เพราะตัวเองยังมีกำลังที่จะลงทุนในทรัพย์สินได้ ในส่วนของตราสารทางการเงินเองเราก็มีความรู้อยู่แล้ว ก็จะลงทุนเป็นรอบๆ โดยมองดูว่า ช่วงนี้เหมาะสมกับการลงทุนประเภทไหน ถ้าลงทุนในหุ้นส่วนตัวจะลงทุนในหุ้นเพียง 1 - 2 ตัว แล้วลงทุนแบบรอได้ เข้าไปซื้อตอนที่หุ้นไม่มีพรีเมียมเลย ดูว่าพื้นฐานดีแล้วยังไม่มีคนเห็นก็ทนถือไป แล้วรอไปขายเมื่อคนมาเห็นคุณค่าตอนที่คนแห่เข้าไปลงทุนในหุ้นเยอะๆ แบบนี้น่าจะเป็นเวลาขาย เป็นต้น”
ส่วนตัวพงศ์พันธ์เองนั้นมีเป้าหมายที่ชัดเจน คือ “อิสรภาพทางการเงิน” ที่ย่อมสำคัญมากกว่า "ความร่ำรวย" เพราะการมีอิสรภาพทางการเงินจะทำให้เราสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างสบายๆ โดยไม่ต้องทุ่มเทชีวิตไปกับการสร้างความร่ำรวยจนอาจจะสูญเสียเรื่องสำคัญอื่นๆ ในชีวิตตัวเองไป
จากคุณ |
:
Wild Rabbit
|
เขียนเมื่อ |
:
17 มิ.ย. 55 19:36:18
|
|
|
|