Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ดร.นิเวศน์ ต้นตำรับ VI เปิดสูตรปั้นพอร์ตพันล้าน ติดต่อทีมงาน

ดร.นิเวศน์ ต้นตำรับ VI เปิดสูตรปั้นพอร์ตพันล้าน

 สไตล์การลงทุนแบบ "นักลงทุนหุ้นคุณค่า" หรือ "Value Investor" ที่เรียก VI พร่หลายวันนี้ หนึ่งในกูรูต้นแบบ VI คือ "ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร" ซึ่งรู้กันว่าเข้ามาเล่นหุ้นเต็มตัวตั้งแต่หลังวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 และสร้างผลตอบแทนได้กว่า 10% ต่อปี ว่ากันว่าวันนี้มีพอร์ตใหญ่หลักพันล้าน "ประชาชาติธุรกิจ" ได้มีโอกาสพูดคุยมานำเสนอดังนี้

"ดร.นิเวศน์" เล่าว่า เดิมในช่วงปี 2538-2539 ใช้กลยุทธ์ซื้อขายเก็งกำไร เน้นหุ้นธุรกิจการเงินที่สภาพคล่องสูง และลงทุนตามกระแสข่าวที่เป็นข้อมูลวงใน ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจและตลาดหุ้นเข้าสู่ภาวะฟองสบู่ทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ และไฟแนนซ์ที่เฟื่องฟู บรรยากาศเอื้อต่อการเก็งกำไร

"ในช่วงแรก ๆ ผมเคยซื้อขายเก็งกำไรเทรดทุกเดือนเล่นหุ้นไฟแนนซ์ สภาพคล่องสูง และบางครั้งก็ลงทุนตามข้อมูลที่เรารู้มา คิดว่าเป็นข้อมูลแบบที่ไม่มีใครรู้ แต่เอาเข้าจริง ๆ เขาก็รู้กันหมดแล้ว ดังนั้นการลงทุนแบบนี้ก็ไม่ทำให้รวย ได้แค่เสมอตัวหรือขาดทุนนิดหน่อยเท่านั้น"

หลังเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ดร.นิเวศน์ออกจากงาน ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ผลักดันให้เดินเข้าสู่ถนนสายการลงทุนอย่างเต็มตัว และเปลี่ยนแนวคิดจากการลงทุนแบบ "เล่นหุ้น" โดยใช้เงินสะสมทั้งชีวิตกว่า 10 ล้านบาท ซื้อหุ้นในตลาดเพื่อหาผลตอบแทนเลี้ยงครอบครัว

พอร์ตลงทุนของเขาคือ จะเป็นหุ้นราคาถูก มีแนวโน้มการเติบโตของกิจการอยู่ในเกณฑ์ดี สามารถจ่ายเงินปันผลได้สม่ำเสมอ ถือเป็นแนวคิดที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เพราะแม้จะถือหุ้นอยู่เฉย ๆ แต่ก็ยังได้เงินปันผลเข้าพอร์ตต่อเนื่อง จนทำให้ผลตอบแทนทบเงินต้นปีแล้วปีเล่า สะสมเป็นพอร์ตขนาดใหญ่ขึ้น

"ตอนนั้นการลงทุนของผมเป็นการลงทุนที่พนันด้วยชีวิต ถ้าผิดพลาดก็จะลำบาก ผมจึงมีแนวคิดว่า ต้องเน้นหุ้นราคาถูกที่พื้นฐานดี จ่ายปันผลต่อเนื่องปีละ 10% ซื้อโดยไม่หวังจะขายต่อ เพราะถึงขายก็ไม่มีคนซื้อเนื่องจากตลาดตอนนั้นไม่ดี ผลลัพธ์ของแนวทางนี้คือผมเจอขุมทรัพย์ เลยต้องซื้อหุ้นต่อไปตัวแล้วตัวเล่า"

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไม่ได้อยู่นิ่งกับที่ เศรษฐกิจไทยในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ฯก็ได้รับปัจจัยบวก ซึ่งสะท้อนมาที่ผลประกอบการ สร้างความมั่นใจการซื้อขาย ทำให้ราคาหุ้นไทยในภาพรวมปรับตัวสูงขึ้น 

"แต่เดิมความถูกของราคาหุ้นเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้น ๆ แต่ตอนนี้ต้องเปลี่ยนวิธีคิด หันมาเน้นหุ้นที่มีคุณภาพสูงแทน เพราะต้องยอมรับว่าราคาหุ้นบ้านเราไม่ได้ถูกมากแล้ว ดังนั้น VI ก็ต้องปรับ เหมือนว่าถ้าเจอเพชร ถึงแพงก็ต้องซื้อ"

แม้จะต้องซื้อหุ้นแพงขึ้น แต่นักลงทุนควรพิจารณาปัจจัยอื่น ได้แก่ 1.ธุรกิจนั้นเป็นกิจการที่มีอนาคตจะโตต่อไปหรือไม่ 2.บริษัทมีฐานะทางการตลาดอย่างไร และแม้จะเป็นผู้นำครองอันดับ 1 แต่ก็ต้องดูด้วยว่าใหญ่กว่าอันดับ 2 แค่ไหน 3.ฐานะของกิจการ เช่น มีหนี้สินหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน และมีความสามารถสร้างกำไรปีละเท่าไหร่ เป็นต้น

กลุ่มหุ้นที่ "ดร.นิเวศน์" ชื่นชอบ ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวกับโมเดิร์นเทรด (ห้างสรรพสินค้าและไฮเปอร์มาร์เก็ต) 

โรงพยาบาล เป็นต้น ส่วนหุ้นขนาดใหญ่ เช่น พลังงาน วัสดุก่อสร้าง แม้จะเป็นธุรกิจที่ดีแต่ก็มีความซับซ้อนมาก เพราะมีบริษัทลูกในเครือมาก ประกอบกับส่วนมากมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ทำให้อัตราการเติบโตของรายได้ช้าลง จึงไม่นิยมลงทุนนัก

ดร.นิเวศน์มองว่า การลงทุน "VI" ถึงจะต้องเปลี่ยนไปบ้าง แต่ภาพรวมของตลาดหุ้นไทยเชื่อว่ายังแข็งแกร่งตามทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจ เพราะนับตั้งแต่ปี 2540 

ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเป็นต้นมา ประเทศไทยมีศักยภาพและเสถียรภาพด้านการคลังดีมาก ประกอบกับการส่งออกมีลักษณะกระจายตัว ไม่ได้พึ่งพิงประเทศใดมากนัก แม้ขณะนี้จะเกิดปัญหาทางการเงินกับกลุ่มประเทศขนาดใหญ่ ก็คงทำให้ประเทศไทยไม่ได้รับผลกระทบรุนแรง อย่างมากก็เพียงชะลอตัวเท่านั้น 

"เรื่องปัญหาเศรษฐกิจโลกหรือพวกฟันด์โฟลว บางครั้งคนก็พูดกันไปว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เราก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรกันแน่ เมื่อเราไม่รู้ ก็อย่าเอามาเป็นประเด็นตัดสินในการลงทุน"

ดร.นิเวศน์กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังจากนี้ตำราการลงทุนแบบ "VI" ของเขาอาจมีการปรับปรุงอีกเล็กน้อย โดยจะเริ่มหันไปหาตลาดหุ้นในแถบอาเซียน และเน้นไปยังบริษัทที่เป็น "Super stock-Super company" หรือที่เรียกได้ว่าเป็นหุ้นขนาดใหญ่โดดเด่นเป็นลำดับแรกของแต่ละประเทศ เพราะพบว่าราคาหุ้นหลายบริษัทในต่างประเทศยังมีราคาไม่แพงนัก ดังนั้นจึงน่าจะสร้างผลตอบแทนที่ดี

จากคุณ : Golden Field
เขียนเมื่อ : 17 มิ.ย. 55 21:07:16




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com