Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
คุณคิดว่า Shale Gas จะมีกระทบกับพลังงานชนิดอื่นในอีกกี่ปีข้างหน้า ติดต่อทีมงาน

คุณคิดว่า Shale Gas จะมีกระทบกับพลังงานชนิดอื่นในอีกกี่ปีข้างหน้า

ก๊าซธรรมชาติจากหินดินดาน” (Shale Gas) คืออะไร?
คำนิยามของ “ก๊าซธรรมชาติจากหินดินดาน” (Shale Gas) ที่ง่ายและตรงที่สุดก็คือ ก๊าซธรรมชาติที่เกิดจากการหมักหมมของซากพืชและสัตว์ที่ตายทับถมกันมาเป็นเวลาล้านๆ ปี และถูกกักอยู่ภายในชั้นหินดินดาน หรือถ้าคัดจากคำนิยามภาษาประกิตก็คือ natural gas from shale formations โดยไอ้เจ้าหินดินดานจะทำหน้าที่เป็นทั้งแหล่งกำเนิดของก๊าซ และเป็นแหล่งเก็บของมันโดยธรรมชาติด้วย
ล่าสุด ตัวเลขของสำนักงานข่าวสารพลังงานสหรัฐ (US EIA) ระบุว่า ทั่วโลกเท่าที่ค้นพบ ณ ขณะนี้น่าจะมีแหล่งก๊าซธรรมชาติจากหินดินดานรวมทั้งสิ้นประมาณ 48 แห่ง (เรียกว่า shale basins) ครอบคลุม 32 ประเทศทั่วโลก คิดเป็นปริมาณก๊าซธรรมชาติในเบื้องต้นประมาณ  170 tcm หรือ 170 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นตัวเลขกว่า 40% ของแหล่งสำรองก๊าซธรรมชาติในปัจจุบัน  
และนี่เป็นเพียงการค้นพบเบื้องต้นเท่านั้น ในอนาคตเชื่อว่าน่าจะพบได้มากกว่านี้อีกหลายเท่า
แน่นอนว่า ตัวเลขดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดการไหวกระเพื่อมในวงการอย่างรุนแรง และที่รุนแรงที่สุดก็คงหนีไม่พ้น “สหรัฐอเมริกา” เพราะเป็นประเทศที่ใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากที่สุดในโลก และเมื่อต้นปีก็เพิ่งเจอวิกฤติแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเลระเบิดมีคนตายไปสิบกว่าคน และสร้างปัญหามลภาวะแก่อ่าวเม็กซิโกอย่างยาก จะประเมินความเสียหายได้ ส่วนจะหวนกลับไปบุกสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ก็ดันมาเจอปัญหาวิกฤติฟุกุชิมะในประเทศญี่ปุ่นอีก “ก๊าซธรรมชาติจากหินดินดาน” จึงดูเป็นคำตอบที่น่าสนใจที่สุด ณ ขณะนี้

ใครมีแหล่งสำรองก๊าซธรรมชาติจากหินดินดานมากที่สุด และใครมีเทคโนโลยี?
คำตอบก็คือ จากผลสำรวจปัจจุบัน ประเทศจีนมีแหล่งสำรองก๊าซธรรมชาติจากหินดินดานมากที่สุดคือประมาณ 36 tcm หรือประมาณ 21% ส่วนสหรัฐอเมริกามีอยู่ประมาณ 20+tcm หรือประมาณ 12% สหภาพยุโรป (โดยเฉพาะที่ประเทศโปแลนด์) มีอยู่ไล่เลี่ยกันคือประมาณ 10% พูดง่ายๆ ก็คือ สามเจ้านี้รวมกันครอบครองแหล่งก๊าซชนิดนี้ไปประมาณครึ่งหนึ่งของทั้งโลกนั่นเอง



สำหรับสหรัฐ จุดเด่นก็คือเป็นเจ้าของเทคโนโลยีในการขุดเจาะที่เรียกกันในขณะนี้ว่า Hydraulic Fracturing และ Horizontal Drilling  และในระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา สหรัฐก็ได้ทำการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติจากหินดินดานมาหลายรูปหลายแบบด้วยเทคโนโลยีหลากหลาย แต่ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าใด เพราะนอกจากจะแพงที่ต้นทุนแล้ว กรรมวิธียังก่อให้เกิดมลภาวะค่อนข้างสูงด้วย จนกระทั่งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา บรรดา Wildcatters ของสหรัฐก็ได้เฮ เมื่อกรรมวิธีที่เรียกว่า Hydraulic Fracturing ดูเหมือนจะประสบผลสำเร็จ เมื่อผนวกเข้ากับวิธีขุดเจาะตามแนวนอนที่เรียกว่า Horizontal Drilling




แม้สหรัฐจะเริ่มฝันหวานถึงอนาคตที่โชติช่วงชัชวาลไปด้วย Shale Gas แต่ต้นทุนการขุดเจาะก็ยังสูงอยู่ และที่สำคัญ “ต้นทุนทางสังคม” (Social Costs) กำลังเริ่มถูกนำมาตีแผ่มากขึ้นทุกที ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำเสียที่แทรกซึมเข้าไปในแหล่งน้ำใต้ดิน ปัญหาก๊าซมีเทน และการระเบิด หรือประเด็นความเชื่อมโยงระหว่างแผ่นดินไหวกับการขุดเจาะแบบพิสดารแบบใหม่นี้ ฯลฯ ซึ่งในสัปดาห์หน้าผมจะนำประเด็นเหล่านี้มานำเสนออย่างครบถ้วน (โปรดอ่านตอนจบสัปดาห์หน้า)
     วีระ  มานะคงตรีชีพ
               11 เมษายน 2554

จากคุณ : ethanority
เขียนเมื่อ : 22 มิ.ย. 55 14:48:32




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com