ชงแพ็กเกจภาษีตลาดทุนเข้าครม. ก.ล.ต.ขอคลังจัดสิทธิพิเศษอื้อหนุนนักลงทุน-บจ.
เตรียมชงแพ็กเกจตลาดทุนเข้า ครม.มิ.ย.นี้ ไม่หวั่นเจอโรคเลื่อน ปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ ขอยกเว้นเก็บภาษีเงินปันผล-ภาษีควบรวมกิจการรับ AEC พร้อมยืด LTF-RMF ไม่มีกำหนด
นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงความคืบหน้าล่าสุดของการปรับโครงสร้างภาษีตลาดทุนว่า ล่าสุด คณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทยได้พิจารณาแผนดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว และได้มีการยื่นให้กับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาและนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไปในเดือนมิถุนายนนี้
สำหรับการปรับโครงสร้างภาษีตลาดทุนที่เสนอ ได้แก่การขอยกเว้นการเก็บภาษีเงินปันผล ที่ปัจจุบันหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% เนื่องจากเห็นว่าเป็นการเก็บภาษีที่ซ้ำซ้อนกับการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยควรจะปรับให้สอดคล้องกับประเทศอื่นในภูมิภาค เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และฮ่องกง ซึ่งไม่จัดเก็บภาษีดังกล่าว
ขณะเดียวกันยังขอให้ยกเว้นภาษีเงินปันผลสำหรับนิติบุคคลที่มีบริษัทอยู่ในต่างประเทศ และมีแนวคิดที่จะไปลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง เพื่อสนับสนุนให้เกิดการไปลงทุนต่างประเทศมากยิ่งขึ้น
พร้อมเสนอให้ยืดสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับผู้ลงทุนที่ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ด้วยการต่ออายุนโยบายแบบไม่มีกำหนด จากเดิมที่จะหมดอายุในปี 2559 เนื่องจากปัจจุบันทั้งสองกองทุนมีมูลค่าสินทรัพย์สูงกว่า 1 แสนล้านบาท และมีสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมาก หากรัฐบาลไม่ต่ออายุโครงการจะส่งกระทบโดยตรงต่อตลาด
นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการแก้กฎหมายเกี่ยวกับภาษีควบรวมกิจการที่เกี่ยวเนื่องและเป็นอุปสรรคต่อการควบรวมกิจการของบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อดึงดูดนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น เพราะการควบรวมจะส่งผลให้เกิดศักยภาพที่ดีขึ้น แต่กฎหมายปัจจุบันยังไม่เอื้อให้เกิดการควบรวม ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องแก้ไข
"ผมเชื่อว่าการเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ ครม.ในเดือนนี้ไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาทางการเมืองในประเทศ เนื่องจากแผนการปรับโครงสร้างตลาดทุนทุกฝ่ายทำมานาน และต้องการให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมเร็วที่สุด เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต"
ก่อนหน้านี้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า แผนระยะยาวเพื่อยกระดับตลาดทุนจะมี8 มาตรการ คือ 1.เพิ่มประสิทธิภาพตลาดหลักทรัพย์ โดยยกเลิกการผูกขาดและยกระดับความสามารถในการแข่งขัน 2.เปิดเสรีโบรกเกอร์ 3.ปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาตลาดทุน โดยเฉพาะการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการถือหุ้นเพื่อพัฒนาตลาดทุนและส่งเสริมการควบรวมกิจการ 4.ปฏิรูประบบภาษีเพื่อพัฒนาตลาดทุน
5.คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน 6.การออมเพื่อการชราภาพ 7.การสร้างวัฒนธรรมการลงทุนผ่านการออมระยะยาวให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และ 8.การพัฒนาตลาดพันธบัตร
"อะไรที่มาจากรัฐบาลเก่า แล้วเรามองว่าเป็นประโยชน์ ก็สามารถนำกลับมาใช้ได้ ยกเว้นการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันทั้งหมดอยู่ระหว่างการพิจารณา และคาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ได้ภายใน มิ.ย.นี้" นายกิตติรัตน์กล่าว--จบ--
--ประชาชาติธุรกิจฉบับวันที่ 7 - 10 มิ.ย. 2555--
ที่มา: http://www.matichon.co.th/prachachart
จากคุณ |
:
เม่าน้อยสู่พญาปลวก
|
เขียนเมื่อ |
:
25 มิ.ย. 55 08:26:45
|
|
|
|