Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
'โจรสลัด' โลกการเงิน 'เฮดจ์ฟันด์' ฆ่าไม่ตาย ติดต่อทีมงาน

วันที่ 26 มิถุนายน 2555 12:10
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


ภาคจบซีรีย์ตีแผ่ 'เฮดจ์ฟันด์' โดย 'ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี' เชื่อว่า เฮดจ์ฟันด์ 'ฆ่า' อย่างไรไงก็ 'ไม่ตาย' นักลงทุนต้องเรียนรู้ เพื่อจะเป็น

ด้วยวิวัฒนาการกว่า 50 ปี กองทุนเฮดจ์ฟันด์ในยุคแรกจะเน้นลงทุนในหุ้นเป็นหลัก แต่ปัจจุบันเฮดจ์ฟันด์ได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์มาเป็นการเก็งกำไรทุกรูปแบบและทุกสินทรัพย์!!

“แม้คำว่า Hedge จะมีความหมายว่าป้องกันความเสี่ยง แต่หลายกองทุนในโลกไม่ได้มีกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงเหมือนชื่อ แต่เน้นกลยุทธ์การลงทุนแบบ Directional Trading หรือลงทุนทางตรง เช่นกองทุนประเภท Global Macro Fund ซึ่งมักจะโจมตีค่าเงินทั่วโลก” ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อดีตผู้จัดการกองทุนชั้นนำกล่าว

ปัจจุบันเราแยกแยะประเภทของเฮดจ์ฟันด์ได้ลำบาก เนื่องจากกองทุนหนึ่งมักจะมีกลยุทธ์มากกว่าหนึ่งในการเข้าทำกำไร ด้วยสภาพแวดล้อมของตลาดที่ซับซ้อนมากขึ้นรวมถึงการแข่งขันกันในธุรกิจเฮดจ์ฟันด์ที่รุนแรง ผู้จัดการกองทุนจึงต้องมีกลยุทธ์ที่หลากหลายเพื่อดึงดูดลูกค้า

ม.ล.กรกสิวัฒน์ อธิบายว่า เราสามารถแยกประเภทของเฮดจ์ฟันด์ได้ 3 กลุ่มใหญ่ตามความสัมพันธ์ของกลยุทธ์การทำกำไรกับทิศทางของตลาด หนึ่ง..กลุ่มที่เน้นสร้างผลตอบแทนของกองทุนให้มีความสัมพันธ์กับทิศทางตลาดให้น้อยที่สุดเพื่อลดความผันผวน กลุ่มนี้จะไม่เลือกข้างจะเน้นลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ

กลุ่มที่สอง จะเลือกข้างชัดเจนว่าจะ Long หรือ Short ผู้จัดการกองทุนจะทำกำไรจากการคาดการณ์ทิศทางของตลาดและมีการกู้ยืมเงินมา Leverage หลายเท่าตัวของกองทุน กองทุนที่จัดอยู่ในประเภทนี้คือ Global Macro Fund ที่เน้นโจมตีค่าเงินเป็นหลัก กลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงการลงทุนสูงสุด กลุ่มที่สาม ใช้กลยุทธ์ผสมผสานระหว่างสองกลุ่มแรกเพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของผลตอบแทน ซึ่งจะทำให้มีความเสี่ยงในการลงทุนต่ำ

เฮดจ์ฟันด์จะเปิดโอกาสให้ทำรายการฝากหรือถอนกองทุนได้ปีละ 4 ครั้งเท่านั้น หรือ "ไตรมาสละครั้ง" เนื่องจากกองทุนต้องการเงินเพื่อการเก็งกำไร สำหรับค่าธรรมเนียมการบริหารส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 1% ต่อปี ผู้ที่สนใจนำเงินมาลงทุนในเฮดจ์ฟันด์จะต้องมีตั้งแต่ 5 แสนเหรียญถึง 1 ล้านเหรียญ (15-30 ล้านบาท)

“ผลตอบแทนที่ผู้จัดการกองทุนจะได้รับหรือส่วนแบ่งกำไรพบว่าอยู่ในระดับสูงมาก 16-20% (ของผลกำไร) เนื่องจากต้องการสร้างแรงจูงใจให้สร้างผลกำไรให้กองทุนเยอะๆ”

หม่อมกร กล่าวต่อว่า ช่วงปี 1998-1999 และวิกฤติเลห์แมนฯปี 2008 เฮดจ์ฟันด์ได้ “เจ๊ง” หายไปจำนวนหนึ่ง แต่ที่สุดแล้วเฮดจ์ฟันด์ไม่ได้หายไป แถมยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนและขนาดใหญ่ขึ้น และยังกระจายไปทั่วโลกโดยเฉพาะ “เอเชีย”

เหตุผลข้อแรก ปัจจุบันโลกมีการทำธุรกรรมระหว่างกันมากขึ้น แต่กฎเกณฑ์ระหว่างประเทศยังมีความแตกต่างกันอยู่มากโดยเฉพาะภาคการเงิน เฮดจ์ฟันด์จึงเห็นโอกาสที่จะทำกำไรจากความแตกต่างของกฎเกณฑ์ในแต่ละประเทศ

“ตราบใดที่โลกยังมีหมู่เกาะที่เป็น Tax Haven อยู่ เฮดจ์ฟันด์จะใช้เป็นอ่าวจอดเรือที่ปลอดภัยสำหรับโจรสลัดทางการเงิน ซึ่งสามารถใช้ข้อได้เปรียบนี้ในการลงทุนโดยมีต้นทุนต่ำและความคล่องตัวสูง ถ้าหากโลกยังไม่มีกฎเกณฑ์ที่มากำกับ เฮดจ์ฟันด์จะยังมีชีวิตอยู่และได้เปรียบนักลงทุนทั่วไป”

ข้อสอง กระแสโลกาภิวัฒน์ได้ผนวกตลาดการเงินแต่ละประเทศเข้าด้วยกัน เป็นการสร้างโอกาสให้เฮดจ์ฟันด์แสวงหาช่องโจมตีได้ง่ายขึ้น เนื่องจากเฮดจ์ฟันด์จะเข้าไปแทรกตัวอยู่ในช่องว่างของความไม่มีประสิทธิภาพของทุกตลาด

เมื่อเฮดจ์ฟันด์เริ่มเห็นช่องว่างแล้วโจมตีได้ผลจะชักชวนให้เฮดจ์ฟันด์กองอื่นเข้ามาร่วมวงด้วย จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงกติกาทำให้โอกาสการเก็งกำไรน้อยลง เช่นการโจมตีค่าเงินบาทของไทยจนต้องเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการบริหารจัดการ สุดท้ายเฮดจ์ฟันด์ก็จะหนีออกไปเก็งกำไรในตลาดอื่นต่อ

ตัวอย่างช่วงปี 1990-2000 ถือเป็นช่วงเวลาโกยกำไรของกองทุนเฮดจ์ฟันด์ประเภท Global Macro ซึ่งเน้นโจมตีค่าเงิน เนื่องจากช่วงเวลานั้นตลาดการเงินทั่วโลกเพิ่งจะถูกผูกเข้าด้วยกันและหลายประเทศยังใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ เป็นการเปิดช่องให้เฮดจ์ฟันด์เข้ามาโจมตีค่าเงินได้ พอแต่ละประเทศเริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายทำให้เก็งกำไรยากขึ้น เฮดจ์ฟันด์ก็ปรับแผนลงทุนมาใช้กลยุทธ์ Long-Short หุ้น แทน

“หลังปี 2000 เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในช่วงถดถอยหลังเกิดเหตุการณ์ 9/11 ทำให้ตลาดหุ้นถูกคาดว่าจะเป็นขาลง กลยุทธ์การ Long-Short หุ้นจึงเหมาะสมกับสภาวะการลงทุนที่ไม่แน่นอน วัฏจักรของเฮดจ์ฟันด์จะคงหมุนเวียนเปลี่ยนกลยุทธ์ไปเรื่อยๆ ตราบที่สามารถหาจุดอ่อนของระบบได้ ผู้จัดการกองทุนก็จะหาวิธีการเก็งกำไรรูปแบบใหม่ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป”

ข้อสาม การเกิดขึ้นของนวัตกรรมการเงินใหม่ๆ โดยเฉพาะภาคการค้าที่ถูกบีบให้อยู่ในสภาวะการแข่งขันที่ต้องรวดเร็ว ต้นทุนต่ำและต้องขยายตัวสูง ทำให้เกิดนวัตกรรมในการแปลงสินทรัพย์ต่างๆ ที่เคยซื้อขายได้ยากในอดีตมาสู่ภาคการเงินเพื่อให้สามารถซื้อขายได้ง่ายขึ้น

ตัวอย่างเช่น การซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าที่มีปริมาณมากกว่าซื้อขายน้ำมันจริงหลายเท่าเฉพาะตลาดซื้อขายน้ำมันอย่างเดียวก็มีมูลค่ามากกว่า 2 ล้านล้านเหรียญแล้ว นอกจากนี้กลไกการกำหนดราคาพลังงานยังไม่มีประสิทธิภาพ ตลาดมีความผันผวนสูง เฮดจ์ฟันด์จึงเข้าไปลงทุนผ่านตราสารต่างๆเช่นซื้อขายในตลาดซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าเพื่อทำ Arbitrage หรือลงทุนตรงในโรงกลั่นน้ำมันหรือท่อส่งน้ำมัน รวมถึงหน่วยลงทุนอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ที่ช่วยให้การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์มีสภาพคล่องมากขึ้น

ที่ผ่านมานักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เองก็เข้ามาตั้งเฮดจ์ฟันด์ด้วย เช่น โดนัล ทรัมพ์ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังของสหรัฐฯก็มาร่วมทุนกับจอร์จ โซรอส ตั้งกองทุน Grove Capital ยิ่งตอนนี้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเอเชียกำลังเป็นเป้าหมายของเฮดจ์ฟันด์ที่จะเข้ามาแสวงหากำไรเนื่องจากมีการขยายตัวสูง

“เหตุผลต่างๆ นี้เหมือนเป็นการเปิดพื้นที่ให้เฮดจ์ฟันด์มีพื้นที่ลงทุนได้กว้างกว่าในอดีตและยังสร้างโอกาสในการเก็งกำไรจากความด้อยประสิทธิภาพของตลาดนั้นๆ ด้วย”

ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เฮดจ์ฟันด์ยังสามารถแพร่พันธุ์ต่อไปได้คือการเกิดขึ้นของฐานลูกค้าใหม่ในประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศและประเทศกำลังพัฒนาซึ่งกำลังเป็นตลาดใหญ่ของเฮดจ์ฟันด์ในอนาคต เช่นกลุ่มประเทศ BRICS ซึ่งมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง นักลงทุนในประเทศดังกล่าวอาจกระจายความเสี่ยงการลงทุนไปยังสินทรัพย์อื่น

“ปัจจุบันยังมีกฎหมายในบางประเทศเช่นไทย มาเลเซีย เกาหลีใต้ ที่ห้ามการลงทุนในเฮดจ์ฟันด์ แต่อนาคตเชื่อว่ากฎนี้อาจถูกยกเลิกไปตามกระแสโลกาภิวัฒน์ ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าภายในปี 2013 เฮดจ์ฟันด์จะมีขนาดเพิ่มขึ้นเป็น 4 ล้านล้านเหรียญ และปี 2015 จะเพิ่มเป็น 6 ล้านล้านเหรียญ”

ยิ่งไปกว่านั้น ธนาคารพาณิชย์ที่หันมาทำธุรกิจกับเฮดจ์ฟันด์ในการปล่อยกู้มากขึ้นจึงลามไปสู่การแนะนำลูกค้าธนาคารให้มาลงทุนผ่านเฮดจ์ฟันด์ด้วย ชื่อเสียงของธนาคารขนาดใหญ่ช่วยขจัดข้อข้องใจของลูกค้า ทำให้เฮดจ์ฟันด์เข้าถึงลูกค้าสถาบันและรายย่อยได้ง่าย ทำให้ธนาคารระดับโลกหลายแห่งให้ความสนใจในการก่อตั้งเฮดจ์ฟันด์ไม่ว่าจะจัดตั้งขึ้นใหม่หรือเข้าซื้อกิจการ

ภาพลักษณ์ของเฮดจ์ฟันด์จึงมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นเมื่อผนวกรวมกับธนาคารขนาดใหญ่ เป็นการสร้างฐานลูกค้าใหม่ที่เฮดจ์ฟันด์รุ่นแรกไม่สามารถทำได้ ช่องว่างระหว่างธนาคารกับเฮดจ์ฟันด์เริ่มน้อยลง การเข้าถึงแหล่งเงินทุนจึงง่ายขึ้น ขนาดของเฮดจ์ฟันด์จึงเติบโตขึ้นได้อีกมาก

“สิ่งที่อันตรายคือการที่ธนาคารกับเฮดจ์ฟันด์ที่ใกล้ชิดกันขึ้นทำให้เฮดจ์ฟันด์มีโอกาสสร้างความเสียหายไปถึงภาคเศรษฐกิจได้เร็วขึ้นถ้าหากเกิดปัญหา เช่น การเกิดวิกฤติซับไพร์มที่ผ่านมา ขณะที่รัฐบาลบางประเทศยังให้การสนับสนุนเฮดจ์ฟันด์ด้วย โดยเฉพาะสิงคโปร์และฮ่องกงที่กลายมาเป็นศูนย์กลางเฮดจ์ฟันด์ของโลก"

ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ กล่าวต่อว่ารัฐบาลสิงคโปร์และฮ่องกง รู้ดีว่าเฮดจ์ฟันด์จะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมการเงินให้ทันสมัยยิ่งขึ้นจึงให้การสนับสนุนโดยผ่อนคลายกฎต่างๆ เช่น ร่นระยะเวลาการจดทะเบียนกองทุนให้สั้นลง ทำให้ เฮดจ์ฟันด์ในเอเชียเริ่มมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้น

“สิงคโปร์ยังมีกองทุนของรัฐบาล 2 กองคือ เทมาเส็ก กับ GIC มีขนาดสินทรัพย์ 84 พันล้านเหรียญ และ 100 พันล้านเหรียญ ซึ่งทั้งสองกองทุนมีการลงทุนผ่านเฮดจ์ฟันด์ด้วย ทำให้ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ต่างไหลเข้ามาในสิงคโปร์เพื่อให้ได้เป็นผู้บริหารเงินกองทุนของประเทศ”

ม.ล.กรกสิวัฒน์ ทิ้งท้ายว่า นักลงทุนไม่สามารถหลีกหนีเฮดจ์ฟันด์ได้ เพราะเฮดจ์ฟันด์เข้ามาแทรกซึมอยู่ในระบบการเงินของโลกแล้ว คนไทยยังเข้าใจเฮดจ์ฟันด์ในแง่ “ผู้ร้าย” ด้านเดียว ที่จริงแล้วมันเป็นตัวชี้วัดความบกพร่องของระบบที่ดีมาก ถ้าเราเข้าใจเฮดจ์ฟันด์และกระโดดเกาะตามได้ เรามีสิทธิเป็นผู้ชนะในตลาดหุ้น!!
------------------------
'เฮดจ์ฟันด์' ที่ว่าแน่ๆ ก็ 'เจ๊ง' เป็น!!
-------------------------
ใช่ว่าเฮดจ์ฟันด์จะมีอำนาจเหนือตลาดเสมอไป เพราะกองทุนขนาดใหญ่หลายกองก็ “เจ๊ง” มาเยอะแล้ว กรณีศึกษาที่น่าสนใจคือการล่มสลายของกองทุน "ไทเกอร์ฟันด์" ในช่วงปี 2000 ซึ่งเวลานั้นถือเป็นกองทุนขนาดใหญ่ของโลก มีผู้จัดการกองทุนชื่อ จูเลียน โรเบิร์ตสัน (Julian Robertson) เริ่มกองทุนปี 1980 มีสินทรัพย์แค่ 8 ล้านเหรียญ แต่ในปี 1996 มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร 7.2 พันล้านเหรียญ และทะยานขึ้นเป็น 2.2 หมื่นล้านเหรียญในปี 1998 เป็นเฮดจ์ฟันด์ที่ใหญ่ติดอันดับ 2 ของโลก

“ขณะนั้นศักดิ์ศรีและบารมีของจูเลียนไม่ได้ด้อยไปกว่าจอร์จ โซรอส บางครั้งขนาดกองทุนไทเกอร์ฟันด์มีขนาดใหญ่กว่าควอนตั้มฟันด์ของโซรอสด้วย แต่ด้วยความที่เขาไม่ใช่นักพูดทำให้ชื่อเสียงดูจะรู้จักในวงจำกัดเท่านั้น”

กองทุนไทเกอร์ฟันด์ไม่ต่างอะไรกับเฮดจ์ฟันด์อื่นๆ ที่มีการกู้เงินมาเก็งกำไรโดยจูเลียนได้เพิ่มขนาดกองทุนของเขาไว้สูงถึง 50 เท่า ต่อ 1 ในปี 1999 ขนาดกองทุนของเขาอยู่ที่ 13 พันล้านเหรียญ แต่ถ้ารวมส่วนที่ได้ Leverage แล้วมีขนาดถึง 650 พันล้านเหรียญ

ไทเกอร์ฟันด์ถือเป็นผู้เล่นรายใหญ่ของตลาดเงินเยน โดยได้กู้ยืมเงินเยนจำนวนมากหลายเท่าของขนาดกองทุนมาลงทุนในหลักทรัพย์สกุลดอลลาร์ เนื่องจากเวลานั้นญี่ปุ่นมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากดึงดูดเฮดจ์ฟันด์ให้มากู้เงินไปลงทุนในเงินสกุลอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า

ความเสี่ยงคือถ้าหากค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้น กองทุนที่ไปกู้ยืมไว้อาจจะประสบภาวะขาดทุนได้เนื่องจากเดินผิดทางไปจากที่คาดไว้และกลางปี 1999 เงินเยนก็แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วสร้างความเสียหายต่อไทเกอร์ฟันด์ในงวด 9 เดือนแรกมีผลขาดทุนถึง 23% ทำให้ผู้ถือหน่วยเสียขวัญแห่กันไปถอนหน่วยลงทุน

ไม่เพียงเท่านี้ ช่วงไตรมาสสามของปี 1999 ไทเกอร์ฟันด์คาดการณ์ว่าผลประกอบการของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีจะปรับลดลงอย่างรุนแรงจากความกังวลว่าจะเกิดฟองสบู่ดอทคอม จึงได้ทำการขายชอร์ตหุ้นกลุ่มดังกล่าว แต่ปรากฏว่าผลประกอบการหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีไม่ได้ปรับลดลงรุนแรงมากเหมือนที่คาดไว้ทำให้ไทเกอร์ฟันด์ขาดทุนอย่างรุนแรง สิ้นเดือนกันยายน ขนาดกองทุนลดลงถึง 1.2 หมื่นล้านเหรียญ

สุดท้าย จากการที่ไทเกอร์ฟันด์เข้าไปลงทุนในบริษัท U.S. Airways ที่ประสบภาวะขาดทุนและคาดว่าจะพลิกฟื้นธุรกิจขึ้นมาได้แต่ปรากฏว่าบริษัทดังกล่าวต้องล้มละลาย ในที่สุดกองทุนไทเกอร์ฟันด์ก็ต้องปิดตัวลงในเดือนมีนาคมปี 2000 เป็นข้อพิสูจน์ว่าเฮดจ์ฟันด์ก็ "เจ๊ง" เป็น

 
 

จากคุณ : Wild Rabbit
เขียนเมื่อ : 28 มิ.ย. 55 22:37:39




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com