เบอร์ลี่ฯรุกค้าปลีกครบวงจรปีนี้
|
|
วันพุธที่ 04 กรกฏาคม 2012 เวลา 09:03 น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ ข่าวหน้า1 - ข่าวหน้า1
อัศวิน เตชะเจริญวิกุลอัศวิน เตชะเจริญวิกุลเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ เดินหน้ารุกธุรกิจค้าปลีกครบวงจร หลังพลาดดีลคาร์ฟูร์ เผยมี 2 ทางเลือก คาดได้ข้อสรุปภายในปีนี้ ทั้งการซื้อกิจการศูนย์การค้าขนาดใหญ่ และสร้างแบรนด์เอง ชี้เพื่อใช้เป็นช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าให้กับกลุ่มทีซีซี ต่อยอดธุรกิจปลายน้ำ เห็นโอกาสงามซื้อกิจการเพิ่มที่เวียดนามหลังเศรษฐกิจเดี้ยง เปิดแผน 3-5 ปีรุกขยายธุรกิจในพม่า ลาว กัมพูชา หวังยึดเป็นฐานผลิต ลั่นชอบโตทางลัด คาดหากดีลเทกโอเวอร์สำเร็จรายได้โตเกินเป้าที่ตั้งไว้ 15-20% ต่อปี
นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)(บมจ.)(BJC) ให้สัมภาษณ์พิเศษ"ฐานเศรษฐกิจ" ว่า แผนงานปี 2555 บริษัทยังเดินหน้าขยายธุรกิจไปสู่ขั้นปลายน้ำในส่วนของกลุ่มธุรกิจค้าปลีก คือ ช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า แม้ว่าปี 2554 ที่ผ่านมาบริษัทจะไม่ได้ชนะการประมูลซื้อห้างสรรพสินค้าคาร์ฟูร์
โดยขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อเข้าซื้อกิจการที่เป็นศูนย์การค้า ควบคู่ไปกับแผนการศึกษาเพื่อสร้างแบรนด์ขึ้นมาเอง และคาดว่าสามารถสรุปผลได้ภายในสิ้นปีนี้แน่นอน เนื่องจากกลุ่มทีซีซีและบริษัทในเครือ เช่น โออิชิ ดานอน เป็นต้น ก็ยังขาดช่องทางการจัดจำหน่ายเช่นกันทำให้บริษัทไม่สามารถรอได้นานกว่านี้แล้ว
กรรมการผู้จัดการใหญ่บีเจซี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในกรณีที่บริษัทจะมีการสร้างแบรนด์ขึ้นมาเองนั้นอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า หากราคาที่เจรจาซื้อกิจการแพงเกินกว่างบประมาณที่บริษัทตั้งไว้ ซึ่งกรณีการสร้างแบรนด์เองนั้น จุดสำคัญอยู่ที่ระบบในการสั่งซื้อสินค้า การเช็กสต๊อกสินค้าเหล่านี้เป็นต้น และถือว่าเป็นหัวใจของธุรกิจจัดจำหน่าย เพราะหากระบบไม่ดีจะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลได้เช่นกัน alt "ปัจจุบันบีเจซีมีขนาดของพอร์ตธุรกิจสินค้าอุปโภค บริโภค ถึง 10,000 ล้านบาท ซึ่งหากไม่รวมบริษัทต่างชาติ ถือว่าเราเป็นรายใหญ่อันดับต้น ๆ ของประเทศ และจะได้เห็นการทำธุรกิจครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ แต่จะไม่ทำอะไรเกินตัว"
นายอัศวิน กล่าวอีกว่า สำหรับปี 2555 นี้ บริษัทตั้งงบประมาณลงทุนปกติปี 2555 ไว้ประมาณ 2,000-4,000 ล้านบาท โดยไม่รวมกับแผนการซื้อกิจการ รวมถึงแผนการใช้เงินเพื่อย้ายโรงงานผลิตขวดแก้วที่ราษฎร์บูรณะไปอยู่ที่จังหวัดสระบุรีแทน
สำหรับยุทธศาสตร์การทำธุรกิจของบีเจซี ในระยะ 3-5 ปี (เริ่มจากปี 2555) จะให้ความสำคัญกับการขยายธุรกิจเพื่อไปตั้งฐานการผลิตในแถบประเทศเพื่อนบ้านที่มีเขตแดนใกล้กับประเทศไทยประมาณ 4-5 ประเทศ อาทิ เวียดนาม กัมพูชา พม่า และลาว เป็นต้น ซึ่งเวียดนามถือว่าบริษัทได้ขยายการลงทุนเข้าไปแล้วโดยเป็นธุรกิจผลิตขวดแก้ว กระป๋องอะลูมิเนียม และธุรกิจตัวแทนการจัดจำหน่ายสินค้า หรือเทรดดิ้ง เป็นต้นแต่บริษัทยังต้องการขยายฐานธุรกิจเพิ่มขึ้น และถือเป็นจังหวะเหมาะที่เศรษฐกิจประเทศเวียดนามซบเซา ทำให้เป็นโอกาสในการเข้าไปซื้อกิจการ หรือเทกโอเวอร์ธุรกิจเพิ่ม โดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวกับช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า เป็นต้น
พร้อมกันนี้คาดว่าในระยะ 1-2 ปีนี้ (2555-2556) บริษัทมีแผนขยายฐานการลงทุนในประเทศพม่าอีกด้วย แต่คงต้องทำด้วยความรอบคอบ โดยเฉพาะการจัดตั้งศูนย์การผลิตคงยังไม่คุ้มค่า เนื่องจากประเทศพม่ายังมีปัญหาทางด้านระบบสาธารณูปโภค โดยเฉพาะไฟฟ้าที่ยังไม่เสถียร ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการผลิตขวดแก้วของบริษัทที่ต้องมีการเดินเครื่องผลิตอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้พม่ายังมีปัญหาด้านแรงงานที่ไม่มีความชำนาญ เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่มาจากภาคการเกษตร ดังนั้นแผนการขยายลงทุนในพม่าของบริษัทมีเพียงช่องทางเดียว คือ การซื้อกิจการในธุรกิจที่มีการลงทุนในพม่าอยู่แล้วมากกว่าขยายการลงทุนเอง ซึ่งเบื้องต้นธุรกิจที่จะขยายไปยังพม่า คือ อุตสาหกรรมผลิตขวดแก้ว เช่นเดียวกับในเวียดนาม
สำหรับการขยายธุรกิจไปยังกัมพูชาและลาวนั้น เบื้องต้นคงจะเป็นเพียงสินค้าที่เกี่ยวกับภาคการเกษตร อย่างไรก็ตามบริษัทเตรียมที่จะขยายไปสู่ภาคธุรกิจทั้งต้นน้ำและปลายน้ำสำหรับในแถบประเทศเพื่อนบ้านที่บริษัทได้ขยายการลงทุนไปแล้ว แม้ว่าในประเทศไทยบริษัทได้ดำเนินการช้าไปก็ตาม โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจค้าปลีกในส่วนของช่องทางการจัดจำหน่าย จึงถือเป็นบทเรียน ดังนั้นจากนี้ไปบริษัทจะเน้นธุรกิจทั้งต้นน้ำและปลายน้ำในส่วนของธุรกิจช่องการจัดจำหน่ายด้วยหากมีโอกาสบริษัทก็เตรียมที่จะรุกทันที
นายอัศวินกล่าวสำหรับการตั้งเป้าด้านรายได้ในระยะยาว 3-5 ปี(เริ่มจากปี 2555 )ว่า บริษัทยังคงตั้งเป้าเติบโต 15-20% ต่อปี เช่นเดียวกับปีนี้ (ปี 2554 มีรายได้รวม 31,754.04 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 2,177.52 ล้านบาท ) อย่างไรก็ตามมีโอกาสเติบโตได้มากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ หากปีใดบริษัทมีการซื้อกิจการเข้ามาเพิ่ม โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่ยังมีโอกาสเติบโตได้ อย่างเช่น ธุรกิจอุปโภค บริโภค ที่ยังขาดธุรกิจปลายน้ำ คือ ช่องทางการจัดจำหน่าย
หรือแม้แต่กลุ่มธุรกิจเวชภัณฑ์ จากปัจจุบันที่บริษัทมีรายได้ประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยปีนี้ก็อยู่ระหว่างเจรจาซื้อโรงงานผลิตยา รวมทั้งการสั่งซื้อวัตถุดิบมาผลิตในประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นการขยับไปสู่งธุรกิจต้นน้ำ และยังสามารถขยายไปยังธุรกิจปลายน้ำได้อีก คือ ร้านขายยา เป็นต้น
ส่วนยอดขายในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาถือว่าเติบโตดีมากโดยเฉพาะกำลังซื้อในประเทศถือว่าดีกว่าธุรกิจในต่างประเทศ อย่างเวียดนามที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจในประเทศทำให้แผนการเดินเครื่องในการผลิตบรรจุภัณฑ์กระป๋องอะลูมิเนียม ยังไม่เต็มที่ตามแผนที่วางไว้หลังจากที่เพิ่งเดินเครื่องผลิตได้เพียง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาเท่านั้น อย่างไรก็ตามบริษัทได้แก้ปัญหาด้วยการส่งคำสั่งซื้อหรือออร์เดอร์ของลูกค้าในประเทศไทยป้อนไปยังโรงงานผลิตกระป๋องอะลูมิเนียมที่เวียดนามแทน
อนึ่งบมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ประกอบธุรกิจ 3 กลุ่ม คือ ธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์แก้ว ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค และธุรกิจบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิค และอื่นๆ สำหรับกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค จะมีแบรนด์สินค้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้นปีละ 100 ชนิด ส่วนสินค้าที่จำหน่ายปัจจุบัน เช่น มันฝรั่งเทสโต้ กระดาษชำระเซลล็อกซ์ และสบู่นกแก้ว เป็นต้น
ปัจจุบันเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่จนติดอันดับหุ้นในกลุ่ม SET 50 Index โดย ณ วันที่ 2 กรกฎาคม 2555 มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหรือมาร์เก็ตแคป 63,128 ล้านบาท
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,754 5-7 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
จากคุณ |
:
Wild Rabbit
|
เขียนเมื่อ |
:
5 ก.ค. 55 13:48:46
|
|
|
|