'อัมมาร'เตือนรัฐบาลซุกหนี้ ลากไทยสู่วิกฤติรอบใหม่
|
|
การเงิน - การลงทุน วันที่ 6 กรกฎาคม 2555 14:01 โดย : อิสรีย์ ปัญญาดี กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
"อัมมาร"เตือนรัฐบาล"ซุกหนี้" ลากไทยสู่ความเสี่ยงวิกฤติรอบใหม่
ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประเมินว่า ผ่านมา 15 ปี นับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 พัฒนาการทางระบบเศรษฐกิจบางอย่างดีขึ้นโดยเฉพาะภาคเอกชน เนื่องจากวิกฤติเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ภาคเอกชนถูกทำโทษอย่างรุนแรง หลายธุรกิจล้มละลาย บางธุรกิจต้องขายให้ต่างประเทศในราคาถูก ภาพเหตุการณ์นั้นทำให้ภาคเอกชนได้เรียนรู้ว่าการดำเนินธุรกิจอย่างบ้าระห่ำอย่างช่วงฟองสบู่เติบโตไม่เป็นผลดี ช่วงนั้นเอกชนทำอะไรไม่ดีไม่ถูกต้องมากมาย เก็งกำไรหวังผลตอบแทนที่หวือหวา และก็ถูกลงโทษไปได้บทเรียนราคาแพง
"ตั้งแต่นั้นมา เอกชน โดยเฉพาะภาคธนาคาร สถาบันการเงิน แม้กระทั่งภาคธุรกิจทั่วไปก็มีความรอบคอบมากขึ้น จัดการกับความเสี่ยง การบริหารเงินบริหารหนี้ได้ดีขึ้น มีความระมัดระวัง อัตราส่วนหนี้สินต่อทรัพย์สินที่มีลดลงไปมาก ซึ่งแสดงถึงความมั่นคงขึ้น แต่ยังไม่ใช้คำว่าแข็งแกร่งเพราะจะมากไป แต่ก็ถือว่าค่อนข้างมั่นคง"
ดร.อัมมาร เห็นว่า แต่จุดที่น่ากังวลขณะนี้คือ "รัฐบาล" เหตุเพราะว่าอ่อนแอกว่าปี 2540 มาก ทั้งนี้เมื่อครั้งนั้นวิกฤติปี 2540 รัฐบาลมีฐานะการเงินการคลังที่ดีมาก มีหนี้น้อยมาก และไม่มีหนี้ต่างประเทศ พอเกิดปัญหาขึ้นมารัฐบาลอยู่ในฐานะที่ไปอุ้มหนี้สินภาคเอกชนเข้ามามหาศาล จนกระทั่งหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ขยับขึ้นมากว่า 10% ของรายได้ประชาชาติ เป็นการเพิ่มพูนหนี้สินของรัฐมากขึ้น ยังเป็นภาระแรกที่ค้างคาอยู่
อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน เขาเห็นว่ารัฐบาลได้ก่อและเริ่มซุกหนี้และคิดว่า รัฐบาลหลวมตัวเข้ามาเรื่อยๆ คือหนี้สินที่รัฐบาลสร้างขึ้นมาเองจากการทำนโยบายประชานิยม แต่ถ้าดูตัวเลขว่ารัฐบาลที่เริ่มทำประชานิยมเข้มข้นอย่างรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ตอนต้น เพิ่มหนี้สินที่เป็นทางการไม่มาก แต่ทั้งหมดนี้เป็นภาพลวงตา หนี้สินที่รัฐบาลทักษิณ สร้างขึ้นมาไม่ปรากฏเป็นหนี้ในงบประมาณภาครัฐ เพราะไปใช้กลไกเม็ดเงินจากธนาคารของรัฐ ทั้งธนาคาร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ออมสิน หรือแม้แต่ธนาคารกรุงไทย และยังตั้ง ธนาคารเอสเอ็มอีแบงก์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นการใช้จ่ายเงินที่สุดท้ายจะตกเป็นภาระของรัฐ การใช้เงินของรัฐบาลในอนาคตจะมีปัญหามาก จำนำข้าวคาดขาดทุนอย่างต่ำ 7 หมื่นล้าน
"ยิ่งพอมาถึงนโยบายจำนำข้าวอันนี้มีปัญหาแน่นอน โดยเฉพาะนโยบายจำนำข้าว มีปัญหาแน่นอน แต่ตัวเลขหนี้ก็จะไม่ปรากฏอีก รัฐบาลที่เป็นของทักษิณ และน้องสาว ก็คือประวัติพรรคการเมืองต่างๆ ที่เป็นลูกของไทยรักไทย เป็นประวัติของการใช้เงินแบบไม่ปรากฏในบัญชี ในงบดุลกว่า 3 แสนล้านบาทที่รัฐบาลไปยืมมาจาก ธ.ก.ส. เพื่อซื้อข้าวก็ไม่ปรากฏ เป็นงบประมาณติดลบ และกว่าจะปิดบัญชีได้ก็ต้องรอให้ขายข้าวพวกนี้หมดไปเวลานี้ รัฐบาลใช้เงินแต่ได้ข้าวกลับเข้ามา เพราะฉะนั้นรัฐบาลจึงแก้ตัวได้ว่าชั้นมีทรัพย์สินคุ้มอยู่แล้วแต่ข้าวที่ไปลงทุนซื้อมา ยังไงก็ขาดทุน ขาดทุนแน่ๆ ก็จะกลายเป็นภาระจาก 3 แสนล้านบาท ซึ่งมั่นใจได้เกือบ 100% ว่าจะขาดทุนแน่ๆ จะเป็นแค่ไหน ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่าจะขอดทุนไม่น้อยกว่า 7 หมื่นล้านบาท" ดร.อัมมาร กล่าว
เขายังเห็นว่า ถ้าจะให้บอกว่ารัฐบาลควรจะแก้ไขปัญหาจำนำข้าวในกรณีนี้อย่างไรว่า "ประการแรกสุดรัฐบาลต้องเข้าใจก่อนว่าปัจจุบันมีปัญหา เพราะดูเหมือนรัฐบาลจะประเมินปัญหาครั้งนี้ต่ำเกินไป"
เขาเห็นว่า จากการติดตามนโยบายรัฐบาล พฤติกรรมการใช้จ่ายรัฐบาล วันหนึ่งเชื่อว่าจะนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจอย่างแน่นอน ถ้าคุณดูรัฐบาลกรีกในปัจจุบันที่มีปัญหา ก็เพราะว่า รัฐบาลกรีกในประมาณ 20-30 ปีก่อนก็มีนโยบายประชานิยมแล้วรัฐบาลก็ไปสร้างโครงการประกันสังคม โครงการต่างๆ ช่วยเหลือประชาชน ประชานิยมล้วนๆ แต่การทำบัญชีของรัฐบาลในกรีกนั้นไม่โปร่งใสอย่างยิ่ง สิ่งต่างๆ หลายอย่างก็ซุกเอาไว้ จนเป็นวิกฤติขึ้นมาก็เพราะ ถึงเวลาหนึ่ง นั่นก็คือสองปีก่อนหน้านี้ รัฐบาลกรีกไม่สามารถลวงตาชาวโลก โดยเฉพาะตลาดการเงินที่รู้ทัน ต้องแถลงออกมาว่าปัญหาการเงินเป็นอย่างไร พอแค่ประกาศออกมามันก็พัง กรีกก็มีปัญหาแต่นั้นมา ชาวโลกก็ขาดการเชื่อถือรัฐบาลกรีกเพราะโกหกมาตลอด เป็นบทเรียนที่รัฐบาลไทยต้องระวัง
อย่างไรก็ตามหากดูความสามารถในการต่อสู้กับวิกฤติเศรษฐกิจยูโรโซนตอนนี้ แล้วแต่ว่านโยบายรัฐบาลจะเป็นอย่างไร เพราะผลกระทบวิกฤติครั้งนี้จะเกิดกับภาคธุรกิจเอกชนก่อน ในภาคเศรษฐกิจจริง ที่จะขายของ หรือส่งออกได้น้อยลง เพราะลูกค้าหลักไม่มีกำลังซื้อ แต่กระทบกับการจ้างงานลดลง เศรษฐกิจจะตกต่ำลง แต่ภาคการเงินน่าจะพอถูไถไปได้ เพราะมีหนี้สินน้อย คงจะไม่เป็นวิกฤติทางการเงินการธนาคารเหมือนปี 2540 เพราะในช่วงนั้นไปกู้หนี้ยืมสินเข้ามามากมาย และเริ่มพังลงจากภาคการเงิน
"แต่วิกฤติโลกครั้งนี้เกิดขึ้นจากภาคเศรษฐกิจจริง กระทบภาคแรงงานและทำให้เศรษฐกิจโน้มต่ำลงรัฐบาลอาจมีทางแก้ไขหลายทาง เช่นอาจต้องอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปเพื่ออุ้มชูเศรษฐกิจ แต่ต้องทำอย่างมีจังหวะ มียุทธศาสตร์ที่ดี เหมือนที่รัฐบาลจีนเคยทำครั้งโต้กับวิกฤติเศรษฐกิจ ในวอลล์สตรีท ไทยก็พอจะถูไถไปได้ระยะหนึ่ง แต่ถ้าทำเพลินเกินไป ปัญหาก็จะเกิดขึ้น คนจะตั้งคำถามกับการใช้เงินของรัฐ และปัญหาที่หมักหมมเอาไว้จากการซุกหนี้ของรัฐบาลก็จะโผล่ขึ้นมา"
ดร.อัมมาร เห็นว่าส่วนภาคนโยบายการเงินไทยพัฒนาในทางที่ดีขึ้น การกำกับดูแลสถาบันการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยเข้มงวดขึ้นมาก เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาคธนาคารมีการบริหารความเสี่ยงได้ดีขึ้น และส่งอิทธิพลมาถึงภาคธุรกิจเอกชน ว่าจะต้องมีการบริหารความเสี่ยงที่ดี เน้นถึงความมั่นคงและการเติบโตระยะยาว แต่นั่นเกิดกับธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ถ้าพูดถึงธุรกิจเอสเอ็มอียังมั่นคงได้ยาก โดยเนื้อแท้ของธุรกิจเพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่ธรรมชาติของต้องธุรกิจล้มลุกคลุกคลาน ก็ถือว่าเป็นอีกปัญหาที่น่าห่วงแต่ถ้ามองถึงธุรกิจขนาดใหญ่ที่จะกระทบกับเศรษฐกิจได้อย่างรุนแรง โดยเฉพาะเหล่าสถาบันการเงิน การธนาคารและธุรกิจใหญ่ๆ คิดว่าน่าจะดูแลความเสี่ยงและเอาตัวรอดได้
@วิกฤติ 40 "ไม่มีทางเลือก"
ดร.อัมมาร กล่าวว่า ส่วนการตัดสินใจลอยตัวค่าเงินบาท ขณะนั้นต้องถือว่าไม่มีทางเลือก เพราะไปอัดอั้นจากตอนที่แบงก์ชาติต่อสู้สงครามค่าเงิน และใช้ทุนสำรองจนหมดหน้าตัก แต่เห็นด้วยกับการลอยตัวค่าเงิน เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือทำให้ธุรกิจเอกชนเข้าใจว่า "อัตราแลกเปลี่ยนเป็นของเสี่ยง และเป็นความเสี่ยงที่ขึ้นลงได้ตลอดเวลา เดี๋ยวขึ้น เดี๋ยวลง แม้ว่าขณะนี้บ้านเราจะมีเงินสำรอง 4-5 เท่าของช่วงวิกฤติ หรือประมาณ 2 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งน่าจะรักษาอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ได้ แต่ไม่อยากให้กลับมาคงที่ เพราะอยากให้เอกชนเข้าใจและบริหารความเสี่ยงของตัวเองให้ดีขึ้น ตราบในที่ยังมีความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนการตั้งอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ณ ระดับใด ไม่เหมาะสมทั้งสิ้น"
จากคุณ |
:
Wild Rabbit
|
เขียนเมื่อ |
:
6 ก.ค. 55 14:14:01
|
|
|
|