Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ปัญหาทางความคิด/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ติดต่อทีมงาน

โลกในมุมมองของ Value Investor         7 กรกฎาคม 55
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ปัญหาทางความคิด

Link : http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=52561
Credit : คุณ little wing และ ดร.นิเวศน์ ครับ ^^"

 คนที่เริ่มศึกษาเรื่องหุ้นนั้น  ในช่วงแรก ๆ  เขาจะรู้จักกับแนวความคิดแบบหนึ่งที่เขาเชื่อว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องและจะพาให้เขาประสบความสำเร็จในการลงทุน   ต่อมาเมื่อเขาได้ฟัง  ได้อ่าน  และศึกษาเพิ่มขึ้น  เขาก็อาจจะพบว่ายังมีแนวความคิดหรือทฤษฎีอื่นที่น่าสนใจและอาจจะช่วยให้ผลงานการลงทุนของเขาดีขึ้นแม้ว่าทฤษฎีหรือแนวความคิดใหม่นี้อาจจะไม่ตรงหรือแย้งกับสิ่งที่เขาเข้าใจมาในอดีต  หลักการไหนกันแน่ที่เขาควรจะเชื่อและปฏิบัติตาม?    แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น  ลองมาดูกันว่ามีแนวความคิดอะไรที่ดูเหมือนจะแย้งกันสุดขั้ว

  ความคิดข้อแรกที่ดูมีปัญหาก็คือ  การถือหุ้นสั้นนั้นไม่เสี่ยง  การถือหุ้นยาวคือความเสี่ยง  เหตุผลก็คือ  ในระยะยาวเราคาดการณ์อะไรไม่ได้  ดังนั้นจึงเป็นความเสี่ยง  และนี่ก็คือความคิดของนักเล่นหุ้นที่เน้นแนวเทคนิค  แต่ในอีกด้านหนึ่ง  คนที่เป็น  Value Investor  ที่ซื้อหุ้นเหมือนกับการลงทุนทำธุรกิจนั้นกลับมองว่า  การถือหุ้นสั้นนั้นมีความเสี่ยง  เพราะในระยะสั้นตลาดหุ้นอาจจะมีความผันผวนจากปัจจัยทางด้านมหภาคเช่นเรื่องของเศรษฐกิจและตลาดหุ้น  แต่ในระยะยาวแล้ว  ถ้ากิจการเราวิเคราะห์มาเป็นอย่างดีว่าจะเติบโตและกำไรเพิ่มขึ้น  ในที่สุดแล้ว  ราคาหุ้นก็จะเพิ่มขึ้นตาม  ดังนั้น  ในระยะยาวแล้วโอกาสที่จะขาดทุนก็จะน้อยมาก  ดังนั้น  ถือหุ้นสั้น  เสี่ยง  ถือยาว  ไม่เสี่ยง

  ความคิดข้อสองที่หลายครั้งเราได้ยินว่า  การลงทุนหรือการเล่นหุ้นนั้น  อย่าไปซื้อตอนหุ้นกำลังลง  ต้องซื้อตอนหุ้นกำลังขึ้น  นักเล่นหุ้น  “รายใหญ่”  ที่ใช้สไตล์การเล่น  “แรงและเร็ว” นั้น  บางคนถึงกับบอกเลยว่า   ถ้าซื้อแล้วหุ้นไม่ขึ้นก็อาจจะต้องขายทันที  ถ้าซื้อแล้วหุ้นวิ่งก็จะซื้อเพิ่มขึ้นไปอีก  เรียกว่า  Average Up  คือซื้อถัวเฉลี่ยในราคาที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ   กลับกัน  เรามักจะได้ยินว่านักลงทุน   โดยเฉพาะที่เป็นระยะยาวควรจะซื้อหุ้นแบบ  Average Down  คือซื้อหุ้นเมื่อราคาลดลง  ยิ่งลดลงก็ยิ่งซื้อเพื่อ  “ลดต้นทุน”  ต่อหุ้นลง   นอกจากนี้  เราก็ยังมีทฤษฎี  Dollar Cost Average  ที่บอกให้ซื้อหุ้นเฉลี่ยไปเรื่อย ๆ  ด้วยเม็ดเงินเท่ากันทุกเดือนหรือทุกปีโดยไม่ต้องสนใจว่าหุ้นจะขึ้นหรือลง  ข้อดีก็คือ  ถ้าเดือนไหนหุ้นขึ้นเราก็จะซื้อหุ้นได้น้อยหน่อย  ช่วงไหนที่หุ้นลง  เราก็ซื้อหุ้นได้มากหน่อย  ดังนั้น  ต้นทุนเฉลี่ยต่อหุ้นก็จะลดลง

  ความคิดข้อที่สามก็คือ  วิธีที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีและเร็วที่สุดก็คือ  ซื้อหุ้นที่ถูก  และขายเมื่อราคาขึ้นมา  “เต็มมูลค่า” แล้ว   นี่คือแนวทางของ VI ส่วนใหญ่ที่มักจะมีการวิเคราะห์หา  “มูลค่าที่แท้จริง”  อย่าง  “ละเอียดถี่ถ้วน”  และซื้อขายหุ้นค่อนข้างบ่อยเพื่อสร้างผลตอบแทน  “อย่างรวดเร็ว”  ในขณะที่อีกแนวความคิดหนึ่งก็คือ  ซื้อหุ้นของกิจการที่ดีมาก  และถือไว้ยาวนานตราบที่มันยังดีอยู่  นี่คือแบบที่ วอเร็น บัฟเฟตต์ ใช้   แต่  VI จำนวนมากก็ไม่เชื่อว่าวิธีนี้จะสร้างผลตอบแทนที่ดีมาก ๆ  ได้  เหตุผลก็คือ  ในระยะยาวแล้ว  ก็เป็นเรื่องที่ยากที่บริษัทจะโตได้เกินปีละ 15-20%  ดังนั้น  ถ้าถือหุ้นแบบนี้ในระยะยาวพอร์ตก็จะโตได้อย่างมากก็ปีละ 15-20%  สู้ซื้อหุ้นที่ถูกและขายภายในเวลาไม่กี่เดือนเมื่อได้กำไร 15-20%  แล้วก็ไปซื้อหุ้นถูกตัวใหม่ที่จะได้กำไรอีก 15-20%  ถ้าทำแบบนี้ได้ปีละ 3-4 ครั้งก็จะได้ผลตอบแทนปีละไม่ต่ำกว่า 40-50% เป็นอย่างน้อย

  ความคิดที่สี่ก็คือ  การลงทุนนั้น  เราควรที่จะต้อง  กระจายความเสี่ยง  โดยการถือครองหุ้นหลาย ๆ  ตัว  และแต่ละตัวอาจจะไม่เกิน  5-10%  ของพอร์ตโดยรวม  การทำแบบนี้จะทำให้ความเสี่ยงลดลง   ตรงกันข้าม  เราก็มีแนวความคิดการลงทุนแบบ  Focus  หรือเน้นลงทุนในหุ้นน้อยตัวแบบ วอเร็น บัฟเฟตต์  ซึ่งในช่วงแรก ๆ  ของการลงทุนนั้น  บางครั้งเขาถือหุ้นตัวเดียวเกิน 30-40%  ของพอร์ตก็เคยมี  การลงทุนแบบนี้จะทำให้ผลตอบแทนสูงขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญแต่ก็มีความเสี่ยงสูง   อย่างไรก็ตาม  คนที่สนับสนุนแนวความคิดนี้มักจะบอกว่า  เขาศึกษาตัวหุ้นนี้มาเป็นอย่างดี  ดังนั้น  เขาไม่คิดว่าเป็นความเสี่ยง  อย่างก็ตาม  ในประเด็นเรื่องของกลยุทธการกระจายความเสี่ยงโดยการถือครองหุ้นนี้   ในหมู่นักลงทุนไทย  ซึ่งรวมถึง “VI”  จำนวนมาก  พวกเขานั้นลงทุนยิ่งกว่าคำว่า  Focus  นั่นคือ  หลายคนถือหุ้นตัวเดียวคิดเป็น  50%  หรือบางคนถือหุ้นตัวเดียว 100%  และบางครั้งถือเกิน  100%  นั่นคือ  ใช้มาร์จินซื้อหุ้นเพิ่มด้วย

  ความคิดที่ห้า  ก็คือ  ภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นหรือภาพของเศรษฐกิจมหภาคนั้น  มีความสำคัญต่อการลงทุน   ดังนั้น  ถ้าภาพไม่ดี  เราก็ต้องออกจากตลาด  เราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอยู่ในตลาดตลอดเวลา  ว่าที่จริง  ปี ๆ  หนึ่งเราอาจจะเล่นเพียงแค่ 2-3 รอบเท่านั้น  หรือบางปีเราอาจจะไม่เล่นเลยก็ได้   ตรงกันข้าม  อีกความคิดหนึ่งก็คือ  เศรษฐกิจหรือตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไร  เราไม่ต้องสนใจ  เราสนใจเฉพาะว่ากิจการที่เราลงทุนเป็นอย่างไร  ถ้าดีอยู่เราก็ซื้อหรือถือไว้  เพราะเราลงทุนกับบริษัท  เราไม่ได้ลงทุนในดัชนีหรือลงทุนซื้อหุ้นทั้งตลาด  ดังนั้น  โดยทั่วไปแล้ว  เราจะอยู่ในตลาดตลอดเวลา  และบางคนก็แทบจะถือหุ้น 100%  ไม่ถือเงินสดเลยด้วยซ้ำ

  ความคิดที่หกก็คือ  แนวคิด  กลยุทธ์  และข้อมูลทางเทคนิค  กับ วิธีการลงทุนแบบ VI  นั้น  เอามาใช้ประกอบกันได้  หลาย ๆ  คนมีความคิดว่าเขาหาหุ้นแบบ  VI  แต่จังหวะซื้อหรือขายนั้น  ดูจากข้อมูลทางเทคนิค  เพราะเขาเชื่อว่าวิธีนี้จะทำให้เขาสามารถทำผลตอบแทนได้สูงกว่าการใช้หลักการแบบ  VI  อย่างเดียว  ส่วนอีกแนวทางหนึ่งมักมาจากพวก  “VI พันธุ์แท้”  ที่มองว่า  หลักการทางเทคนิคนั้น  ไม่มีประโยชน์  และบ่อยครั้งขัดแย้งกับหลักการ “พื้นฐาน”  ของกิจการ  การนำมาใช้  หรือใช้ร่วมกับวิธีการของ  VI  นั้น  ไม่ถูกต้องและอาจจะทำให้เกิดความเสียหายได้

  ความคิดที่เจ็ดคือ  แนวความคิดที่ว่าสไตล์และวิธีการลงทุนที่ถูกต้องนั้น  ย่อมต้องขึ้นอยู่กับตัวนักลงทุนด้วย  นั่นแปลว่า  หลักการที่บัฟเฟตต์ใช้และประสบความสำเร็จอย่างสูงนั้น  เราจะเอามาใช้ตรง ๆ  ไม่ได้  เพราะเราไม่ใช่บัฟเฟตต์  เราไม่มีความสามารถและมี อีคิว เหมือนบัฟเฟตต์  เราไม่ได้มีพอร์ตใหญ่เหมือนบัฟเฟตต์  และสุดท้ายก็คือ  เราไม่ได้อยู่ในอเมริกา  สิ่งที่เราควรทำก็คือ  ดูว่า  “จริต”  เราเป็นอย่างไร  และเลือกหลักการลงทุนที่ “ถูกกับจริตเรา” มากที่สุด  ในอีกด้านหนึ่ง  ก็มีความคิดว่า  เราจะต้องปรับตัวเราหรือสอนให้ตัวเราเรียนรู้หลักการและวิธีการลงทุนที่ถูกต้องที่สุด  ถ้าจริตของเราไม่เหมาะสมกับหลักหรือวิธีการลงทุนที่ถูกต้อง  เราจะต้องแก้ไข  มิฉะนั้นเราจะไม่ประสบความสำเร็จ  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  หุ้นนั้นมันไม่รู้หรอกว่าใครเป็นเจ้าของ  มันไม่เปลี่ยนตามเรา  เราจะต้องเปลี่ยนแปลงตามมัน

  เขียนถึงตรงนี้หลายคนอาจจะเริ่มสับสนและไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง  และเราจะเชื่อด้านไหนในแต่ละเรื่องแต่ละประเด็น  ส่วนตัวผมเองนั้นคิดว่า  ด้านไหนเป็นสิ่งที่ถูกต้องนั้นขึ้นอยู่กับความเชื่อหรือแนวความคิดพื้นฐานของเรา  ถ้าเราเป็น  “VI พันธุ์แท้”  เราก็มีแนวโน้มจะเชื่อด้านหนึ่งแต่ถ้าเราเป็น “นักเก็งกำไร”  เราก็มีแนวโน้มจะเชื่อไปอีกด้านหนึ่ง  และผมเชื่อว่าแนวทางนั้นอาจจะดีกับความคิดพื้นฐานดังกล่าว  ดังนั้น  สิ่งที่ผมแนะนำก็คือ  เวลาเราศึกษา  จะต้องดูว่าเหตุผลที่เขาใช้คืออะไร  ความคิดนั้นมาจากหลักการอะไร  ถ้ามันมาจากแนวคิดพื้นฐานที่เราใช้  นั่นก็คือ  มันคือความคิดที่ถูกต้อง  และเราควรจะยึดถือมัน  อย่าวอกแวก  การลงทุนนั้นประกอบไปด้วยหลักการต่าง ๆ  มากมาย  ถ้ามันไม่สอดคล้องกัน  มันก็จะเหมือนเครื่องจักรที่เดินไม่ราบรื่นอย่างแน่นอน

จากคุณ : มิ่งกลิ้ง
เขียนเมื่อ : 7 ก.ค. 55 17:16:55




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com