Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
5บิ๊กแบงก์จี้5จุดสู้เสี่ยง สินเชื่อโตต่อแม้ไม่แรงเท่าครึ่งแรก [ย้ายจาก : หุ้น] ติดต่อทีมงาน

วันศุกร์ที่ 06 กรกฏาคม 2012 เวลา 22:57 น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ ข่าวหน้า1 - Big Stories


นายแบงก์มองบวก  เชื่อมั่นจีดีพีไทยโตต่อเนื่อง แต่ชี้จุดเสี่ยงห่วงเศรษฐกิจโลก เงินทุนเคลื่อนย้าย-ค่าเงิน การเมืองและน้ำท่วมตามหลอน "ชาติศิริ"เกาะติดความผันผวนหวั่นหนี้ปูด   ด้าน"อภิศักดิ์"ระบุ การเมืองภายในระอุอีกระลอก
ขณะที่"กรรณิกา"มอง โครงการลงทุนภาครัฐเปิดโอกาสให้แบงก์เอกชนชิงส่วนแบ่งสินเชื่อ สั่งกันสำรองเพิ่ม 500 ล้านบาทต่อเดือนรับมือผลกระทบ เชื่อคลื่นวิกฤติยุโรปกระทบไทยไตรมาส 4 ปีนี้  "สุภัค"แนะเฝ้าระวังเงินทุนเคลื่อนย้ายและค่าเงินแกว่ง ธปท.ยันแบงก์ไทยแกร่ง

   แม้ยังไม่ประกาศผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกอย่างเป็นทางการ แต่สัญญาณบวกก็ปรากฏชัดผ่านตัวเลขธุรกรรมของระบบธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะความต้องการใช้วงเงินสินเชื่อ เติบโตเร่งตัวขึ้นที่ระดับ 16.8 % สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากรวมตั๋วแลกเงินอยู่ที่ 92.7 % แสดงถึงความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ปรากฏเค้าลางของความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น ทั้งโจทย์ท้าทายจากต่างประเทศ กรณีปัญหาหนี้ในยุโรปที่ยังไม่เป็นที่วางใจ ประกอบกับปัจจัยการเมืองภายใน และการบริหารจัดการน้ำ ที่ต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด นั้น

   "ฐานเศรษฐกิจ" สำรวจความเห็นผู้บริหารระดับสูงของธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของประเทศ ถึงความเชื่อมั่นในช่วงที่เหลือครึ่งปีหลัง (ก.ค.-ธ.ค.2555)  พบว่า  ล้วนมองทิศทางเศรษฐกิจไทยอยู่ในเชิงบวก  ส่วนหนึ่งจากผลการดำเนินงานครึ่งแรกที่ปรากฏเป็นรูปธรรม แต่ก็มองผลกระทบทางเศรษฐกิจและปัญหาหนี้ในยุโรปจะต้องเกิดขึ้น และเตรียมปรับตัวเองเพิ่มความแข็งแรงรับมือแล้ว เพื่อไม่ซ้ำรอยวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อ 15 ปีก่อน  

   ดังเห็นได้จากสถาบันการเงินทุกแห่ง มีการกันเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของเงินให้สินเชื่อ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งไว้รองรับแล้ว จากที่ปัจจุบันเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ในระดับที่สูงกว่าเกณฑ์กำหนดทางการก็ตาม (ดูตารางประกอบเงินกองทุนตามกฎหมาย) อีกกิจกรรมคือ การแข่งขันระดมเงินฝาก จากสัญญาณความต้องการสินเชื่ออนาคตที่สูงขึ้น โดยพุ่งเป้าทั้งการอำนวยสินเชื่อในประเทศ และสนับสนุนการขยายฐานไปในประเทศเพื่อนบ้าน

-มาแน่ไตรมาส4วิกฤติยูโร

   ต่อประเด็นดังกล่าว นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน)(บมจ.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า  แนวโน้มวิกฤติหนี้ในยุโรป น่าจะเริ่มเห็นแรงผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ของปีนี้อย่างชัดเจน โดยไม่ว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นรุนแรงหรือไม่ ทุกภาคส่วนต้องมีการเตรียมความพร้อม  เนื่องจากอาจส่งผลให้เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวลงได้ ผู้ประกอบการจึงต้องเร่งปรับปรุงระบบตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับตัวเอง

   " แม้ขณะนี้เศรษฐกิจของประทศยังมีการขยายตัวในระดับที่ดี แต่ผลกระทบจากหนี้ยุโรป ไม่ว่าจะมาช้าหรือเร็ว เป็นเรื่องที่ควรกังวลอย่าประมาท และไม่ควรจะตื่นตระหนกมากเกินไป  โดยส่วนตัวเชื่อว่า แรงกระทบจะเริ่มรุนแรงขึ้นภายในไตรมาส 4 ปีนี้ อย่างแน่นอน  ไม่ต้องพูดถึงปีหน้า " นางกรรณิกา กล่าว
-กันสำรองฯเพิ่ม130%

   กรรมการผู้จัดการใหญ่ธ.ไทยพาณิชย์ ยืนยันด้วยว่า สถานภาพสถาบันการเงินไทยค่อนข้างแข็งแกร่ง และสินเชื่อยังขยายตัวได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งเป็นความพยายามของสถาบันการเงินทุกแห่ง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา  อีกทั้งการขยายตัวของสินเชื่อตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน สามารถขยายตัวได้มากกว่า 10 % ซึ่งเหนือการคาดการณ์จากหลายฝ่าย และกระจายทุกภาคส่วน

   ที่สำคัญแม้ยังไม่เห็นการเร่งตัวขึ้นของปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) แต่ธนาคารต้องเตรียมรับมือกับปัญหารอบด้าน นอกจากปัญหาที่เกิดจากภายนอกแล้วยังมีปัญหาการเมืองในประเทศอีกด้วย  โดยธ.ไทยพาณิชย์ ให้ความสำคัญกับเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ จึงปรับเพิ่มสัดส่วนเป็น 500 ล้านบาทต่อเดือน จากปีก่อนอยู่ที่ 300 ล้านบาท  ส่งผลให้ไตรมาสแรกของปีนี้ สำรองฯของธนาคารเพิ่มขึ้นเป็น 130 % และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอนาคต

ส่วนครึ่งปีที่เหลือนี้ จากสภาพคล่องในระบบที่ลดลงตามการขยายตัวของสินเชื่อที่เร่งขึ้นในครึ่งแรก จึงน่าจะเห็นการแข่งขันด้านเงินฝากเพื่อเร่งระดมทุนของสถาบันการเงินที่รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ผ่านการกู้เงินเพิ่มขึ้นนั้น ยังถือเป็นโอกาสในการขยายตัวของสินเชื่อสถาบันการเงินภาคเอกชนมากขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตามเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

-"บัวหลวง"จับตาเอ็นพีแอล

   ขณะที่นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ธนาคารมีการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด  โดยยอมรับว่าเริ่มเห็นผลกระทบต่อภาพรวมการส่งออกของไทย เช่นเดียวกับในหลายประเทศ จึงเป็นปัจจัยที่ต้องระมัดระวัง แม้ลูกค้าของธนาคารกรุงเทพยังไม่พบผลเสียหายรุนแรง

   โดยยังมองโอกาสความสามารถในการทำกำไรครึ่งปีหลังว่า จะสามารถขยายตัวได้ตามเศรษฐกิจ ซึ่งธนาคารคาดการณ์ทั้งปีจีดีพีจะขยายตัวได้ที่ระดับ 5 % ขณะที่ความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของหนี้เอ็นพีแอลยังต้องติดตามใกล้ชิด โดยธนาคารเตรียมความพร้อมผ่านการกันสำรองเฉลี่ย 1,500-1,800 ล้านบาทต่อไตรมาส และอาจจะสูงขึ้นในบางจังหวะ เช่น น้ำท่วม เป็นต้น
-กรุงไทยเล็งหาโอกาสใหม่

   เช่นกัน นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงไทย  ก็ชี้ว่า  แนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ในช่วงที่เหลือ แต่ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะปัญหาหนี้ยุโรปเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามและระมัดระวัง ควบคู่กับปัญหาการเมืองของไทย    ขณะที่แนวโน้มการขยายตัวของสินเชื่อช่วงที่เหลือ จะไม่ร้อนแรงเท่าครึ่งปีแรก แต่ยังพอมีโอกาสเติบโต สอดคล้องกับโอกาสการเติบโตของอัตราส่วนผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (ROE) จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 15-16%

   " ปัจจุบันแบงก์กรุงไทยมีการตั้งสำรองหนี้ ประมาณ 500 ล้านบาทต่อเดือน โดยมีเงินกองทุนเพียงพอ แม้จะมีการปรับลดลงบ้าง โดยมองว่าไม่จำเป็นต้องกันสำรองสูงกว่าเอ็นพีแอลถึง 150 %"

   นายอภิศักดิ์ ยังได้กล่าวถึงโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจ  การค้า การลงทุน ว่า การเปิดประเทศของพม่า ประกอบกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) นั้น ทำให้เศรษฐกิจในพม่ามีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีการเข้าไปลงทุนของประเทศเพื่อนบ้าน เป็นการเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ แทนการเติบโตจากภายใน และเป็นโอกาสขยายฐานการผลิตของไทย เช่น สิ่งทอ หรืออุตสาหกรรมก่อสร้าง ที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งถนน  ไฟฟ้า  ส่วนกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์กับเอนจิเนียร์ได้ทยอยเข้าไปลงทุนแล้วในช่วงที่ผ่านมา

   " ขณะนี้ไทยประสบปัญหาเรื่องค่าแรงกดดัน ต้องขยายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนต่ำ เชื่อว่าการเปิดประเทศของพม่า รวมกับเออีซี หรือ โครงการทวายนั้น เป็นโอกาสที่ไทยจะเข้าไปลงทุน"
-เงินลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ไม่ทันปีนี้

   ด้าน ดร.สุภัค  ศิวะรักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารซีไอเอ็มบีที กล่าวว่า ภาพรวมทั้งปีนี้เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้  4 % สะท้อนการเติบโตที่ดี เมื่อเทียบกับประเทศอื่นทั่วโลกที่ชะลอตัว  ขณะที่สินเชื่อยังมีอัตราการเติบโตโดยรวมที่ระดับ 10 % และหลายธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อค่อนข้างสูง ทำให้ภาพการแข่งขันระดมเงินฝากยังสูงเช่นกัน อีกทั้งหลายสถาบันการเงินหันมาระดมเงินฝากแทนตั๋วแลกเงิน และเน้นระดมเงินฝากรายย่อยมากขึ้น

   แต่ตัวแปรสำคัญที่ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง คือ ภาคส่งออก เห็นได้จากช่วงที่ผ่านมาดุลการค้าค่อนข้างบางและติดลบ  ฉะนั้น แม้ว่าจะมีตัวช่วยจากภาครัฐที่เข้ามากระตุ้นกำลังซื้อ  การลงทุน รวมทั้งการท่องเที่ยวที่ยังคงมีสัญญาณที่ดี แต่โดยรวมยังไม่สามารถช่วยได้เต็มที่  เหตุเพราะภาคการส่งออกนั้นมีสัดส่วนมากถึง 70 % ของจีดีพี

   ที่สำคัญ การประกาศเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐนั้นเป็นนิมิตหมายที่ดี แต่ยังไม่เกิดผลในทางปฏิบัติภายในปีนี้   เพราะแต่ละโครงการยังมีกระบวนการออกแบบ ประมูลและทยอยใช้เงิน ซึ่งระยะเวลาดำเนินงานต้องใช้เวลาหลายปี ดังนั้น ผลจากโครงการภาครัฐเชิงตัวเลขยังช่วยจีดีพีไม่ได้เต็มที่    นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ยังกังวลเรื่องระดับน้ำหรือน้ำท่วม ทำให้เกิดการชะลอการใช้จ่ายในการซ่อมแซม ปรับปรุง หรือลงทุน  ส่วนวิกฤติหนี้ในยุโรป ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อเนื่องเช่นกัน เพราะเป็นปัจจัยจากภายนอก ที่จะมีผลทั้งภาคส่งออก ค่าเงินและเงินทุนเคลื่อนย้าย
-ธปท.ยันระบบแบงก์แกร่ง

   ด้านนายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ไทยในระบบ มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงสูงเกินเกณฑ์จำนวนมาก แต่ละธนาคารดูแลตัวเองได้ แม้จะมีเงินกองทุนปรับลดลงบ้างแต่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อ  อีกทั้งมีการออกไปขยายสาขาต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมียอดปล่อยสินเชื่อทั้งระบบ 3-4 แสนล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อที่มีคุณภาพ จากการปล่อยกู้ฐานลูกค้าไทยที่ขยายธุรกิจ หรือออกไปลงทุนต่างประเทศ และเอ็นพีแอลยังทรงตัวในระดับต่ำ 2.9 % หากมีการเพิ่มทุนก็เป็นการเตรียมรับมืออนาคตเท่านั้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,755   8-11  กรกฎาคม  พ.ศ. 2555

 
 

จากคุณ : Wild Rabbit
เขียนเมื่อ : 9 ก.ค. 55 21:34:25




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com