ผ่าแผนร.พ.กรุงเทพรุกทุกมิติ ทุ่มซื้อธุรกิจขยายอาณาจักรรับเออีซี
|
|
updated: 19 ก.ค. 2555 เวลา 12:18:13 น. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ด้วยเครือข่ายที่มากถึง 28 สาขา จาก 5 แบรนด์ ของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ คือ กรุงเทพ สมิติเวช บีเอ็นเอช พญาไทและเปาโล ที่เกิดจากการควบรวมกิจการหรือ M&A และสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีสาขาครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ หัวเมืองสำคัญ และเมืองท่องเที่ยวทั่วประเทศ ด้วยจำนวนเตียงที่มากกว่า 3,900 เตียง
โดยปีที่ผ่านมามีรายได้ถึง 35,000 ล้านบาท และกำไรมากกว่า 4,300 ล้านบาท และมีสินทรัพย์รวมกว่า 58,792 ล้านบาท ถือเป็นกลุ่ม ร.พ.ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเอเชีย-แปซิฟิก และมีมาร์เก็ตแคปถึง 134,000 ล้านบาท เป็นอันดับ 1 ของเอเชีย-แปซิฟิก
ชูควบรวมสร้างการเติบโต
นางนฤมล น้อยอ่ำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การใช้กลยุทธ์การควบรวมกิจการทำให้สามารถโอเปอเรตและสร้างการเจริญเติบโตได้เร็วกว่า ทั้งฐานลูกค้าที่มีอยู่เดิม บุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักอยู่แล้ว และที่สำคัญคือ ระยะเวลาการคืนทุนเร็วกว่า แต่นั่นหมายถึงว่าราคาต้องเหมาะสมด้วย หรือบางกรณี ราคาสูงเกินความจำเป็น พิจารณาแล้วไม่เกิดการซินเนอร์ยี่ก็อาจจะพิจารณาลงทุนเอง
การซินเนอร์ยี่ที่เกิดจากการควบรวม ทำให้ประหยัดหรือลดต้นทุนได้มากตั้งแต่การจัดซื้อยา เครื่องมือแพทย์ รวมทั้งการส่งทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากส่วนกลางไปช่วย ซึ่งจะทำให้เครือข่ายเติบโตในเชิงรายได้จากโรคที่มีความซับซ้อนมากขึ้น
"เดิมเราใช้เงินกู้จากสถาบันการเงินมาขยายการขยายธุรกิจ แต่เมื่อช่วงปี 2550 เราทำเรตติ้งจากทริส เรทติ้งส์ และได้ A ก็เริ่มออกหุ้นกู้เพื่อรีไฟแนนซ์เงินกู้จากธนาคาร ทำให้ลดต้นุทุนทางการเงินได้พอควร"
อีกกลยุทธ์หนึ่งที่ใช้ คือ การทำแชร์สวอป หรือการออกหุ้นไปแลกกับเจ้าของ ร.พ. อย่างกรณีของพญาไทและเปาโล วิธีนี้ทำให้หนี้สินต่อทุนไม่เพิ่มขึ้น และยังทำให้สินทรัพย์เพิ่มขึ้นโดยหนี้สินไม่เพิ่ม และทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (gearing ratio) ดีขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแรงทางการเงินที่ดีขึ้น
ขยายเครือข่ายรับ เออีซี
นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากนี้ไปจะยังเดินหน้าขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ตั้งเป้าจะเปิดใหม่ปีละ 3-4 แห่ง ทั้งที่เป็นการลงทุนสร้างใหม่และควบรวมกิจการ สำหรับในประเทศต่อไปจะเน้นเปิด ร.พ.รักษาโรคพื้นฐานที่มีค่าใช้จ่ายไม่สูงเพิ่ม ล่าสุดได้ซื้อ ร.พ.สุนทรภู่ จังหวัดระยอง จะเปิดให้บริการในปี 2556 รองรับกลุ่มลูกค้าโรงงานนิคมอุตสาหกรรม ส่วน ร.พ.กรุงเทพอุดรธานี จะเปิดในอีก2 เดือนข้างหน้า และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ร.พ.ขนาด 200 เตียงที่เชียงใหม่ ซึ่งจะสร้างเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) รองรับลูกค้าจากพม่า เวียดนาม ลาว กัมพูชา มณฑลยูนนานของจีน
ปัจจุบันสาขาในกรุงเทพฯและหัวเมืองสำคัญมีค่อนข้างครอบคลุมแล้ว จึงมีแผนจะศึกษาตลาดประเทศเพื่อนบ้าน ที่สนใจ คือ พม่าและเวียดนาม ซึ่งเป็นไปได้ทั้งการลงทุนเองและร่วมทุน โดยเฉพาะพม่าที่มีประชากรถึง 70 ล้านคน ส่วนยูนนานกำลังมองลู่ทางการลงทุน และล่าสุดได้กลับไปลงทุนในกัมพูชาเพิ่มอีก 1 แห่ง หลังจากที่ชะลอไประยะหนึ่ง โดยจะลงทุนอีก 400-450 ล้านบาท จากเดิมที่มีอยู่ 2 แห่ง และขณะนี้ได้เข้าไปรับบริหาร ร.พ.ในพม่า และอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง
โฟกัสโรคเฉพาะทาง
นายแพทย์ปราเสริฐ กล่าวว่าการเปิดเออีซีในปี 2558 เมื่อมองในแง่ประชากรจะมีถึง 650 ล้านคน หากสามารถรองรับคนไข้พรีเมี่ยมได้สัก 1% ก็ถือว่ามีฐานลูกค้ามาก ร.พ.กรุงเทพมีหมอที่เก่ง มีเครื่องมือแพทย์ดีทันสมัย และมีความเชี่ยวชาญเรื่องสมอง มะเร็ง หัวใจ คนในอาเซียนไม่ต้องไปไกล และตรงนี้ก็จะยังมีการลงทุนเพื่อพัฒนาทางการแพทย์ อุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาให้ดีขึ้น"
สอดคล้องกับนายแพทย์ชาตรี ดวงเนตร กรรมการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ ที่ระบุว่า สิ่งที่ ร.พ.กรุงเทพจะต้องให้ความสำคัญมากขึ้นคือ การรักษาโรคเฉพาะทาง ที่ต้องการจะผลักดันให้เป็นศูนย์กลางแห่งความเป็นเลิศ (center of excellence)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้กลุ่ม ร.พ.กรุงเทพยังมีแผนจะขยายการลงทุนในธุรกิจที่ไม่ใช่โรงพยาบาลเพิ่ม เช่น บริษัทยาและเวชภัณฑ์ จากเดิมที่มีการลงทุนอยู่บ้างแล้ว อาทิ น้ำเกลือและเวชภัณฑ์ (เอ เอ็น บี ลาบอราตอรีฯ) ยา (สหแพทย์เภสัช) หรือห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ (เนชั่นแนลเฮลท์แคร์) เป็นต้น
ย้อนกลับไป จะพบว่าเส้นทางการเติบโตของกลุ่ม ร.พ.กรุงเทพ นอกจากการลงทุนสร้าง ร.พ.ใหม่แล้ว ยังเน้นการควบรวมกิจการ หรือ M&A เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง อาทิ การเข้า acquire กับสมิติเวช และบีเอ็นเอช และที่เป็นข่าวใหญ่เมื่อเดือนเมษายน 2554 คือ การควบรวมกับ ร.พ.พญาไทและเปาโล ที่เป็นดีลใหญ่ที่ใช้เม็ดเงินมากกว่า 12,000 ล้านบาท ทำให้มี ร.พ.เข้ามาอยู่ในเครือเพิ่มอีก 7 แห่ง ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ ร.พ.ยักษ์ใหญ่รายนี้มีฐานลูกค้ากลุ่มประกันสังคมเข้ามาเพิ่ม จากเดิมที่มีเฉพาะกลุ่มลูกค้าต่างประเทศ ลูกค้าระดับบน ระดับกลางจากรายงานและงบการเงินปี 2554 พบว่า กรุงเทพดุสิตเวชการ ได้มีการลงทุนในบริษัทร่วม 2,815 ล้านบาท และลงทุนระยะยาว 5,049 ล้านบาท
เพิ่มการถือหุ้นธุรกิจเฮลท์แคร์
นางนฤมลกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา ร.พ.กรุงเทพยังได้เตรียมความพร้อมทางด้านการเงิน ด้วยการเตรียมเพิ่มทุนในลักษณะของเจเนอรัลแมนเดต (general mandate) โดยได้ขอมติผู้เพิ่มทุนจากถือหุ้นที่เป็นการขอเป็นวงเงินและประเภทการจัดสรรไว้ล่วงหน้า และมอบอำนาจให้คณะกรรมการพิจารณาในแต่ละครั้งตามความเหมาะสม จากปกติที่การเพิ่มทุนแต่ละครั้งจะต้องมีการเรียกประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งอาจทำให้ไม่ทันต่อเหตุการณ์ กลไกใหม่นี้ช่วยให้การระดมทุนมีความยืดหยุ่นมากขึ้นและใช้เวลาไม่นาน
ขณะเดียวกันก็เข้าไปถือหุ้น ร.พ.ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (บจ.) เพิ่ม เช่น รามคำแหง ปัจจุบันเพิ่มเป็น 38% จากเดิม 19% บำรุงราษฎร์ 20% จากที่ถืออยู่ 11% และ ร.พ.กรุงธน 20% จากที่ถือ 16% เนื่องจากเฮลท์แคร์เป็นเซ็กเตอร์ที่นักลงทุนให้ความสนใจ เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ธุรกิจเฮลท์แคร์ก็จะไม่ได้รับผลกระทบ และมีผลประกอบการที่ดี การไปร่วมลงทุนดังกล่าว
"วันนี้ฝ่ายบริหารมองในแง่ของการได้เงินปันผล ตอนนี้เรามีทั้งโอเปอเรตเอง ซื้อ หรือถือหุ้นต่ำกว่า 50% ไม่มีส่วนเข้าไปบริหาร แต่ว่าเราได้รีเทิร์นดีทุกปี ซึ่งช่วยให้ในทางบัญชีสามารถแชร์ผลประกอบการในรูปของกำไรเข้ามาอยู่ในงบการเงินของบริษัทด้วย และยังไม่มีนโยบายอะไร แต่ในอนาคตหลังเปิดเออีซีหากสามารถที่จะเอื้อประโยชน์กันได้หรือมีความร่วมมือทางการแพทย์ร่วมกันก็เป็นไปได้
โดยไม่ต้องถือหุ้นแบบพญาไทและเปาโล" นางนฤมลกล่าว
จากคุณ |
:
Wild Rabbit
|
เขียนเมื่อ |
:
19 ก.ค. 55 18:18:00
|
|
|
|