|
ผ่าอาณาจักรธุรกิจใหญ่...ทางเลือกการลงทุนเพื่อเป็นมรดกให้ลูกหลาน
updated: 07 มิ.ย. 2555 เวลา 21:31:47 น. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ โดย...ธันวา เลาหศิริวงศ์
"อาณาจักรธุรกิจ"หมายความถึง กลุ่มบริษัทตั้งแต่ 2 บริษัทขึ้นไปที่ดำเนินกิจการต่างๆ ในหลายอุตสาหกรรม โดยได้รับแนวนโยบายจากบริษัทแม่ เจ้าของ ผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือกลุ่มบุคคลที่มีอำนาจควบคุม อาณาจักรธุรกิจขนาดใหญ่หลายแห่ง ไม่เพียงดำเนินกิจการที่สำคัญภายในประเทศ แต่ยังขยายธุรกิจไปทั่วภูมิภาคหรือทั่วโลก ข้อได้เปรียบของอาณาจักรธุรกิจคือ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ร่วมกัน บุคลากร ความรู้ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี การช่วยเหลือเกื้อกูลและพึ่งพาระหว่างกัน ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทในอาณาจักรธุรกิจเดียวกัน อาณาจักรธุรกิจของซีพี ภายใต้การนำของคุณธนินท์ เจียรวนนท์ เป็นอาณาจักรธุรกิจของไทยที่ครอบคลุมธุรกิจหลากหลายอุตสาหกรรมทั้งด้านการเกษตร อาหาร ค้าปลีก ไอซีที อสังหาริมทรัพย์ และอื่นๆ โดยธุรกิจเกษตรและอาหารนั้นถือว่าอยู่ในระดับแถวหน้าของโลกเลยทีเดียว บริษัทในอาณาจักรธุรกิจที่จดทะเบียนได้แก่ CPF, CPALL และ TRUE เป็นต้น
ขณะที่อาณาจักรธุรกิจของคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ไม่แพ้กัน ทั้งธุรกิจด้านเครื่องดื่ม อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค โรงแรมอสังหาริมทรัพย์ เกษตร เป็นต้น บริษัทจดทะเบียนของกลุ่มได้แก่ BJC, OISHI, SSC รวมถึง ไทยเบฟเวอร์เวจ ที่ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ด้วย อาณาจักรธุรกิจเซ็นทรัลของตระกูลจิราธิวัฒน์ ที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นผู้นำทางด้านค้าปลีก โรงแรมและอาหาร อสังหาริมทรัพย์ บริษัทจดทะเบียนในปัจจุบันคือ CPN, CENTEL, ROBINS
อาณาจักรธุรกิจที่บริหารงานโดยมืออาชีพคือ กลุ่มเอสซีจี ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศด้านผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ซิเมนต์ ปิโตรเคมี กระดาษ โดยขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศมากขึ้น อาณาจักรธุรกิจพลังงาน โรงกลั่น และปิโตรเคมีของกลุ่ม ปตท ได้แก่ PTT, PTTEP, PTTGC, TOP และ BCP นอกจากมีความสำคัญในด้านพลังงานของประเทศอย่างมากแล้ว ในด้านตลาดทุนยังมีมูลค่าตลาดรวมกันถึง 2 ล้านล้านบาทหรือกว่า 20% ของมูลค่าตลาดโดยรวมทีเดียว
อาณาจักรธุรกิจด้านการเงินครบวงจรได้แก่ กลุ่มธนาคารกรุงเทพ กลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ กลุ่มธนาคารกสิกรไทย กลุ่มธนชาติ เป็นต้น อาณาจักรธุรกิจกลุ่มดุสิตเวชการ ที่มีบทบาทโดดเด่นด้านการแพทย์และสุขภาพในปัจจุบันทั้งในประเทศและประเทศในภูมิภาคอาเซียน และอาณาจักรธุรกิจอื่นๆเช่น กลุ่มสหพัฒน์ กลุ่มแลนด์แอนเฮาส์ กลุ่มชิน เป็นต้น จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีอาณาจักรธุรกิจจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว
นักลงทุนรายย่อยที่ไม่ได้เกิดมาเป็นทายาทของเจ้าของอาณาธุรกิจไม่ต้องคิดน้อยเนื้อต่ำใจหรือโทษโชคชะตา เพราะตลาดทุนเปิดกว้างให้นักลงทุนรายย่อยเป็นเจ้าของร่วมกับกิจการที่ดีทั้งในอาณาจักรธุรกิจที่กล่าวมาหรือบริษัทจดทะเบียนที่ยอดเยี่ยมอื่นๆ
ข้อดีสำหรับนักลงทุนรายย่อยคือ เราสามารถเลือกลงทุนกับบริษัทที่มีประวัติการดำเนินธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างยาวนาน รูปแบบธุรกิจที่พิสูจน์แล้ว มีกลุ่มลูกค้าที่มีธุรกรรมต่อกันอย่างต่อเนื่อง มีผู้บริหารที่มีความรู้และเชี่ยวชาญในการจัดการธุรกิจนั้น หากกิจการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานไปในทางลบ เรายังมีโอกาสเปลี่ยนไปลงทุนในกิจการอื่นที่ยอดเยี่ยมและแน่นอนกว่า แต่มีข้อเสียอย่างหนึ่งก็คือ เราต้องจ่ายส่วนเพิ่มของราคา ทั้งนี้ก็เพื่อแลกกับความเสี่ยง การจัดการปัญหาอุปสรรคต่างๆ จนมาถึงวันที่เราลงทุนนั่นเอง
แนวคิดด้านการลงทุนหนึ่งที่น่าสนใจคือ การมองทะลุ (Look Through) กล่าวคือ การลงทุนระยะยาวกับกิจการยอดเยี่ยมอย่างมีนัยสำคัญแล้วเทียบลดสัดส่วนลงในปริมาณที่เราถือครอง หากลงทุนในหลายกิจการแล้วนำมานับรวมกัน ก็เปรียบเสมือนการเป็นเจ้าของอาณาจักรธุรกิจในสัดส่วนที่เราถือครองนั่นเอง ผมขอยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจง่ายดังนี้ เราซื้อหุ้นปริมาณ 1% ของ 4 บริษัทด้านค้าปลีก โรงพยาบาล อาหาร และ ไอซีที สมมติว่าแต่ละบริษัทมีรายได้ปีละ 100, 200, 300, 400 ล้านบาท อาณาจักรธุรกิจของเราจะมีรายได้รวมคือ 1+2+3+4 = 10 ล้านบาทจากสัดส่วน 1% ที่ถือหุ้นอยู่ เรายังใช้หลักการคิดเดียวกันกับ ค่าใช้จ่าย กำไร หนี้ เงินปันผล หรือแม้กระทั่งคำณวนค่า P/E ของอาณาจักรธุรกิจได้เช่นกัน และยังคิดเป็นรายไตรมาสได้ด้วย นี่คือการเป็นเจ้าของอาณาจักรธุรกิจที่ง่ายที่สุดวิธีหนึ่ง
แม้แนวคิดนี้จะไม่เป็นที่นิยมมากนักแต่หากต้องการการวางแผนมรดกเพื่อบุตรหลานในอนาคต การสร้างอาณาจักรธุรกิจเช่นนี้ก็เป็นความคิดที่ดีทีเดียว เพราะคือการมอบกิจการที่ก่อให้เกิดผลิตผลตามที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ชอบที่สุดซึ่งได้กล่าวไว้ในบทความก่อนหน้า ผู้รับมรดกต้องดีใจและไม่ตำหนิโชควาสนาอย่างที่เราเคยประสบในอดีตเพราะความมั่นคงและแข็งแกร่งของอาณาจักรธุรกิจที่ได้รับส่วนขนาดของอาณาจักรธุรกิจนั้น คงต้องขึ้นอยู่กับขนาดพอร์ตลงทุน ตลอดจนการเติบโตของแต่ละกิจการเมื่อเวลาผ่านไป
ในฐานะนักลงทุนเน้นคุณค่า หากวางแผนที่จะสร้างอาณาจักรธุรกิจเป็นมรดกให้บุตรหลาน จะต้องคิด วิเคราะห์ แยกแยะ อย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อได้กิจการที่ยอดเยี่ยม รูปแบบธุรกิจที่ดีและมั่งคง มีศักยภาพแข่งขันในระยะยาว และยังคงอยู่ได้อีกหลายสิบปีหรือตลอดไป มีผู้บริหารเก่งและมีความสามารถพร้อมแผนทรัพยากรบุคคลที่ดีโดยไม่ต้องกังวลว่าบุตรหลานนั้นจะสามารถบริหารอาณาจักรนั้นได้หรือไม่เมื่อวันนั้นมาถึงเราจะภาคภูมิใจที่ได้ส่งมอบมรดกให้รุ่นต่อไป แน่นอนมรดกที่ว่าคือมรดกอาณาจักรธุรกิจไม่ใช่มรดกหนี้ เพราะมรดกหนี้นั้น รัฐบาลแต่ละสมัยได้สร้างไว้ให้พอแล้วครับ !!
จากคุณ |
:
Wild Rabbit
|
เขียนเมื่อ |
:
24 ก.ค. 55 12:56:40
|
|
|
|
|