Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
อึ้ง!อุ้มพืชเกษตร4แสนล. กระเป๋าฉีกปีละแสนล้านบาทต่อเนื่อง ติดต่อทีมงาน

วันอังคารที่ 31 กรกฏาคม 2012 เวลา 21:39 น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ

"กิตติรัตน์" เสียงแข็งยอมขาดทุน  ยันเดินหน้ารับจำนำข้าวทุกเมล็ดต่อ  แจงภายในเดือนก.ย.จะใช้วงเงินที่เหลือเต็มจำนวน 1.7 แสนล้าน ไว้รอรับข้าวที่จะเข้าโครงการอีก 1 แสนตัน  วงในค้านรัฐใช้เงินชดเชยจำนำ 4 แสนล้านบาทไม่คุ้ม  แนะเปลี่ยนวิธีไปลดต้นทุนการผลิต ยกระดับการเกษตรแทนคุ้มค่ากว่า  เปิดตัวเลขรัฐบาลอุ้มสินค้าเกษตรหลักเพียบ แบกภาระขาดทุนปีละกว่าแสนล้านบาท

   โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่ดำเนินการมา 2 รอบการผลิต โดยใช้เม็ดเงินดำเนินการสูงถึง 2.6 แสนล้านบาท กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ว่าอาจสร้างภาระขาดทุนสูงถึงแสนล้านบาท และทำลายกลไกการค้าข้าวไทยที่มีมา โดยระหว่างนี้คณะกรรมการปิดบัญชีโครงการ กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างรอปิดบัญชีย้อนหลังโครงการอุ้มราคาสินค้าเกษตร 13 โครงการ ที่ตกค้างมาหลายปี มียอดภาระต่องบประมาณจำนวนมาก รวมทั้งคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ส่งสัญญาณจะเสนอทบทวนโครงการ เพื่อปิดช่องโหว่ก่อนรับจำนำข้าวรอบใหม่ นั้น

   นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผย หลังจากการประชุมคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (บอร์ด ธ.ก.ส.) ว่า รัฐบาลยังยืนยันว่า จะเดินหน้าในโครงการรับจำนำข้าวขาวที่ 1.5 หมื่นบาท และข้าวหอมมะลิที่ 2 หมื่นบาท โดยเป็นรับจำนำทุกเมล็ด เพราะนโยบายนี้จะช่วยยกระดับรายได้ของชาวนา แม้ว่ารัฐบาลอาจจะขายขาดทุนบ้างก็ตาม อย่างไรก็ตามขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ กำลังอยู่ในระหว่างการระบายข้าวในโกดังออกไป โดยเป็นการขายระหว่างรัฐ (แบบ G to G)

-ก.ย.รับจำนำอีกแสนตัน

    แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า  กระทรวงการคลังในฐานะที่ดูแลการกู้เงิน ช่วงที่ผ่านมาได้กู้เงินระยะสั้นเพื่อชดเชยการรับจำนำให้ ธ.ก.ส. ไป จำนวน 2.69 แสนล้านบาท  ปัจจุบันกู้ไปได้ทั้งสิ้น 9 หมื่นล้านบาท และใช้สภาพคล่อง ธ.ก.ส. อีก 9 หมื่นล้านบาท รวมเป็น 1.8 แสนล้านบาท และที่เหลือจะกู้อีก 1.7 แสนล้านบาท คาดว่าจะใช้หมดเต็มวงเงินภายในช่วงเดือนกันยายนนี้ ตามที่ ธ.ก.ส.รายงานจะมีข้าวเข้ามาเพิ่มอีกหนึ่งแสนตัน  ซึ่งทาง สบน. อยู่ระหว่างเตรียมหาแหล่งเงินกู้ ส่วนการชดเชยการรับจำนำเกินวงเงินที่ตั้งไว้ อยู่ที่ว่ารัฐบาลว่าจะเลือกใช้วิธีการกู้เงิน หรือขายข้าวเพื่อมาชดเชยให้กับ ธ.ก.ส. ต่อไป  

-กระทุ้งเลิกจำนำข้าว

   "ปัจจุบันโครงการรับจำนำภาครัฐ ไม่มีระบบ และไม่มีแผนการขายข้าว เพราะทุกวันนี้ข้อมูลไม่มี ข้าวผลิตแล้วเหลือจริง ๆ เท่าไหร่ก็ไม่มีใครรู้ กระทรวงพาณิชย์จะระบายข้าวในโกดังไหนก็เป็นความลับ จะรู้ก็ต่อเมื่อ ธ.ก.ส. ขาดทุนแล้วแจ้งมาว่าเท่าไหร่  เงิน 3-4 แสนล้านบาทต่อปีอยู่ในหลุมดำ เพราะข้าวตั้งแต่ปี 2547 ก็ยังค้างอยู่ในบัญชี ควรจะทำให้ระบบตรวจสอบให้โปร่งใส ตั้งคณะทำงานระดับชาติมาสะสาง" แหล่งข่าวระบุ  

แหล่งข่าวรายเดิมยังถึงการเสริมสร้างเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรว่า  ต้องใช้งบชดเชยปีละ 3 - 4แสนล้านบาท  และยังรวมถึงการประกันภัยข้าวและพืชผลต่าง ๆ นั้น เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ  ไม่ได้ช่วยทำให้ชีวิตชาวนาทั้งหมดกว่า 2 ล้านคน ดีขึ้นด้วยการชดเชยของรัฐบาล การใช้เงินกู้ลงทุนมาชดเชยไม่คุ้มค่า
   "ถ้ามีการโซนนิ่งใน 1 ปีจะรู้ว่าผลผลิตจะออกมาเท่าไหร่ แต่ปัจจุบันประกาศผลผลิตเท่าไหร่ ก็รับซื้อทั้งหมด ยิ่งเป็นการกดราคาให้ต่ำลงไปอีก  เพราะว่าการที่รับซื้อข้าวมาหมดทั้งตลาด แล้วทำให้ปริมาณข้าวในตลาดมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการซื้อ หวังไปกดดันให้ราคาขึ้นนั้น เป็นเรื่องไม่จริง เพราะประเทศอื่น เช่น  เวียดนาม สามารถปลูกข้าวเก่งกว่าไทย"

   แหล่งข่าวย้ำอีกว่า รัฐบาลควรนำเงินชดเชยปีละหลายแสนล้านบาทนี้ไปลงทุนเรื่องการบริหารจัดการการเพาะปลูกทั้งหมดให้เรียบร้อยในระยะยาว  ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรพื้นที่เพาะปลูก ระบบชลประทาน ระบบการรับซื้อสินค้า  เป็นสิ่งที่ดีกว่าการนำเงินมาลงทุนจ่ายชดเชย เรื่องการเก็บข้าว ถือว่าเป็นการใช้เงินที่ไม่มีแบบแผน  โดยไม่ได้คิดถึงรากเหงาของปัญหา ว่าเกิดจากอะไรและจะแก้ไขปัญหาอย่างไร

  "ทำไมถึงไม่ส่งเสริมให้ชาวนาปลูกข้าวคุณภาพ ที่สามารถขายได้ราคาเพิ่มขึ้น และลดต้นทุนปุ๋ย ยาฆ่าแมลง หรือค่าเช่านา อาทิ ข้าวอินทรีย์ สามารถจำหน่ายได้ทั่วโลก และปัจจุบันราคาจำหน่ายเพิ่มขึ้น 20-40%  และใช้สหกรณ์มาเป็นช่องทางการจำหน่ายก็ได้ ทำไมรัฐบาลถึงไม่ทำระบบนี้รองรับภาคเกษตร"

-ขาดทุนอุ้มสินค้าเกษตรแสนล./ปี

   สำหรับโครงการรับจำนำข้าวเปลือก และการดำเนินงานต่อเนื่องในภารกิจที่รัฐบาลมอบหมายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)ดูแลเสถียรภาพด้านราคาสินค้าเกษตร นั้น สถานะสิ้นเดือนสิงหาคมปี 2554 ภาระหนี้คงค้างที่รัฐบาลต้องชดเชยให้ธ.ก.ส. 1.55 แสนล้านบาท ผลขาดทุน 1.21แสนล้านบาท และเป็นภาระงบประมาณ 1.30 แสนล้านบาท  จากสิ้นปี 2553 ที่สถานะหนี้คงเหลือ 1.66 แสนล้านบาท ผลขาดทุน 9.5หมื่นล้านบาท และเป็นภาระงบประมาณ 1.04 แสนล้านบาท

   ทั้งนี้ หากพิจารณารายละเอียดภาระหนี้คงค้าง ที่รัฐบาลต้องชดเชยเดือนในสิงหาคม 2554 ในจำนวน  1.55 แสนล้านบาทนั้น ประกอบด้วย  หนี้รับจำนำข้าว 1.40 แสนล้านบาท  ผลขาดทุน 1.06 แสนล้านบาท และภาระงบประมาณ 1.15 แสนล้านบาท จากสิ้นปี 2553 ที่มีภาระหนี้คงค้าง 1.66แสนล้านบาท แบ่งเป็นหนี้รับจำนำข้าว1.50 แสนล้านบาท ผลขาดทุน 8.8 หมื่นล้านบาทและภาระงบประมาณ 9.7หมื่นล้านบาท

   ก่อนหน้านี้ ธ.ก.ส.ออกมาแสดงความเป็นห่วง ต่อสภาพคล่องที่จะใช้ในฤดูกาลผลิตข้าวปีการผลิต 2555/2556 ในช่วงปลายปี  เนื่องจากยังไม่ได้ระบายข้าวที่อยู่ในโครงการรับจำนำที่ผ่านมา เพื่อนำเงินส่งคืนธ.ก.ส.

    แหล่งข่าวจาก ธ.ก.ส. เปิดเผยเพิ่มเติมว่า จากวงเงินอุดหนุนเพื่อแทรกแซงสินค้าเกษตรของรัฐบาลยิ่งลักษณ์  ชินวัตร ที่เข้ามาบริหารประเทศเมื่อเดือนสิงหาคม 2554 ได้มีกรอบวงเงินให้ ธ.ก.ส.ใช้ในการดำเนินการทั้งสิ้น 3.59 แสนล้านบาท แยกเป็นเงินที่กระทรวงการคลังจัดหา 2.69 แสน ล้านบาท (โดยทยอยกู้เป็นล็อตๆ) และเงินของ ธ.ก.ส.เองอีก 9 หมื่นล้านบาท

   ขณะนี้วงเงินดังกล่าวได้ใช้ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2554/55 ไปแล้วจำนวน 1.6 แสนล้านบาท ปริมาณข้าวเปลือกเข้าโครงการประมาณ 7 ล้านตัน (เหลือข้าวนาปีของภาคใต้สิ้นสุด 31 กรกฎาคม 2555) และใช้ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2555 เป้าหมาย 11 ล้านตัน สิ้นสุด ณ วันที่ 27 กรกฎาคม 2555 สามารถรับจำนำได้แล้วปริมาณ 9.8 ล้านตัน ใช้เงินไป 1.45 แสนล้านบาท (สิ้นสุดโครงการ 15 กรกฎาคม ส่วนภาคใต้สิ้นสุด 31 ตุลาคม 2555)

-เหลือ 6 หมื่นล.ดูแลสินค้าเกษตร

   นอกจากนี้ในวงเงินเดียวกันได้ใช้ในการโครงการรับจำนำมันสำปะหลัง เป้าหมาย 10 ล้านตัน วงเงิน 2.82 หมื่นล้านบาท สิ้นสุดโครงการแล้วเมื่อ วันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา จำนำได้ทั้งสิ้น 9.7 ล้านตัน ใช้เงินไป 2.78 หมื่นล้านบาท ต่อมาเพื่อใช้ในโครงการผลักดันราคายางแผ่นดิบเป้าหมาย 120 บาท/กิโลกรัม วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท (ม.ค.2555- มี.ค.2556)  รวมทั้งมีโครงการให้ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และองค์การคลังสินค้าไปแทรกแซงซื้อมันเส้นจากลานมัน โครงการรับซื้อข้าวหอมมะลินอกฤดูกาล แต่ทั้งสองโครงการไม่เดินหน้า รวมถึงโครงการให้ อคส.นำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านมาขายให้ผู้ประกอบการอาหารสัตว์ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ดำเนินการ และยังได้กันวงเงินอีก 500 ล้านบาท ไว้ให้กับโครงการแทรกแซงราคาสับปะรด  แต่ปัจจุบันโครงการยังมีปัญหา และยังไม่ได้ใช้วงเงิน

   นอกจากหลายสินค้าที่ใช้กรอบวงเงินเดียวกันข้างต้นแล้ว ยังมีโครงการที่ใช้วงเงินของคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ได้แก่ โครงการแทรกแซงราคากุ้งตกต่ำ ปริมาณ 3 หมื่นตัน วงเงิน 500 ล้านบาท (มิ.ย.-ส.ค.2555)  แทรกแซงหอมแดง 1.02 หมื่น ตัน วงเงิน 153 ล้านบาท (สิ้นสุดโครงการไปแล้ว)

   "สรุปเวลานี้จากวงเงิน 3.59 แสนล้านบาท รัฐบาลยังมีวงเงินเหลือเพื่อแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรอีกราว 5-6 หมื่นล้านบาท โดยเป็นส่วนของที่กระทรวงการคลังค้ำประกันให้เรากู้ แต่ในส่วนของธ.ก.ส.ได้หมดไปแล้ว ซึ่งเขาจะค้ำแค่ปีงบประมาณ 2555 นี้เท่านั้น ส่วนปีงบ 2556 เขาจะต้องพิจารณาวงเงินค้ำประกันให้ ธ.ก.ส.กู้ใหม่"

-แลกหมัดจำนำข้าว

   จากภาระงบประมาณในวงเงินสูงของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกราคาสูงของรัฐบาล (ข้าวเปลือกเจ้า 1.5 หมื่นบาท/ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลิ 2 หมื่น บาท/ตัน) ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงสัปดาห์นี้ จึงเกิดการปะทะทางความคิดเห็นกันอย่างรุนแรง  เริ่มจากภายหลังจากที่สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ได้ออกมาระบุช่วงครึ่งแรกของปี 2555 ไทยได้เสียแชมป์ส่งออกข้าวให้กับอินเดีย และเวียดนามไปแล้ว เป็นผลจากโครงการรับจำนำข้าวราคาสูงของรัฐบาล ส่งผลต่อราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่งขันมาก และขายยาก ซึ่งทั้งปีนี้สมาคมคาด ไทยจะส่งออกข้าวได้เพียง 6.5 ล้านตัน จากปีที่แล้วส่งออกสูงถึง 10.6 ล้านตัน

   ในเรื่องดังกล่าวผู้บริหารของกระทรวงพาณิชย์ ได้ออกมาตอบโต้ทันควันว่าอย่าเพิ่งด่วนสรุป และประกาศอย่างมั่นใจว่า ในปีนี้ไทยจะยังสามารถส่งออกข้าวได้ตามเป้าหมายที่ 9.5 ล้านตันอย่างแน่นอน  เพราะรัฐบาลได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ขายข้าวจีทูจี (รัฐบาลต่อรัฐบาล)ให้กับหลายประเทศรวมปริมาณกว่า 4.5 ล้านตัน และจะทยอยส่งมอบในเดือนสิงหาคมนี้

   ขณะที่สื่อต่างชาติได้ออกมาระบุว่า รัฐบาลไทยได้ใช้เงินถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 6 แสนล้านบาท ในการแบกรับภาระรับจำนำข้าว ซึ่งการรับจำนำราคาสูงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทยเสียแชมป์การส่งออก หนทางเดียวที่จะแก้ปัญหาได้คือ รัฐบาลต้องยกเลิกการรับจำนำ

   ในเรื่องนี้นายบุญทรง  เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ออกมายืนยันว่า รัฐบาลยังมีเงินอีกหลายหมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2555/56 ทุกเมล็ด โดยจะเริ่มเดือนตุลาคมศกนี้  และในเดือนสิงหาคมศกนี้จะทยอยส่งมอบข้าวจีทูที ซึ่งจะทำให้โครงการมีเงินทุนมาหมุนเวียนเพิ่มขึ้น และยืนยันจะใช้เงินต่ำกว่าโครงการประกันรายได้ของรัฐบาลชุดก่อน


   ส่วนนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน อดีตนายกรัฐมนตรีได้ออกมาโต้แย้งว่า โครงการประกันรายได้ สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้มากกว่าโครงการรับจำนำถึง 3 เท่า แต่ใช้เงินเพียงครึ่งหนึ่งของโครงการรับจำนำเท่านั้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,762  2-4  สิงหาคม พ.ศ. 2555

 
 

จากคุณ : Wild Rabbit
เขียนเมื่อ : 4 ส.ค. 55 18:43:00




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com