|
เอามาฝากนะครับ -------- JULY 24, 2012 POSTED BY KOBSAK (ADMIN) ถอดรหัสธนาคารกลาง คอลัมน์ ไขปัญหาเศรษฐกิจกับดร.กอบ
สิ่งที่คนตั้งคำถามบ่อยครั้ง ก็คือ สหรัฐจะมีมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องรอบใหม่ ที่เรียกว่า QE3 หรือไม่ โดยเราจะพบว่า ทุกครั้งที่คุณ Bernanke ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐออกมาพูดหรือให้สัมภาษณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐพร้อมที่จะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมหากมีความจำเป็นเกิดขึ้น ตลาดก็มักจะตีความว่า การอัดฉีดสภาพคล่องรอบใหม่ของสหรัฐกำลังจะเกิดขึ้นแล้ว
หลังจากนั้น นักลงทุนก็จะแย่งกันเข้าไปเก็งกำไรในสินทรัพย์บางอย่าง เช่น หุ้น ทองคำ สินค้าโภคภัณฑ์ ทำให้ราคาพุ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ท้ายสุด หลังจากลุ้นกันไปสักพัก เมื่อไม่มีสัญญาณเพิ่มเติมจากธนาคารกลาง ไม่มีการอัดฉีดสภาพคล่องรอบใหม่ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ราคาก็มักจะตกลงมาที่เดิม วนเวียนไปมาเช่นนี้ บ่อยครั้งมาก
หรือบางครั้ง เมื่อนักลงทุนเห็นตัวเลขเศรษฐกิจประกาศออกมาแล้วไม่ดี โดยเฉพาะตัวเลขการจ้างงาน การว่างงาน การผลิตของสหรัฐ ตลาดก็ชอบทำตัวแปลกๆ โดยตอนเช้าหลังจากเห็นตัวเลขแล้ว ตลาดก็ตก เพราะกลัวเศรษฐกิจจะไปไม่ได้ บริษัทจะไม่มีรายได้อย่างที่เคยคิด แต่พอเวลาผ่านไปสักพัก ความโลภก็เข้าสิง เพราะคิดได้ว่า ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีจริง ธนาคารกลางก็น่าจะมีมาตรการออกมาอัดฉีดเพิ่มเติม QE3 จะมา ตลาดก็ปรับตัวพุ่งขึ้นอีกครั้ง
เรียกง่ายๆ ว่า ถ้าเราตามตลาดอย่างใกล้ชิด ก็จะเหนื่อยใจ สับสนอย่างยิ่ง ไม่รู้จะไปทางไหนดี
แล้วจะถอดรหัสธนาคารกลางอย่างไรดี จึงจะแปลความได้ถูกต้อง ไม่ต้องเหนื่อยใจไปมา
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า (1) สิ่งที่คุณ Bernanke พูดออกมานั้น เป็นสิ่งที่ต้องพูดอยู่แล้ว ธนาคารกลางที่ดีก็ต้องพูดอยู่เสมอว่า หากมีอะไรเกิดขึ้น ก็พร้อมที่จะเข้าไปแก้ไข ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี เราพร้อมจะลดดอกเบี้ย ถ้าเศรษฐกิจดี เราพร้อมขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งประโยคเหล่านี้ ไม่ได้มีความหมายมากไปกว่าการพูดว่า เราจะทำหน้าที่ของเราด้วยมาตรการที่เหมาะสมเมื่อเวลามาถึง ซึ่งไม่ว่าใครเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางของสหรัฐ หรือธนาคารกลางประเทศไหนๆ ก็ต้องพูดเหมือนกัน (จะให้พูดไปได้อย่างไรว่า หากมีอะไรเกิดขึ้น เราจะไม่ทำอะไร ขอให้ทุกคนโชคดี)
ดังนั้น ต้องสรุปฟันธงว่า ถ้าได้ยินใครพูดเช่นนี้ ต้องถือว่าไม่ได้พูด เพราะพูดสิ่งที่เป็นหน้าที่ และเป็นหลักการที่ถูกต้อง เราจึงไม่ควรต้องไปตื่นเต้นอะไรมากเกี่ยวกับคำพูดดังกล่าว (แต่ที่ตลาดชอบตื่นเต้นกับประโยคเหล่านี้ ก็เพราะตลาดเสพ QE จนติดแล้ว ชอบมาก อยากได้อีก พยายามลุ้น พยายามกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐเอาออกมาให้เสพอีก ดังนั้น พอได้ยินอะไรนิด ก็ตีความไปมากมาย พอไม่มีจริง ก็เสียใจ เทขายอีกรอบ)
(2) ธนาคารกลางต้องทำตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ในกฏหมายของตน หรือตาม Mandates ของตน โดยกฏหมายทุกประเทศจะเขียนไว้ชัดว่า ธนาคารกลางของตนต้องทำอะไรบ้าง เช่น ธนาคารกลางสหภาพยุโรปมีหน้าที่อย่างเดียวคือ ดูแลเงินเฟ้อ แต่ธนาคารกลางสหรัฐเขียนไว้ชัดว่า ต้องดูแล 2 เรื่อง คือ การจ้างงานที่สูงสุดสอดรับกับระดับเงินเฟ้อที่มีเสถียรภาพ และการดูแลเงินเฟ้อไม่ให้มากหรือน้อยจนเกินไป (ซึ่งล่าสุดประกาศชัดว่าให้อยู่ประมาณ 2%)
ในจุดนี้ ถ้ายังไม่มีปัญหากับ Mandates ทั้งสอง ก็คือ การจ้างงานยังคงปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ เศรษฐกิจยังไปได้ เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ต้องการ ก็อย่าไปคาดหวังว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะอัดฉีดอะไรเพิ่มเติม เพราะถ้าพูดไปแล้ว เขายังสอบผ่านในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมา จะให้เขาไปทำอะไรนอกเหนือไปจากหน้าที่ปกติ (ไปเต้นแร้งเต้นกา ไม่รักษาภาพลักษณ์ของการเป็นสุภาพบุรษ/สุภาพสตรี) ก็คงจะไม่เหมาะสม แต่ถ้าเมื่อไรเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มไปไม่ได้ คนตกงานมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เงินเริ่มฝืดอย่างเห็นได้ชัด ตรงนี้จึงจะเป็นจุดที่เราควรค่อยกลับมาคิดว่า QE3 จะมีโอกาสเกิดขึ้นจริง
(3) การตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐ ทำผ่านคณะกรรมการ และในคณะกรรมการมีทั้งผู้เห็นด้วยไม่เห็นด้วย ซึ่งในช่วงที่มีการอัดฉีดรอบที่สองออกมานั้น มีกรรมการหลายท่านไม่เห็นด้วย และคิดว่าไม่น่าจะมีผลมากนัก แต่จำใจต้องตามน้ำไป ด้วยเหตุนี้ ในรอบนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่า กรรมการบางท่านออกมาย้ำเสมอว่า ถ้าจะมี QE3 จริง ก็ต้องขอให้กรรมการที่อยากทำ พิสูจน์ความจำเป็นให้เห็นชัดว่า ต้องทำจริงๆ ไม่มีทางเลือก (และต้องชัดยิ่งกว่าตอนที่ทำรอบที่สอง) ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ทำแล้วจะมีผลสำเร็จอย่างที่โฆษณาไว้ (เพราะรอบที่สอง ท้ายสุดแล้ว ไม่ได้ผลมากนัก ดอกเบี้ยไม่ได้ลงอะไรมาก) และยิ่งตอนนี้ ดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐอยู่ต่ำมากแล้ว การอัดฉีดจะไปช่วยอะไรได้ และน่าจะช่วยได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งก็หมายความว่า ถ้าจะเอาชนะใจกรรมการฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกันจริงๆ แล้ว ก็มีทางเดียว ก็คือต้องรอให้มีปัญหาเรื่อง Mandates อย่างเห็นได้ชัด จนไม่สามารถแย้งได้
ก็หวังว่า คำตอบเหล่านี้จะช่วยไขปัญหา ความข้องใจของหลายคนเกี่ยวกับ พฤติกรรมที่แปลกๆ ของตลาด และโอกาสความเป็นไปได้ของการอัดฉีดสภาพคล่องรอบใหม่ของสหรัฐไปได้บางส่วนครับ
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ประจำวันที่ 12 ก.ค. 55 คอลัมน์ ไขปัญหาเศรษฐกิจกับดร.กอบ
จากคุณ |
:
รูปเงาะเดินสบาย
|
เขียนเมื่อ |
:
7 ส.ค. 55 05:44:14
|
|
|
|
|