Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
นับถอยหลัง !!..ในวันที่ "เสริมสุข" ไม่มี "เป๊ปซี่" ติดต่อทีมงาน

ธุรกิจ : BizWeek
วันที่ 20 สิงหาคม 2555 09:00
โดย : ลมลเพ็ชร อภิสิทธิ์นิรันดร์

หลังเสริมสุขหมดสัญญากับเป๊ปซี่ ในเดือนพ.ย.กูรูวิเคราะห์เจ้าสัวเจริญ เดินแผนต่อยอดธุรกิจน้ำดำ ดึงแบรนด์น้ำดำเอฟแอนด์เอ็มอต่อยอดความมั่งคั่ง


  เจาะลึกดีลที่ยังหักกันไม่ลงระหว่างบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือไทยเบฟ (TBEV) ของตระกูลสิริวัฒนภักดี  คองโกลเมอเรทรายใหญ่เจ้าของอาณาจักร "แสนล้าน" ในไทย กับ "ไฮเนเก้น" ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่อันดับ 3 ของโลก นอกเหนือจากการช่วงชิงหุ้นใหญ่ในบริษัทเอเชีย แปซิฟิก บริวเวอรีส์ หรือเอพีบี ผู้ผลิตเบียร์ไทเกอร์และเป็นหนึ่งในบริษัทผลิตเบียร์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียแปซิฟิก มีกิจการอยู่ใน 14 ประเทศในเอเชีย แล้ว

ในฟากของธุรกิจ "นอนแอลกอฮอล์"  (เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์) ยังเป็นที่สิ่งผู้บริหารไทยเบฟ พูดชัดว่า ต้องการจะรุกตลาดในเอเชียแปซิฟิก กลายเป็นเหตุผลแรกๆ ด้วยซ้ำของการเข้าซื้อกิจการในต่างแดน ผ่านการเข้าถือหุ้นในบริษัทเฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ หรือเอฟแอนด์เอ็น บริษัทแม่ของเอพีบี  ซึ่งมีธุรกิจหลัก 3 สายที่เข้มแข็ง ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม อสังหาริมทรัพย์ และการพิมพ์ โดยมีโรงเบียร์ 31 แห่ง ใน 15 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และยังเป็นบริษัทเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์และมาเลเซีย มีผลิตภัณฑ์หลากหลาย โดยครองตำแหน่งผู้นำในตลาดที่สำคัญ

เมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา ไทยเบฟ ระบุในเอกสารที่ยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ว่า บริษัทได้ซื้อหุ้นเอฟแอนด์เอ็น ประมาณ 29.52 ล้านหุ้น เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ส่งผลให้ไทยเบฟ มีสัดส่วนการถือครองหุ้นในเอฟแอนด์เอ็นเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 26.2% จากเดิม 24.1%

กลายเป็น "ผู้ถือใหญ่ที่สุด" ในเอฟแอนด์เอ็น

ทำไม !!!?  เจ้าสัว เจริญ สิริวัฒนภักดี มหาเศรษฐีอันดับ 2 ของประเทศ อันดับที่ 184 ของโลก ถึงอยากครอบครองเอฟแอนด์เอ็น หนักหนา และที่สำคัญต้องได้ ใน "ยามนี้"  (ก่อนเดือน พ.ย. 55)

หนึ่งในกูรูในธุรกิจเบฟเวอเรจ ฟันธงลงไปว่า..ก็เพราะพอร์ตของ เอฟแอนด์เอ็น มี "ธุรกิจน้ำดำ" (ซอฟท์ดริ๊งค์) ภายใต้แบรนด์ มายด์ โคล่า (My Cola) น้ำดำน้องใหม่ รวมถึงธุรกิจซอฟท์ดริ๊งค์อื่นๆ ซ่อนอยู่ในนั้น  !

ซึ่งเป็นสิ่งที่ "เสริมสุข" ในวันที่ไม่มี "เป๊ปซี่" ต้องการต่อยอด จากช่องทางโลจิสติกส์ที่เข้มแข็งกว่า 3 แสนแห่งในไทย ของเสริมสุข

หากยังจดจำกันได้กับดีลประวัติศาสตร์ที่เขย่าวงการน้ำดำในไทยเมื่อปีก่อน ที่สินค้าน้ำดำผูกขาดตลาดในไทย โดยโกลบอลแบรนด์จาก 2 ค่าย คือ โคคา โคลา (โค้ก) และ เป๊ปซี่ ในคราวที่เกิดกรณีข้อพิพาททางธุรกิจระหว่างเสริมสุข กับ เป๊ปซี่ โค อิงค์ จนลงเอยด้วยการ “ปิดฉาก” ธุรกิจน้ำดำที่ดำเนินการมานานกว่า 58 ปี ตอนจบของเสริมสุข คือ การเข้ามาอยู่ภายใต้อาณาจักร "ช้าง" ตัวใหญ่บึ้ม อย่างไทยเบฟ กับเม็ดเงินซื้อกิจการทั้งทางตรงและผ่านนอมินี เป็นเงินกว่า 15,000 ล้านบาท

นี่คือ การรุกธุรกิจนอนแอลกอฮอล์ของกลุ่มไทยเบฟที่ต้องการต่อยอดไปยังเครื่องดื่มในกลุ่มซอฟท์ดริ๊งค์ (น้ำดำ) ที่ปัจจุบันมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง คงต้องรอดูความเคลื่อนไหวหลังวันที่ 1 พ.ย. 2555 (อีกไม่ถึง 3 เดือนจากนี้) ที่พันธสัญญาระหว่างเสริมสุข กับ เป๊ปซี่ โค อิงค์ จะหมดลง ไทยเบฟจะเดินเกมธุรกิจน้ำดำอย่างไร

บนความเป็นไปได้อย่างมาก ว่า น่าจะนำแบรนด์น้ำดำรายอื่นมาต่อยอด !

แหล่งข่าวจากเสริมสุข ยืนยันว่า ไทยเบฟมีแผนที่จะทำธุรกิจน้ำดำมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะตลาดนี้ในไทยมีธุรกิจน้ำดำอยู่เพียง 2 รายใหญ่ที่ครองตลาด (โค้กกับเป๊ปซี่) ซึ่งผูกขาดตลาดมาหลายทศวรรษ ก่อนจะมีผู้เล่นหน้าใหม่อย่างบิ๊กโคล่า ธุรกิจน้ำดำสัญชาติเปรู แต่เจ้าของถือสัญชาติสเปน เข้ามาทำการตลาดเมื่อ 4-5  ปีที่ผ่านมา โดยประสบความสำเร็จจากการทำตลาดด้วยกลยุทธ์ "ป่าล้อมเมือง" สร้างยอดขายในตลาดภูธรก่อนตีโอบเข้ามาในตัวเมือง จนสามารถเบียด 2 ผู้เล่นในตลาดได้อย่างอัศจรรย์

สิ่งนี้เองที่ทำให้ทำเบฟมองว่า..น่าจะทำได้เช่นเดียวกัน จากช่องทางการจัดจำหน่ายที่เข้มแข็ง

"เรื่องการตลาดไม่น่าจะเป็นปัญหาสำหรับไทยเบฟ เพราะมีกำลังพออยู่แล้ว เหลืออยู่ที่ว่าจะใช้แบรนด์อะไรมาต่อยอด ถ้าใช้แนวทางนี้ (ใช้แบรนด์ เอฟแอนด์ เอ็ม) จะทำให้ธุรกิจใหม่ในกลุ่มซอฟท์ดริ๊งค์เดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับการทำแบรนด์เองที่ต้องใช้เวลา เรียกว่าต้องเริ่มจากศูนย์"

สอดคล้องกับความเห็นของ ชนินทร์ เทียนเจริญ อดีตผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท อาเจไทย จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มน้ำดำบิ๊กโคล่า เขาถือเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการปลุกปั้นแบรนด์นี้ให้ติดตลาด แต่ปัจจุบันผันมานั่งเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไอเวฟเวอเรจ โดยเขาให้ความเห็นว่า ตลาดน้ำอัดลมในปัจจุบันมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 10-15% เมื่อเทียบกับตลาดเครื่องดื่มทั้งหมดที่มีการเติบโตในช่วงครึ่งปีแรกที่ 20% โดยเห็นว่าตลาดน้ำอัดลมยังมีโอกาสเติบโตได้มากกว่านี้ เพราะเมืองไทยอากาศร้อนอบอ้าว ทำให้ผู้บริโภคนิยมดื่มเพื่อดับกระหาย โดยคาดการณ์ตลาดในช่วงครึ่งหลังของปีน่าจะโตได้อีก 14-15%

นอกจากนี้ เขายังเชื่อว่าหลังสัญญาเสริมสุขกับเป๊ปซี่หมดลงในปลายปีนี้ น่าจะทำให้ตลาดเครื่องดื่มในประเทศคึกคักมากขึ้นอีกรอบ จากการเข้ามาเล่นของไทยเบฟ โดยจะเห็นผู้เล่นรายใหญ่ 2 รายอย่างชัดเจน นั่นคือ กลุ่มไทยเบฟที่เก็บเสริมสุขไว้ในพอร์ต กับทางเป๊ปซี่ โค อิงค์ ที่ไปจับมือเป็นพันธมิตรกับกลุ่มสิงห์ ของตระกูลภิรมย์ภักดี ที่จะใช้ช่องทางการตลาดของสิงห์ในการทำตลาดน้ำดำ

กลายเป็นการเปิดศึกแบรนด์น้ำดำ โดยมีสองตระกูลใหญ่ "คู่กัดตลอดกาล" ในธุรกิจเบียร์ อย่างสิริวัฒนภักดี เจ้าของเบียร์ช้าง กับตระกูลภิรมย์ภักดี เจ้าของเบียร์สิงห์ เป็นผู้กรุยทางโลจิสติกส์ หัวใจธุรกิจค้าปลีก

ขณะที่ "โค้ก" เอง ก็ทำตลาดต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่คงจะเป็นงานที่หนักขึ้น เพราะจะมีน้ำดำ "รายใหม่" เพิ่มขึ้นมาในตลาด

“การไล่ซื้อหุ้นระหว่างไทยเบฟกับไฮเนเก้น ต้องดูว่าใครจะชนะใครจะได้หุ้นไป แต่ผมมองว่ากลุ่มไทยเบฟเองไม่ยอมแพ้ง่ายๆ หรอก เพราะแบรนด์นี้ (ไทเกอร์) เป็นแบรนด์ที่ขายดีอันดับต้นๆ ในมาเลเซียและสิงคโปร์ ส่วนตัวผมมองเห็นตั้งแต่ต้นแล้วว่าเขาต้องการต่อยอดธุรกิจน้ำดำในไทยมากกว่าเบียร์ ซึ่งเอฟแอนด์เอ็นก็ผลิตอยู่ด้วย ซึ่งง่ายต่อการทำธุรกิจของไทยเบฟในส่วนที่จะรุกไปธุรกิจใหม่ คือ พวกซอฟท์ดริ๊งค์ ที่เขาอยากจะรุกให้มากขึ้น หลังจากธุรกิจในส่วนของแอลกอฮอล์ (เหล้า-เบียร์) ไปได้สวยแล้ว”

ชนินทร์ ยังมองว่า ยุทธศาสตร์ของไทยเบฟในการซื้อแบรนด์มาต่อยอดธุรกิจในอาเซียนนั้น มองลงไปในตัวแบรนด์แล้วจะเห็นว่ามีเพียงไม่กี่แบรนด์ที่เป็น "อาเซียน แบรนด์" จริงๆ อาทิเช่น ไทเกอร์ เอฟแอนด์เอ็น และซานมิเกล  

“ไทเกอร์เป็นเบียร์ที่ขายดีอันดับหนึ่งในอาเซียน ซึ่งทางไฮเนเก้นเป็นเจ้าของอยู่แล้ว บอกอยู่แล้วว่าไฮเนเก้นจะกระทบแค่ไหน ถ้าเขาเสียแบรนด์นี้ไป”

ส่วนความเคลื่อนไหวในตลาดเครื่องดื่มในไทยนั้น ชนินทร์ ระบุว่า มีความคึกคักมาก ตลาดในภาพรวมโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการที่ผู้เล่นหลายรายทำตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันในตลาดชาเขียว โดยมีผู้เล่นหลักอย่างโออิชิ-อิชิตัน (กับกระแสข่าวขายเหล้าพ่วงชาเขียว-โออิชิ) ซึ่งช่วยกระตุ้นตลาดในภาพรวมได้มากขึ้น

"ผมเชื่อว่าตลาดเครื่องดื่มในไทยจะคึกคักกว่านี้เมื่อดีลเสริมสุขกับเป๊ปซี่จบลง เพราะทราบว่าขณะนี้ทั้งไทยเบฟ และสิงห์ต่างก็รอให้ดีลนี้ยุติลง กลุ่มสิงห์กำลังเพิ่มไลน์การผลิตพวกขวดพลาสติกและกระป๋องเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งก็คงจะป้อนให้กับเป๊ปซี่ โค ที่เลิกใช้เสริมสุขในการผลิตและกระจายสินค้าให้ อีกทั้งในอนาคตบรรจุภัณฑ์ที่มาจากแก้วก็จะลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากวัตถุดิบหายากขึ้น"

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ตลาดรวมเครื่องดื่มในไทยในช่วงครึ่งปีแรกมีอัตราการเติบโตที่ 20%  จากมูลค่าตลาดรวม 120,000 ล้านบาท ตลาดน้ำอัดลมโตที่ประมาณ 10-15%  คิดเป็นมูลค่า 38,000 ล้านบาท คิดเป็น 70% ของตลาด รองลงมา ได้แก่ ตลาดชาเขียว โตที่ 20-25% คิดเป็นมูลค่า 18,000-20,000 ล้านบาท ตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง มีอัตราการเติบโตที่ประมาณ 4.5%  ทั้งปีไม่น่าจะเกิน 6%  โดยตลาดนี้มีมูลค่าราว 18,000 ล้านบาท  และตลาดฟังชั่นนอลดริ๊งค์ มีอัตราการเติบโตประมาณ 6-7%  หรือคิดเป็นมูลค่า 3,000 ล้านบาท  แต่ในตลาดประเภทเสริมความงาม หรือ Beauty Drink  นั้นติดลบลงไปแล้วกว่า 40% เนื่องจากตลาดนี้มีการแข่งขันกันสูงมาก จากการที่มีแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามา อาทิเช่น Doctor Brand (เช่น กิฟฟารีน) เข้ามาทำตลาดและแย่งมาร์เก็ตแชร์ในส่วนนี้ไป

แหล่งข่าวรายหนึ่งในวงการโลจิสติกส์รายใหญ่ ระบุว่า หากลองย้อนไปดูประวัติความเกี่ยวเนื่องระหว่างไทยเบฟกับกลุ่มเอฟแอนด์เอ็นแล้วจะพบว่า ทั้งคู่เคยเป็นพันธมิตรทางการค้ากันมาก่อน โดยบีเจซีร่วมกับโอเว่น อิลลินอยส์ อิงค์ (ผู้ผลิตขวดแก้วรายใหญ่ที่สุดในโลก) เข้าซื้อกิจการโรงงานผลิตแก้วที่ใหญ่ที่สุดมาเลเซียเมื่อปี 2553 กำลังการผลิต 165,985 ตันต่อปี ชื่อโรงงานมลายากลาส โปรดักท์ เอสดีเอ็น บีเอชดี ตั้งอยู่ที่เมืองยะโฮ โดยมีเอฟแอนด์เอ็นเป็นลูกค้ารายใหญ่ มลายากลาสฯ ยังผลิตขวดแก้วและกระป๋องป้อนให้กับไฮเนเก้น

"กระป๋องเบียร์ของไทเกอร์ ก็ยังให้ทางบีเจซีเป็นผู้ผลิตให้ รวมทั้งผลิตขวดเบียร์รูปแบบใหม่ให้กับไฮเนเก้น ที่กำลังจะออกมาในเร็วๆ นี้ ส่วนในดีลการซื้อหุ้นเอฟแอนด์เอ็น ทางเอฟแอนด์เอ็น เป็นคนมาชวนไทยเบฟให้เข้าไปซื้อหุ้นมานานแล้ว"  

เขายังระบุด้วยว่า เจ้าสัวเจริญ "ฝันใหญ่" อยากจะเห็นธุรกิจในกลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น หรือ ทีซีซี กรุ๊ป ทุกสายธุรกิจ ที่ประกอบด้วย 4 สาย ใน 4 บริษัทธงนำ คือ 1. สายธุรกิจเครื่องดื่ม ที่มีไทยเบฟ เป็นธงนำ 2. สายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่มีทีซีซี แลนด์ เป็นธงนำ 3. สายธุรกิจอุตสาหกรรม การค้าและสินค้าอุปโภคบริโภค ที่มีเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ เป็นธงนำ และ 4. สายธุรกิจประกันและเช่าซื้อ ก็มี ทีซีซี แคปปิตอล เป็นธงนำ  "ติดท็อปทรี" (1 ใน 3) ของธุรกิจนั้นๆ ในแต่ละประเทศที่เข้าไปลงทุนในอาเซียน

ส่วนเป้าหมายที่ "สูงกว่า" นั้น คือ การเป็น "ท็อปทรี" ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในแง่ของการเป็นกลุ่มบริษัทที่มียอดขายสูงสุด

จากเป้าหมายที่ว่านี้ ทำให้เชื่อได้ว่าจากนี้ไป เราจะเห็นธุรกิจของเจ้าสัวเจริญ ภายใต้ทีซีซี กรุ๊ป รุกออกไปแผนขยายอิทธิพลทางการค้าในต่างแดนอีกหลายดีล โดยใช้การซื้อและควบรวมกิจการ (Mergers & Aquicitions - M&A) หรือโตอย่างปัจจุบันทันด่วน ฐานที่มีเงินสดที่ได้จากธุรกิจเหล้า-เบียร์ จำนวนมาก

นี่คือ ก้าวกระโดดกลุ่มทุนไทย สู่  โกลบอล ที่ห้ามกะพริบตา
--------------------------------------------------------------------
ต่างคนต่างชก บนเป้าหมายเดียวกัน "ท็อปทรี"

กับเป้าหมายของเจ้าสัวเจริญที่ประกาศกับผู้บริหาร และคนในตระกูล (ลูกชาย ลูกสาว ลูกเขย) ว่า จะขอเป็น "ท็อปทรี" ในแต่ละประเทศที่เข้าไปลงทุน โดยเฉพาะในอาเซียนนั้น "อัศวิน เตชะเจริญวิกุล" เขยเล็กของตระกูลสิริวัฒนภักดี (สามีฐาปนี สิริวัฒนภักดี) ผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากพ่อตา ให้นั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) อีกกล่องดวงใจของทีซีซี กรุ๊ป เมื่อต้นปี 2551 ขยายความในเรื่องนี้ว่า พ่อตาไม่เกี่ยงว่า กลุ่มธุรกิจไหนจะต้องออกไปลงทุนในต่างประเทศก่อนหรือหลัง ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละกลุ่มธุรกิจเป็นหลัก


เรียกว่า .."ใครพร้อมก่อน มีสิทธิก่อน"

โดยมีกลยุทธ์หลักร่วมกันคือการซื้อและควบรวมกิจการ แต่ไม่ถึงกับตั้งเป้าหมายว่า "แต่ละปีจะต้องทำได้กี่ดีล" เขาระบุ

“ทิศทางการทำธุรกิจของแต่ละบริษัท เหมือนต่างคนต่างออกไปชก แต่จริงๆ ก็อยู่ภายใต้นโยบายเดียวกัน”
ส่วนความร่วมมือ (ซินเนอร์ยี่) ระหว่างกลุ่มธุรกิจ เป็นเรื่องที่ ทีซีซี กรุ๊ป ทำกันอยู่แล้ว แม้ว่าจะลงทุนในหรือต่างประเทศ ก็ตาม เขาบอก  

เช่น การแชร์ข้อมูล หรือการแนะนำ อ้างอิง ลูกค้าให้กับบริษัทในกลุ่ม ในลักษณะ  “Arm 's Length Agreement”  เช่น ทีซีซี เข้าไปทำธุรกิจกาแฟ หรือปลูกยางพาราในประเทศเพื่อนบ้าน ก็มีบริษัทในกลุ่มแนะนำเราเข้าไปช่วยในเรื่องการขนส่งกระจายสินค้า เป็นต้น เขายกตัวอย่าง

ส่วนธุรกิจกระจายสินค้า หรือการขนส่ง (โลจิสติกส์) ที่จะเห็นว่าบางกลุ่มธุรกิจมีความซ้ำซ้อนกันอยู่บ้าง (ไทยเบฟ กับ บีเจซี) ในเรื่องนี้ อัศวิน บอกว่า เป็นเรื่องยากที่สองบริษัทนี้จะรวมกัน เพราะโลจิสติกส์ต่างเป็นหัวใจหลักของธุรกิจ (Core Function) ที่จะยากจะ Out Source ระหว่างบริษัทในกลุ่ม เพราะจะมีความเสี่ยงสูงต่อธุรกิจ

"ถ้ารวมกันจะเสี่ยงสูง แต่ละบริษัทย่อมมีความเข้าใจในธุรกิจของตนเองมากกว่า มี Core Business ที่แตกต่างกัน เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก (ลากเสียง) จะเอามารวมกันแบบ Pool Logistics and Distributions คงไม่ได้ เพราะมันจะมีขนาดใหญ่ อีกทั้งแต่ละบริษัทก็ต่างคนต่างอยู่ในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว เขาก็ทำธุรกิจของเขาไป อย่างเสริมสุขเองก็อยู่ภายใต้ไทยเบฟ ซึ่งไทยเบฟก็มีธุรกิจนี้อยู่แล้วเราคงไม่เอามารวมกันกับทางบีเจซี" เขาย้ำ

ปัจจุบัน บีเจซี ประกอบด้วย 5 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มสินค้าและบริการทางอุตสาหกรรม กลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภค กลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์ กลุ่มสินค้าและบริการทางเทคนิค และกลุ่มธุรกิจต่างประเทศ มียอดขายเฉลี่ยปีละ 30,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้มียอดขายในต่างประเทศอยู่ที่ 4,000-5,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 13-15% ของยอดขายรวม สามารถแยกออกเป็นรายได้จากกลุ่มอุตสาหกรรม 15,000 ล้านบาท มาจากรายได้จากการผลิตขวดแก้วประมาณ 9,000 ล้านบาท กระป๋องราวๆ  4,000-5,000 ล้านบาท กลุ่มอุปโภค 8,000-9,000 ล้านบาท ที่เหลือก็มาจากกลุ่มเวชภัณฑ์ และอื่นๆ

"ในอนาคตเราต้องการจะให้รายได้จากกลุ่มอุปโภคบริโภค เพิ่มขึ้นเป็น 50% ของรายได้รวม เพราะไม่อยากพึ่งพารายได้จากธุรกิจการผลิตขวดแก้วเพียงอย่างเดียว มันเสี่ยงต่อการทำธุรกิจในอนาคต ตอนนี้ก็พยายามปรับสินค้าในพอร์ตทุกตัวให้มียอดขายเป็นหลัก 10,000 ล้านบาทให้หมด เช่น สบู่นกแก้วยอดขายก็ 10,000 ล้านบาทไปแล้ว ขนมเทสโต้ กับกระดาษชำระ Silk ก็จะถึงระดับ 10,000 ล้านบาทแล้วตอนนี้ เราพยายามปั้นสินค้าเราให้เป็นสินค้า 10,000 ล้านบาท"

จึงไม่แปลกที่บีเจซี จะเที่ยวประมูลดีลซื้อกิจการค้าปลีกโน้นนี่ ไล่ตั้งแต่ คาร์ฟูร์ ถึง แฟมิลี่ มาร์ท รวมถึงการรุกธุรกิจอุปโภคบริโภคในต่างแดน ทั้งเวียดนาม และพม่า

โดยเฉพาะธุรกิจในเวียดนาม ที่อัศวินระบุว่า หากสามารถซื้อธุรกิจกระจายสินค้าในเวียดนามได้สำเร็จในเร็ววันนี้ จะทำให้บีเจซีเป็นอันดับ 1 ธุรกิจกระจายสินค้าที่เวียดนาม นอกจากนี้ บีเจซียังระบุว่ากำลังหาพันธมิตรธุรกิจในพม่าหลังการเปิดประเทศ

"ท็อปทรีๆ" ท่องไว้ !!

 
 

จากคุณ : Wild Rabbit
เขียนเมื่อ : 20 ส.ค. 55 13:32:39




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com