บีเจซีไล่ซื้อกิจการบริษัทยา ผนึกแบรนด์ดังแดนซามูไรท้าชนซูรูฮะเครือสหพัฒน์
|
|
วันอังคารที่ 21 สิงหาคม 2012 เวลา 12:16 น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ
altเบอร์ลี่ ยุคเกอร์เดินหน้าเทกโอเวอร์บริษัทยาชั้นนำ เตรียมพร้อมรับมือเออีซี ล่าสุดผนึกร้านยาเบอร์ 1 แดนซามูไรหันลงทุนในไทย ท้าชนซูรูฮะในเครือสหพัฒน์ ลุยซื้อโรงงานยา 4-5 โรง มูลค่ากว่าพันล้าน
จัดทัพดีลเลอร์ในพม่า-เวียดนามปูทางรับกำลังซื้อหลังภาษีลดเหลือ 0% ขณะที่ตลาดยาในประเทศหดตัวต่อเนื่องโตเหลือแค่ 5%
นายธีระพล เกียรติสุรนนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)หรือบีเจซี เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับผู้ประกอบการร้านขายยา รวมทั้งผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามอันดับ 1 ของประเทศญี่ปุ่นที่มีสาขาประมาณ 1.5 พันแห่ง ให้เข้ามาลงทุนธุรกิจในประเทศไทย รองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซีในปี 2558 ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดยามีการขยายตัวมากขึ้น แม้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดยาในประเทศไทยจะเติบโตค่อนข้างต่ำ คือน้อยกว่า 5% จากปกติที่เติบโตประมาณ 10%
ทั้งนี้ ร้านยาดังกล่าวจะเป็นรูปแบบโมเดิร์น ไลฟ์สไตล์ โดยบริษัทจะมีการแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ระหว่างกันเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของธุรกิจ โดยบีเจซีจะส่งออกยาไปทำตลาดในประเทศญี่ปุ่นและนำเข้าผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพมาทำตลาดในประเทศไทย ขณะที่การเปิดสาขาจะผ่านช่องทางค้าปลีก และอาคารสำนักงานในเครือทีซีซีแลนด์ อาทิ เกตเวย์ เอกมัย, เอ็มไพร์ ทาวเวอร์ รวมทั้งร้านหนังสือเอเซียบุ๊คส์ เพื่อต่อยอดให้ธุรกิจยาขยายตัวมากขึ้น
บริษัทยังเดินหน้าเจรจาซื้อโรงงานผลิตยาอีก 4-5 ราย ซึ่งมีขนาดการลงทุนตั้งแต่ 250 ล้าน- 1 พันล้านบาท โดยบางโรงงานก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมดำเนินการผลิต และบางโรงงานอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยยอมรับว่าธุรกิจยาและเวชภัณฑ์เป็นธุรกิจที่มีความคืบหน้าน้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มธุรกิจอื่นในเครือบีเจซี แต่หากเสร็จสมบูรณ์จะส่งผลให้การขับเคลื่อนกลุ่มธุรกิจยาฯสามารถขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว และบริษัทยังร่วมกับพันธมิตรจากต่างประเทศ 2 ราย ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตยาไบโอเทค และยาฉีดเกี่ยวกับการรักษาโรคมะเร็ง และเบาหวานให้กับประเทศไทยด้วย
"ธุรกิจยาและเวชภัณฑ์นั้นจะเร่งรีบดำเนินการไม่ได้ เพราะมีเทคนิคค่อนข้างมากต่างจากการซื้อกิจการสินค้าอุปโภคบริโภค หากรีบเจรจาอาจทำให้ธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะการซื้อโรงงานจะต้องดูมาตรฐาน GMP PIC/S เป็นต้น ทำให้ธุรกิจยาถือเป็นดีลที่เดินหน้าช้าที่สุด แต่หากเจรจาสำเร็จบริษัทก็จะมีโรงงานผลิตยาเป็นของตัวเองในประเทศไทยเพื่อเป็นฐานการผลิตและทำตลาดทั้งในประเทศและบุกตลาดอาเซียน"
ขณะเดียวกันในต่างประเทศบริษัทยังทยอยหาพันธมิตรที่ดีเพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายยาทั้งในประเทศเวียดนาม พม่า เพื่อรองรับการเปิดเออีซีด้วย ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ตลาดยาในอาเซียนมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก จากอัตราภาษีลดลงเหลือ 0% และจะเป็นปัจจัยบวกทำให้บีเจซีสามารถนำยาเข้าไปขายในประเทศเพื่อนบ้านได้เร็วขึ้น
ส่วนภาพรวมตลาดยาในประเทศไทย ในปีที่ผ่านมามีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นล้านบาท เติบโตราว 5% เท่านั้นซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างต่ำ โดยครึ่งปีหลังบริษัทเตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ยาใหม่ราว 10 รายการเพื่อเจาะตลาดและผลักดันยอดขายในปีนี้ให้เติบโต 20% จากครึ่งปีแรกเติบโตราว 29% โดยมีสัดส่วนยอดขายรวม 3-4 พันล้านบาท หรือ15% ของผลประกอบการของบริษัททั้งหมด
ด้านนางสาวสุชาดา สุโขชัยยะกิจ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการแพทย์ บีเจซี กล่าวว่า ทิศทางธุรกิจอุปกรณ์ทางการแพทย์ในครึ่งปีหลัง ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวดีจากอานิสงส์จากการซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับชุมชนในโครงการดีพีแอล กระทรวงสาธารณสุขมูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทได้รับสัญญาในการส่งมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั้งเครื่องเอกซเรย์ และเครื่องอัลตราซาวด์รวม 30 สัญญา มูลค่า 300-400 ล้านบาท และยังมีการส่งมอบหุ่นยนต์ดาวินชีในการผ่าตัดรักษามะเร็งให้กับโรงพยาบาลศิริราชมูลค่า 80-100 ล้านบาท เป็นต้น
ขณะที่การขยายตัวของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเพื่อรับการเปิดเออีซียังเป็นปัจจัยบวกต่อธุรกิจของบริษัทด้วย ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีรายได้จากการจำหน่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้ภาครัฐ 65% และเอกชน 35%
อย่างไรก็ดี นอกจากเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานเครือ ทีซีซี กรุ๊ป และประธานกรรมการบริหาร บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ หรือเบียร์ช้าง จะเดินหน้าซื้อกิจการในกลุ่มธุรกิจยาและเวชภัณฑ์แล้วนั้น ก่อนหน้านี้กลุ่มนายเจริญ ยังเจรจาซื้อกิจการของบริษัท เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟฯ หรือ เอฟแอนด์เอ็น ยักษ์ใหญ่ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ของภูมิภาคเอเชีย ซื้อกิจการร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่มาร์ท และซื้อห้างแม็คโคร เบอร์ 1 ในธุรกิจค้าส่งเมืองไทยด้วย
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,768 23-25 สิงหาคม พ.ศ. 2555
จากคุณ |
:
Wild Rabbit
|
เขียนเมื่อ |
:
22 ส.ค. 55 23:10:54
|
|
|
|