มองข้ามชอตธุรกิจสื่อสาร หลังประมูลใบอนุญาต 3G
|
|
updated: 31 ส.ค. 2555 เวลา 14:18:31 น. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ชัดเจนขึ้นโดยลำดับ เมื่อ กสทช. ผ่านร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 2.1 GHz พ.ศ. ... ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในหนังสือเชิญชวน (IM) เข้าร่วมประมูลใบอนุญาตให้บริการ 3G
โดยร่างใหม่ยังคงมีการประมูลเป็นสลอต สลอตละ 5 MHz แต่ลดเพดานขั้นสูงในการถือครองคลื่นความถี่ เหลือ 15 MHz จาก 20 MHz ด้วยเหตุผลว่า เพื่อลดความเสี่ยงที่จะมีผู้ให้บริการได้คลื่นความถี่เพียง 5 MHz
ขณะที่ราคาตั้งต้นเท่าเดิมที่ 4,500 ล้านบาทต่อสลอต แถมขยายเวลาชำระเงินงวดแรก 50% ของมูลค่าที่ประมูลได้ จาก 45 วัน เป็น 90 วันอีกต่างหาก
การปรับแก้ข้างต้น หลายฝ่ายนับตั้งแต่ "ทีดีอาร์ไอ" เรื่อยไปจนถึง "2 กสทช." เสียงข้างน้อย (ผลโหวตมติ 8 ต่อ 2) กับข้อสังเกตว่า เอื้อให้เอกชน 3 รายเดิม แบ่งความถี่ใหม่ไปรายละ 15 MHz อย่างลงตัว
แต่ "พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ" ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ยืนยันว่า ยังมีโอกาสที่จะมีรายใหม่ หรือหากมีแค่ 3 รายเดิมก็เชื่อว่ายังต้องแข่งขันเพื่อให้ได้สิทธิ์เลือก
ย่านความถี่ที่ดีที่สุด ได้แก่ สลอตที่ 1920-1935 MHz สำหรับ Uplink และ Down link ย่าน 2110-2125 MHz
"ถ้าไม่ได้สิทธิ์เลือกสลอตนี้ก่อนคนอื่นอาจต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มอีกเป็น 1,000 ล้านบาท สภาพตลาดโทรคมนาคมขณะนี้กำลังรอการลงทุนใหม่ ๆ เชื่อว่าหลังมีการประมูลใบอนุญาต 3G แล้ว ใน 1 ปีแรก
จะมีเงินสะพัดในอุตสาหกรรมนี้เป็นแสน ๆ ล้านบาท และทำให้เกิดกระแสการตื่นตัวในธุรกิจเกี่ยวเนื่องอีกมากมาย หลังประมูลจบจะมีเงินเข้ารัฐไม่น้อยกว่า 4 หมื่นล้าน มีการลงทุนที่ผู้ประกอบการแต่ละรายเตรียมปีแรกไม่ต่ำกว่า 2-3 หมื่นล้านบาทต่อเนื่องอีกหลายปี"
"พ.อ.เศรษฐพงค์" มองว่า ระบบใบอนุญาตจะช่วยผลักดันให้กลไกตลาดสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ แม้ผู้ชนะประมูลจะเป็นผู้ประกอบการ 3 รายเดิม เนื่องจากทุกรายจะแข่งขันกันบนพื้นฐานเดียวกัน ไม่มีความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากข้อตกลงของสัญญาสัมปทานที่ต่างกันอีกต่อไป
ฟาก "กสทช.-ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา" มองต่างมุมว่า ผู้เล่นในตลาดยังเป็น 3 รายเดิม หลังประมูล 3G ผู้บริโภคจึงมีทางเลือกเพิ่มแค่บริการใหม่ ๆ ที่จะได้รับ แต่ไม่ได้มีทางเลือกจากผู้ประกอบการรายใหม่ ดังนั้นสภาพการแข่งขันจึงไม่น่าต่างไปจากเดิมมากนัก ขณะที่การประมูล 3G จะทำให้โอเปอเรเตอร์มีต้นทุนลดลง 20-30% ไม่ใช่เพราะเทคโนโลยี แต่มาจากการที่สามารถลดต้นทุนจากการจ่ายส่วนแบ่งรายได้สัมปทานที่เคยต้องจ่ายสูงถึง 25-30% เป็นการจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 2% จึงมีส่วนต่างที่จะลดค่าบริการให้ผู้บริโภคได้ 10-20% แต่ผู้ให้บริการอาจลดหรือไม่ลดค่าบริการให้ก็ได้
นอกจากนี้การลดต้นทุนของผู้ให้บริการจะเกิดได้ต่อเมื่อทำให้ลูกค้าย้ายการใช้งานจากระบบสัมปทานเดิมไปใช้เน็ตเวิร์กที่เป็นระบบ 3G การสร้างแคมเปญตลาด อาทิ การลดค่าบริการเพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเปลี่ยนระบบจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ให้บริการแต่ละรายจะต้องทำเพื่อลดต้นทุนตนเอง ทำให้เมื่อมีใบอนุญาต 3G จะเกิดการโอนย้ายลูกค้า และการให้บริการผ่านระบบสัมปทานจะสิ้นสุดลงโดยธรรมชาติ เพียงแต่โอเปอเรเตอร์ต้องสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าเพราะเป็นสิทธิ์ของผู้บริโภคที่จะย้ายหรือไม่ย้ายระบบก็ได้และเมื่อมองปัจจัยต่าง ๆ ณ เวลานี้ แม้ IM 3G ที่ออกมาจะยังมีหลายคน
ครหา แต่ "กสทช. ประวิทย์" เชื่อว่าการประมูลจะเกิดขึ้นแน่นอน เพราะการจะล้มประมูลได้ต้องใช้การฟ้องศาลเพื่อยุติ ซึ่งการประมูลหนก่อนมี บมจ.ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม ฟ้องศาลปกครอง แต่ปัจจัยที่ทั้ง 2 บริษัทจะหยิบมาฟ้องได้หมดไปแล้ว
"ที่สำคัญ พ.ร.บ.กสทช.ที่ประกาศใช้ไปแล้วระบุว่า ตั้งแต่ ธ.ค. 2556 ทั้ง 2 บริษัทต้องนำส่งรายได้จากส่วนแบ่งสัมปทานเข้ารัฐโดยตรง ขณะที่การประมูล 3G จะเกิดขึ้น
ต.ค.ปีนี้ กว่าเน็ตเวิร์กจะพร้อมเปิดให้บริการเกิดการโอนย้ายลูกค้าคงกลางปี 2556 ไปแล้ว ผลกระทบที่จะเกิดจากการสูญเสียรายได้ของ 2 บริษัท จึงมาจากผลกระทบจาก พ.ร.บ.กสทช.มากกว่า"
สำหรับโอเปอเรเตอร์รายเดิม ณ เวลานี้ทุกรายมีความจำเป็นต้องหาคลื่นใหม่รองรับการสิ้นสุดของสัมปทาน เมื่อแต่ละรายจัดสรรแบ่งคลื่นกันได้ลงตัวแล้ว จึงเชื่อว่าไม่น่ามีใครฟ้องเพื่อล้มประมูล ส่วนบุคคลภายนอกที่อาจฟ้องหากไม่สามารถแสดงให้ศาลเห็นได้ว่า เป็นผู้เสียหายโดยตรงจากการประมูลนี้ ศาลก็ไม่รับคำฟ้องไว้อยู่ดี
"เชื่อว่าการประมูลจะเดินหน้าต่อไปได้แน่นอน เมื่อประมูลเสร็จ กสทช.อาจต้องตอบคำถามหน่วยงานตรวจสอบให้ได้ว่า กระบวนการประมูลที่ออกแบบมาทำให้รัฐสูญเสียประโยชน์จากรายได้ที่
ลดลงหรือไม่ ซึ่งขอยืนยันว่าเหตุผลที่คัดค้านร่าง IM ใหม่ ปัญหาใหญ่ไม่ได้อยู่ที่ 3 รายเดิม แบ่งคลื่นเป็น 3 ส่วนได้พอดี แต่เพราะเขียนชัดว่าจะล้มประมูลต่อเมื่อมีผู้เสนอราคาแค่รายเดียว ซึ่งตอนนี้มีแว่ว ๆ ว่าอาจมีการเตะสกัดขาจนทำให้มีผู้มีสิทธิ์เข้าประมูลแค่ 2 ราย รับรองว่าถ้าคลื่นมี 3 ก้อน แต่โอเปอเรเตอร์มี 2 ราย การแข่งราคาไม่เกิดแน่"
ด้าน "ดร.มนต์ชัย หนูสง" รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที กล่าวว่า สภาพตลาดหลังประมูล 3G จะมีการแข่งขันสูงเพราะแต่ละรายจะเร่งสร้างเน็ตเวิร์กให้เร็วที่สุด เพื่อช่วงชิงตลาดให้ได้ก่อน ขณะที่ผู้ประกอบการรายที่ยังเปิดเน็ตเวิร์กไม่ได้ จะหาวิธีการปกป้องฐานลูกค้าไว้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งสภาพการแข่งขันที่ดุเดือดจะอยู่ไประยะหนึ่งจนกว่าผู้ให้บริการทุกรายจะเปิดเน็ตเวิร์กใหม่ได้แล้ว
"สภาพตลาดแบบนี้จะมีผลกระทบกับทีโอทีแน่นอน ไม่ใช่เพราะเกิดการโอนย้ายลูกค้าจากสัมปทานไประบบใหม่ เพราะในปี 2556 ทั้งทีโอทีและ กสทฯ ก็ต้องนำส่งรายได้จากสัมปทานให้รัฐทั้งหมด การโอนลูกค้าออกจึงไม่ได้สร้างผลกระทบให้มากนัก แต่ถ้าโครงข่ายตามสัมปทานที่ทีโอทีจะได้สิทธิ์กลับมาหารายได้หลังหมดสัมปทานแล้ว ณ เวลานั้นไม่มีลูกค้าเหลืออยู่ก็ต้องถามว่า แล้วใครจะมาเช่าทีโอที ทางออกของทีโอทีตอนนี้คือ ต้องเร่งขยายโครงข่าย 3G ให้เป็นไปตามแผน"
ขณะที่ "วิเชียร เมฆตระการ" ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส มองว่า หลังประมูล 3G รูปแบบการแข่งขันของตลาดจะมุ่งไปที่บริการดาต้าเป็นหลักเพราะเป็นที่ต้องการ ขณะที่โครงข่ายใหม่มีศักยภาพรองรับได้มาก ส่วนจะแข่งขันรุนแรงถึงขั้นมีสงครามราคาอีกหรือไม่ ไม่สามารถคาดการณ์ได้ แต่ถ้าใครคิดจะทำคงต้องนึกถึงผลกระทบรอบด้าน เนื่องจากมีผลต่อคุณภาพบริการที่จะลดลงจากโครงข่ายหนาแน่น
จากคุณ |
:
Wild Rabbit
|
เขียนเมื่อ |
:
31 ส.ค. 55 21:50:24
|
|
|
|