Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
P/E เรื่องไม่ยากที่มากด้วยรายละเอียด ติดต่อทีมงาน

Posted on สิงหาคม 17, 2012
5
โดย Club VI


ในการวัดว่าหุ้นแต่ละตัวราคาถูกหรือแพงนั้น วิธีที่นิยมใช้กันมากที่สุดคือ ดูจาก “ค่า P/E”

ค่า P/E หรือ P/E Ratio ย่อมาจาก “Price to Earnings Ratio” เป็นค่าที่คำนวณได้ไม่ยาก โดยเอา “ราคาหุ้น” หารด้วย “กำไรต่อหุ้น” ตัวเลขที่ได้คือ “ค่า P/E” มีหน่วยเป็น “เท่า”

ค่า P/E ที่มักใช้กันมีอยู่สองประเภท คือ “Trailing P/E” (บ้างก็เรียกว่า LTM P/E) และ “Forward P/E”

Trailing P/E แปลตรงตัวเป็นภาษาไทยคือ “P/E ตามหลัง” (แต่โดยมากมักไม่ค่อยแปลกัน) โดยค่า “E” ของ Trailing P/E มาจากกำไรต่อหุ้นซึ่งคำนวณจากกำไรสุทธิที่ประกาศต่อสาธารณชนแล้ว

ค่า E ของ Trailing P/E หาได้โดยเอากำไรสุทธิ 4 ไตรมาสล่าสุดที่ประกาศแล้วของบริษัทมาบวกกัน แล้วหารด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมด ค่าที่ได้คือ “กำไรต่อหุ้น” หรือ E

จากนั้น ให้เอา P หาร E (ที่เพิ่งคำนวณออกมาได้) ตัวเลขที่ได้คือ Trailing P/E

เช่น เราต้องการคำนวณหาค่า P/E ของบริษัท Happy Home ณ วันที่ 15 ส.ค. 2555 สิ่งที่ต้องทำก็คือ เอากำไรสุทธิ 4 ไตรมาสล่าสุดของบริษัท ในกรณีนี้คือกำไรไตรมาสที่ 3/54, 4/54, 1/55 และ 2/55 บวกกัน สมมุติว่าได้เท่ากับ 1,200 ล้านบาท แล้วหารด้วยปริมาณหุ้นในตลาดของบริษัท Happy Home สมมุติว่ามีอยู่ 2,400 ล้านหุ้น ค่า E ที่ได้จะเท่ากับ “0.5” (1,200 /2,400)

จากนั้น ให้เอาราคาตลาดของบริษัทแฮปปี้โฮม ณ เวลาที่คำนวณ สมมุติว่าเท่ากับ 4 บาท หารด้วยค่า E คือ 0.5 ค่า P/E ของบริษัทแฮปปี้โฮมก็จะเท่ากับ 4/0.5 = 8 เท่า

อนึ่ง Trailing P/E บ้างก็เรียกชื่อว่า “LTM P/E” ย่อมาจาก “Last Twelve-Month P/E” ซึ่งหมายถึง P/E ที่มาจากกำไรสุทธิต่อหุ้น (E) ในรอบ 12 เดือนย้อนหลัง (4 ไตรมาสล่าสุด) นั่นเอง

ค่า P/E อีกประเภทหนึ่งคือ Forward P/E แปลตรงตัวคือ “P/E ล่วงหน้า” (บ้างก็เรียกว่า P/E อนาคต) ซึ่งจะใช้ค่า E จากกำไรที่คาดการณ์ไปข้างหน้า โดยมักคาดการณ์ไปในรอบปีบัญชีถัดไปเต็มปี เช่น หากคำนวณในวันที่ 15 ส.ค. 2012 ก็มักใช้ค่า E ของปี 2013 ทั้งปี เป็นต้น (แต่จะรวมถึงปี 2014 หรือ 2015 ด้วยก็ได้)

จากนั้นก็คำนวณในลักษณะเดียวกับ Trailing P/E ค่าที่ได้ออกมาจะเป็น Forward P/E ที่เราต้องการ (อาจใช้เครื่องหมายว่า P/E 2013F, P/E 2014F โดย F ย่อมาจาก Forecast เพื่อให้รู้ว่าเป็นค่า P/E ที่คาด)

ดังนั้น จากตัวอย่างเดิม เราต้องคำนวณกำไรสุทธิที่คาดของบริษัท Happy Home ในปี 2556 เต็มปี หารด้วยจำนวนหุ้น คือ 2,400 ล้านหุ้น จึงจะได้ค่า E ออกมา

จะเห็นได้ว่า Trailing P/E เป็น P/E ที่เกิดจาก “ข้อเท็จจริง” ที่เกิดขึ้นแล้ว ในขณะที่ Forward P/E เป็น P/E ที่เกิดจาก “การคาดการณ์” ของแต่ละบุคคล ซึ่งย่อมมีความไม่แน่นอนอยู่มาก

ข้อดีของ Trailing P/E (หรือ LTM P/E) คือ ความน่าเชื่อถือ เพราะมีที่มาจากกำไรที่เกิดขึ้นจริง แต่ข้อเสียคือ อาจสะท้อนความถูกแพงของราคาหุ้นได้ไม่ทันการ โดยเฉพาะในธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเติบโตอย่างรวดเร็ว

ส่วน Forward P/E ข้อดีคือ ข้อมูลที่ใช้อัพเดตกว่า และเป็นการมองไปในอนาคต  แต่ข้อเสียที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือความไม่แน่นอน เนื่องจากเป็นเพียงการคาดเดาล่วงหน้า ไม่มีข้อพิสูจน์ใดๆ ว่าจะเป็นไปตามนั้น

เพราะฉะนั้น เวลามีคนมาบอกคุณว่า หุ้นตัวนี้ P/E ถูก ก็ต้องถามให้แน่ใจว่า P/E ในที่นี้ หมายถึง Trailing P/E หรือ Forward P/E ถ้าเป็นประเภทหลัง ก็อย่าเพิ่งเชื่อไปเสียทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ค่า P/E จากแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนต่างๆ รวมทั้งค่า P/E ที่ระบุไว้ในเว็บไซต์การลงทุนของตลาดหลักทรัพย์ เช่น settrade.com, set.or.th มักจะเป็น Trailing P/E แทบทั้งนั้น ต่างจากค่า P/E ในบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ ที่อาจเป็น Forward P/E

ทั้งนี้เพราะโดยธรรมชาติของโบรกเกอร์ เวลาแนะนำหุ้นให้ลูกค้า ย่อมต้องคาดการณ์ไปในอนาคต เพื่อนำไปสู่การหาราคาที่เหมาะสม ดังนั้น P/E ที่บริษัทหลักทรัพย์ใช้ บ่อยครั้งจึงเป็นเพียง Forward P/E หรือ P/E คาดการณ์

อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ นักลงทุนจำนวนมากมักเปรียบเทียบความถูกแพงของราคาหุ้น โดยใช้ค่า P/E ของหุ้นตัวนั้นๆ เทียบกับค่า P/E ของหุ้นตัวอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน วิธีเช่นนี้ถือว่าน่าสนใจ แต่ก็มีจุดอ่อน เพราะบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน แม้จะมีความใกล้เคียง แต่ก็ไม่ได้เหมือนกันไปเสียทั้งหมด

เช่น บริษัทในกลุ่มค้าปลีก บางบริษัททำร้านสะดวกซื้อ บางบริษัททำห้างสรรพสินค้า บางบริษัทขายสินค้าเทคโนโลยี ฉะนั้น การจะบอกว่าราคาหุ้นของบริษัทเหล่านี้ควรมีความถูกแพงในระดับที่ใกล้เคียงกันก็อาจพูดได้ไม่เต็มปากนัก

นอกจากนี้ การตัดสินใจซื้อหุ้นโดยดูจากค่า P/E เพียงอย่างเดียวก็ยังขาดความสมบูรณ์อยู่ เช่น หุ้นที่มี P/E 10 เท่า ก็อาจไม่ได้น่าซื้อไปกว่าหุ้นที่มี P/E 12 เท่า เสมอไป หากว่ามันมีการเติบโตต่ำ หรือว่าเป็นธุรกิจขาลง

อาทิ หุ้นของบริษัทสิ่งทอบริษัทหนึ่ง มีค่า P/E เพียง 9 เท่า ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับหุ้นของบริษัทในอุตสาหกรรมอื่นๆ แต่ผลตอบแทนที่ได้รับหากเข้าไปลงทุน อาจจะน้อยกว่าหุ้นค้าปลีกที่มี P/E เกิน 20 เท่า แต่มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งก็เป็นได้

โดยสรุป ค่า P/E เป็นหนทางหนึ่งในการวัดความถูกแพงของราคาหุ้น เป็นวิธีที่เรียบง่ายและได้รับความนิยมมาก แต่ยังมีวิธีอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมาก ไว้ตอนหน้ามาว่ากันต่อครับ  


ที่มา http://clubvi.com/

 
 

จากคุณ : Wild Rabbit
เขียนเมื่อ : 2 ก.ย. 55 22:26:34




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com