Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
UV และ GOLD กับเสี่ย เจริญ ( ข่าวหุ้น) ติดต่อทีมงาน

รายงานพิเศษ วันอังคารที่ 11 กันยายน 2555
ผู้เข้าชม : 30 คน


หลังจากเงียบเชียบและลับๆล่อๆปล่อยให้คาดเดากันมานับเดือน ในที่สุด กลุ่มธุรกิจสิริวัฒนภักดีก็เปิดตัวแรง ด้วยการเคลื่อนบริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ UV ออกหน้าเป็นบริษัทโฮลดิ้งของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เต็มรูปชัดเจน

การเข้าซื้อสินทรัพย์ทางลัดด้วยการเทกโอเวอร์ฉันมิตรล่าสุดที่ UV กระทำกับบริษัทแผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GOLD เป็นข้อเท็จจริงที่ยืนยันได้ดียิ่ง ที่สำคัญการเข้าซื้อดังกล่าวก็ด้วยเงินของผู้อื่นโดยผ่านบริษัทจดทะเบียนในตลาดฯเสียด้วย

ก่อนหน้านี้ ตอนที่มีข่าวว่ากลุ่มสิริวัฒนภักดีเข้าซื้อกิจการจาก GOLD ต่อจากกลุ่มมหากิจศิริด้วยราคาหุ้นที่ไม่ปรากฏชัดเจน (แม้จะมีคนพยายามยืนยันว่าสูงกว่า 6 บาทต่อหุ้น) โดยผ่านนอมินีของกลุ่มเสี่ยเจริญทั้งสิ้น เมื่อนับจากประสบการณ์ที่ผ่านมาในอดีตและความเชื่อมโยงกันทางพฤติกรรม

ก่อนหน้าที่จะขายหุ้นออกมานั้น กลุ่มมหากิจศิริ ซื้อหุ้น GOLD มาด้วยราคาที่สูงกว่าตลาดที่หุ้นละ 3.50 บาท เพียงไม่กี่เดือน พร้อมกับข้ออ้างเรื่องอนาคตอันสวยหรู

นอมินีที่มีความเกี่ยวพันกับเสี่ยเจริญอย่างชัดเจน คือ นายสุเทพ โอภาสพาณิชย์ มีสัดส่วนการถือหุ้น GOLD อยู่ 25,649,505 หุ้น หรือคิดเป็น 2.262% กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิเรียกร้องเบสท์ ฟอร์จูน ถือหุ้นอยู่ 11,421,200 หุ้น หรือคิดเป็น 1.007% นายวิชิต ชินวงศ์วรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิตี้ ฟู้ด จำกัด ถือหุ้น GOLD อยู่ 14,009,500 หุ้น หรือคิดเป็น 1.235% แล้วยังมีกลุ่ม Well Base Development Limited ผ่านไทยเอ็นวีดีอาร์ จำนวน 282.36 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 24.89% ส่วน Rock Key International Limited ถือผ่าน UOB Kay Hian Private Limited vud 281.316 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 24.80%

กลุ่มนอมินีของเสี่ยเจริญได้เข้าถือหุ้นมากกว่ากลุ่มมหากิจศิริซึ่งเคยเข้าถือหุ้นรวมแล้วไม่เกิน 22.12% (ไม่รวมหุ้นกู้แปลงสภาพอีก 6.027% เพื่อจะไม่ต้องทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์) โดยในระยะแรกไม่ยอมทำเทนเดอร์ จนกระทั่งถูก ก.ล.ต.นำเอากฎการถือหุ้นเข้าข่ายกลุ่มเดียวกันเกิน 25% มาบังคับใช้ เพื่อให้ตั้งโต๊ะทำเทนเดอร์ฯ

ก่อนที่จะมีการทำเทนเดอร์ มีการเคลื่อนไหวจากกลุ่มนี้ด้วยการส่งตัวแทนกลุ่มทีซีซีแลนด์เข้าไปนั่งในบอร์ดของ GOLD ได้แก่ นายสมบูรณ์ วศินชัชวาล เป็นตัวแทนเข้ามานั่งเป็นกรรมการ และตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการบมจ.แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ GOLD แทนนายไนเจิล จอห์น คอร์นิค กรรมการที่ลาออกตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม

นายสมบูรณ์เคยเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายวางแผนการเงิน บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท หรือ PS และเคยทำงานในวงการอสังหาริมทรัพย์ในบมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟ็ค หรือ PF มาก่อน การส่งตัวแทนเข้ามานั่งใน GOLD ดังกล่าว ถือเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะมีการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์หุ้น GOLD ภายในเดือนกันยายนนี้

แล้วหวยก็มาออกที่ UV ซึ่งประกาศเพิ่มทุนประมาณ 4.3 เท่าตัว จากทุนเดิม 764.77 ล้านบาท อีก 3,280 ล้านบาท โดยออกหุ้นสามัญจำนวน 3,280 ล้านหุ้น รวมเป็นทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 4,044.77 ล้านบาท  โดยเลือกวิธีการขายหุ้นใหม่ให้ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราใช้สิทธิ์ 1 หุ้นเดิมต่อ 3-4 หุ้นใหม่ ราคาหุ้นละ 2.50 บาท

ผลของการเพิ่มทุนนี้ UV แจ้งว่าจะนำไปเข้าทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ บมจ.แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ GOLD โดยสมัครใจ (Voluntary Tender Offer - VTO) ประกอบด้วยหุ้นสามัญจะเสนอซื้อในราคา 5.50 บาทต่อหุ้น และวอร์แรนต์ในราคา 2.50 บาทต่อหน่วย

นอกจากนั้น  UV ก็ยังจะเข้าทำสัญญาซื้อขายกับ Rock Key International Limited (RKIL) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นสามัญและ Warrants ของ GOLD โดย RKIL ตกลงที่จะขายหุ้นจำนวน 281.3 ล้านหุ้น หรือ 24.8% และวอร์แรนต์จำนวน 108.4 ล้านหน่วยให้แก่บริษัท ในกระบวนการ VTO ในราคาเดียวกับราคาเสนอซื้อที่บริษัทกำหนดไว้

ข้อเสนอทำเทนเดอร์ดังกล่าว กระทำโดยที่ UV ไม่เคยถือหุ้นของ GOLD มาก่อน  ซึ่งเจตนาในการกระทำการดังกล่าวเท่ากับการเปิดทางให้กับกลุ่มนอมินีที่เป็นตัวแทนของกลุ่มสิริวัฒนภักดีนำหุ้นที่ถือใน GOLD ออกมาขายให้ UV ได้โดยสะดวกในราคา 5.50 บาทต่อหุ้น

ข้อเท็จจริงเช่นนี้ เท่ากับเปิดเผยข้อเท็จจริงว่า ข่าวที่เคยปรากฏออกมาก่อนหน้านี้ว่า กลุ่มนอมินีของสิริวัฒนภักดีซื้อหุ้น GOLD ต่อมาจากกลุ่มมหากิจศิริในราคามากกว่า 6 บาทต่อหุ้นนั้น ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงแต่อย่างใด แต่จะต้องเท่ากับหรือน้อยกว่า 5.50 บาท อันเป็นราคาเทนเดอร์ออฟเฟอร์อย่างแน่นอน

นอกจาก GOLD แล้ว  UV ก็จะนำเงินไปซื้อหุ้นบริษัท แกรนด์ ยูนิตี้ ดิเวลล็อปเมนท์ จำกัด หรือ GRAND-U จำนวน 2 ล้านหุ้น คิดเป็น 40% โดยเข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้นจำนวนดังกล่าวจากผู้ถือหุ้นเดิม คือ บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) และบริษัท เยาววงศ์โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งจะทำให้บริษัทเป็นผู้ถือหุ้นทั้ง 100%

หากพิจารณาเหตุผลที่นางอรฤดี ณ ระนอง ประธานอำนวยการ  UV ชี้แจงว่า การขับเคลื่อนครั้งล่าสุดนี้ เป็นก้าวกระโดดสำคัญของยูนิเวนเจอร์ที่จะขึ้นเป็นบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจร และเป็นแผนกลยุทธ์สำคัญในการเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในผู้นำในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ของเมืองไทย ก็เท่ากับยืนยันให้เห็นว่า โอกาสที่ UV จะปรับตัวเป็นโฮลดิ้งของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มสิริวัฒนภักดี เป็นทิศทางที่จะต้องเกิดขึ้น หลังจากที่มีข่าวก่อนหน้านี้ว่า กลุ่มสิริวัฒนภักดีมองเห็นประโยชน์จาก UV ด้วยการเข้ากลุ่มบริษัทในเครือทีทีซีแลนด์ ได้แก่ ทีทีซี ลักช์ซูรี่ โฮเทลส์ เข้าเช่าพื้นที่บริหารของ UV หลายแห่ง ระยะยาว 30 ปี แถมจ่ายเงินล่วงหน้ามาแล้ว 1.4 พันล้านบาท ประเมินหุ้น UV อนาคตไกล

ทิศทางใหม่นี้ มีความน่าสนใจ เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา UV มีรายได้จากทั้งอสังหาริมทรัพย์ และจากการดำเนินธุรกิจสังกะสีออกไซด์ ซึ่งอย่างหลังจะมีสัดส่วนลดลงต่อเนื่อง (หากไม่ฉุกคิดถึงเหตุผลอันเกิดจากข้อเท็จจริงที่ว่า กรรมการและผู้บริหารของ UV ทยอยขายหุ้นเป็นระยะๆตลอดทั้งปีนี้ (ดูตารางประกอบ) )

ในเบื้องต้น การเพิ่มทุนของ UV การเข้าซื้อกิจการของ UV ใน GOLD และในบริษัทลูกของ LPN ทำให้เห็นได้ชัดว่า ผู้ที่จะได้รับประโยชน์โดยตรงทันทีได้แก่ LPN ซึ่งจะบันทึกกำไรพิเศษทันที 44 ล้านบาท ส่วน GOLD ก็จะได้รับประโยชน์ในระยะปานกลาง เนื่องจาก ราคาที่ทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์หุ้น GOLD ที่ 5.50 บาทต่อหุ้นนั้นถือว่าต่ำเกินไป เมื่อเทียบกับบุ๊ค แวลู 5.92 บาท และศักยภาพของที่ดินของ GOLD ที่สามารถจะนำมาพัฒนาในอนาคต อาทิ ที่ดินพานอรามา กอล์ฟ แอนด์ คันทรี คลับ ตั้งอยู่ที่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 2,096 ไร่ ที่ดินพร้อมอาคารโรงแรม อ.เชียงของ จ.เชียงราย 15 ไร่ ที่ดิน จ.เชียงราย ไม่ต่ำกว่า 120 ไร่ ที่ดิน จ.กระบี่ 118 ไร่ ที่ดิน จ.ประจวบฯ  212 ไร่ โครงการโกลเด้น เลเจ้นด์ ถ.กัลปพฤกษ์ 57 ไร่ รวมทั้งที่ดินแถวสาทรและอีกหลายโครงการ

ส่วนผู้ถือหุ้น UV นั้น มีทางเลือกไม่มากนักแค่ 2 ทาง คือ ยอม “กลืนเลือด” ซื้อหุ้นเพิ่มทุนใหม่ ซึ่งนักวิเคราะห์ประเมินว่าอัตราใช้สิทธิ์เพิ่มทุน ทำให้หุ้น UV ไดลูทลงเหลือหุ้นละ 2.7 บาทต่อหุ้น เมื่อเทียบกับในราคากระดาน ณ วันที่ 7 ก.ย.ที่ 3.88 บาท โดยหากคิดอัตราส่วนการใช้สิทธิ์นี้เม็ดเงินที่จะใช้เพิ่มทุนจะสูงถึง 8-9 พันล้านบาท จะทำให้ราคาเฉลี่ยหลังเพิ่มทุนอยู่ที่ 2.70 บาท ต่อหุ้น หรือไม่ก็ยอมขายขาดทุนหุ้นดังกล่าวออกไป เพราะไม่แน่นอนว่าผลตอบแทนของธุรกิจนี้ในอนาคตของ UV จะสามารถบันทึกกลับมาคุ้มการลงทุนหรือไม่ในอนาคต

มายาคติที่ร่ำลือกันในอดีตที่ผ่านมา ว่า จากสถิติย้อนหลัง หุ้นในตลาดที่กลุ่มสิริวัฒนภักดีเข้าเทกโอเวอร์ไปแล้วราคาจะวิ่งขึ้นไป 4-6 เท่าตัว เช่นหุ้น BJC หรือ SSC หรือ OISHI เป็นสิ่งที่อาจจะปลอบใจนักลงทุนบางกลุ่มได้ แต่ไม่ใช่หลักประกันอะไรเลยว่ามายาคติดังกล่าวจะเป็นจริงหรือไม่

ใครชอบเสี่ยงก็จงเชื่อ ส่วนใครไม่ชอบเสี่ยงก็คงต้องตัดขาดทุน UV ออกไปก่อน

เลือกทางไหนเชิญตามใจชอบ ตัวใครตัวมัน

จากคุณ : หัวเรือ
เขียนเมื่อ : 11 ก.ย. 55 13:01:23




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com