Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
QE กับการเคลื่อนไหวของ SET Index ติดต่อทีมงาน

คอลัมน์: Investment Guide by สุกิจ อุดมศิริกุล:  QE กับการเคลื่อนไหวของ SET Index
         สุกิจ อุดมศิริกุล
         ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน
         สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์
         สวัสดีครับทุกท่าน การประชุมธนาคารกลางสหรัฐในวันที่ 12-13 ก.ย. ซึ่งเราจะทราบผลในเช้าวันศุกร์นี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่นักลงทุนทั่วโลกรวมถึงไทยให้ความสำคัญมากที่สุดในสัปดาห์นี้ (ดูเหมือนจะให้ความสำคัญมากกว่าข่าวน้ำท่วมในบ้านเราด้วยซ้ำ) ดังนั้นบทความในสัปดาห์นี้ ผมจึงนำสถิติการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยในช่วงที่มีประเด็นเกี่ยวกับมาตรการ QE มานำเสนอ ดูเหมือนอาจจะเป็นการฉายหนังซ้ำ แต่ผมยังคงเห็นว่าสถิติดังกล่าวจะช่วยให้นักลงทุนสามารถกำหนดกลยุทธ์การลงทุนได้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ที่นักลงทุนมีความคาดหวังสูง เนื่องจากผลการสำรวจความเห็นของนักลงทุนล่าสุดพบว่า นักลงทุนคาดว่ามีโอกาสประมาณ 60% ที่เฟดจะประกาศมาตรการ QE 3 ในการประชุมสัปดาห์นี้
         ผมคิดว่านับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินในสหรัฐ มี 4 เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็น QE โดยตรงที่มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย ทั้งนี้พบว่า SET index ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยทั้ง 4 เหตุการณ์ เท่ากับ 2% ในช่วง 1 สัปดาห์ 8% ในช่วง 1 เดือน และ 13% ในช่วง 3 เดือน ภายหลังจากมีข้อสรุปเกี่ยวกับมาตรการ QE
         เริ่มต้นจากการที่เฟดประกาศใช้มาตรการ QE ครั้งแรกด้วยวงเงิน 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเข้าซื้อตราสารที่ผูกติดกับลูกหนี้อสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่เพิ่งเกิดเหตุการณ์วิกฤตการเงินครั้งสำคัญของโลก คือ การล้มละลายของวาณิชธนกิจเก่าแก่ Lehman Brothers รวมถึงปัญหาลูกหนี้อสังหาริมทรัพย์รุนแรงขึ้น ส่งผลให้ตราสารหนี้ที่ผูกติดกับลูกหนี้อสังหาริมทรัพย์ที่นักลงทุนเคยได้ยินบ่อยๆ ในช่วงนั้น คือ CDO มีมูลค่าที่ตกต่ำมาก ซึ่งทำให้เกิดวิกฤตการขาดสภาพคล่องทางการเงินในสถาบันการเงินทั้งระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการเงินของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการให้สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์โดยตรงส่งผลให้เฟดจำเป็นต้องออกมาอัดฉีดสภาพคล่องให้กับระบบการเงินโดยผ่านการเข้าซื้อตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับลูกหนี้อสังหาริมทรัพย์ แต่ในการออกมาตรการ QE ครั้งแรกนั้น นักลงทุนอาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจ รวมถึงสถานการณ์วิกฤตกำลังอยู่ในช่วงที่ร้ายแรงทำให้ตลาดหุ้นไทยในช่วง 1 สัปดาห์แรกยังคงมีการปรับตัวลดลง แต่หลังจากนั้นก็เริ่มดีขึ้น แต่นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิ ซึ่งคงไม่น่าแปลกเพราะยังคงมีปัญหาในเรื่องการขาดสภาพคล่องทางการเงิน
         QE เป็นที่รู้จักกันมากขึ้นและมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลกมากขึ้นในปี 2552 หลังจากที่เฟดเพิ่มวงเงินของ QE 1 ในการเข้าซื้อสินทรัพย์อีกถึง 1.15 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากปริมาณเงินในรอบแรกไม่เพียงพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดการเงินได้ในขณะเดียวกันเฟดยังได้ตอกย้ำมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มอีกด้วยการส่งสัญญาณการคงอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไปอีก โดยใช้คำว่า Extended Period ดังนั้น SET Index ในรอบนี้จึงมีการปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยในช่วง 1 สัปดาห์เพิ่มขึ้น3% และ 34% ในช่วง 3 เดือน นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อสุทธิ
         มาตรการ QE 2 ถูกคาดการณ์มากขึ้นในช่วงการแถลงของเบน เบอร์แนนคี ที่เมือง Jackson Hole วันที่ 27 ส.ค. 2553 ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้น 3% ในช่วง 1 สัปดาห์ และ 7%ในช่วง 1 เดือน ในขณะที่เฟดประกาศมาตรการ QE 2 อย่างเป็นทางการในเดือน พ.ย. 2553 มูลค่า 6 แสนล้านเหรียญโดยในครั้งนี้เน้นการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้เหตุผลในการออกมาตรการ QE 2 เนื่องจากในช่วงนั้นเป็นช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐมีความเสี่ยงถดถอยรอบ 2 (Double Dip Recession) รวมถึงมีสัญญาณของภาวะเงินฝืด (Deflation)ดังนั้นการเข้าซื้อพันธบัตรของเฟดจึงเป็นการช่วยลดอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลลงเพื่อกระตุ้นการบริโภคและเป็นการเพิ่มปริมาณเงินเข้าสู่ระบบเพื่อช่วยให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามมีข้อที่น่าสังเกตว่า ผลของมาตรการ QE 2 ซึ่งนับเริ่มต้นตั้งแต่เดือน ส.ค. 2553 ส่งผลดีต่อตลาดหุ้นไม่เกิน 3 เดือน โดย SET Index เพิ่มขึ้นได้มากที่สุด 12% ส่วนนักลงทุนต่างชาติมีมูลค่าซื้อสุทธิมากที่สุด
         หลังจากสิ้นสุดมาตรการ QE 2 ในช่วงเดือน มิ.ย. 2554 การเก็งกำไร QE 3 ก็เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง แต่นักลงทุนก็ต้องผิดหวังอย่างแรง เมื่อเฟดตัดสินใจไม่ออกมาตรการQE 3 ในการประชุมวันที่ 21 ก.ย. 2554 แต่หันไปออกมาตรการ Operation Twist ซึ่งได้แก่การใช้เงินเดิมมาซื้อพันธบัตรที่มีอายุยาวขึ้นแทน ในรอบนั้นส่งผลให้ SET Index ในขณะนั้นซึ่งอยู่ที่ระดับ1,030 จุด ลดลง 10% ภายในสัปดาห์เดียว และต่อเนื่องไปอีก 1 เดือน โดยต้องใช้เวลา 3 เดือนถึงจะฟื้นตัวกลับมาที่ระดับเดิม
         การเก็งกำไรเกี่ยวกับ QE 3 ยังคงดำเนินต่อไปและเพิ่มขึ้นสูงสุดจนมาผิดหวังอีกครั้งในการประชุมเฟดวันที่ 20 มิ.ย.2555 เนื่องจากเป็นวันที่มาตรการOperation Twist ครั้งที่ 1 หมดอายุลง โดยเฟดเลือกที่จะต่อมาตรการ Operation Twist มากกว่าออกมาตรการ QE 3 ซึ่งในรอบนั้นส่งผลให้ SET Index ลดลง 2% ในสัปดาห์แรก แต่ก็สามารถฟื้นตัวขึ้นได้ภายใน 1 เดือน
         มาถึงการคาดการณ์เกี่ยวกับ QE 3 ในสัปดาห์นี้ ซึ่งโดยส่วนตัวผมเห็นว่าเริ่มมีการคาดการณ์กันตั้งแต่ต้นเดือนส.ค. หรือ SET Index บริเวณ 1,200 จุด ต่อเนื่องถึงคำแถลงของ เบน เบอร์แนนคี ที่เมือง Jackson Hole ในวันที่ 31 ส.ค. และการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐที่แย่กว่าคาดการณ์ในวันศุกร์ที่ผ่านมานี้เอง โดยรวม SET Index ปรับตัวขึ้นมาแล้ว 2% ในรอบ 1 เดือน นับจากเดือน ส.ค. รวมถึงเพิ่มขึ้น 2% ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจากมีคำแถลงที่เมือง Jackson Hole ผลตอบแทนดังกล่าวสรุปได้ว่า หากเฟดออกมาตรการ QE 3 จริง SET Index มีโอกาสขึ้นต่อไปได้ในอีก 1 เดือน แต่ระดับการปรับตัวขึ้น จะขึ้นกับสินทรัพย์ที่จะเข้าซื้อและปริมาณเงินที่ซื้อ โดยผมเห็นว่าการประชุมครั้งนี้คล้ายกับเดือน ส.ค. 2553 ซึ่ง SET Index เพิ่มขึ้นได้มากที่สุด 12% ภายใน 3 เดือนหรือ 1,344 จุด (1,200*1.12) หากเป็นเช่นนั้นก็หมายความว่าเป้าหมาย SET Index ในปี 2555 ของผมที่ 1,300 จุด อาจต่ำไป ในทางตรงข้าม หากเฟดไม่ออกมาตรการ QE 3 SET Index ก็มีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงได้อย่างน้อย 2% เนื่องจากผมเห็นว่า SET Index ที่เพิ่มขึ้นมา 2% ได้สะท้อนการคาดการณ์ไปบ้างแล้ว ทั้งหมดเป็นความเห็นส่วนตัวของผมเองน่ะครับ

         ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

จากคุณ : เม่าน้อยสู่พญาปลวก
เขียนเมื่อ : 14 ก.ย. 55 08:50:18




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com