Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ผลกระทบมาตรการพิมพ์เงิน (QE)ของสหรัฐ ติดต่อทีมงาน

คอลัมน์: เศรษฐศาสตร์จานร้อน: ผลกระทบมาตรการพิมพ์เงิน (QE)ของสหรัฐ
Monday, September 17, 2012

         ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

         ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ประกาศมาตรการพิมพ์เงินออกมาซื้อพันธบัตรเป็นครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 13 กันยายน (QE3) ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นดีใจและปรับตัวขึ้นกว่า 1.5% ทั้งนี้เพราะมาตรการที่ประกาศเกินความคาดหมายของตลาด คือ เฟดประกาศว่าจะซื้อ MBS (หลักทรัพย์ที่มีบ้านเป็นหลักประกัน) เดือนละ 40,000 ล้านบาทเริ่มต้นวันที่ 14 กันยายนเป็นต้นไปและคงดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับต่ำไปจนถึงกลางปี 2015 ที่สำคัญคือ จะดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินอย่างยิ่ง (highly accommodative) และเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้วก็จะยังดำเนินนโยบายดังกล่าวต่อไปอีกนาน (considerable time after economic recovery strengthens) เป็นที่เข้าใจว่านโยบายทุ่มเงินอย่างไม่จำกัดจำนวนจะดำเนินต่อเนื่องจนกระทั่งการว่างงานปรับตัวลงเหลือ 7% หรือต่ำกว่านั้น
         มาตรการ QE3 นี้นักวิเคราะห์บางคน บอกว่าน่าจะเรียกว่า "QE in fi nity" มากกว่า เพราะไม่มีการกำหนดขอบเขตแต่อย่างใด และ Bank of America-Merrill Lynch คาดการณ์ว่าขั้นต่อไปเฟดจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอีกเดือนละ 45,000-60,000 ล้านดอลลาร์ โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นไป แปลว่าเฟดจะพิมพ์เงินเข้าระบบเดือนละเกือบ 100,000 ล้านดอลลาร์อย่างต่อเนื่องถึงปี 2015 คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 3 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งใหญ่กว่า QE1 และ QE2 รวมกัน
         ทั้งนี้มาตรการ QE ที่ทำมาในอดีตนั้น ทำให้งบดุลของธนาคารกลางสหรัฐขยายตัวจาก 900,000 ล้านดอลลาร์มาเป็น 2,800,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา (ขณะที่งบดุลของอีซีบีเพิ่มจาก 1.1 ล้านล้านยูโรมาเป็น 3.1 ล้านล้านยูโรในช่วงเดียวกัน) ทั้งนี้หนี้ของธนาคารกลางนั้นส่วนใหญ่ก็คือธนบัตร (เงิน) ที่พิมพ์ออกมาสู่ระบบเศรษฐกิจนั่นเอง ซึ่งมาตรการคิวอีถือว่าเป็นมาตรการที่เป็นมิตรกับนักลงทุนมากที่สุด เพราะการที่ธนาคารกลางซื้อพันธบัตรคุณภาพดีออกจากมือของประชาชนนั้น ย่อมเป็นการผลักดันให้ประชาชนมีเงินที่จะนำไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง อื่นๆ ดังนั้นนักลงทุนจึงมองว่าเมื่อมีข่าวร้ายว่าเศรษฐกิจ
         ทรุดตัวลง (เช่น การว่างงานเพิ่มขึ้น) แทนที่จะกลัวว่าผลประกอบการของบริษัทจะตกต่ำลง ก็จะมองว่าธนาคารกลางจะต้องเพิ่มมาตรการคิวอีเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจ ทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นว่าราคาหุ้นจะไม่ตกมีแต่ขึ้น คือ เชื่อว่า Bad news is good news เพราะเมื่อมีข่าวร้ายในเชิงของปัจจัยพื้นฐานก็จะมีมาตรการคิวอี (ข่าวดี) ออกมาพยุงหุ้น เพราะธนาคารกลางสหรัฐสรุปว่าการพยุงหุ้นคือกลไกที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจนั่งเอง
         สภาวการณ์เช่นนี้นักลงทุนส่วนใหญ่ย่อมมีความพึงพอใจอย่างมากและเกือบทุกคนจะสนับสนุนมาตรการคิวอีอย่างไม่มีเงื่อนไข น้อยคนที่จะมองต่างมุมจากธนาคารกลางของสหรัฐหรืออีซีบี แต่ผมได้พบบทความที่มองต่างมุม 2 บทความซึ่งขอนำมาสรุปให้อ่านในครั้งนี้ครับ
         บทความแรกเขียนโดย Ruchir Sharma หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์มหภาคของกองทุน Morgan Stanley  ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Financial Times วันที่ 10 กันยายน 2012 สรุป
         การพิมพ์เงินออกมาเป็นจำนวนมากทำให้เงินว่าทะลักไปสู่การเก็งกำไรในสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาอาหารและราคาน้ำมัน เห็นได้จากตาราง 1
         ปัญหาคือเมื่อคิวอีทำให้ราคาสินค้าปรับตัวขึ้น กำลังซื้อของประชาชนก็ลดลง แปลว่าคิวอีจะไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวแต่อย่างใด ตัวอย่างเช่นหากคิวอี 3 ผลักดันให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับสูงขึ้นเกินกว่า 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลก็จะทำให้ผู้บริโภคต้องใช้เงินเพื่อซื้อน้ำมันคิดเป็นสัดส่วนเกินกว่า 6% ของรายได้ ซึ่งการศึกษาในอดีตพบว่าที่ระดับดังกล่าวผู้บริโภคจะเริ่มลดการบริโภคสินค้าอื่นๆ ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงในกลางปี 2010 และ 2011 นอกจากนั้นก็ยังพบว่าเมื่อราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จีดีพีสหรัฐจะลดลง 0.3% และเงินเฟ้อจะปรับเพิ่มขึ้น 0.3%
         ที่สำคัญคือคิวอีนั้นกระทบคนจนมากกว่าคนรวย เพราะสัดส่วนของรายจ่ายของคนจนที่ต้องนำไปใช้ในการซื้ออาหารและพลังงานนั้นสูงกว่าสัดส่วนของคนร่ำรวยอย่างมาก (ตาราง 2)
         นอกจากนั้นคนที่รวยที่สุด 10%ของประเทศก็ยังถือหุ้นมากถึง 75% ของหุ้นทั้งหมดอีกด้วย กล่าวคือมาตรการคิวอีนั้นช่วยคนรวยและทำให้คนจนลำบากมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
         นาย Sharma สรุปว่าธนาคารกลางสหรัฐกำลังพยายามฝืนธรรมชาติในการใช้คิวอีมาอุ้มเศรษฐกิจไม่ให้ตกต่ำอย่างรุนแรง กล่าวคือโดยปกติแล้วเมื่อเศรษฐกิจเผชิญกับวิกฤติทางการเงิน เศรษฐกิจจะตกต่ำอย่างรุนแรงและใช้เวลา 7 ปีกว่าจะฟื้นตัว (เช่นกรณีของไทยในปี 1997 ซึ่งกว่าทุกอย่างจะเข้าสู่สภาวะปกติก็ต้องใช้เวลา 5-6 ปี) แต่ธนาคารกลางสหรัฐพยายามอุ้มให้เศรษฐกิจตกต่ำเล็กน้อยเพียง 1 ปี แต่ก็ส่งผลให้เกิดความบิดเบือนและเกิดผลกระทบข้างเคียงดังกล่าว
         อีกบทความหนึ่งเขียนโดยนาย Peter Fisher  หัวหน้าฝ่ายการลงทุนในตราสารหนี้ของกองทุน BlackRock ลงใน Financial Times เช่นกัน กล่าวตำหนิวิธีคิดของธนาคารกลางสหรัฐว่าการพิมพ์เงินออกมากดดอกเบี้ยลงให้ต่ำทั้งดอกเบี้ยระยะยาวและดอกเบี้ยระยะสั้นนั้นจะไม่ได้ทำให้เกิดการปล่อยสินเชื่อเพิ่ม (ซึ่งจะถูกนำไปลงทุนฟื้นเศรษฐกิจ) แต่อย่างใดเพราะหากคนให้กู้ได้ดอกเบี้ยต่ำเพียง 1-1.5% (พันธบัตร 5-10 ปี) ก็จะทำให้คนไม่อยากปล่อยกู้ กล่าวคือจะต้องตอบให้ได้ว่าหากผลตอบแทนจากการปล่อยกู้ต่ำแล้ว ทำไมจึงจะมีการปล่อยกู้มากขึ้น?
         ทั้งนี้ทาง Fisher กลับมองว่าเมื่อธนาคารกลางสหรัฐเข้าไปซื้อพันธบัตรมาเก็บเอาไว้เป็นจำนวนมากทำให้พันธบัตร (สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อยสุด) ราคาสูงมาก (ดอกเบี้ยต่ำมาก) นักลงทุนที่มีเงินอยู่ในมือก็จะไม่กล้าซื้อพันธบัตรราคาแพงดังกล่าว เพราะกลัวว่าราคาพันธบัตรจะปรับลดลงในอนาคต (เพราะดอกเบี้ยจะต้องปรับขึ้นกลับไปสู่ระดับปกติ) คนที่คาดการณ์เช่นนั้นก็จะยอมถือเงินเอาไว้ (เก็บซุกใต้หมอน) ดีกว่านำเอาเงินไปลงทุนที่มีความเสี่ยง กล่าวคือมาตรการคิวอีของธนาคารกลางสหรัฐอาจกำลังนำไปสู่กับดักสภาพคล่อง (liquidity trap) ก็ได้ หมายความว่าธนาคารกลางสหรัฐพิมพ์เงินเข้าไปเท่าไหร่ประชาชนก็จะเก็บเงินกองเอาไว้เฉยๆในปริมาณที่เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ได้นำเอาไว้ใช้ทำประโยชน์แต่อย่างใด
         หากจะนำเอามาโยงกับประเทศไทยผมก็ขอกล่าวถึงบทความของดร.บัณฑิต นิจถาวรที่ลงในกรุงเทพธุรกิจเมื่อ 10 กันยายน ซึ่งแสดงความกังวลว่าปัจจุบันเศรษฐกิจไทย "ขณะนี้ขยายตัวจากการเร่งตัวของการใช้จ่ายที่มาจากการสร้างหนี้ (debt-driven spending-led economy)" ดังนั้นนโยบายการเงินจะต้องนำปัจจัยนี้มาพิจารณาในการกำหนดทิศทางดอกเบี้ย ทั้งนี้ ดร.บัณฑิตกล่าวต่อไปว่า "อัตราดอกเบี้ย ณ ระดับปัจจุบันไม่ได้เป็นข้อจำกัดต่อการใช้จ่ายในประเทศ"และสรุปว่า "ในทุกวิกฤติที่เกิดขึ้นในโลกต้นเหตุจะเหมือนกัน คือมาจากการก่อหนี้ที่เกินพอดี"
         ผมเห็นด้วยกับดร.บัณฑิตและมีประเด็นเพิ่มเติมว่ามาตรการกดดอกเบี้ยลงให้ต่ำ (ทั้งดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาว) ของสหรัฐอเมริกาและยุโรปอย่างต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 2-3 ปีข้างหน้านั้นย่อมจะเป็นสิ่งที่จะท้าทายประเทศไทยอย่างมาก เพราะเรากำลังเห็นต่างชาติเพิ่มการถือครองพันธบัตรรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างมาก (เงินทุนไหลเข้า) ในขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ของไทยก็ได้เริ่มกู้ยืมเงินจากต่างประเทศแล้ว--จบ--

         ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

จากคุณ : เม่าน้อยสู่พญาปลวก
เขียนเมื่อ : 17 ก.ย. 55 08:40:06




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com