|
เผดิมภพ บอกว่า แม้แนวทางการลงทุนของเราจะต่างกัน แต่เราทั้งสองคนยอมรับซึ่งกันและกัน สิ่งที่เราต้องการจะบอกนักลงทุนก็คือ แต่ละคนไม่จำเป็นต้องมีแนวทางความสำเร็จเหมือนกัน แต่คุณต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าแบบไหนเป็นแนวทางของตัวเอง ที่สำคัญต้อง "อย่าตามกระแส" ต้องหาสไตล์ของตัวเองให้เจอ
คนส่วนใหญ่จะตั้งโจทย์โดยใช้ผลตอบแทนเป็น "เป้า" และปรับเปลี่ยนแนวทางตามกระแส แนะนำว่าคนที่มีเงินน้อยๆ ให้ลงทุนแบบ "กวี" (วีไอ) ดีกว่า! เผดิมภพ บอกด้วยว่า สไตล์การลงทุนของเขาจะซื้อขายหุ้นบ่อยกว่า แต่ก็มีความสุขกับการเห็นหุ้นขึ้นทุกวัน และสุดท้ายแล้วผลตอบแทนก็ออกมาพอๆ กัน
“สไตล์การลงทุนของผมจะเหมาะกับผู้ที่มีเวลาติดตามตลาดหุ้น ไม่เหมาะกับคนที่ซื้อแล้วถือยาว ถ้าคนที่เน้นพื้นฐานอย่างเดียวจะไม่ต้องการเวลาติดตามมากก็ได้ วิธีการแบบนี้ถ้ามีผู้แนะนำการลงทุนที่ดีมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้สูง แต่ห้ามพลาด ห้ามเผลอ เพราะสไตล์นี้ไม่ได้ซื้อหุ้นที่ราคา "ดิสเคาท์" แต่ยอมจ่าย "พรีเมี่ยม" ดังนั้นโอกาสขาดทุนจึงมี” เผดิมภพ กล่าว
“ผมไม่อยากให้นักลงทุนปรับเปลี่ยนนิสัยเพราะเห็นว่าคุณต้นรวย ปรับเปลี่ยนเพราะเห็นว่ากวีมีตังค์ แต่คุณต้องกลับมาดูตัวเอง แล้วหาสไตล์ของตัวเอง อย่าไปตามคนอื่น แนวทางที่คนอื่นเขาใช้จนรวยอาจไม่ใช่แบบของเราก็ได้ อย่าไปเปลี่ยนนิสัยตามตลาดหุ้น เชื่อว่าถ้าสามารถค้นพบตัวเองรับรองรวยได้แน่นอน” กวี กล่าวเสริม
กวี กล่าวต่อว่า นักลงทุนจะเจอสไตล์การลงทุนของตัวเองได้อย่างไร? จริงๆทุกคนก็รู้อยู่กับตัวอยู่แล้ว ถ้าเราคิดจะลงทุนระยะยาวผ่านไปอาทิตย์เดียวโทรถามนักวิเคราะห์ว่าทำไม! หุ้นไม่ขึ้น แปลว่าคุณไม่ใช่นักลงทุนระยะยาวแล้ว
"ถ้านักลงทุนความรู้ไม่มากพอก็ไม่ควรลงทุนแบบคุณต้น (เผดิมภพ) ที่สำคัญต้องมีเวลาให้อย่างเต็มที่ ถ้าใครมีเวลาน้อยน่าจะเลือกวิธีการลงทุนแบบผมดีกว่า” กวี กล่าวทิ้งท้าย ขณะที่ เผดิมภพ เสริมว่า ส่วนตัวถ้าเล่นหุ้นแบบกวีอาจจะขาดทุนก็ได้เพราะไม่ถนัด ถือรอนานๆไม่ไหว สรุปก็คือ นักลงทุนจะต้องหาสไตล์การลงทุนที่เป็นตัวของตัวเองให้เจอ คุณถึงจะรวย!!! ------------------------------------ 'วีไอ' แบบกวี 'โมเมนตัม' สไตล์เผดิมภพ (ไซด์บาร์) -------------------------------------- กวี ชูกิจเกษม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย กล่าวถึงหลักการลงทุนสไตล์ "วีไอ" ของตัวเองว่า เวลามีเพื่อนมาถาม..ตอนนี้ทำ(อาชีพ)อะไรอยู่! ก็จะตอบว่าตอนนี้เป็นเจ้าของโรงพยาบาล 3-4 แห่ง เป็นเจ้าของร้านค้าปลีก, ร้านหนังสือ, ร้านอาหาร, โรงแรม ฯลฯ คิดแบบนี้ไม่ต้องไปติดตามภาวะเศรษฐกิจอะไรมาก แต่ถ้าเกิดวิกฤติก็จะเป็นโอกาสในการซื้อหุ้นถูกๆ
"ผมมีความคิดว่าตลาดหุ้นเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ เพราะเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของกิจการได้ ส่วนตัวยอมเสียโอกาสเพื่อลงทุนในบริษัทดีๆ ระยะยาว เพื่อรอไปทำกำไร(มากๆ)ในอนาคต"
คุณสมบัติของหุ้นที่กวีจะลงทุน หนึ่ง..มีความทนทานต่อสภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน และพฤติกรรมของผู้บริโภคไม่เปลี่ยนมากนัก เช่น เมื่อป่วยต้องไปโรงพยาบาล หิวต้องหาของกิน ไปเที่ยวต้องนอนโรงแรม ฯลฯ
สอง..หุ้นตัวนั้นต้องมีอัตราการเติบโตในระยะยาวด้วย ยิ่งมี “แฟรนไชส์แข็งแกร่ง" จะสามารถขยายกิจการได้รวดเร็ว และนำไปสู่แบรนด์ที่แข็งแกร่งด้วย หุ้นพวกนี้จะมีโอกาสในการแตกไลน์ธุรกิจในอนาคต อย่างพอร์ตส่วนตัวจะไม่ลงทุนหุ้นพลังงาน เพราะพวกนี้จะมาตามวัฏจักรเหมือนกับปิโตรเคมี โรงกลั่น ธนาคาร พวกนี้จะไม่มีในพอร์ต
"อย่างที่บอกหุ้นในพอร์ต 15 ตัว ปีแรกอาจจะขึ้น 1-2 ตัว ปีที่สองอีก 2 ตัว ปีที่สามอีก 2 ตัว เป้าหมายของผมที่ต้องการมีพอร์ต "แสนล้านบาท" ใช่ว่าจะทำไม่ได้ ถ้าสามารถสร้างผลตอบแทนได้ 26% ต่อปี เราต้องตั้งเป้าหมายสูงไว้ก่อน เงินนี่มันแปลกจะขึ้นเร็วมากเมื่อเวลาผ่านไปนานๆ ช่วงสิบปีแรกมันจะช้ามาก สิบปีต่อมาจะวิ่งเร็วขึ้น"
กวีบอกว่า ถึงจะมี วอร์เรน บัฟเฟตต์ เป็นไอดอล แต่ไม่ได้เดินตามบัฟเฟตต์ ทุกอย่าง ความสำเร็จมันลอกกันไม่ได้ ของใครของมัน ที่ต้องการจะบอกก็คือ ถึงแนวทางลงทุนจะต่างจากคุณต้น (เผดิมภพ) เราก็ไม่เคยเถียงกัน เพราะสุดท้ายก็เป็นเศรษฐีได้เหมือนกัน
ด้าน เผดิมภพ สงเคราะห์ กรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการเงินทุนบุคคล บล.กสิกรไทย กล่าวถึงหลักการลงทุนสไตล์ "โมเมนตัม อินเวสเตอร์" ของตัวเองว่า วิธีการตัดสินใจลงทุนจะดูทั้ง Top Down และ Bottom Up แนวคิดจะต่างจากของกวีที่มุ่งลงทุนหุ้นที่มูลค่าต่ำ ส่วนตัวจะดูที่ "สภาวะตลาด" ถ้ากำลัง "ดี" แม้ราคาหุ้นจะไม่ต่ำมากก็ "กล้าลงทุน" ทางกลับกันถ้า "หุ้นถูก" แต่สภาวะตลาดไม่อำนวยก็ยัง "ไม่ลงทุน" สรุปคือ นำสถานการณ์มาวิเคราะห์และดูอารมณ์ของตลาดว่าน่าลงทุนหรือไม่ ถ้าน่าลงทุนก็ยอม "จ่ายแพง" ได้ เพื่อไปขายที่ "แพงกว่า"
หลังจาก "หาหุ้น" และหา "ธีม" ที่ตลาดจะเล่นได้แล้ว จะใช้ “เทคนิค” มาประกอบด้วย ไม่เอาพื้นฐานอย่างเดียว ต่อให้แพงแล้วแต่เทคนิคสวยก็ยอม แต่ถ้าถูกแต่เทคนิคไม่ดีก็ไม่เอา สรุปคือ หลังจากดูภาพใหญแล้วว่าตลาดหุ้นน่าลงทุน ก็จะเลือกหุ้นโดยใช้เทคนิคประกอบ ทางกลับกันถ้าเทคนิคดีแต่สภาวะตลาดไม่ดี ต่อให้หุ้นดีก็ "ขาย"
“หุ้นที่ผมแนะนำภายในหนึ่งสัปดาห์ราคาจะต้องขยับแล้ว ไม่ต้องการจะรอยาว ผมไม่ต้องการราคาดิสเคาท์และยอมจ่ายพรีเมี่ยมแต่ต้องมั่นใจว่าหุ้นตัวนั้นต้องขึ้น”
เผดิมภพ บอกว่าการลงทุนจะดูที่ “ค่าเสียโอกาส” ด้วย มองว่าถ้าต้องถือหุ้นยาวมากๆ มันคือค่าเสียโอกาสที่ต้องเสียไป ส่วนตัวจึงไม่ซื้อหุ้นแล้วถือยาวๆ ถ้าตลาดหุ้นไม่น่าลงทุนก็จะนำเงินไปฝากไว้กับสินทรัพย์อื่นแทน เช่น ลงทุนในตราสารหนี้
"ถ้าเลือกลงทุนสไตล์อย่างผม จะต้องมีความรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ เพราะตลาดหุ้นคือตัวชี้นำเศรษฐกิจ แต่ยังไม่พอต้องคาดการณ์อนาคตได้ด้วยเพื่อประเมินว่าหุ้นอะไรกำลังจะดีก็ "ซื้อ" ทางกลับกันถ้าตอนนี้ดีอยู่แล้วแต่กำลัง "จะไม่ดี" ก็ต้อง "ขาย" ส่วนตัวจึงชอบลงทุนหุ้นที่ "ยังไม่ดี" แต่ "กำลังจะดี" จะเข้าไปซื้อไว้ก่อน แต่ถ้าดีอยู่แล้วและกำลังจะดีน้อยลงนั่นคือจุดขาย"
ที่สำคัญการเล่นหุ้นแนวนี้ “สภาพคล่อง” ต้อง "มี" ไม่ต้อง "รอนาน" อยากซื้ออยากขายต้องได้เลย ถ้าเป็นหุ้นเล็กต้องมีวอลุ่มเข้าก่อนถึงจะค่อยสะสม พอวอลุ่มมาเต็มที่จะเลือกขายตอนที่มันดีแล้วถ้าเลยไปจากนั้นสภาพคล่องจะหายไปแล้ว ทั้งนี้ควรต้องมีหุ้นพื้นฐานดีแต่ Valuation ต่ำๆ ไว้ในพอร์ตด้วยเพื่อไม่ให้พอร์ตมันสวิงเกินไป
“หลักการสำคัญของผมคือค่าเสียโอกาส ถ้าถือหุ้น 10 วันได้กำไร 10 บาท ถือ 90 วันได้กำไร 10 บาทเท่ากัน ช่วงเวลาที่รอผมไปลงทุนอย่างอื่นดีกว่า หุ้นก็คือสินทรัพย์ตัวหนึ่งอาจจะไปลงในทองคำหรืออย่างอื่นก่อนก็ได้”
นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 24 ก.ย. http://goo.gl/DbxQM
จากคุณ |
:
หมูอวบ
|
เขียนเมื่อ |
:
24 ก.ย. 55 07:21:07
|
|
|
|
|