|
พื้นที่8สถานีแอร์พอร์ตลิงก์ฮอต "ร.ฟ.ท."ให้เช่า3-30ปีหารายได้
การรถไฟฯสบช่องเปิดบริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ปูแผนสร้างรายได้เชิงพาณิชย์ตลอดแนวเส้นทาง 8 สถานี เผยโพยสถานีฮอต "พญาไท-ราชปรารภ" เอกชน 2 รายเช่า 3 ปี ทำที่จอดรถรองรับผู้โดยสาร "รามคำแหง" กลุ่มนาซ่าเดิมส้มหล่น ได้สัมปทานยาว 30 ปีเต็ม ทุ่มงบฯเฉียด 1,000 ล้าน ผุดคอมมิวนิตี้มอลล์ 6 ชั้น ตั้งค่าเช่า 2-4 พันบาท/ตร.ม. เตรียมเปิดจองพื้นที่ภายใน ส.ค.นี้
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า จากการลงสำรวจพื้นที่ทั้ง 8 สถานี ในแนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมสนามบินสุวรรณภูมิ หรือ "แอร์พอร์ตเรลลิงก์" ประกอบด้วย สถานีพญาไท ราชปรารภ มักกะสัน รามคำแหง หัวหมาก บ้านทับช้าง ลาดกระบัง และสุวรรณภูมิ พบว่า ผู้โดยสารแต่ละสถานีจะหนาแน่นในช่วงวันทำงาน ช่วงเช้าและเย็น เนื่องจากคนใช้รถไฟฟ้าสายนี้เดินทางไปกลับระหว่างที่ทำงานและบ้าน ส่วนช่วงเวลากลางวันหลังจากชั่วโมงเร่งด่วนแล้ว ปริมาณผู้โดยสารค่อนข้างบางตา
"ซิตี้ไลน์" 1 หมื่นเที่ยวคน/วัน
ทั้งนี้ สถิติผู้โดยสารที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จัดเก็บมีดังนี้ "สถานีพญาไท" ระบบรถไฟธรรมดา (City Line) เฉลี่ยอยู่ที่ 10,000 เที่ยวคน/วัน รถไฟด่วน (Express Line) เฉลี่ย 500 เที่ยวคน/วัน เนื่องเป็นสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีพญาไท โดยทางบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ได้ก่อสร้างทางเชื่อมต่อสถานี ทำให้ผู้มาใช้บริการสะดวกมากขึ้น
ส่วนสถานีอื่น ๆ ได้แก่ "สถานีราชปรารภ" เฉลี่ย 2,000 เที่ยวคน/วัน เนื่องจากเป็นสถานีที่เข้า-ออกได้ทางเดียวคือด้านถนนราชปรารภ จุดจอดป้ายรถโดยสารค่อนข้างไกลทำให้คนมาใช้บริการไม่ค่อยมาก
"สถานีมักกะสัน" แม้จะเป็นสถานีใหญ่และเป็นต้นทางของระบบรถไฟด่วนและใกล้กับรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีเพชรบุรี แต่ปริมาณผู้โดยสารไม่มากเท่าใด ระบบรถซิตี้ไลน์เฉลี่ย 2,000 เที่ยวคน/วัน ระบบเอ็กซ์เพรสไลน์ 300 เที่ยวคน/วัน เนื่องจากการเดินทางระหว่างรถไฟฟ้าใต้ดินมายังสถานีมักกะสันไม่เชื่อมต่อกันเหมือนกับที่สถานีพญาไท ในอนาคต ร.ฟ.ท.จะสร้างทางเชื่อม 2 สถานีนี้เข้าด้วยกัน คาดว่าจะเปิดบริการในปี 2555
"บ้านทับช้าง" 900 เที่ยวคน/วัน
"สถานีรามคำแหง" เฉลี่ย 3,000-4,000 เที่ยวคน/วัน การเดินทางทำได้ทางเดียวคือจากถนนรามคำแหง บวกกับจุดจอดป้ายรถโดยสารประจำทางอยู่ไกล ส่วนใหญ่ผู้โดยสารจะใช้บริการวินมอเตอร์ไซค์
"สถานีหัวหมาก" เฉลี่ย 3,000-4,000 เที่ยวคน/วัน โดยสถานีนี้มีที่จอดรถให้ 300 คัน แต่การเดินทางเข้า-ออกสถานีทำได้ 2 ทาง คือถนนศรีนครินทร์และมอเตอร์เวย์ แต่ต้องไปกลับรถไกลพอสมควร
"สถานีบ้านทับช้าง" เฉลี่ย 900 เที่ยวคน/วัน เป็นสถานีที่คนมาใช้บริการน้อยที่สุด เนื่องจากสถานีอยู่ลึกประมาณ 5 กิโลเมตรจากถนนศรีนครินทร์ ทำให้การเข้า-ออกสถานีลำบาก
ส่วน "สถานีลาดกระบัง" อยู่ที่ 8,000 เที่ยวคน/วัน ถือว่าค่อนข้างจะคึกคักกว่าสถานีอื่น เนื่องจากการเข้า-ออกสถานีสะดวกสบายกว่า นอกจากที่จอดรถแล้วยังมีรถสองแถวไว้บริการไปยังร่มเกล้า มีนบุรี อ่อนนุช ตลาดหัวตะเข้ เป็นต้น เสียค่าโดยสาร 6 บาท/เที่ยว
ขณะที่สถานีปลายทาง "สถานีสุวรรณภูมิ" มีผู้โดยสารมาใช้บริการมากในแต่ละวัน ทั้งชาวต่างประเทศและคนไทย โดยระบบซิตี้ไลน์เฉลี่ย 8,000 เที่ยวคน/วัน ระบบเอ็กซ์เพรสไลน์ 900 เที่ยวคน/วัน ผู้มาใช้บริการส่วนใหญ่เป็นผู้โดยสารเครื่องบินที่จะเดินทางไปต่างจังหวัดและต่างประเทศ ซึ่งสถานีจะมีทางเชื่อมกับอาคารผู้โดยสารทำให้การเดินทางสะดวกและง่ายขึ้น
"พญาไท-ราชปรารภ" ทำที่จอดรถ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลการลงพื้นที่สำรวจภาคสนามยังพบอีกว่ามีบางสถานีที่ ร.ฟ.ท.ได้เปิดให้เอกชนเข้ามาเช่าพื้นที่เพื่อจัดหาผลประโยชน์ เช่น ที่จอดรถ คอมมิวนิตี้มอลล์ เป็นต้น
นายทวีศักดิ์ สุทธิเสริม ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพย์สิน ร.ฟ.ท. กล่าวว่า ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.ให้เอกชนเข้ามาเช่าพื้นที่บริเวณเขตทางรถไฟที่อยู่ในแนวรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์หลายสถานีด้วยกัน เพื่อเป็นการพัฒนาพื้นที่ไม่ให้มีผู้บุกรุกและสร้างรายได้เพิ่ม โดยสถานีพญาไทให้บริษัท ซิตี้ คอมเพล็กซ์ จำกัด เช่าพื้นที่บริเวณด้านข้างทำเป็นที่จอดรถรองรับผู้มาใช้บริการแอร์พอร์ตลิงก์เป็นระยะเวลา 3 ปี และให้เอกชนรายเดียวกันนี้เช่าพื้นที่ด้านข้างสถานีราชปรารภทำเป็นที่จอดรถเช่นกัน โดยเสนอรายได้ให้ ร.ฟ.ท.ประมาณ 5 ล้านบาทต่อปี
"ที่สถานีพญาไทมีเอกชนผู้เช่ารายที่ 2 เพื่อทำที่จอดรถเช่นกัน สัญญาเช่า 3 ปี อยู่ระหว่างปรับพื้นที่"
ผุดมอลล์ "สถานีรามคำแหง"
นายทวีศักดิ์กล่าวว่า ส่วนสถานีอื่น ๆ ได้แก่ "สถานีรามคำแหง" ผู้เช่าเดิมคือกลุ่มนาซ่า ซึ่งก่อนหน้านี้ได้สิทธิเช่าที่ดินกับ ร.ฟ.ท. เป็นระยะเวลา 30 ปี และเหลือสัญญาเช่า 20 ปี แต่ ร.ฟ.ท.ได้ขอคืนพื้นที่บางส่วนมาสร้างสถานีรามคำแหง จึงได้ขยายให้ระยะเวลาการเช่าเอกชนเพิ่มอีก 10 ปี เป็น 30 ปี เพื่อเป็นการชดเชย โดยเสนอรายได้ค่าเช่าให้ ร.ฟ.ท.ตลอด 30 ปี ประมาณ 100 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า โครงการนี้ชื่อว่า "เอ-ลิงค์ สแควร์" มีบริษัท แอร์พอร์ตลิงค์ สแควร์ จำกัด เป็นเจ้าของโครงการ ก่อสร้างบนพื้นที่ 6 ไร่ ติดกับสถานีรามคำแหง รูปแบบเป็นคอมมิวนิตี้มอลล์ 6 ชั้น โดยชั้น 1 เป็นร้านเบเกอรี่ ร้านกาแฟ และอาหารจานด่วนที่เสิร์ฟเร็วเพื่อรองรับผู้มาใช้บริการรถไฟฟ้า แอร์พอร์ตลิงก์ ชั้น 2 โซนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จุดบริการของสถาบันการเงิน ชั้น 3 โซนสปา ร้านเสริมสวย ชั้น 4 โซนสปา ร้านเสริมสวย ร้านอาหาร ชั้น 5 ร้านอาหารทั้งชั้น และชั้น 6 โซนฟิตเนส
"โครงการนี้ใช้เงินลงทุนไม่ถึง 1,000 ล้านบาท ล่าสุดอยู่ระหว่างก่อสร้าง ตามแผนจะเปิดบริการในปี 2555"
โดยมีค่าเช่าเฉลี่ย 2,000-4,000 บาท/ ตร.ม. ขึ้นกับทำเลแต่ละโซน โครงการเตรียมเปิดให้จองพื้นที่ในอีก 1-2 เดือนข้างหนี้
นอกจากนี้ทางเอกชนยังมี แผนจะสร้างท่าเรือคลองแสนแสบ เพื่อรองรับผู้มาใช้รถไฟฟ้าที่สถานีรามคำแหง และร้านค้าในโครงการ จากเดิมสถานีจะอยู่ห่างจากรถไฟฟ้าค่อนข้างมาก จะต้องไปขึ้นที่ท่าเรือคลองตันและเดอะมอลล์บางกะปิ โดยได้เจรจากับผู้ประกอบการเดินเรือคลองแสนแสบให้เพิ่มจุดรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีนี้ด้วย
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ
จากคุณ |
:
สุขใจกับวันนี้
|
เขียนเมื่อ |
:
25 ก.ย. 55 08:44:51
|
|
|
|
|