Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
เสียงเตือน "ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" เศรษฐกิจไทยต้องโตภายใต้ข้อจำกัด ติดต่อทีมงาน

26 ก.ย. 2555 เวลา 20:03:11 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์



ในโอกาสครบรอบ 70 ปี การดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในปีนี้ ธปท.ได้จัดสัมมนาประจำปีภายใต้หัวข้อ "บทบาทหน้าที่ธนาคารกลางท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง" เมื่อวันที่ 24-25 กันยายนที่ผ่านมา โดยนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ได้ตอกย้ำถึงการดำเนินงานของ ธปท.ว่า ไม่เพียงแต่จะต้องยึดมั่นในหลักการดำเนินงานเพื่อประโยชน์ของระบบเศรษฐกิจ การเงิน แต่ยังต้องอาศัยความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบาย ซึ่งหมายถึงธนาคารกลางสามารถดำเนินงานตามพันธกิจของตนเองอย่างอิสระ ภายใต้กรอบเป้าหมายร่วมกับภาครัฐ พร้อมกันนี้ผู้ว่าการ ธปท.ได้สะท้อนถึงประเด็นความเสี่ยงและท้าทายกับเศรษฐกิจไทยในสภาพแวดล้อมที่ เปลี่ยนไปในเวทีนี้

โจทย์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป

นาย ประสาร กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับสิ่งแวดล้อมที่ต่างจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่เศรษฐกิจโลกเติบโตดี ทำให้ไทยสามารถพาประเทศออกจากวิกฤตต้มยำกุ้งได้ด้วยการส่งออก และสามารถฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินให้กลับมาแข็งแกร่งได้เพราะเงินทุนต่าง ชาติ แต่ขณะนี้ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกมีปัญหา จึงส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยทั้งด้านการส่งออกที่ยากขึ้น เพราะต้องพยายามขยายเศรษฐกิจให้ได้ภายใต้ข้อจำกัด พร้อมกับต้องดูแลตัวเองจากผลกระทบของมาตรการของประเทศเหล่านั้น จึงเกิดความท้าทายมากขึ้นในการทำนโยบาย ไม่มีคำตอบที่เบ็ดเสร็จไปทิศใดทิศหนึ่ง เพราะการทำนโยบายด้านหนึ่งอาจสร้างผลเสียให้กับอีกด้านหนึ่ง

ขณะที่ ปัญหาเงินเฟ้อจากสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นในระบบการเงินโลก เป็นอีกหนึ่งความกังวลของผู้คนทั้งในและต่างประเทศ เพราะบางส่วนเชื่อว่าการทำ QE ของสหรัฐจะไม่ได้ช่วยให้จีดีพีโตขึ้น แต่จะสร้างปัญหาเงินเฟ้อในระยะยาว ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังคงอยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์ที่มีปัจจัย 2 ด้านคัดง้างกันอยู่

"อย่าง ไรก็ตาม ตอนนี้ภาวะเงินเฟ้อมาจากในประเทศมากกว่า เป็นเรื่องของรายได้ที่ทำให้การอุปโภคบริโภคสูงขึ้น การลงทุนเอกชนก็สูง แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องการลงทุนเพื่อซ่อมแซมหลังอุทกภัย ซึ่งน่าติดตามว่าปีหน้าทั้งการบริโภคและลงทุนเอกชนจะเป็นอย่างไร" ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

ดูแลค่าเงินแบบไม่ฝืนตลาด

โจทย์ที่ยาก ขึ้นของ ธปท.และเศรษฐกิจไทยที่มองเห็นได้ชัดในระยะสั้น คือกระแสเงินทุนที่จ่อไหลเข้าหลังการทำ QE3 ของสหรัฐ และยังมี QE ของธนาคารกลางญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 19 กันยายน นายประสารกล่าวว่า ตอนนี้ตลาดเงินได้รับรู้ (price in) การออกมาตรการ QE3 ไปพอสมควร และค่าเงินบาทก็ไม่ได้ผันผวนและแข็งค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค และเมื่อเทียบกับ 2 ปีที่แล้วความน่ากังวลต่อแรงกดดันเงินไหลเข้าจะน้อยกว่า เพราะเศรษฐกิจทั่วเอเชียซึ่งรวมถึงไทยไม่ร้อนแรงพอที่จะดึงดูดเงินไหลเข้า และยังให้อัตราผลตอบแทนที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศในแถบละตินอเมริกา แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนก็ชะล่าใจไม่ได้ เพราะไม่มีใครสามารถคาดได้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะไปอยู่ตรงไหน เพราะเฟดก็ทำนโยบาย QE Infinity ไม่บอกว่าจะสิ้นสุดเมื่อไร

แม้ ภารกิจหลักของ ธปท. คือการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทำให้ทุกอย่างหยุดนิ่ง และธนาคารกลางไปรับความเสี่ยงแทนเอกชนทั้งหมด จะไม่เหมือนปี 2540 ที่ ธปท.ปกป้องค่าเงินจนไปสร้างความเข้าใจว่าการกู้เงินหรือใช้เงินตราต่าง ประเทศมีความเสี่ยง

"หากอัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวไปตามพื้นฐาน ธปท.จะไม่เข้าไปฝืน จะทำ (แทรกแซง) ก็ต่อเมื่อเกิดความผิดปกติในตลาดการเงินไม่เป็นไปตามพื้นฐาน การทำให้เงินบาทคงที่หรืออ่อนค่าลงจนฝืนกับพื้นฐานเศรษฐกิจนั่นไม่ใช่การ ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ" นายประสารกล่าว

ต้นทุนและข้อจำกัดการดำเนินนโยบาย

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า แม้เครื่องมือที่ใช้ดูแลนโยบายในปัจจุบันที่ยังใช้ได้ดีอยู่พอควร แต่ก็ยอมรับว่ามีปัญหาคือต้นทุนในการทำนโยบาย ดังนั้นจึงต้องผสมผสานเครื่องมือทั้งดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน และมาตรการผ่านระบบสถาบันการเงิน (macro prudential) เพื่อให้ภาระต้นทุนไม่ไปตกที่ภาคส่วนใดของเศรษฐกิจมากเกินไป ขณะที่เศรษฐกิจยังคงขยายตัวไปได้

ขณะที่ต้นทุนที่เกิดขึ้นและ แสดงออกมาที่ฐานะของ ธปท. โดยที่ ธปท.ได้พยายามอธิบายว่า แม้จะขาดทุนแต่ ธปท.ยังทำหน้าที่ได้ตราบเท่าที่ยังมีความน่าเชื่อถือ เพราะฐานะของธนาคารกลางต่างจากเอกชน

แต่ประเด็นนี้ก็เป็นที่วิพากษ์ วิจารณ์ในวงกว้าง ถึงความพอดีของการยอมให้ฐานะธนาคารกลางติดลบว่าอยู่ตรงไหน และมีหลักประกันอะไรที่ว่า หากเกิดปัญหาขึ้นจะไม่นำไปสู่การที่รัฐบาลต้องเอาเงินภาษีไปเพิ่มทุนให้ ธปท. อันนำไปสู่ข้อเสนอว่า หาก ธปท.จะดำเนินนโยบายภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (inflation targeting) นั้นก็ต้องไม่แทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อลดปัญหาฐานะที่ด้อยลง

ยึดเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น

โดยนายประสารกล่าวว่า การใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (flexible inflation targeting) ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำนโยบายทั้งด้านเป้าหมายนโยบายและเครื่องมือ เพราะภายใต้กรอบเป้าหมายดังกล่าวสามารถให้น้ำหนักกับเป้าหมายเศรษฐกิจอื่น พร้อมกันได้ เพื่อดูแลสมดุลเศรษฐกิจในระยะปานกลางโดยไม่มุ่งรักษาเงินเฟ้ออย่างเดียว ซึ่ง 10 กว่าปีที่ผ่านมาเงินเฟ้อไทยก็อยู่ในกรอบเป้าหมาย เศรษฐกิจเติบโตได้น่าพอใจรับกับปัญหาที่เข้ามาได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ วิกฤตการเมือง วิกฤตการเงินโลกที่ยืดเยื้อ รวมถึงน้ำท่วมใหญ่ครั้งล่าสุด

นอกจาก เสนอให้ลดการแทรกแซงค่าเงินแล้ว การลดดอกเบี้ยเพื่อลดผลกระทบกับฐานะขาดทุนของ ธปท.ยังเป็นอีกข้อเสนอหนึ่งที่มาพร้อมกัน ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า แม้ขณะนี้จะได้ให้น้ำหนักกับความเสี่ยงด้านการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจมาก ขึ้น แต่ก็ยังเห็นว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง สินเชื่อขยายตัวสูง สถาบันการเงินยังแข่งกันระดมเงินฝาก ดังนั้นหากไปลดดอกเบี้ยในจังหวะนี้อาจมีปัญหาการส่งผ่าน และอาจเป็นการส่งสัญญาณผิดได้ สร้างผลร้ายขึ้นกับเศรษฐกิจ

เตือนภัยรัฐบาลใช้เงินนอกงบประมาณ

อย่าง ไรก็ตาม ภายใต้โจทย์เศรษฐกิจที่ยากและซับซ้อนขึ้น นโยบายการเงินฝ่ายเดียวคงไม่สามารถดูแลเศรษฐกิจได้ ต้องอาศัยนโยบายการคลังเข้ามาหนุนให้เกิดการเติบโตด้วย

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ในส่วนของนโยบายการคลังที่จะเข้ามาสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจนั้น หากสามารถดำเนินตามกรอบงบประมาณที่ตั้งไว้เช่นปี 2556 ที่จะขาดดุล 3 แสนล้านบาทนั้น ก็ถือว่าจะสนับสนุนให้เกิดการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพเศรษฐกิจได้

แต่ มีประเด็นที่ต้องระมัดระวัง คือ การจัดทำนโยบายที่ใช้เงินนอกงบประมาณจำนวนมาก อย่างโครงการรับจำนำข้าว การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2 ล้านล้านบาท ซึ่งดูเหมือนรัฐบาลอยากจัดเป็นรายงานนอกงบประมาณ ส่วนนี้อยากให้ทำอยู่ในงบประมาณ ซึ่งจะน้อยหรือมาก แต่อย่างน้อยก็อยู่ในสายตาที่มีตัวชี้วัด คือตัวเลขหนี้สาธารณะต่อจีดีพีคอยควบคุมว่าจะต้องไม่เกิน 60% ของจีดีพี

"จะ มากหรือน้อย แต่อยู่ในกรอบนี้ดีกว่า เพราะช่วยกันระมัดระวัง ถ้าอยู่นอกกรอบจะทำให้ตกหล่นไป มองข้ามไป อาจจะสร้างปัญหาในอนาคต กฎเกณฑ์เหล่านี้มีไว้เพื่อรักษาวินัย ถ้าเริ่มต้นด้วยการอยู่นอกวินัย อาจจะเป็นตัวอย่างให้ทำอีกในอนาคต" ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

 
 

จากคุณ : Wild Rabbit
เขียนเมื่อ : 27 ก.ย. 55 22:24:25




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com