Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
จำนำข้าวเพื่อใคร? อจ.นิด้า-มธ.เฉลย ใครได้-ใครเสียประโยชน์ ติดต่อทีมงาน

updated: 02 ต.ค. 2555 เวลา 12:14:01 น.
ประชาชาติออนไลน์



มาตรการ "จำนำข้าว" ถูกต่อต้านมาตั้งแต่พรรคเพื่อไทย ชูเป็นหนึ่งในนโยบายที่ใช้เป็นประเด็นหาเสียงเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 ด้วยเหตุผลว่า ในอดีต โครงการนี้เปิดโอกาสให้เกิดการทุจริต เงินในโครงการนี้จะรั่วไหลจำนวนมาก

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ย้ำว่า ต้อง "ประกันราคาข้าว" เท่านั้นชาวนาถึงจะได้ประโยชน์ แต่พรรคเพื่อไทยยืนยันจะใช้นโยบายนี้มาตลอดเช่นกัน

ผลคือ พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 อย่างถล่มทลาย

มาตรการจำนำข้าวจึงเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับผลการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 อย่างชัดเจน เป็นความชัดเจนที่พรรคซึ่งไม่ค่อยชนะเลือกตั้งอาจไม่เข้าใจ

การจำนำข้าว มีจุดเด่นที่ "รัฐ" รับซื้อข้าวทั้งหมด ในราคาที่กำหนดไว้ 1.5-2 หมื่นบาท ทำให้กลุ่มธุรกิจที่เคยทำกำไรจากราคาข้าวที่ขึ้นๆ ลงๆ เสียประโยชน์มหาศาล

ในแง่หนึ่ง มาตรการนี้ เท่ากับเปลี่ยนโครงสร้างการซื้อขายข้าวเกือบทั้งระบบ ผู้ที่ลืมตาอ้าปาก ล้างหนี้ได้ ย่อมเป็นชาวนาเป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญในชนบท แหล่งปลูกข้าว ในวิถีชีวิตของชาวนา ขณะที่คนเมืองผู้บริโภคข้าว ได้ยินแต่ข่าวร้ายจากนักธุรกิจค้าข้าว ข่าวร้ายจากนักวิชาการบางกลุ่ม

ข่าวร้ายที่ระบุว่า มีการทุจริต โกง ข้าวที่ไปอยู่ในมือรัฐบาลมีจำนวนมาก และราคาสูง ทำให้ไม่สามารถขายหรือระบายออกไปได้

ข่าวที่ระบุว่า ตลาดซื้อขายล่วงหน้าเสียหาย เพราะขายล่วงหน้าเอาไว้ในราคาถูก แต่ต้องซื้อข้าวราคาแพงไปส่งมอบ

ข่าวจาก "เสียงอเมริกา" หรือวอยซ์ออฟอเมริกา ระบุว่า มาตรการนี้ทำให้ไทยสูญเสียตำแหน่งผู้ส่งข้าวมากที่สุดให้เวียดนามไปแล้ว

แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ตอกย้ำมาตลอดว่า การจำนำข้าวเป็นโครงการโคตรโกง ทุจริตทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง

แต่สุดท้าย กลับเป็นนักวิชาการจากนิด้า หรือสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และธรรมศาสตร์บางส่วน ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุติโครงการนี้ เป็นการเคลื่อนไหวที่เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดอีกครั้งหนึ่ง

ท่ามกลางคำถามว่า หากจำนำข้าวโคตรโกงจริง ทำไมไม่แก้ไขที่ต้นเหตุคือการทุจริต แทนที่จะล้มทั้งโครงการ

ความเห็นจาก นายวิโรจน์ อาลี แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็น่าสนใจ นายวิโรจน์กล่าวว่า หลักคิดเรื่องการไม่เข้าไปแทรกแซงราคาสินค้าในท้องตลาดนั้น เป็นโลกในอุดมคติ ไม่มีประเทศไหนในโลกทำได้

หลายประเทศก็เข้าไปแทรกแซงสินค้าเกษตรเช่นกัน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรของเขา แม้กระทั่งสหภาพยุโรปยังใช้วิธีการนี้เช่นกัน  ขอตั้งข้อสังเกตว่าเพราะเหตุใดกลุ่มนักวิชาการกลุ่มนี้จึงออกมาคัดค้านเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว ทั้งที่ความเป็นจริงมีอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะประเด็นที่กลุ่มทุนตามระบบทุนนิยมผูกขาดการค้า แต่กลับไม่ไปคัดค้านกัน
กรณีจำนำข้าว ชี้ให้เห็นปัญหาหลายประการ

ปัญหาของรัฐบาล อาจจะอยู่ที่ความมั่นใจว่า ชาวนาพอใจมาตรการจำนำข้าว จึงไม่มีความพยายามจะสร้างความกระจ่างชี้แจงให้สังคมเห็นภาพ

ปัญหาของข่าวสารด้านเศรษฐกิจ ถูกยึดกุมอยู่โดยเครือข่ายธุรกิจและนักการเมือง  ขณะเดียวกัน ไม่มีข่าวจากชาวนาว่า พอใจมาตรการแค่ไหน อยากให้ปรับปรุงแก้ไข มีการรั่วไหลอย่างไร

การตอบโต้ระหว่างฝ่ายคัดค้าน และเห็นด้วย ยังเปิดโปงให้เห็นสภาพบางประการ อาทิ คำถามว่า ทำไมเมื่อธนาคาร สถาบันการเงินล้ม รัฐทุ่มเงินเข้าไปอุดอย่างไม่คิดชีวิต ไม่เคยมีใครว่ากล่าว

ครั้นเมื่อนำเงินมาสนับสนุนการจำนำข้าว กลับกลายเป็น "อาชญากรรม" ที่อาจจะต้องขึ้นโรงขึ้นศาล หรือความอาลัยอาวรณ์ตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก

ขณะที่ชาวไร่ชาวนา ผู้ผลิตข้าวเลี้ยงคนทั้งโลก แชมป์ตัวจริง กลับเป็นคนขี้โรคทางการเงิน ล้มละลายเรื้อรัง ทำให้บทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่ว่า "ข้าวนี้นะมีรส ให้ชนชิมทุกชั้นชน เบื้องหลังสิทุกข์ทน และขมขื่นจนเขียวคาว" ที่เขียนไว้หลัง พ.ศ.2500

เวลาผ่านไปหลายสิบปี ยังเป็น "อมตะ" ด้วยฝีมือนักการเมือง นักวิชาการและกลุ่มทุนค้าข้าว

 
 

จากคุณ : Wild Rabbit
เขียนเมื่อ : 2 ต.ค. 55 13:59:09




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com