Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ฟองสบู่ทะเลใต้/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร [10 เมษายน 2555] ติดต่อทีมงาน

โลกในมุมมองของ Value Investor 10 เมษายน 2555
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ฟองสบู่ทะเลใต้
Posted on April 10, 2012 by ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ในช่วงที่หุ้นปรับตัวขึ้นเป็น “กระทิง” นั้น หลายคนก็กลัวว่าภาวะตลาดหุ้นจะกลายเป็น “ฟองสบู่” นั่นก็คือ หุ้นมีราคาแพง “เกินพื้นฐาน” ไปมาก ราคาหุ้นขึ้นไปเพราะผลจากแรง “เก็งกำไร” และถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ในไม่ช้าราคาหุ้นก็จะปรับตัวลงมาอย่างแรง เหมือนกับฟองสบู่ที่แตก ผมคงไม่บอกว่าภาวะปัจจุบันของตลาดหุ้นไทยเป็นฟองสบู่หรือไม่ แต่อยากจะเล่า “ประวัติ” หรือที่มาของภาวะฟองสบู่ที่สำคัญของโลกเหตุการณ์หนึ่งนั่นก็คือ “South Sea Bubble” หรืออาจจะแปลเป็นไทยว่า “ฟองสบู่ทะเลใต้”

ฟองสบู่ทะเลใต้นั้น เกิดขึ้นในช่วงปี 1720 หรือประมาณ 300 ปีมาแล้วในอังกฤษ นี่คือเหตุการณ์ที่ราคาหุ้นของบริษัท South Sea ของอังกฤษถูก “ปั่น” ขึ้นไปสูงมาก ปริมาณการซื้อขายสูงมาก ขนาดหรือมูลค่าหุ้นในตลาดใหญ่มาก และคนที่เข้าไปซื้อขายหุ้นมีจำนวนมหาศาลทั้งที่เป็นชาวบ้านและคนชั้นสูงที่มีชื่อเสียงของประเทศ ความคึกคักของการซื้อขายหุ้น South Sea มีส่วนทำให้ตลาดหุ้นในอังกฤษและทั่วโลกปรับตัวขึ้นและกลายเป็นฟองสบู่ไปด้วย และแน่นอน เมื่อ “ฟองสบู่แตก” ความเสียหายก็มหาศาลเช่นเดียวกัน มาดูกันว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร

บริษัท South Sea Company ที่ต่อไปนี้ผมจะใช้ชื่อย่อว่า SSC ก่อตั้งขึ้นในปี 1711 โดยผู้ก่อตั้งนั้นมีจำนวนหลายคนซึ่งรวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอังกฤษในช่วงนั้นด้วย บริษัทถูกตั้งขึ้นเพื่อที่จะช่วยหาเงินมาอุดหนุนหรือหาเงินมาแก้ปัญหาหนี้สินของรัฐบาลที่เกิดขึ้นมากอันเป็นผลจากการที่อังกฤษทำสงครามกับสเปน โดยหลักการก็คือ บริษัทจะซื้อพันธบัตรและหนี้สินระยะสั้นของรัฐบาลมาแปลงเป็นระยะยาวรวมถึงการลดอัตราดอกเบี้ยที่รัฐบาลจะต้องจ่ายด้วย ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ตอบแทนโดยการอนุมัติให้บริษัทผูกขาดการค้าขายกับอาณานิคมในอเมริกาใต้ที่อยู่ที่ “ทะเลใต้” ของสเปน

ดีลแรกที่เกิดขึ้นในปี 1713 ก็คือ รัฐบาลและบริษัทได้ชักชวนให้นักลงทุนที่ถือหนี้ระยะสั้นของรัฐบาลจำนวน 10 ล้านปอนด์ให้แปลงหนี้เป็นหุ้นออกใหม่ของ SSC โดยที่รัฐบาลจะตอบแทนบริษัทโดยการออกพันธบัตรที่ไม่มีกำหนดอายุใช้เงินต้นคืนจำนวน 10 ล้านปอนด์เช่นกัน โดยรัฐบาลจะจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยให้บริษัททุกปี ปีละประมาณ 5.8% นี่ทำให้ SSC มีรายได้และกำไรแน่นอนปีละประมาณ 580,000 ปอนด์ ที่จะทำให้หุ้นของบริษัทเป็นที่น่าสนใจ ในขณะที่รัฐบาลเองก็หวังว่าจะสามารถเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากอเมริกาใต้มาใช้จ่ายเป็นค่าดอกเบี้ยได้ สรุปแล้วดีลนี้น่าจะเป็นเรื่องที่ได้ประโยชน์ทั้งคู่ อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงหลังจากนั้นก็คือ บริษัทได้สิทธิที่จะนำเรือไปค้าขายได้เพียงปีละหนึ่งลำ และสามารถนำทาสไปขายให้กับอาณานิคมได้ ซึ่งไม่คุ้มค่าเลยสำหรับบริษัท

ในปี 1717 บริษัทได้รับแปลงหนี้ของรัฐบาลเพิ่มอีก 2 ล้านปอนด์ เงินจำนวนนี้คิดเป็นประมาณ 3% ของงบประมาณแผ่นดินของอังกฤษในปีนั้น และก็เช่นเคย บริษัทมีรายได้และกำไรที่แน่นอนเพิ่มขึ้นในขณะที่รัฐบาลก็สามารถลดดอกเบี้ยจ่ายลง

ในปี 1719 บริษัทได้เสนอดีลซึ่งน่าจะเป็น “ดีลแห่งศตวรรษ” นั่นก็คือ บริษัทจะซื้อหนี้จำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของหนี้ทั้งหมดของรัฐบาลอังกฤษหรือประมาณ 31 ล้านปอนด์ โดยการออกหุ้นใหม่ของบริษัทมาแลก และบริษัทสัญญาว่าจะลดดอกเบี้ยของพันธบัตรให้เหลือ 5% ต่อปี จนถึงปี 1727 และ 4% ต่อปีหลังจากนั้น วัตถุประสงค์ครั้งนี้ก็เหมือนเดิม นั่นคือ ช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้รัฐบาล ช่วยสร้างสภาพคล่องให้กับพันธบัตร และที่สำคัญทำให้หุ้นของ SSC มีปริมาณมหาศาลซื้อง่ายขายคล่อง สรุปแล้วก็คือ ได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย ประเด็นสำคัญก็คือ ราคาแปลงสภาพของหุ้นซึ่งถึงแม้ว่าบริษัทจะเป็นคนกำหนดแต่ก็ต้องคำนึงว่ามันจะต้องเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับราคาหุ้นของ SSC ในขณะนั้นด้วย ดังนั้น สิ่งที่บริษัทและอาจจะรวมถึงผู้นำของรัฐบาลทำก็คือ การพยายาม “ปั่น” ราคาหุ้น เพื่อที่จะให้คนถือพันธบัตรและหนี้ของรัฐบาลนำตราสารเหล่านั้นมาแลกเป็นหุ้น SSC ในราคาที่สูงและคาดว่าจะสูงต่อไป

บริษัทเริ่ม “ปั่น” ราคาหุ้นโดยการปล่อยข่าวลือที่ “ดีสุด ๆ” เกี่ยวกับศักยภาพของมูลค่าการค้าขายกับ “โลกใหม่” ซึ่งก่อให้เกิดการ “เก็งกำไรอย่างบ้าคลั่ง” ในหุ้นของบริษัท ราคาหุ้น SSC พุ่งขึ้นจาก 128 ปอนด์ต่อหุ้นเมื่อบริษัทเสนอโครงการซื้อหนี้ของรัฐบาลในเดือนมกราคมปี 1720 เป็น 175 ปอนด์ในเดือนกุมภาพันธ์ 330 ปอนด์ในเดือน มีนาคม และหลังจากที่โครงการได้รับการอนุมัติ หุ้น SSC ก็วิ่งขึ้นเป็น 550 ปอนด์เมื่อสิ้นเดือนพฤษภาคม สิ่งที่อาจทำให้หุ้นของบริษัทซื้อขายที่ PE สูงมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ วงเงินกู้ 70 ล้านปอนด์เพื่อการขยายงานที่บริษัทจะได้รับโดยการสนับสนุนสำคัญจากรัฐสภาและพระมหากษัตริย์

นอกจากนั้น บริษัทได้ขายหุ้นให้กับนักการเมืองในราคาตลาดขณะนั้น แต่แทนที่จะจ่ายเป็นเงินสด พวกเขากลับรับหุ้นไว้เฉย ๆ โดยมีสิทธิที่จะขายหุ้นคืนให้กับบริษัทเมื่อเขาต้องการ และจะรับเฉพาะ “กำไร” ที่จะเกิดขึ้นเมื่อราคาหุ้นขึ้นไป วิธีนี้ได้ใจผู้นำในรัฐบาล “กิ๊ก” ของพระราชา และอื่น ๆ ซึ่งทำให้คนเหล่านี้ช่วยกัน “ดัน” ราคาหุ้น ในอีกด้านหนึ่ง การเปิดเผยชื่อคนดังเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทก็ช่วยให้ชื่อเสียงของบริษัทดีขึ้นและช่วยดึงดูดนักลงทุนอื่น ๆ มาซื้อหุ้นบริษัท

ในช่วงที่ผู้คนกำลังบ้าคลั่งเกี่ยวกับหุ้นในช่วงเดือนมิถุนายน 1720 พระราชบัญญัติ “ฟองสบู่” หรือ “Bubble Act” ที่บังคับว่าบริษัทใหม่ ๆ จะก่อตั้งได้จะต้องตราเป็น พ.ร.บ. ก็ถูกตราออกใช้ นี่ยิ่งทำให้บริษัทได้ประโยชน์มากขึ้นและส่งผลให้ราคาหุ้น SSC วิ่งขึ้นไปเป็น 890 ปอนด์ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน นี่ทำให้นักลงทุนเริ่มเทขายหุ้น อย่างไรก็ตาม กรรมการบริษัทต่างก็ออกมาทยอยเก็บเพื่อพยุงราคาซึ่งทำให้ราคาหุ้นยืนอยู่ได้ที่ราว 750 ปอนด์

การที่หุ้น SSC ปรับตัวขึ้นมาจาก 100 กลายเป็นเกือบ 1,000 ปอนด์ ต่อหุ้นในช่วงเวลาไม่ถึงปี ได้ทำให้คนทุกหมู่เหล่าตั้งแต่ขุนนางจนถึงชาวนาคลั่งไคล้การลงทุนไม่เฉพาะในหุ้น SSC แต่ในตลาดหุ้นโดยทั่วไปด้วย นอกจากหุ้นของบริษัทเดิม ๆ ที่มีอยู่ หุ้นออกใหม่หรือ IPO ก็มีจำนวนมาก บางบริษัทแทบจะไม่มีธุรกิจอะไรเลยแต่โฆษณาว่า “ทำธุรกิจที่มีความได้เปรียบมหาศาล”

ราคาหุ้น SSC ขึ้นไปถึงจุดสูงสุดที่ 1,000 ปอนด์ ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 1720 แต่แรงขายมหาศาลทำให้ราคาตกกลับลงมาที่ 100 ปอนด์ก่อนสิ้นปีซึ่งก่อให้เกิดการล้มละลายไปทั่วสำหรับคนที่กู้เงินมาเล่นหุ้น การบังคับขายได้ทำให้หุ้นตกลงมาอย่างต่อเนื่อง สภาพคล่องที่หดหายไปดูเหมือนว่าจะกระจายไปทั่วทำให้ “ฟองสบู่” ที่เกิดทั้งในอัมสเตอร์ดัมและปารีส “แตก” ไปด้วย ความล้มเหลวของบริษัทส่งผลต่อไปถึงภาคธนาคารที่ต้องรับภาระหนี้เสียจากการปล่อยกู้ซื้อหุ้น การสอบสวนของทางการในปี 1721 พบว่ามีการฉ้อฉลมากมายทั้งในระดับกรรมการบริษัทและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หลายคนต้องติดคุก วิกฤติครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายต่อความน่าเชื่อถือของพระเจ้าจอร์จที่หนึ่งและพรรควิกที่เป็นรัฐบาลในขณะนั้น และทั้งหมดนั้นก็คือเรื่องย่อ ๆ ของฟองสบู่ที่เกิดจากความบ้าคลั่งของนักลงทุนที่แม้แต่เซอร์ไอแซคนิวตัน นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลก ยังต้องขาดทุนอย่างหนักพร้อม ๆ กับคำกล่าวอมตะที่ว่า “ผมสามารถคำนวณการเคลื่อนที่ของดวงดาว แต่ไม่สามารถคำนวณความบ้าคลั่งของคน”

ปล.เอามาให้อ่านเล่นๆ เนื่องจากช่วงนี้ร้อนแรงจนผมตกรถ ฮ่าฮ่าฮ่า แต่งงาน
Link : leaf
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=51766
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=54091

จากคุณ : มิ่งกลิ้ง
เขียนเมื่อ : 6 ต.ค. 55 21:15:50




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com