Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
หลักเกณฑ์แยกแยะขายตรงกับแชร์ลูกโซ่ ติดต่อทีมงาน

คอลัมน์สารพันปัญหาเงินทอง: ประวีร์ พิชัยศรทัด

         เรียนคุณประวีร์
         จากการที่ยุคนี้ยังมีธุรกิจเครือข่าย...ไม่ว่าจะเป็นแบบขายตรงหรือแชร์ลูกโซ่ปรากฏให้เห็นเพิ่มขึ้นมากมาย และด้วยปรากฏว่ามีประชาชนให้ความสนใจเรื่อง "แชร์ลูกโซ่" เป็นจำนวนมาก ทั้งโทรศัพท์เข้ามาสอบถามกรณีถูกชักชวนให้เข้าร่วมทำธุรกิจเครือข่ายว่าเข้าข่ายเป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่ และการร้องเรียนแจ้งเบาะแสเพื่อขอให้ดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบพฤติกรรมของหลายบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเครือข่าย โดยอ้างว่าได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจขายตรงจาก สคบ.ด้วย ซึ่งผู้ร้องเรียนได้แจ้งพฤติกรรมที่ได้รับฟังจากการบรรยายแผนการตลาด และสำเนารายละเอียดเกี่ยวกับแผนการจ่ายผลตอบแทนไปให้ประกอบการพิจารณาด้วย จึงใคร่ขอความอนุเคราะห์อธิบายพฤติกรรมของธุรกิจเครือข่ายโดยอาศัยหลักกฎหมายที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันว่า ถูกต้อง ตามหลักกฎหมายเรื่องขายตรงหรือไม่ และเข้าข่ายเป็นแชร์ลูกโซ่ด้วยหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อเป็นข้อมูลให้กับประชาชนได้นำไปประกอบการใช้ดุลพินิจตัดสินใจจะเข้าร่วมธุรกิจเครือข่ายดีหรือไม่เพียงใดครับ
         วุฒิพงษ์ เพื่อประชาชน

         ตอบคุณ วุฒิพงษ์
         ธุรกิจแบบขายตรงก็คงจะยังมีอยู่เสมอแหละครับ รวมไปถึงที่ เป็นแชร์ลูกโซ่ด้วยเหมือนกัน ถ้าให้มาพูดกันตามหลักการแล้ว ประเด็นแรก ดูพฤติกรรมของธุรกิจเครือข่ายขายตรงถูกต้องตาม พ.ร.บ. ขายตรง และตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 หรือไม่ เพียงใด สมมติว่าเราได้รับการชักชวนให้สมัครเข้าร่วมธุรกิจเครือข่ายหนึ่ง ซึ่งเราก็ไม่ทราบว่าเป็นธุรกิจขายตรงหรือแชร์ลูกโซ่ เราจะสังเกตได้อย่างไร คือเมื่อเราได้รับฟังการบรรยายแผนการตลาดจากวิทยากรก็ดี หรือจากทีมแม่ หรือต้นเครือข่ายก็ดี ให้พยายามลองสังเกตตามต่อไปนี้ครับ

         ข้อแรกที่จะต้องพิจารณาก็คือ หลักกฎหมายขายตรงได้กำหนดนิยามของการ "ขายตรง" หมายความว่า การทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการนำเสนอขายต่อผู้บริโภคโดยตรง ณ ที่อยู่อาศัย หรือสถานที่ทำงานของผู้บริโภค หรือของผู้อื่น หรือสถานที่อื่นที่ไม่ใช่สถานที่ประกอบการค้าเป็นปกติธุระ โดยผ่านตัวแทนขายตรงหรือผู้จำหน่ายอิสระชั้นเดียวหรือหลายชั้น ให้เข้าใจง่ายๆ นะครับ ก็คือ เมื่อเราเข้าไปร่วมทำธุรกิจเครือข่าย เราก็คือตัวแทนขายตรงหรือผู้จำหน่ายอิสระ เราจะต้องเป็นผู้นำสินค้าหรือบริการไปเสนอขายหรือ แพร่กระจายไปยังผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่ทำงาน หรือที่อื่นใดก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่สถานที่ประกอบการค้าเป็นปกติธุระ

         ข้อที่สอง ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงจะต้องได้รับอนุญาตจากสำ นักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ต้องสอบถามให้ได้ความชัดเจนว่าบริษัทที่ทำธุรกิจเครือข่ายนั้นได้รับอนุญาตจาก สคบ.ให้ประกอบธุรกิจขายตรงแล้ว สินค้าใดบ้างที่ได้รับอนุญาตให้นำ ไปทำธุรกิจขายตรง แผนการตลาด และแผนการจ่ายผลตอบแทนที่ได้รับอนุญาตจาก สคบ.เป็นอย่างไร ตรงกับแผนการตลาดและแผนการจ่ายผลตอบแทนที่เครือข่ายกำลังบรรยายอยู่หรือไม่ (ข้อนี้ค่อนข้างยากที่จะบอกว่าแผนการตลาดที่บรรยายอยู่นั้นไม่ตรงกับที่ได้รับอนุญาต แต่ไม่ต้องวิตกกังวลครับ ยังมีวิธีการตรวจสอบอีก)

         ข้อที่สาม ในขณะที่มีการบรรยายแผนการจ่ายผลตอบแทนเรา ต้องสังเกตให้ได้ครับว่า รายได้หรือผลตอบแทนของผู้ที่จะเข้าไปทำธุรกิจนั้น รายได้หลักมาจากขายสินค้าหรือบริการเป็นสำคัญหรือเปล่า เช่น หากมีการบรรยายกันยาวนานเป็นชั่วโมงๆ แต่มีการพูดถึงเรื่องสินค้าประมาณ 10 นาที โดยไม่ได้เน้นเรื่องวิธีการสร้างรายได้จากการขายสินค้าและบริการ ซึ่งที่จริงควรจะพูดแต่อย่างใด มีแต่การพูดเรื่องผลตอบแทนที่เราจะได้รับในหลายๆ ช่องทาง โดยเฉพาะการหาสมาชิกเข้าร่วมเครือข่าย ค่าแนะนำสมาชิก (หามากได้มาก หาน้อยได้น้อย หาเร็วได้เร็ว หาช้าได้ช้า เป็นต้น) โบนัสสร้างเครือข่ายขยายองค์กร โบนัสแมตช์ชิ่ง (Matching) และโบนัสอินฟินิตี้ เป็นต้น ก็อย่าเพิ่งตื่นตาตื่นใจยิ้มให้กับเงินหรือผลตอบแทนที่จะได้รับเป็นหลักแสน-หลักล้านในอนาคตอันใกล้ด้วยวิธีการง่ายๆ แค่เพียงหาคนเข้ามาร่วมเครือข่ายเท่านั้นก็ได้รับผลตอบแทนแล้ว และอย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจลงทุนนะครับ เพราะหลักกฎหมายขายตรงยังมีข้อห้ามอยู่อีก 1-2 ข้อที่ต้องระวังมากๆ คือ กฎหมายขายตรงห้ามดำเนินกิจการในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่าย โดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายเพิ่มขึ้น และต้องไม่กำหนดให้ได้รับผลตอบแทนเป็นรายได้หลักจากการแนะนำผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรงเข้าร่วมเป็นเครือข่ายดังกล่าว ซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ก็เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายในการสนับสนุนธุรกิจขายตรง ผู้ร่างกฎหมายเขาได้มองเห็นแล้วว่า หากไม่บัญญัติห้ามเรื่องการชักชวนบุคคลเข้าร่วมเครือข่ายไว้ จะเกิดแชร์ลูกโซ่เข้าไปแอบ แฝงในธุรกิจขายตรงเป็นจำนวนมากอย่างที่ว่ามา และเป็นที่แน่นอนว่าธุรกิจขายตรงที่มีแชร์ลูกโซ่แอบแฝงอยู่นั้นจะต้องล้มลงอย่างแน่นอนหากไม่สามารถหาสมาชิกเข้ามาร่วมเครือข่ายเพิ่มขึ้นได้ เพียงแต่ช้าหรือเร็วเท่านั้นครับ ติดตามต่อในฉบับหน้าครับ.--จบ--

         จากฉบับที่แล้ว คุณวุฒิพงษ์เขียนมาที่คอลัมน์ ขออธิบายพฤติกรรมของธุรกิจเครือข่ายโดยอาศัยหลักกฎหมายที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ว่าถูกต้องตามหลักกฎหมายเรื่องขายตรงหรือไม่ และเข้าข่ายเป็นแชร์ลูกโซ่ด้วยหรือไม่ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับประชาชนได้นำไปประกอบการตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมธุรกิจเครือข่ายหรือไม่ ธุรกิจเครือข่าย...ไม่ว่าจะเป็นแบบขายตรง หรือแชร์ลูกโซ่ ปรากฏให้เห็นเพิ่มขึ้นมากมาย และด้วยปรากฏว่ามีประชาชนให้ความสนใจเรื่อง "แชร์ลูกโซ่" เป็นจำนวนมากครับ

        ฉบับที่แล้วซึ่งเป็นตอนแรก ผมได้พูดไปหลายเรื่อง จนถึงตอนที่ว่าผู้ร่างกฎหมายเขาได้มองเห็นแล้วว่า หากไม่ออกบัญญัติห้ามเรื่องการชักชวนบุคคลเข้าร่วมเครือข่ายไว้ จะเกิดแชร์ลูกโซ่เข้าไปแอบแฝงในธุรกิจขายตรงเป็นจำนวนมากอย่างที่ว่ามา และเป็นที่แน่นอนว่าธุรกิจขายตรงที่มีแชร์ลูกโซ่แอบแฝงอยู่นั้นจะต้องล้มลงอย่างแน่นอนหากไม่สามารถหาสมาชิกเข้ามาร่วมเครือข่ายเพิ่มขึ้นได้ เพียงแต่ช้าหรือเร็วเท่านั้นครับ ประ ชาชนที่ถูกหลอกลวงจนตกเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่ก็จะได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ

         ในการอบรมแนะนำธุรกิจแบบนี้ ท่านผู้อ่านลองสังเกตสักนิดหนึ่งนะครับ หากในการบรรยายมีการพูดถึงการรักษายอดด้วยการซื้อสินค้าไปใช้ทุกเดือน โดยมีการกำหนดยอดไว้ เช่นเดือนละ 1,000 บาท หรืออาจมากกว่านั้น คือจะเป็นจำนวนเงินเท่าใดในอัตราเท่าๆ กันทุกเดือน นั่นเป็นการทำให้เห็นว่าบริษัทมีสินค้าจำหน่ายด้วยจึงไม่ใช่แชร์ลูกโซ่ ขอให้ท่านพิจารณาบทบังคับในกฎหมายขายตรงต่อที่ว่า ต้องไม่บังคับให้ผู้จำหน่ายอิสระซื้อสินค้า และต้องไม่ชักจูงให้ผู้จำหน่ายอิสระซื้อสินค้าในปริมาณมากเกินไปอย่างไม่สมเหตุผล ที่สำคัญที่สุดก็คือ ผลตอบแทนต้องขึ้นอยู่กับการขายสินค้าหรือบริการ การดำเนินธุรกิจขายตรงที่จะเข้าข่ายเป็นความผิดแชร์ลูกโซ่ไม่ได้อยู่ที่มีสินค้าหรือไม่นะครับ จากแผนประทุษกรรมโดยทั่วไปพบว่า สินค้าเป็นเพียงเครื่องบังหน้าเท่านั้น

         อยากให้ท่านผู้อ่านลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า สินค้านั้นท่านนำไปใช้ในการบริโภคในชีวิตประจำวันจริงหรือเปล่า การบังคับให้เราซื้อสินค้าทุกเดือนๆ ละเท่าๆ กัน เพื่อรักษายอดนั้น เราต้องการใช้หรือบริโภคสินค้านั้นมากมายถึงขนาดที่ต้องซื้อใช้ทุกเดือนๆ หรือไม่ ยิ่งหากเราเลือกแผนที่ต้องการได้ผลตอบแทนมากๆ เราก็ต้องลงทุนด้วยเงินเป็นจำนวนมากขึ้น เราก็จะได้จำนวนสินค้ามากขึ้นตามไปด้วย พฤติกรรมแบบนี้เป็นการบังคับซื้อสิน ค้าหรือไม่ และเป็นการชักจูงให้ซื้อสินค้าในปริมาณมากเกินไปอย่างไม่สมเหตุผลหรือไม่ และประการสำคัญที่สุดนะครับ ก็คือ เราได้นำสินค้านั้นไปจำหน่ายหรือแพร่กระจายไปสู่ผู้บริโภคด้วยตามนิยาม "ขายตรง" ที่กล่าวไว้แล้วข้างต้นหรือไม่ครับ หากเราไม่ได้นำสินค้าไปแพร่กระจายสู่ผู้บริโภค แล้วรายได้ของเราจะมาจากการขายสินค้าได้อย่างไร เราลองทบทวนดูว่ารายได้ของเรามาจากที่ใด (มาจากการขายสินค้าเป็นหลัก หรือมาจากการหา สมาชิกเข้าร่วมเครือข่ายเป็นหลัก) เมื่อสมาชิกทุกคนต่างก็ไม่ได้นำสินค้าไปจำหน่ายหรือแพร่กระจายสู่ผู้บริโภค รายได้จากการขายก็ไม่มี ผลกำไรจากการประกอบธุรกิจก็ไม่มี แล้วผลตอบแทนที่บริษัทจะจ่ายให้เรานั้นจะมาจากที่ไหน คงให้คำตอบได้ทันทีว่าก็เป็นเงินของเรา เอง หรือเป็นเงินของพวกสมาชิกใหม่ที่ท่านไปชักชวนเขาเข้ามาร่วมธุรกิจที่นำมาจ่ายหมุน เวียนให้กับสมาชิกเก่านั่นเองแหละครับ ก็เพราะเหตุนี้เองที่การดำเนินธุรกิจเครือข่ายจะต้อง ใช้แผนการตลาดที่มุ่งเน้นไปที่การหาสมาชิก การสร้างเครือข่ายหรือขยายองค์กรอยู่ตลอดเวลา โดยเสนอผลตอบแทนจากการหาสมาชิกเข้าร่วมเครือข่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งตรงนี้ขัดต่อกฎ หมายหลายประการ ฉะนั้น การดำเนินธุรกิจเครือข่าย...จึงไม่น่าถูกต้องตามกฏหมาย หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า "มิชอบด้วยกฎหมาย" ว่าด้วยการขายตรงและการตลาดแบบตรง

         ส่วนประเด็นที่สองที่จะพูด ก็จะเป็นแผนการตลาดและแผนการจ่ายผลตอบแทนธุรกิจเครือข่ายขายตรงเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 หรือไม่ เอาไว้ต่อกันคราวหน้านะครับ.

         สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ฉบับนี้ผมไม่ลืมที่จะพูดต่อเรื่องธุรกิจเครือข่ายขายตรงหรือแชร์ลูกโซ่ ที่คุณวุฒิพงษ์เขียนมาแน่ เพราะมีท่านผู้อ่านที่ติดตามเขียนมาทวงถามเชิงเตือนว่าอย่าลืมพูดต่อเรื่องนี้ด้วย เพราะติดตามอยู่ คุณวุฒิพงษ์ขอให้อธิบายพฤติกรรมของธุรกิจเครือข่ายโดยอาศัยหลักกฎหมายที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันว่า ถูกต้องตามหลักกฎหมายเรื่องขายตรงหรือไม่ และเข้าข่ายเป็นแชร์ลูกโซ่ด้วยหรือไม่ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับประชาชนได้นำไปประกอบการตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมธุรกิจเครือข่ายหรือไม่ ธุรกิจเครือข่าย...ไม่ว่าจะเป็นแบบขายตรงหรือแชร์ลูกโซ่ปรากฏให้เห็นเพิ่มขึ้นมากมาย และด้วยปรากฏว่ามีประชาชนให้ความสนใจเรื่อง "แชร์ลูกโซ่" เป็นจำนวนมากครับ ฉบับที่แล้วซึ่งเป็นตอนที่สอง ฉบับนี้ก็คงจะเป็นเรื่องของประเด็นต่อมา คือประเด็นที่สอง ว่าแผนการตลาดและแผนการจ่ายผลตอบแทนธุรกิจเครือข่ายขายตรงเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 หรือเปล่า

         วิธีที่จะช่วยในการพิจารณาว่าธุรกิจใดเข้าข่ายว่าจะเป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่ใช่นั้น เราไม่ใช่ดูแต่เพียงแค่ว่าบริษัทนั้นมีสินค้าจำหน่ายให้กับผู้บริโภคหรือไม่ มีเท่านั้นนะครับ ตรงนี้ต้องระวังเพราะสินค้าเป็นเพียงเครื่องบังหน้าเพื่อใช้กล่าวอ้าง ว่าธุรกิจของที่มีอยู่นั้นไม่ใช่ระบบแชร์ลูกโซ่ ที่จริงแล้วการดำเนินธุรกิจที่จะเป็นความ ผิดนั้น ต้องพิจารณาจากแผนการตลาดและแผนการจ่ายผลตอบแทนเป็นสำคัญ ที่ เป็นเรื่องนี้ก็เนื่องจากผู้ดำเนินธุรกิจหรือวิทยากรที่มาบรรยายชี้ชวนจะใช้แผนการตลาดและแผนการจ่ายผลตอบแทนเป็นสิ่งจูงใจในการโฆษณาชักชวนประชาชนทั่วๆ ไปที่มีเงินให้มาสมัครเป็นสมาชิกหรือเข้ามาร่วมลงทุน ด้วยการเสนอผลประ โยชน์ตอบแทนที่เป็นการชักจูงและเร่งเร้าให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อและหลงเชื่อว่า ธุรกิจจะสามารถสร้างความร่ำรวยให้กับสมาชิกได้ในเวลาอันรวดเร็ว

         ที่เป็นเรื่องเป็นราวกันที่ผ่านมาก็มาแบบนี้แหละครับ แต่แล้วผลตอบแทนดังกล่าวนั้นสูงเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ ก็เข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมาย จากแผนการทำประทุษกรรมต่อประชาชนที่มีการตรวจพบมา จากการบรรยายแผนฯ ของบริษัทที่กระทำผิด ผู้บรรยายแผนธุรกิจก็ดี ผู้นำทีมนำเครือข่ายย่อยก็ดี มักจะพูดกับสมาชิกเสมอว่า

         "...บริษัทเราไม่เน้นการขายสินค้า...สมาชิกไม่ต้องขายสินค้า...มุ่งเน้นไปที่การหาสมาชิกเข้ามาร่วมเครือข่ายเป็นสำคัญ หามากได้มาก หาเร็วได้เร็ว..." ท่านผู้อ่านที่เคยเข้าไปสมัครสมาชิกกับธุรกิจเครือข่ายเหล่านี้ เชื่อว่าท่านตระหนักดีอยู่แล้วนะครับ หรือหากใครกำลังตัดสินใจว่าจะสมัครสมาชิกกับธุรกิจเครือข่ายใดอยู่ก็ตาม ขอให้โปรดใช้วิจารณญาณในการพิจารณาให้รอบคอบสักนิดด้วยว่า ถ้าหากบริษัทที่ประกอบธุรกิจขายตรงไม่เน้นการขายสินค้าหรือไม่ต้องขายสินค้า แล้วผลกำไรจากการประกอบธุรกิจขายตรงตามที่บริษัทอ้างจะมาจากที่ไหนละครับ เมื่อรายได้หลักไม่ได้มาจากการขายสินค้า บริษัทจึงไม่น่าจะมีผลกำไรจากการประกอบการที่เพียงพอต่อการนำไปจ่ายเป็นผลตอบแทนให้กับประชาชนตามที่ได้โฆษณาชักชวนไว้อย่างแน่นอน

         และก็ขอยืนยันด้วยว่า แผนธุรกิจ แผนการตลาด และแผนการจ่ายผลตอบแทนที่มีการบรรยายให้กับสมาชิกฟังนั้น ก็ไม่ได้เป็นไปตามแผนที่ได้จดทะ เบียนไว้กับ สคบ. เลย เกือบทุกบริษัทที่กระทำผิดก็ล้วนแต่มุ่งเน้นไปที่การหาสมาชิกเข้าร่วมเครือข่ายขยายองค์กรโดยเสนอผลตอบแทนจากการหาสมาชิกที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้มุ่งเน้นที่การนำสินค้าแพร่กระจายไปสู่ผู้บริโภคแต่อย่างใดเลยครับ มีตัวอย่างแผนการตลาดของบริษัทหนึ่งที่ถูกดำเนินคดีแล้ว ถ้าท่านผู้อ่านสนใจก็ลองคลิ๊กไปที่ลิงค์นี้ครับ  http://www.youtube.com/watch?v=g56162C34eI หรือ http://www.youtube.com/watch?v=P2fdV6dJ-nc&NR=1

        ตรงนี้ท่านผู้อ่านจะเห็นรูปแบบการบรรยายแผนของธุรกิจเครือข่ายได้ชัด เจนยิ่งขึ้น และแผนการตลาดของธุรกิจเครือข่ายก็จะไม่แตกต่างกันมากเท่าไหร่ นัก ซึ่งล้วนขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการขายตรงและตลาดแบบตรง และหากท่าน ไหนต้องการศึกษาแผนการตลาดของธุรกิจเครือข่ายใดๆ ก็สามารถเข้าไปที่  www. youtube.com แล้วพิมพ์คำว่า "แผนการตลาด" ลงไปในช่อง  Search ก็จะพบแผนการตลาดของธุรกิจเครือข่ายมากมายเลย (เฉพาะสมาชิกเท่านั้นที่จะได้รับแผนธุรกิจดังกล่าว ก็เชื่อว่าบรรดาสมาชิก ผู้บริหารทีมงาน วิทยากรผู้บรรยายแผนได้นำขึ้นเผยแพร่ใน Youtube เพื่อเป็นการโฆษณาชักชวนประชาชนเข้าร่วมธุรกิจเครือข่าย) แต่อย่างไรก็ดี ผมก็ขอเรียนไว้ด้วยนะครับว่า ไม่ใช่ทุกธุรกิจแบบเครือข่ายที่เป็นเช่นที่ว่านี้นะครับ พบกันคราวหน้าเป็นตอนจบของเรื่องครับ

         ฉบับนี้จะเป็นตอนสุดท้ายสำหรับเรื่อง ธุรกิจเครือข่ายขายตรงหรือระบบแชร์ลูกโซ่ ที่ท่านผู้อ่านหลายท่านติดตามอยู่นะครับ ฉะนั้น จากที่พูดไปในสามตอนที่ผ่านมา เมื่อท่านผู้อ่านได้ศึกษาแผนธุรกิจแล้ว ก็ลองคิดว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่ลงทุนเพียงไม่กี่หมื่นบาทแต่ได้ผลตอบแทนกลับมาในแต่ละเดือนเป็นหลักแสนหลักล้าน โดยไม่เห็นต้องขายอะไร คือไม่ได้นำสินค้าไปขายเลย เพียงแต่ต้องรักษายอดการบริโภคเท่าๆ กันในแต่ละเดือน และหาคนเข้ามาร่วมเครือข่าย/ขยายสายงานส่วนตัวออกไปให้ได้มากที่สุดเท่านั้น ซึ่งตามความเห็นแล้ว ใครๆ ก็ว่าเป็นไปไม่ได้ ผมเองก็เห็นว่ามันไม่มีทางครับ เพราะในการประกอบธุรกิจการค้าตามปกติย่อมต้องมีต้นทุนการผลิตประมาณร้อยละ 20-40 แล้วยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ อื่นๆ อีก เช่น ค่าจ้างพนักงานบริษัท ค่าวิทยากร ค่าเช่าอาคารสถานที่ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ฯลฯ อีกมากมาย

        ถึงแม้ว่าระบบนี้จะไม่มีค่าใช้จ่ายด้านโฆษณาก็ตาม แล้วบริษัทจะสามารถจ่ายผลตอบแทนได้มากเกินกว่าร้อยละ 100 ได้หรือ ขอยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้ เคยได้ยินมาว่ามีนักวิชาการที่วิเคราะห์เรื่องนี้ได้เคยขอให้โปรแกรมเมอร์ของบริษัทที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง เขียนโปรแกรมวิเคราะห์ผลตอบแทนของบริษัทที่ทำธุรกิจเครือข่ายบริษัทหนึ่ง ที่ใช้แผนธุรกิจจ่ายโบนัสแก่ทีมอ่อน/ทีมแข็ง โดยคิดคำนวณเพียง 10 ชั้นเท่านั้น ปรากฏว่าผู้มีตำแหน่งสูงสุดจะได้รับผลตอบแทนมากถึงร้อยละ 141.58 หรือ 141.58% ในขณะที่ผู้มีตำแหน่งต่ำที่สุดจะได้รับผลตอบแทนมากถึงร้อยละ 98.61 ซึ่งยังไม่รวมถึงต้นทุนสินค้าและค่าดำเนินการอื่น ๆ ของบริษัทเลยครับ และนักวิชาการท่านนั้นก็เคยพยายามคิดว่าเป็นไปได้ ด้วยการตั้งสมมติฐานว่าบริษัทนี้ไม่มีต้นทุนการผลิตหรือต้นทุนเป็นศูนย์ แล้วส่วนที่เกิดจากร้อยละ 100 มาจากไหน เมื่อพิจารณาประกอบกับการจูงใจให้สมาชิกเดิมหาสมาชิกใหม่เข้ามาเพิ่มเรื่อยๆ โดยเสนอผลตอบแทนที่สูงจากการหาสมาชิกเข้าร่วมเครือข่ายเพิ่มขึ้น ฉะนั้น เงินที่จ่ายเป็นผลตอบแทนจึงต้องมาจากเงินลงทุนของสมาชิกใหม่นำไปจ่ายหมุนเวียนให้สมาชิกเดิมนั่นเอง สุดท้ายจึงต้องสรุปว่าเป็นไปไม่ได้ และอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนด้วย

        ประเด็นสุดท้าย ที่คุณวุฒิพงษ์ถามว่าการดำเนินธุรกิจเครือข่ายเข้าข่ายเป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่ จากการวิเคราะห์การจ่ายผลตอบแทนของผู้มีตำแหน่งสูงสุดที่จะได้รับผลตอบแทนมากถึงร้อยละ 141.58 ในขณะที่ผู้มีตำแหน่งต่ำที่สุดจะได้รับผลตอบแทนมากถึงร้อยละ 98.61 ซึ่งคิดคำนวณเพียง 10 ชั้น แต่ในแผนธุรกิจเครือข่ายสามารถสร้างเครือข่ายขยายองค์กรลงไปได้ไม่จำกัด (อินฟินิตี้) ผู้ที่เป็นต้นสาย/แม่ทีม/แม่ข่าย เมื่อสร้างเครือข่ายขยายองค์กรออกไปได้ไม่ว่าจะเป็นชั้นลูก ชั้นหลาน ชั้นเหลน ชั้นโหลน และชั้นลูกๆ ของชั้นโหลนต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่มีที่สิ้นสุด สมาชิกผู้ที่มีตำแหน่งสูงถัดขึ้นไปก็จะได้รับเงินโบนัสเพิ่มขึ้นจากการมีสมาชิกเข้าร่วมเครือข่ายเพิ่มขึ้นในแต่ละชั้น จากชั้นต่ำสุดย้อนกลับขึ้นไปยังชั้นสูงกว่าจนถึงชั้นสูงสุดเหมือนลูกโซ่ โดยที่ไม่ต้องขายสินค้า เพียงแต่รักษายอดซื้อ (ยอดการบริโภค) รายเดือนๆ ละเท่าๆ กันไว้เท่านั้น

         หากสมาชิกชั้นสุดท้ายไม่สามารถหาสมาชิกเข้าร่วมเครือข่ายขยายสายงานต่อไปได้ สมาชิกผู้นั้นก็จะไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ เลย ในขณะเดียวกันสมาชิกที่มีตำแหน่งสูงถัดขึ้นไปตามลำดับก็จะไม่ได้รับโบนัสไปด้วย ซึ่งไม่แตกต่างไปจากแชร์ลูกโซ่ หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่สามารถหาสมาชิกเข้ามาร่วมเครือข่ายได้เพิ่มขึ้นเมื่อใด เมื่อนั้นสายโซ่จะเริ่มขาดครับ เพราะไม่สามารถหาสมาชิกมาเพิ่มได้ ในที่สุดธุรกิจนั้นจะล้มครืนลงไปในที่สุดและสร้างความเสียหายให้กับประชาชนมากมายมหาศาลเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังมีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ

        จึงเห็นว่าแผนธุรกิจเครือข่ายที่มีแผนการจ่ายผลตอบแทนดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นเข้าข่ายเป็นแชร์ลูกโซ่ครับ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่าน และประชาชนที่กำลังตัดสินใจเข้าร่วมธุรกิจเครือข่ายตามที่เป็นจุดมุ่งหมายของท่านผู้อ่านผู้ถามมา และคงมองเห็น "ภัยของแชร์ลูกโซ่" อย่าลืมใช้วิจารณญาณให้รอบคอบ โดยพิจารณาจากการบรรยายแผนธุรกิจหรือแผนการตลาดของบริษัทฯ เป็นสำคัญ โดยอาศัยหลักกฎหมายข้างต้นประกอบการพิจารณาด้วยความละเอียด รอบคอบ ระมัดระวัง ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อย่าโลภ รู้จักพอประมาณ มีเหตุมีผล ซื่อสัตย์ ขยันและอดทน เชื่อว่าเราจะไม่ตกเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่ ลงทุนอย่างอื่นอาจจะพบกับความสมดุล มั่งคั่งและยั่งยืนกว่าครับ ถาม-ตอบคราวนี้ ต้องขอขอบคุณ คุณปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ สำหรับข้อมูลที่เป็นความรู้ครับ.--จบ--

         ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

จากคุณ : เม่าน้อยสู่พญาปลวก
เขียนเมื่อ : 9 ต.ค. 55 08:09:10




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com