Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
กางโรดแมปไมซ์รับเออีซีชิงรายได้6.3หมื่นล. ติดต่อทีมงาน

วันศุกร์ที่ 05 ตุลาคม 2012 เวลา 13:26 น. สุรีวัลย์ บุตรชานนท์ ท่องเที่ยว&บริการ - คอลัมน์ : ท่องเที่ยว&บริการ Tourisn


   ทิศทางการขยายตัวของธุรกิจไมซ์ในปี 2556 จะเป็นอย่างไร  ไทยจะใช้กลยุทธ์ในการดึงตลาดนี้อย่างไร "ฐานเศรษฐกิจ"ได้สรุปสาระสำคัญที่ได้จากเวทีที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดงาน IT&CMA and CTW Asia-Pacific 2012 ซึ่งเป็นงานเทรดโชว์ด้านการประชุมนานาชาติและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เมื่อวันที่ 2-4 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

++ผุดแผน 3 ปี บูมตลาด

            ทั้งนี้ภายในงาน IT&CMA ปีนี้ มีกลุ่มผู้เดินทางไมซ์และสื่อมวลชนนานาชาติ รวมกว่า 2.6 พันคน  จาก 60 ประเทศทั่วโลกที่เข้ามาร่วมงานครั้งนี้ โดยคาดว่าจะสร้างรายได้หมุนเวียนให้แก่ประเทศกว่า 1.7 พันล้านบาท และไทยยังได้รับสิทธิ์การจัดงานนี้ต่อเนื่องไปอีก 5 ปี จนถึงปี 2560 ซึ่งแสดงถึงศักยภาพของไทยในการจัดงานด้านประชุมและท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลระดับภูมิภาค

           อีกทั้งภายในงานปีนี้ ไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการไทยและอาเซียน ที่พาเหรดมาร่วมออกบูธนำเสนอโปรดักต์เพื่อโปรโมตตลาดไมซ์ ให้ผู้เข้าประชุมจากภูมิภาคนี้ได้อัพเดตโปรดักต์กันแล้ว ทางสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน)หรือสสปน. ยังประกาศความพร้อม เดินหน้ารุกตลาดอุตสาหกรรมการประชุมปี 2556 ด้วยการมุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าเอเชีย และอาเซียนบวก 6 เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ด้วยการจัดงบ 90 ล้านบาท ทำแผน 3 ปี หนุนเมกะอีเวนต์ สนับสนุนตลาดแบบขั้นบันไดดึงกลุ่มคอร์ปอเรตอินเซนทีฟ

         พร้อมเปิดตัวแคมเปญ ASEAN Visitors Promotion กระตุ้นตลาดประชุมสมาคมนานาชาติ ชูภาพลักษณ์ประเทศไทย สะพานเชื่อมเศรษฐกิจสู่อาเซียน หวังผลักดันไมซ์สร้างโอกาสทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ตั้งเป้าทำรายได้กว่า 1.8 แสนล้านบาท ระหว่างปี 2556-2558    

++ดันไมซ์ 7.92 แสนคนปีหน้า

            โดยแผนขับเคลื่อนตลาดไมซ์ในปี 2556 สสปน.ตั้งเป้าหมายการเพิ่มรายได้กว่า 6.39 หมื่นล้านบาท  ซึ่งรายได้สูงสุดจะเกิดจากการประชุมสมาคมนานาชาตินั่นเองและมีผู้เดินทางกลุ่มไมซ์ราว 7.92 แสนคน (ตารางประกอบ) ภายใต้งบประมาณปี 2556 ที่ สสปน.ได้รับงบประมาณทั้งสิ้นราว 870 ล้านบาท

ต่อเรื่องนี้นางสาววิชญา สุนทรศารทูล รักษาการ ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรมการประชุม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. เปิดเผยว่า แผนการตลาดของอุตสาหกรรมไมซ์ (Meeting, Incentive, Convention and Exhibition) ในปี 2556 จะแบ่งเป็นกลยุทธ์ดังนี้ ด้านเอ็กซิบิชันหรือ E จะมุ่งเน้นการทำตลาดในประเทศกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้แก่ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีนตอนใต้ (ยูนนาน) โดยจะมุ่งเรื่องเทรดดิ้งเป็นหลัก ซึ่งจะเกิดขึ้นในเวียดนามและพม่ามากขึ้น

ขณะที่ด้านประชุม อินเซนทีฟ และคอนเวนชัน หรือ M I C จะมุ่งเน้นตลาดเอเชีย และอาเซียน+3 และ +6 ร่วมไปกับการรักษาฐานตลาดยุโรปและอเมริกา เพราะธุรกิจคอนเวนชันส่วนใหญ่ยังมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ยุโรป  แต่อาจจะมีการทำตลาดน้อยลง เนื่องจากวิกฤติยูโรโซน เพราะฉะนั้นจะมีบางประเทศที่ตัดงบประมาณสำหรับการเดินทางไปประชุมระยะไกลลง
รวมทั้งสสปน.ก็ยังมีแผนในการมองหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ โดยขณะนี้ได้เริ่มเจาะตลาดแอฟริกาใต้ (โจฮันเนสเบิร์ก) และตะวันออกกลาง (ดูไบ อาบูดาบี) ซึ่งในปีหน้าจะเริ่มเข้าไปทำตลาดและโรดโชว์ในประเทศเหล่านี้มากขึ้น

ด้านภาพรวมอุตสาหกรรมไมซ์ในปีหน้า จากที่มีการหารือกับซัพพลายเออร์ พบว่าธุรกิจกำลังเริ่มเติบโตขึ้น โดยราว 70% เป็นธุรกิจที่มาจัดในไทย ซึ่งเริ่มเห็นแนวโน้มว่างานกำลังเริ่มกลับเข้ามาจัดในไทยนับจากนี้ไปราว 2-3 ปี แต่ทั้งนี้ไทยก็ยังมีคู่แข่ง โดยประเทศที่เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจไมซ์ได้แก่ เกาหลี ไต้หวัน มาเลเซีย และจีน ในขณะที่เวียดนาม แม้ในสายตาของผู้ซื้อเวียดนามจะเป็นเดสติเนชันใหม่ที่มีประวัติศาสตร์ แต่เวียดนามก็ยังไม่พร้อมทั้งหมด ต้องพัฒนาไปอีก ซึ่งเราก็ไม่ได้มองเวียดนามเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว เพราะ สสปน. ยังใช้เวียดนามเป็นเดสติเนชันสำหรับ pre และ post tour รวมถึงไทยยังเป็นเกตเวย์ในการเดินทางสู่จุดหมายปลายทางต่างๆ นางสาววิชญา กล่าวทิ้งท้าย

++อัดอินเซนทีฟล่อใจ

นอกจากการทำโปรโมตเจาะในแต่ละตลาดแล้ว สสปน.ยังมีกลยุทธ์ ในการส่งเสริมตลาดผ่าน 3 แคมเปญ ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นกลุ่มเป้าหมายองค์กรธุรกิจ (Corporate Meetings) ด้วยการจัดสรรงบประมาณราว 90 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นตลาดในระยะ 3 ปี ผ่าน 2 แคมเปญหลัก ได้แก่ แคมเปญดึงงานระดับใหญ่ให้จัดในประเทศไทย มุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าองค์กรที่มีศักยภาพในการจัดประชุมหรืออินเซนทีฟในระดับใหญ่ตั้งแต่ 1 พันคนขึ้นไป และมีระยะเวลาพำนักในไทยอย่างน้อย 3 วัน สสปน. จะให้การสนับสนุนเงิน 1 ล้านบาทสำหรับการจัดงาน และจะสนับสนุนให้มีการใช้จ่ายในประเทศไทยด้วย นับเป็นการเพิ่มโอกาสในการดึงงานให้เกิดขึ้นในไทย

สำหรับแคมเปญที่สองได้แก่ แคมเปญให้การสนับสนุนแบบขั้นบันได เพื่อรักษางานให้จัดในประเทศไทยประจำปีอย่างต่อเนื่องภายในระยะเวลาอย่างน้อย 3 ปี โดยจะมุ่งเน้นการประชุมหรืออินเทนซีฟที่มีผู้เข้าร่วม 1 พันคนขึ้นไป มุ่งเจาะตลาดใน 5 สาขาธุรกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มบริษัทขายตรง อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ การเงินการธนาคาร และกลุ่มบริษัทประกันภัย ซึ่งหากมีการทำสัญญาว่าจะเข้ามาจัดงานในไทยติดต่อกัน 3 ปี และในแต่ละปีจะมีลูกค้าเข้ามาเพิ่มขึ้นราว 10% สสปน. จะมอบเงินสนับสนุน 1 ล้านบาท และจะมอบเพิ่มขึ้นทุกปี 10% คือ 1 ล้านบาท+10%  ซึ่งในขณะนี้ก็เริ่มเห็นความเคลื่อนไหวในการเข้ามาจัดงาน เช่น ในเดือนพฤศจิกายนนี้จะมีโปรเฮลธ์เข้ามาจัดงานราว 1 หมื่นคน รวมถึงในปี 2556 จะมีซูซูกิจากญี่ปุ่นเข้ามาจัดงานในไทยราวกว่า 4 พันคน

           ขณะเดียวกันยังมีอินเซนทีฟสำหรับดึงกลุ่มเป้าหมายสมาคม (Association Meetings) ด้วยการออก "แคมเปญ ASEAN Visitors Promotion" กระตุ้นการเพิ่มจำนวนผู้เข้ามาประชุมในตลาดเป้าหมายจากประเทศในกลุ่มอาเซียนบวก 3 (ญี่ปุ่น เกาหลี จีน) โดยให้การสนับสนุนผู้จัดงานทั้งที่เป็นกลุ่มเป้าหมายสมาคมต่างๆ บริษัทรับจัดประชุม หรือ บริษัททัวร์ ที่นำผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศในกลุ่มอาเซียนบวก 3 จำนวน ตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป   เข้ามาร่วมงานประชุมในประเทศไทยที่อยู่ภายใต้แคมเปญดังกล่าว โดยจะได้รับการสนับสนุน 1 พันบาทต่อคน  ทั้งนี้ในเบื้องต้น สสปน. ได้คัดเลือกงานที่คาดว่าจะมีผู้ร่วมประชุมจากต่างชาติมากกว่า 300 คน จำนวนกว่า 30 งาน ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมจากงานดังกล่าว 9 พันคน คาดว่าจะสร้างรายได้ให้ประเทศราว 800 ล้านบาท ในปี 2556

++ไทยและเวียดนามยังฮอต

สำหรับมุมมองต่อธุรกิจไมซ์จากภาคธุรกิจ นายมาร์ค ฟลาเวอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายการค้าและพาณิชย์ อินเตอร์คอนติเนนตัล โฮเต็ล กรุ๊ป เอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือไอเอชจี กล่าวว่า ประเทศที่มีศักยภาพในการจัดงานไมซ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือไทยและเวียดนามโดยเดสติเนชันในไทยที่เป็นที่นิยมมากที่สุดคือกรุงเทพฯ รวมถึงภูเก็ต และพัทยา โดยปัจจุบันกว่า 50% ของธุรกิจจัดการประชุมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาจากนอกภูมิภาคที่ใช้เวลาเดินทางนาน 6-15 ชั่วโมง และความต้องการนี้จะยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยนักท่องเที่ยวไมซ์ที่นิยมเดินทางมาจัดการประชุมกับไอเอชจีได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ ซึ่งไทยยังมีความได้เปรียบประเทศอื่นๆ เพราะมีราคาถูกกว่า ทั้งนี้การจัดงานไมซ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะขยายตัวราว 9% ในภาพรวม แต่ไทยและเวียดนามจะขยายตัวมากกว่า 20%

          ด้านนายเล็กซ์ แลม ผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัท ดิสคัฟเวอรี่ โอเวอร์แลนด์ ฮอลิเดย์ จำกัด (บริษัทนำเที่ยวประเทศมาเลเซีย) กล่าวว่า บริษัทได้ร่วมมือกับประเทศต่างๆในการจัดแพ็กเกจลักษณะคอมบายหรือการขายสองประเทศพ่วงกัน โดยมีการคอมบายร่วมกับไทยและสิงคโปร์ ในขณะที่สิงคโปร์มีการคอมบายร่วมกับอินโดนีเซีย ซึ่งทำให้มาเลเซียเป็นเพียงประเทศเชื่อมต่อ เช่น กลุ่มธุรกิจที่มาประชุมราว 6 วัน อาจจะเข้ามาพักในมาเลเซีย 2 วัน และกลับเข้าไปพักในภูเก็ตอีก 4 วัน เป็นต้น โดยกลุ่มธุรกิจเลือกที่จะอยู่ในมาเลเซียน้อยกว่าจุดหมายปลายทาง  
ทั้งหมดล้วนเป็นทิศทางของอุตสาหกรรมไมซ์ของไทยที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 32 ฉบับที่ 2,781 วันที่  7-10  ตุลาคม  พ.ศ. 2555

 
 

จากคุณ : Wild Rabbit
เขียนเมื่อ : 9 ต.ค. 55 08:56:44




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com