Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
Review หนังสือ "ต้องเท่าไหร่ ถึงจะพอ" ติดต่อทีมงาน

โดย อมิตา อริยอัชฌา

ว่ากันว่าในโลกนี้มีคนอยู่สองประเภท  ประเภทแรก กังวลเรื่องเงิน  ประเภทที่สอง ไม่กังวลเรื่องเงิน   

เวลาในชีวิตนั้นมีค่า  แทนที่จะทุ่มเวลาไปกับความวิตกกังวล เอาเวลามาวางแผนทำให้ตัวเองหมดความวิตกกังวลกันดีกว่า

หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยเรื่องของการคิด ว่าชีวิตของเราต้องการอะไรกันแน่  ว่าด้วยการวางแผนปลดปล่อยตัวเองจากความกังวลว่าจะมีเงินไม่พอ  และว่าด้วยการวางแผนทางการเงิน เพื่อที่จะได้สามารถกำหนดรูปแบบชีวิตได้

ทางเลือกจะเกิดขึ้นได้เมื่อรู้ว่า  “ต้องมีเท่าไหร่ ถึงจะพอ”

ความสำเร็จในชีวิต คือ มีอิสระในการกำหนดรูปแบบชีวิตเองได้
ความสำเร็จในด้านการงาน  คือ มีอิสระในการกำหนดงานเองได้  คุณสามารถเลือกงานที่คุณพอใจ โดยที่ไม่ต้องกังวลเรื่องเงิน  คุณสามารถเลือกงานในฐานะ อาสาสมัคร โดยไม่หวังผลตอบแทนได้
ความสำเร็จในด้านการเงิน คือ มีอิสรภาพทางการเงิน    นั่นคือ พอ

“ต้องเท่าไหร่ถึงจะพอ” เป็นหนังสือที่จะช่วยให้คุณวางแผน สร้างเงินรองรังในจุดที่มากกว่าค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ตลอดชีวิต

ต้องเท่าไหร่ถึงจะพอ  


เมื่อฉันวิ่งไล่ตามเงิน  ฉันไม่เคยรู้สึกพอเสียที   -Wayne Dyer-

มีเท่าไหร่ก็ไม่สุข  มีการศึกษาที่มหาวิทยาลัยวอร์ริค  พบว่าชาวอเมริกาและอังกฤษมี รายได้มากขึ้น 3 เท่า จากในอดีต แต่ความสุขไม่ได้มากขึ้นตาม    ชาวญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สองมีรายได้เฉลี่ย 3000 เหรียญ ต่อมาอีกสามสิบปีต่อมากลายเป็นชาติที่มั่งคั่งที่สุด ก็ไม่ได้มีความสุขมากขึ้น

และพบว่า ผู้ที่มีทรัพย์สินมากมายชนิด “กินอยู่ไปสิบชาติ ก็ไม่หมด”  ก็ไม่ได้มีความสุขไปมากกว่า ชาวมาไซในเคนยา ที่ไม่มีไฟฟ้า หรือน้ำประปาใช้

หนังสือเล่มนี้ยังยกตัวอย่าง เมเรดิธ เวียร่า  พิธีกร  ผู้มีรายได้จาก “Today Show” ปีละกว่า 10ล้านเหรียญ  ก็ยังเฝ้ากังวลว่าวันหนึ่งตัวเองอาจจะมีเงินไม่พอใช้จ่าย   แม้แต่คนที่หาได้มากขนาดนั้น ถ้ายังจัดการความรู้สึกตัวเองไม่ได้ ก็ไม่มีวันเป็นสุขอยู่ดี

คำตอบที่ว่า “ต้องมีเท่าไหร่ถึงจะพอ”

Gallup poll ปี 2003 เคยสำรวจเรื่องนี้ไว้  ถามคนทั่วไปว่า คุณรวยหรือยัง  พบว่ามีแค่ 2% เท่านั้นที่บอกว่าตัวเองรวย 

และหากตั้งคำถามต่อไปว่า “ต้องเท่าไหร่ถึงจะรวย” พบว่า

  • ผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า 30000 เหรียญ  จะบอกว่าเขารู้สึกรวย ถ้ามีรายได้ 74,000 เหรียญ
  • ผู้ที่มีรายได้  30000-50000 เหรียญ  จะบอกว่าเขารู้สึกรวย ถ้ามีรายได้  100,000 เหรียญ
  • ผู้ที่มีรายได้มากกว่า 50000 เหรียญ  จะบอกว่าเขารู้สึกรวย ถ้ามีรายได้ 200,000

ปรากฎว่า ยิ่งมีมากเท่าไหร่ คำว่ารวยยิ่งวิ่งหนีเราออกไป

คนส่วนใหญ่จะรู้สึก  มีความสุขและเพียงพอได้ ก็ต่อเมื่อ เห็นรายได้ตัวเองเพิ่มขึ้นจากที่ได้รับในปัจจุบัน เป็นเท่าตัว

เริ่มมองเห็นเค้าลางแล้วหรือยัง

ขึ้นตอนแรก ที่จะจัดการกับเป้าหมายทางการเงิน  ที่เคลื่อนหนีคุณออกไปเรื่อยๆ คือ หยุดวิ่งไล่ตามมัน

ขึ้นตอนที่สอง คือ ลงมือสร้างเป้าหมายทางการเงินที่อยู่กับที่   เพื่อที่คุณจะไปถึงมันได้

อิสรภาพชั่วชีวิต

ตัวเลขรายได้  มักไม่มีอะไรเกี่ยวพันกับความรวย    ความรวยควรถูกวัดจาก “สินทรัพย์ทั้งหมดที่มีเหลืออยู่หลังหักภาษีและค่าใช้จ่าย”  แม้ว่าจะมีบ้านหรู และรถอีกสองคัน แต่หนี้สินมโหฬาร ใกล้เคียงราคาบ้านและรถ อย่างนี้ต้องเรียกว่า “จน”

ข้าวมีเพดานให้อิ่มท้อง  ขณะที่คนอิ่มเงินนั้น หาทั้งวันก็หาไม่เจอ

ตัวเลขอิสรภาพทางการเงิน  หามาด้วยการตั้งคำถามง่ายๆว่า  “ถ้าคุณต้องหยุดทำงานขึ้นมาทันทีทันด  ด้วยเงินที่มีในวันนี้  คุณสามารถดำเนินชีวิตแบบปกติอยู่ต่อไปได้นานแค่ไหน”

ถ้าพบว่าคุณอยู่ได้แค่ 1 เดือน  เท่ากับคุณอยู่ในฐานะอิสรภาพ 1 เดือน
แต่ถ้าพบว่าคุณอยู่ได้ 5 ปี  เท่ากับคุณอยู่ในฐานะอิสรภาพได้ 5 ปี
แต่ถ้าโชคดีคุณตอบว่า อยู่ได้จนตาย   นั่นคือ อิสรภาพชั่วชีวิต

และเมื่อวันนั้นมาถึงเมื่อไหร่  นั่นแหละ คุณจึงจะรู้สึก “พอ”

รายได้อัตโนมัติ จะทำงานหรือไม่ทำงานก็ได้

สมมุติว่าคุณดำรงชีวิตด้วยเงินปีละ 200,000 บาทต่อปี   คุณก็อาจจะมีอิสรภาพได้ด้วยเงินเพียงแค่ 5,000,000 บาทแล้วมีผลตอบแทน 5% ต่อปี  คุณก็มีอิสรภาพทางการเงิน  ไม่ใช่ “มีเงินใช้อย่างไม่จำกัด”

และถ้าคุณเก่งพอที่จะทำให้ได้ผลตอบแทน 10% ต่อปี   คุณแค่มีเงิน 2,000,000 บาทก็พอ
 
อย่าปล่อยให้ตัวเองใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือนเป็นอันขาด  เพราะเท่ากับคุณไม่มีโอกาสสัมผัสอิสรภาพทางการเงินเลย   ถ้าเลิกทำงานเมื่อไหร่ ลำบากสถานเดียว 

และถ้าคุณสร้างอิสรภาพไม่ได้  คุณก็ต้องถูกบังคับให้ “ทำงานเพื่อเงินไปตลอดชีวิต”

มีรายได้มากกว่ารายจ่าย

ถ้าคุณมีเงินเดือน 300,000 บาท แต่ดันมีหนี้ที่ต้องจ่ายเดือนละ 200,000 บาท  รายจ่ายอื่นๆ 150,000 บาท คุณก็จัดว่าไม่มีอืสรภาพทางการเงิน

แต่ถ้าคุณมีรายได้ 50,000 บาท แต่ใช้จ่ายเดือนละ 20,000 บาท  คุณมีโอกาสที่จะมีอิสรภาพทางการเงินสูงมาก

ใช้จ่ายให้น้อยกว่าที่หาได้    เป็นกุญแจดอกใหญ่ของอิสรภาพทางการเงิน  ทางที่ดีก็คือมีรายได้ให้มาก  ใช้จ่ายให้น้อย  ออมให้สุดกำลังที่มี

เป็นสุขได้โดยที่ไม่พึ่งวัตถุ
คนที่สามารถมีความสุขได้โดยไม่พึ่งวัตถุ  เป็นผู้ได้เปรียบที่สุดในเรื่องนี้

เพราะต่อให้มีเงินปีละ 1,000,000 บาท แต่ถ้าคุณต้องการเพียงแค่ 200,000 บาทก็อยู่ได้สบายๆ 

ยิ่งคุณพึ่งพาวัตถุน้อยลงเท่าไหร่   ยิ่งปรับตัวเข้ากับสิ่งต่างๆได้ง่ายขึ้น  และรับมือได้สบายๆ ถ้ามีเหตุไม่คาดฝัน

ฝึกทำในให้ต้องการน้อย เข้าไว้  ยิ่งคุณเป็นสุขจากการมีน้อยเท่าใด  อิสรภาพทางการเงินยิ่งง่ายขึ้นเท่านั้น

เจนเนอเรชั่น “พอ”

การสร้างทางเลือก ว่าคุณจะเลิกทำงานเมื่อไหร่ก็ได้  เมื่อมาถึงจุด “พอ” เมื่อใด  คุณกำหนดทางเดินชีวิตได้ด้วยตัวคุณเอง

สถิติระบุว่า มีเพียง 14% ของอเมริกันชน ที่สามารถเดินหนีออกจากงานได้ก่อนเกษียณ  แต่มีถึง 86% ที่ต้องฝืนทนทำงานจนอายุมากกว่า 60 ปี  เพราะลืมเตรียมทางหนีทีไล่ให้ตัวเอง

ชีวิตที่สอง

เจ้าของเวบไซด์ www.retireearlylifestyle.com และเจ้าของหนังสือชื่อ “The adventurer’s Guide to Early Retirement :  A Common Sense Approach”

มีชีวิตที่สอง  เริ่มต้นเมื่อสามีภรรยาในวัยสามสิบปลายๆปี  ได้สั่งสมชีวิตการทำงานจนถึงจุดหนึ่งแล้ว  บิลลี่เคยเป็นเชฟร้านอาหาร  และเปลี่ยนไปทำงานเป็นผู้จัดการสาขาของบริษัทแห่งหนึ่ง  และเมื่อเหนื่อยได้ที่ หลังจากตรวจสอบชีวิตและทบทวนตัวเลข อย่างถี่ถ้วนแล้ว  ก็หักหัวเรือเปลี่ยนเส้นทางชีวิตใหม่

เปลี่ยนจาก “มี่ชีวิตเพื่อทำงาน”  เป็น “มีชีวิตเพื่อมีชีวิต” ในเกาะกลางทะเลคาริบเบียนใช้ชีวิตเรียบๆง่ายๆ  มีเงินรองรัง 500,000 เหรียญ  และใช้จ่ายเพียงแค่ 24,000 เหรียญต่อปี

  มีเคล็ดลับก็คือ  “รีบทำงานให้หนัก  ใช้เงินให้น้อย  เก็บให้มาก  ลงทุนให้ดี” แค่นี้เองจริงๆ

มองหาดาวเหนือ

หนังสือเล่มนี้ได้ถามคำถามง่ายๆ 8 คำถาม ที่อาจช่วยให้มองเห็นเป้าหมาย

1.ที่ผ่านมาฉันได้ให้ความสนใจกับการวางแผนอนาคตมากพอหรือยัง
2.ถ้าฉันหยุดทำงาน ฉันยังคงมีอิสรภาพทางการเงินพอที่จะดูแลตัวเองโดยไม่พึ่งรัฐบาล  หรือพ่อแม่  หรือพี่น้อง หรือลูกหลานได้หรือไม่
3.ฉันเคยจัดการให้เงินออมของฉันทำงานของมันหรือยัง
4.ถ้าจู่ๆเกิดเหตุที่ทำให้ฉันทำงานและมีรายได้เท่าเดิมไม่ได้ ฉ้นจะดูแลตัวเองต่อไปได้ไหม
5.งานที่ฉันทำอยู่มั่นคงถาวรชั่วกาลนานอย่างที่ฉ้นคิดหรือเปล่า
6.งานที่ฉ้นทำอยู่มีเวลาให้ฉันได้ยอยู่กับครอบครัวและคนที่ฉันรักหรือเปล่า
7.นอกจากเวลาอยู่กับครอบครัวแล้ว  การทำงานนี้ทำให้ฉันมีโอกาสพักผ่อนบ้างไหม  ครั้งสุดท้ายที่ฉันได้พักผ่อนคือเมื่อไหร่
8.ฉันควรจะปล่อยตัวเองแก่กว่านี้ไหม ถึงจะเริ่มวางแผนอนาคต

รีไทร์เร็วไม่ต้องรวย

เลิกคิดที่จะรวย รวย รวย   หันมาลงมือหาเงินให้ พอ พอ พอ  ทุกคนสามาถรรีไทร์ ณ อายุที่ต้องการได้ โดยไม่จำเป็นต้องรวย

งานคือเงิน  ไม่มีใครมุ่งหน้าเรียนหนังสือให้เก่งๆ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องทำงาน  และไม่มีใครตั้งหน้าหาทำงานให้โดยที่ไม่มีเงิน

ยอมรับความจริงเถอะว่า  “เราทำงานเพื่อเงิน”

แต่ที่เราควรปฎิเสธคือ การเอาความสุขทั้งหมดของชีวิตเรา ไปผูกติดเรื่อเงินเพียงอย่างเดียว

ชีวิตยังมีเวลาจะถึงวาระสุดท้าย  เราควรใช้มันให้มีความหมายที่สุด

มีการสำรวจ  เปอร์เซนต์การลงทุน/ออม พบว่า

ออม/ลงทุน 0% ของรายได้   มีจำนวน 16%  นั่นคือคนกลุ่มนี้ไม่มีเงินออม      
ออม/ลงทุน 1-5% ของรายได้   มีจำนวน 23%   
ออม/ลงทุน 6-9% ของรายได้   มีจำนวน 9%      
ออม/ลงทุน 10-14% ของรายได้   มีจำนวน 27%      
ออม/ลงทุน 15-20% ของรายได้   มีจำนวน 18%        
ออม/ลงทุน 21-30% ของรายได้   มีจำนวน 5%      
ออม/ลงทุน 31-40% ของรายได้   มีจำนวน 0%   
ออม/ลงทุน 41-50% ของรายได้   มีจำนวน 1%      
ออม/ลงทุน 51%+ ของรายได้   มีจำนวน 1%     

จะเห็นได้ว่าผู้ที่ออม/ลงทุน 20% ขึ้นไปมีจำนวนน้อยมากๆ

ผิดไหมที่อยากหยุดทำงาน

  • เราไม่ได้หยุดเพราะเกียจคร้าน  แต่เปลี่ยนไปทำงานที่เรารักและต้องการทำ
  • เราไม่ต้องการเป็นเครื่องจักรผลิตเงิน  เราอยากทำงานในเวลางานที่เรากำหนดเอง  หรืองานอาสาสมัครที่ได้มีโอกาสช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน
  • เรามีโอกาสที่จะเลือกทำอะไรกับชีวิตก็ได้  เนื่องจากเราทำงานหนักและลงทุนอย่างรอบคอบ จนมีเงินพอเลี้ยงชีพไปจนตาย
  • ฉันต้องการอิสรภาพทางการเงิน เพราะฉ้นต้องการรับผิดชอบชีวิตของฉ้นเอง  ไม่ต้องการเป็นภาระพึ่งพิงต่อผู้อื่น

ค้นหาตัวเลขอิสรภาพ

เราใช้เงินเท่าไหร่ในแต่ละเดือน 
อิสระภาพทางการเงินจะบรรลุได้ยากขึ้นมาก  หากไม่จำกัดขอบแขตความต้องการพื้นฐานบนความเป็นจริง  จะดีมากๆ ถ้าเงินจำนวนนี้เป็นผลตอบแทนจากการลงทุนล้วนๆ โดยไม่แตะเงินต้นเป็นดีที่สุด

โดยทั่วไปเชื่อว่า เงินที่คุณต้องใช้ในแต่ละเดือน  จำเป็นต้องมีรายได้ 80% ของรายได้ที่เราเคยมี จึงจะสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข

เช่น ถ้าคุณค่าใช้จ่าย 40,000บาทต่อเดือน  หลังหยุดงานประจำแล้ว น่าจะอยู่ที่ 32,000 บาทต่อเดือน หรือ 384,000 บาทต่อปี

ตัวคูณเงินเฟ้อ

เงินเฟ้อ คือศัตรูหมายเลขหนึ่งของเงินออม และลงทุน    ชอบแอบแฝงซ่อนตัวในลักษณะที่ตามองไม่เห็น 

ให้คุณตัวเลขเป้าหมายที่ต้องการ คูณด้วยตัวคูณเงินเฟ้อ

จำนวนปี     ่ตัวคูณ
        5     1.16
      10    1.34
      15    1.56
      20    1.81
      30    2.09
      35    2.81
      40    3.26

เช่น ถ้าคุณต้องการเกษียณอายุในอีก 20 ปีข้างหน้า ก็ต้องคูณตัวเลขเป้าหมาย 384,000 บาทต่อปี x 1.81 = 695,040 บาทต่อปี

อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยหลังเกษียณ 

ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นกับว่าคุณทำผลตอบแทนจากการลงทุนได้เฉลี่ยต่อปีเท่าไหร่  โดยทั่วไปแล้วก็คิดประมาณ 5%  ถ้ารายจ่ายอยู่ที่  695,040 บาทต่อปี  เงินรองรังก็ควรเป็น 695,040 / (5/100) = 13,900,800 บาท

แต่ถ้าคุณสามารถทำผลตอบแทนจากการลงทุนได้มากขึ้น  ตัวเลขเงินรองรังก็จะน้อยลง

ลดขนาดชีวิต

“ข้าวของที่คุณครอบครอง  สุดท้ายจะเป็นฝ่ายครอบครองคุณ”

ยิ่งต้องครอบครองและดูแลสิ่งต่างๆน้อยลงเท่าใด  ชีวิตก็จะยุ่งยากและจ่ายน้อยลงเท่านั้น

เศรษฐียุคใหม่ไม่ได้ใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้ออย่างที่เราคิด  คนรวยยุคนี้อยู่กินแบบชนชั้นกลาง  ชนชั้นกลางต่างหากที่ฟุ้งเฟ้อและไม่มีเงินเหลือเก็บแล้วก็มองคนรวยว่าโลภ

บิล เกตต์  กินอยู่อย่างเรียบง่าย  ไม่ฟุ้งเฟ้อ  ออมเงินมากกว่า 20% ของรายได้
ดร.นิเวตน์ เหมวชิรากร  เจ้าของพอร์ต 4000 ล้านบาท  อาศัยอยู่บ้านขนาดย่อม(ของแม่ยาย)ดูแลง่าย  ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง

ภาพลักษณ์ของคนรวยสมัยใหม่ คือ ธรรมดาติดดิน  กินอยู่เรียบง่าย  คิดก่อนใช้  ทำงานรู้จักออม  ลงทุนระยะยาว

ลดขนาดชีวิต ลดขนาดค่าใช้จ่าย

คนทั่วไปมักคิดว่า  การลดขนาดชีวิตคือความทุกข์  ชีวิตตกต่ำลง  แต่แท้จริงแล้วการลดขนาดชีวิตคืออิสรภาพ  ช่วยปลดปล่อยออกจากความยุ่งยากและความวุ่นวาย  ทำให้ชีวิตเรียบง่าย

คิดให้ไกลกว่าปัจจุบัน

คนที่ขาดเป้าหมายทางการเงินมักไม่รู้ว่าจะเก็บเงินไปทำไม  พวกเขาจะใช้จ่ายไปเรื่อยๆ  โดยไม่คิดจะหยุดตัวเอง  ถ้าไม่มีเป้าหมายอื่นให้เขาจับต้องได้  ก็มักเผลอใจไปกับวัตถุข้าวของในเวลาอันสั้น 

สุดท้ายการมีบ้านใหญ่ๆ  รถแพงๆ  ทีวิจอยักษ์  สมาร์ทโฟนรุ่นแล้วรุ่นเล่า  กระเป๋าแบรนด์เนม  ปริมาณเหลือล้นเกินคนธรรมดาจะต้องการ

ในขณะที่คนที่มีเป้าหมายทางการเงิน มักไม่เป็นอย่างนั้น 

ใช้จ่ายต่ำกว่าฐานะ

การใช้จ่ายเกินฐานะคือสูตรสำเร็จของหายนะที่แท้จริง  ไม่ต้องใช้สูตรใดๆก็พอรู้ได้ว่าคุณไม่มีวันรวยได้เลย

โอกาสเดียวที่จะรวยได้คือ ใช้จ่ายต่ำกว่าฐานะ   อย่าเพิ่งสับสนระหว่างใช้จ่ายต่ำกว่าฐานะ กับการใช้จ่ายตามฐานะ  มันต่างกัน

ช่วงที่มีรายได้น้อย  ผู้ที่วางแผนทางการเงินก็จะออมมากพอประมาณ  อาจออม 15% ของรายได้

แต่ช่วงที่มีรายได้มากกว่าเดิม 2 เท่า  ผู้ที่วางแผนทางการเงินก็จะออมมากขึ้นมาก อาจออมสูงถึง 50% ของรายได้  แต่ใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย  แทนที่จะใช้จ่ายมากขึ้น

ไม่รอช้าเรื่องการลงทุน

การลงทุนมีความสำคัญ  เงินจะทำงานให้คุณอย่างแข็งขัน เพียงใส่มันให้ถูกที่

ถ้าออมเงินใส่ในกระปุก  เงินจาก 10 บาท จะลดเหลือ 9 8 7 6 ไปเรื่อยๆตามเงินเฟ้อ

จะถึงเป้าหมายได้ ต้องทำทุกวิถีทางที่จะทำให้เงินทำงานให้มากที่สุด  ผ่อนถ่ายงานที่ทำให้เงินไปเรื่อยๆ จนกว่าเงินจะทำงานหนักกว่าตัวคุณ

คุณต้องโฟกัสไปที่การลงทุนระยะยาวอย่ารอบคอบเท่านั้น  การลงทุนแบบผาดโผนหวังรวยระยะสั้นทำให้ตกม้าตายได้ง่ายมาก  เข้าใจธรรมชาติของการลงทุนนั้นๆ
 
ทำงานที่รัก

ข้อดีของการรีไทร์คือ  คุณอาจเลือกที่จะทำงานเดิม แต่ทำน้อยลง  หรือทำงานใหม่ เป็นความท้าทายใหม่ก็ย่อมทำได้  คุณมีอิสระ  สเปคของงาน ฉันกำหนดเองได้  คุณอาจเลือกทำงานวันที่ 1-15 ส่วนวันที่ 16-30 เข้าวัดปฎิบัติธรรมก็ย่อมทำได้

ไม่ทำงานเพื่อเงิน  คุณอาจทำงานเป็นอาสาสมัครโดยไม่หวังผลตอบแทน 

คนผู้ที่มีน้อยและต้องการน้อย   ร่ำรวยกว่าคนผู้ที่มีมากและต้องการมาก   -Charles Caleb Colton-

 

http://www.fungistock.com

 

 
 

จากคุณ : counsellor
เขียนเมื่อ : 13 ต.ค. 55 15:03:15




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com