การเงิน - การลงทุน : เศรษฐกิจต่างประเทศ วันที่ 15 ตุลาคม 2555 06:46 โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เปิดมุมมองขุนคลังเยอรมนี “วูล์ฟกัง ชอยเบิล” กับ 5 คำถามในฐานะผู้กอบกู้และเจ้าหนี้รายใหญ่แห่งยูโรโซน
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบากทั่วโลก ทำให้เกิดคำถามว่า อะไรเป็นโมเดลที่เหมาะสมสำหรับเอเชีย ในขณะที่โมเดลรัฐสวัสดิการในยุโรป กลับก่อให้เกิดวิกฤติหนี้สาธารณะตามมา โมเดลเศรษฐกิจที่เน้นการส่งออกแบบญี่ปุ่น ก็ไม่สามารถนำพาประเทศให้ฟื้นสู่ความสำเร็จเหมือนในอดีต ส่วนโมเดลเศรษฐกิจที่เน้นการบริโภคแบบสหรัฐ ก็สร้างหนี้และวิกฤติ
รัฐมนตรีคลังเยอรมนี นายวูล์ฟกัง ชอยเบิล ให้ความเห็นว่า วิกฤติหนี้สาธารณะ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาตลอด ทั้งในละตินอเมริกา รัสเซีย และเอเชีย ไม่เฉพาะแต่โมเดลเศรษฐกิจแบบยุโรปและสหรัฐ ขณะที่ไม่อาจกล่าวโทษว่า วิกฤติหนี้สาธารณะในยูโรโซน มาจากโมเดลรัฐสวัสดิการ ซึ่งระบบสวัสดิการ ที่อยู่บนพื้นฐานการเงินที่ดี สามารถช่วยสมาชิกในสังคมที่ด้อยโอกาสได้
วิกฤติหนี้ ที่เกิดขึ้นมาจากกฎระเบียบ และการตรวจสอบด้านการเงินที่ไม่เพียงพอ การที่บางประเทศละเลยเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันเป็นเวลานานหลายทศวรรษ การพึ่งพารายได้จากภาษีมากเกินไป โดยได้แรงผลักจากการพัฒนาด้านการเงิน และอสังหาริมทรัพย์เพื่อเก็งกำไร และนโยบายการคลังที่ไม่เข้มงวด ทำให้การเกิดการกู้ยืมมากเกินไป เนื่องจากดอกเบี้ยต่ำมาก สิ่งเหล่านี้ บั่นทอนพื้นฐานด้านการเงินของสมาชิก และจำเป็นต้องคิดใหม่ทำใหม่ในปัจจุบัน รวมถึงปรับปรุงสิ่งต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพราะโลกไม่ได้หยุดรอยุโรป
เขาบอกว่า ในตอนนี้ ยังมีสิ่งต่างๆ ที่ต้องทำมากมาย และไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะให้คำปรึกษาว่าชาติอื่นๆ ควรจะดำเนินเศรษฐกิจแบบใด โดยเฉพาะภูมิภาคที่ประสบความสำเร็จอย่างเอเชีย ซึ่งมีหลายสิ่งให้ยุโรปเรียนรู้ แต่เราควรทำตามสิ่งที่กลุ่มจี20 เรียกร้องให้ส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่ง สมดุล และยั่งยืน ซึ่งยุโรป กำลังให้คำมั่น และจัดการกับจุดอ่อนเชิงโครงสร้างและการคลัง
รวมทั้งในอนาคต จะร่วมมือกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อระวังสัญญาณความไม่สมดุล หรือไม่ยั่งยืนของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น อย่างเรื่องการคลังสาธารณะ เราต้องสร้างกรอบเรื่องกฎระเบียบที่เข้มแข็ง เพื่อดูแลตลาดการเงินและผู้เกี่ยวข้อง แม้เราจะมีความก้าวหน้าไปมาก แต่ก็ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องทำ และสุดท้าย เราต้องหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจสร้างความเสียหายให้แก่การค้าระหว่างประเทศ ซึ่งมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจสำหรับทุกฝ่าย
คำถามต่อมา พวกเราเรียนรู้อะไรจากยุโรป นายชอยเบิล บอกว่า ยุโรป มีลักษณะพิเศษของโครงสร้างรัฐอธิปไตย เพื่อเอาชนะความขัดแย้งในอดีต รวมทั้งสร้างสันติภาพ และความมั่งคั่งร่วมกัน เริ่มจากตลาดเดียว และยกเลิกเรื่องเขตแดน รวมถึง สร้างสกุลเงินร่วมกัน ชาติสมาชิกต่างบูรณาการร่วมกันอย่างลึกซึ้ง แม้ยุโรป อาจดูน่าสับสน จากโครงสร้างที่ซับซ้อน แต่เราก็ผ่านมาได้ ไม่ใช่แค่ในยามวิกฤติเช่นขณะนี้ที่สามารถรับมือได้ แต่ยังทำได้รวดเร็วหากจำเป็น
ดังนั้น ยุโรป จึงเป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการรวมตัวระดับภูมิภาค ซึ่งมีความยืดหยุ่น แม้โครงสร้างจะซับซ้อน และรักษาขีดความสามารถของชาติในแง่นโยบาย
ถึงแม้ในช่วงวิกฤต ระดับการบูรณาการในสหภาพยุโรป และยูโรโซนจะทำให้ทุกคนอยู่บนโต๊ะเจรจา เผชิญหน้ากับความจริงที่ไม่น่าพิสมัย รวมถึงการหาทางออก และบังคับใช้อย่างต่อเนื่องและน่าเชื่อถือ แต่อาจเจ็บปวด ขณะที่การบูรณาการ และระบบความร่วมมือที่น้อยเกินไป ก็อาจทำให้เกิดการแตกแยกภายใต้ความกดดันต่างๆ สหภาพยุโรปอาจดูซับซ้อนและล่าช้า แต่ก็สามารถหาทางออกที่เป็นประโยชน์สำหรับสมาชิกทั้ง 27 ชาติได้
การรับมือกับวิกฤติ การปฏิรูปบางด้าน ที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน และการปฏิรูปที่ยาวนาน กำลังให้ผลลัพธ์ ท่ามกลางความยืดหยุ่นของสหภาพยุโรป และประสิทธิภาพในการกำกับดูแล การร่วมมืออย่างลึกซึ้งด้านเศรษฐกิจและสังคม การแบ่งปันในหมู่สมาชิกตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดความสามัคคี ที่จะพัฒนาร่วมกันในกลุ่ม แต่ก็ไม่ใช่ว่าโมเดลแบบนี้ จะเกิดขึ้นได้ทั่วโลก เพราะเป็นผลผลิตจากประวัติศาสตร์ของยุโรปเอง
นี่สะท้อนกลไกความร่วมมือในระดับภูมิภาค การมีสถาบันที่แข็งแกร่ง กฎระเบียบที่ชัดเจน และกระบวนการตัดสินใจที่ถูกต้องตามกฎหมาย ล้วนเป็นสิ่งสำคัญ ที่ช่วยป้องกันวิกฤติ และช่วยแก้ปัญหาได้ในที่สุด ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่งคั่งในเวลาปกติ และมีคุณค่าในยามตึงเครียด ปัญหาหลัก ที่เผชิญทุกวันนี้ คือ ทั้งเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม หรือการเมือง ไม่สามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ โดยประเทศใดตามลำพังอีกต่อไป
สำหรับคำถามที่ว่า การบูรณาการอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นสหภาพการคลัง สหภาพด้านธนาคาร และสิ้นสุดความเป็นรัฐชาติ เหล่านี้เป็นความปรารถนาของเยอรมนีหรือไม่ นายชอยเบิล มองว่า การบูรณาการของยุโรป ไม่ใช่แค่การสร้างสหพันธรัฐ อภิรัฐ หรืออาณาจักรใหม่ โมเดลนี้ ถือเป็นนวัตกรรม ยืดหยุ่น และจะได้รับการพิสูจน์ในอนาคต เพราะเรากำลังหาวิธีจัดการปัญหาที่ดีที่สุด และมีวิวัฒนาการ ในบางด้าน ชาติสมาชิกยังคงมีอำนาจในโมเดลแบบรัฐ แต่ด้านอื่นๆ เช่น การค้า และนโยบายการแข่งขัน ชาติสมาชิกจะต้องค่อยๆ ถ่ายโอนสิทธิไปสู่ระดับกลุ่ม ซึ่งวิกฤติสะท้อนว่า เราได้บูรณาการอย่างแข็งขันในบางด้าน อาทิ นโยบายการคลัง นโยบายเศรษฐกิจ กฎระเบียบและการกำกับดูแลภาคธนาคาร แต่เรายังไม่ได้สร้างสหรัฐแห่งยุโรป
ในฐานะรัฐ และประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เยอรมนี มีความสะดวกกว่าหลายๆ ประเทศเกี่ยวกับการมีนโยบายที่แตกต่างกัน ซึ่งจัดการโดยฝ่ายบริหาร ที่หลากหลายระดับ แต่โดยทั่วไปก็เพื่อทำให้ยุโรปแข็งแกร่งขึ้น และมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของเยอรมนีด้วยเช่นกัน
หากพิจารณาถึงต้นทุนช่วยเหลือทางการเงินสำหรับยุโรป ที่อาจสูงถึง 4 ล้านล้านยูโร หรือมากกว่านั้น ส่วนใหญ่ มาจากการประคับประคองของเยอรมนี ซึ่งมีคำถามต่อมาว่า เยอรมนี จะมีส่วนร่วมไปได้มากแค่ไหน กับความช่วยเหลือแบบปลายเปิดไม่รู้จบเช่นนี้
ขุนคลังเยอรมนี ตอบว่า เราอยู่ในยูโรโซน ที่มีกลไกด้านการเงินร่วมกัน ซึ่งเอื้อต่อเศรษฐกิจ การสูญเสียความเชื่อมั่นของนักลงทุน การเข้าถึงตลาดทุน และการบริหารการเงิน ในยามที่ต้องปฏิรูป ล้วนต้องการเวลาที่จะเห็นผล กลไกรักษาเสถียรภาพแห่งยุโรป (อีเอสเอ็ม) ก็ไม่ใช่เครื่องมือช่วยเหลือ ที่มากมายกว่ากรอบระดับโลกของไอเอ็มเอฟ แต่ย้ำถึงความแน่นแฟ้นในหมู่สมาชิก
ด้วยเหตุผลนี้ จึงไม่ถูกนักที่จะเรียกว่าต้นทุน การสนับสนุนของเยอรมนี ต่อโครงการปรับเปลี่ยนในกรีซ โปรตุเกส และไอร์แลนด์ หมายความว่า เรากำลังจัดการกับความเสี่ยง ซึ่งสมาชิกทั้งหมดของยูโรโซนต่างมีผลประโยชน์ จากการทำสิ่งต่างๆ ที่ช่วยให้กลุ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น
คำถามสุดท้าย ธนาคารกลางหลักๆ ต่างก็มีส่วนในการพิมพ์เงินออกมา ทั้งธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ธนาคารกลางญี่ปุ่น ไปจนถึงธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางเยอรมนีคัดค้านแนวทางด้านการเงิน เพื่อรับมือวิกฤติการคลังหรือไม่ และเรากำลังตกอยู่ในความเสี่ยงเงินเฟ้อขั้นรุนแรง (hyperinflation) หรือไม่
นายชอยเบิล กล่าวว่า โดยหลักการแล้ว สหภาพการเงิน จะเป็นอิสระจากธนาคารกลาง ซึ่งรัฐบาลยอมรับ และเมื่อพูดถึงการพิมพ์เงิน อีซีบี ก็มีพันธกิจชัดเจน และหนึ่งในนั้นคือ การทำให้ราคามีเสถียรภาพในยูโรโซน การกระทำจะต้องอยู่ภายใต้อำนาจ และไม่มีเหตุผล ที่จะต้องคิดว่า อาจมีการกระทำนอกเหนือจากนั้น และเมื่อพูดถึงบริบททั้งโลก เราก็ไม่อาจลืมว่า สาเหตุของวิกฤติการเงินปี 2550-2551 มาจากสภาพคล่องที่มากเกิน สำหรับธนาคารกลางทุกแห่ง การเดินออกจากมาตรวัด ที่ไม่มีมาตรฐานในเวลาที่เหมาะสม จะช่วยป้องกันไม่ให้สภาพคล่องที่เหลือเฟือ เปลี่ยนไปสู่แรงกดดันเรื่องเงินเฟ้อ
จากคุณ |
:
Wild Rabbit
|
เขียนเมื่อ |
:
15 ต.ค. 55 17:13:27
|
|
|
|