Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
Panic/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ติดต่อทีมงาน

Link : http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=7&t=54231
Credit : ขอบคุณคุณ Thai VI Article และคุณ ดร.นิเวศน์ครับ

โลกในมุมมองของ Value Investor          13 ตุลาคม 55

ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

Panic เจสัน หมาหอน

   ​นักลงทุนที่อยู่ในตลาดหุ้นมานานสิ่งหนึ่งที่เขาจะต้องพบก็คือ ตลาดหุ้นเกิด “Panic” ซึ่งถ้าแปลตรงตัวก็คือ ตลาดหุ้นเกิดอาการ “ตกใจกลัว” หรือ “อกสั่นขวัญหาย” มันเป็นอาการที่ราคาหุ้นทั้งตลาดหรือหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมหรือหุ้นตัวใดตัวหนึ่งตกลงมาอย่างหนักในระยะเวลาอันสั้น เช่น ภายในวันเดียวดัชนีตลาดหุ้นตกลงมาถึง 5% หรือถึง 10% และทำให้ตลาดหุ้นต้องพักการซื้อขายเพื่อให้คน “หายตกใจ” และมีเวลาพินิจพิจารณาว่าราคาหุ้นนั้นเหมาะสมกับมูลค่าที่แท้จริงหรือไม่และนักลงทุนควรที่จะขายหรือจะซื้อโดยอิงจากเหตุผลไม่ใช่อารมณ์ที่เกิดจากจิตวิทยาหมู่

  ​Panic ของตลาดหุ้นทุกครั้งนั้น แม้ว่าในระยะสั้นๆ สิ่งที่เหมือนกันก็คือ ดัชนีตลาดหุ้นตกลงมาอย่างแรงและรวดเร็ว แต่สาเหตุก็มักจะแตกต่างกันออกไป และที่สำคัญก็คือ การปรับตัวของดัชนีหลังจากนั้นก็อาจจะแตกต่างกันมาก ลองมาดูธรรมชาติของ Panic แต่ละแบบว่าเป็นอย่างไร การเรียนรู้นี้จะช่วยทำให้เราสามารถเอาตัวรอด “หนีตาย” ได้ทัน หรือไม่ก็อาจจะสามารถทำกำไรได้งดงามอย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะในกรณีที่ราคาหุ้นปรับตัวกลับขึ้นไปอย่างรวดเร็วหลังจากนั้น

  ​Panic แบบแรกคือสิ่งที่เรียกว่า “Panic เก๊” นี่คือ Panic ที่เกิดจากสาเหตุหรือเหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพื้นฐานของการดำเนินงานของตลาดหรือผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน พูดอีกทางหนึ่งก็คือ มันไม่ได้กระทบกับเศรษฐกิจหรือกระทบน้อยมาก แต่อาจจะเกี่ยวกับเรื่องทางการเมืองการปกครองซึ่งอาจจะรวมถึงความวิตกเรื่องของสงครามหรือความรุนแรงทางสังคมที่ทำให้คน “ตกใจ” และอาจจะ “จินตนาการ” ไปไกล และเทขายหุ้นโดยไม่คิดถึงพื้นฐานที่แท้จริงของกิจการและตลาดหุ้นโดยรวม จริงอยู่ นักลงทุนส่วนหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นคนส่วนใหญ่ด้วยซ้ำที่อาจจะ “ไม่กลัว” แต่พวกเขาก็คิดว่า ถ้าคนอื่นกลัวและขายหุ้นอย่างหนัก หุ้นก็จะต้องลงแรง ดังนั้น  พวกเขาก็จำเป็นต้องรีบขายหุ้นก่อนเหมือนกัน ผลก็คือ ตลาดก็ “ถล่ม” กลายเป็น Panic ที่ “เก๊” เพราะเมื่อหุ้นตกลงไปมากพอ คนที่มีเหตุผลและคนที่หายตกใจแล้วก็จะกลับมาซื้อหุ้นที่มีราคาถูก “คุ้มค่า” ส่งผลให้ราคาหุ้นวิ่งกลับมาอย่างรวดเร็ว บางทีสูงกว่าตอนก่อน Panic ด้วยซ้ำ

  ​ตัวอย่างของ Panic เก๊ นั้นมีมากมาย บางทีมากกว่า Panic จริงด้วยซ้ำ เช่น ในอเมริกานั้น เวลาประธานาธิบดีตายหรืออาจจะป่วยรุนแรงเป็นตายเท่ากันนั้น ราคาหุ้นก็จะดิ่งเป็น Panic แต่ทุกครั้งก็จะปรับตัวกลับมาอย่างรวดเร็ว เพราะเรื่องแบบนี้เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจน้อย ตัวอย่างเช่น ตอนที่ประธานาธิบดีเคนเนดี้ถูกลอบยิงเสียชีวิตนั้น ดัชนีหุ้นตกลงไปถึง 3% ในวันเดียว แต่พอวันรุ่งขึ้น ดัชนีกลับปรับขึ้น 4.5% และหลังจากนั้นหุ้นก็วิ่งต่อไป ในเมืองไทยเองก็มี Panic เก๊ อยู่เรื่อยๆ เช่นเมื่อปีก่อนที่เกิดเหตุเรื่องน้ำท่วมหรืออะไรบางอย่างที่ผมก็จำไม่ได้แล้ว ดัชนีตลาดหุ้นตกลงไปเกือบ 10% โดยที่ดูไปแล้วบริษัทจดทะเบียนโดยเฉพาะที่มีขนาดใหญ่เกือบทั้งหมดแทบจะไม่ได้รับผลกระทบเลย ดังนั้น เมื่อเวลาผ่านไปเพียงไม่กี่วันหรือไม่กี่เดือน ดัชนีหุ้นก็วิ่งกลับขึ้นมาและสูงกว่าก่อนเกิด Panic มาก

  ​Panic แบบที่สองเรียกว่า “Panic ฟองสบู่แตก” นี่คือกรณีที่หุ้นขึ้นไปสูงมากเป็นฟองสบู่ด้วยเหตุที่เศรษฐกิจหรือธุรกิจบางอย่างเช่น อสังหาริมทรัพย์หรืออย่างในอเมริกาช่วงปีทศวรรษ 1990 ของหุ้นไอที มีความเฟื่องฟูมากส่งผลให้คนเข้ามาเก็งกำไรกันอย่าง “บ้าคลั่ง” ราคาหุ้นขึ้นไปเกินพื้นฐานเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน Panic ฟองสบู่นั้นจะเกิดขึ้นในช่วงปลายของ “ยุค” ซึ่งอาจจะกินเวลาเป็นสิบปีเลยก็ได้ เมื่อฟองสบู่ “แตก” ซึ่งอาจจะเกิดจากเหตุการณ์บางอย่างที่รุนแรงเกี่ยวข้องกับหุ้นในกลุ่มนั้น ราคาก็จะตกลงแรงเป็น Panic ในวันแรกๆ และหลังจากนั้น หุ้นในกลุ่มก็จะตกลงไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่ถ้าดูจากผลการดำเนินงานหรือตัวอุตสาหกรรมแล้วก็ยังเติบโตต่อไป เพียงแต่ไม่หวือหวาเหมือนอดีต ราคาหุ้นที่ลดลงนั้นทำให้ค่า PE ของหุ้นลดลงจากที่เคยสูงลิ่ว พื้นฐานของกิจการนั้นอาจจะไม่เปลี่ยน แต่ความคิดและความเชื่อรวมถึง “ความโลภ” ของคนนั้นเปลี่ยนไป  ​ตัวอย่างของฟองสบู่แตกที่ทำให้ตลาดหุ้นเกิด Panic ก็มีมากมาย ไล่ไปตั้งแต่สมัยฟองสบู่ “ดอกทิวลิบ” ในดัทช์หรือเนเธอร์แลนด์เมื่อ 370 ปีก่อน หรือฟองสบู่ “ทะเลใต้” ในอังกฤษเมื่อ 300 ปีที่แล้ว และเมื่อเร็วๆ นี้ในปี 2001 ก็ฟองสบู่ “ดอทคอม” ในอเมริกา เมืองไทยเองก็น่าจะมีฟองสบู่ของอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 3-4 ปีก่อนปีวิกฤติ 2540 เป็นต้น

  ​Panic แบบที่สามคือ “Panic ติดเชื้อ” นี่คือ Panic ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการลุกลามมาจากที่อื่นโดยเฉพาะจากประเทศหรือตลาดขนาดใหญ่เช่นตลาดหุ้นสหรัฐ หรือตลาดหุ้นที่อยู่ในย่านหรือประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกันใกล้ชิดเช่นเป็นตลาดหุ้นเกิดใหม่ในเอเซีย เป็นต้น Panic ติดเชื้อนี้ ถ้าไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจที่ “ติดเชื้อ” ไปด้วย นั่นก็คือ ประเทศที่เกิดPanic มีปัญหาทางเศรษฐกิจและปัญหานั้นลุกลามไปยังประเทศอื่นซึ่งทำให้ประเทศนั้นมีปัญหาไปด้วย ในกรณีแบบนี้ Panic ติดเชื้อก็น่าจะ “หาย” เร็ว และตลาดหุ้นก็น่าจะกลับมาได้เร็ว เพราะปัญหามันไม่ได้เกิดจากพื้นฐาน แต่เกิดจากการที่คนกลัวและเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างตลาดหุ้นที่มักขึ้นหรือลงตามกันอันเป็นผลสำคัญจากการไหลของเม็ดเงินที่เป็นโลกานุวัตร

  ​ตัวอย่างของ Panic ติดเชื้อที่เห็นชัดเจนก็คือกรณีของตลาดหุ้นวิกฤติครั้งใหญ่ในสหรัฐในปี 1929 กรณีแบล็กมันเดย์ในเดือนตุลาคม ปี 1987 และ ปี 2008 กรณีซับไพร์ม ในเอเชียที่ติดเชื้อก็คือ ในปี 2540 ที่ตลาดหุ้นไทยเกิดวิกฤติและลามไปในตลาดหุ้นเกิดใหม่เกือบทุกประเทศในเอเชีย

  ​สุดท้ายก็คือ “Panic ที่แท้จริง” นี่คือ Panic ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์จริงที่มีผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจและหรือตลาดหุ้น มันทำให้เกิดการถดถอยหรือตกต่ำทางเศรษฐกิจซึ่งส่งผลต่อผลประกอบการและฐานะของบริษัทจดทะเบียนอย่างรุนแรง บางครั้งทำให้เกิดการล้มละลายอย่างเป็นระบบ และนี่เป็นสิ่งที่นักลงทุนทุกคนจะต้องตระหนักและเข้าใจว่ามูลค่าของกิจการจะต้องลดลงมาก ในกรณีอย่างนี้ การตกลงมาอย่างแรงของหุ้นเป็นเรื่องที่มีเหตุผล และอาจจะต้องใช้เวลายาวมากกว่าที่ดัชนีหุ้นจะปรับตัวกลับขึ้นมาอีก ยิ่งไปกว่านั้น บ่อยครั้งเราไม่รู้ว่าหุ้นจะตกลงไปถึงไหน บ่อยครั้งมันใช้เวลาหลายปีกว่าที่หุ้นจะตกถึงพื้น   และหุ้นอาจจะนิ่งอยู่อย่างนั้นเป็นเวลานานจนกว่าเศรษฐกิจจะมีทางออก ตัวอย่างก็คือ กรณีของวิกฤติตลาดหุ้นครั้งใหญ่ๆ ของโลกทั้งหลายรวมถึงตลาดหุ้นในยูโรโซนหลายๆ ประเทศในช่วงนี้

  ​ผมแบ่งแบบของ Panic ออกเป็น 4 แบบ แต่ความเป็นจริงก็คือ หลายๆ ครั้งมันก็มีลักษณะผสมผสานคาบเกี่ยวกัน อย่างเช่น Panic ส่วนใหญ่ก็มีลักษณะติดเชื้อด้วย หรือ Panic หลายๆ แบบก็มีองค์ประกอบของเรื่องความถดถอยของเศรษฐกิจอยู่ด้วย ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าเราจะต้องบอกได้ชัดเจนว่า Panic นั้นเป็นแบบไหนตายตัว แต่อยู่ที่ว่าเรารู้ว่า Panic ที่กำลังเกิดขึ้นนั้น มันจะยือเยื้อยาวนานไปแค่ไหน และเราควรจะทำอย่างไรกับการลงทุนของเรา หลักสำคัญก็คือ เราต้องวิเคราะห์ให้ออกว่าผลประกอบการและฐานะทางการเงินของกิจการหรือตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไร และนั่นจะทำให้เรารู้ว่า Panic นั้น เป็นภัยคุกคาม หรือ เป็นโอกาส

จากคุณ : มิ่งกลิ้ง
เขียนเมื่อ : 15 ต.ค. 55 20:08:46




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com