Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
แห่ซื้อ'ไทยเบฟ-สิงเทล-แอร์เอเชีย' รับอาเซียนลิงก์ ติดต่อทีมงาน

การเงิน - การลงทุน
วันที่ 19 ตุลาคม 2555 00:09
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


วิรไท สันติประภพ รองผู้จัดการ สายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)


เปิดอาเซียนลิงก์ 4 วัน นักลงทุนไทยซื้อ "ไทยเบฟ-สิงเทล-แอร์เอเชีย"สูงสุด หวังได้ประโยชน์จากกระแสอาเซียน ตลาดฯเล็งโรดโชว์ยุโรป-อเมริกา


น.ส.ศิริพร ผลโพธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายการลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศและซื้อขายตราสารหนี้ บล.ธนชาต เปิดเผยว่า ผลจากการเปิดเชื่อมโยงการซื้อขายหุ้นอาเซียน หรืออาเซียนลิงก์ 3 ตลาด คือ ตลาดหุ้นไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.หรือในช่วง 4 วันที่ผ่านมา พบว่าได้รับความสนใจจากนักลงทุนจำนวนมาก ทั้งที่มีการลงทุนต่างประเทศอยู่แล้ว และยังไม่เคยมีการลงทุน โดยหุ้นที่ลูกค้าของบริษัทไปลงทุนมากที่สุด คือไทยเบฟเวอเรจ (THAIBEV) สิงเทล (SINGTEL) ในสิงคโปร์ และแอร์เอเชีย (AIRASIA) ในมาเลเซีย

"นักลงทุนสนใจอาเซียนลิงก์มาก เพราะมองว่าหลังเปิดการเชื่อมโยงตลาดหุ้นในอาเซียนจะปรับขึ้น ซึ่งไทยเบฟในสิงคโปร์ได้รับความสนใจมากสุด เพราะจากข่าวการซื้อกิจการเอฟแอนด์เอ็น ประกอบกับหุ้นในกลุ่มนี้ในไทยได้ปรับขึ้นมาต่อเนื่อง แต่ไทยเบฟในสิงคโปร์ยังไม่ค่อยขยับ"

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกลูกค้าของบริษัทยังใช้ช่องทางการซื้อขายหุ้นต่างประเทศทางเดิมมากกว่าการใช้ช่องทางผ่านอาเซียนลิงก์ เป็นปกติเพราะเพิ่งจะเปิด แต่เชื่อว่าหลังจากนี้จะมีนักลงทุนเทรดผ่านอาเซียนลิงก์มากขึ้น ส่วนการลงทุนจากต่างชาติที่เข้ามาไทยนั้น ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง

นายวิรไท สันติประภพ รองผู้จัดการ สายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า การเปิดอาเซียนลิงก์ได้รับความสนใจจากนักลงทุนพอสมควร แต่ยังไม่อยากเปิดเผยมูลค่าการซื้อขาย(วอลุ่ม) เพราะเป็นช่วงแรกเริ่ม โดยอาเซียนลิงก์ทำให้ตลาดหุ้นในอาเซียนได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น โดยกลุ่มที่โดดเด่นและมีมูลค่าการซื้อขาย(วอลุ่ม)สูงที่สุด คือ แบงก์ สินค้าอุตสหกรรม และเทเลคอม ในส่วนที่เป็นบริษัทมือถือ

สำหรับตลาดหุ้นไทย กลุ่มที่โดดเด่นเมื่อเทียบกับตลาดอื่นในอาเซียนคือ กลุ่มเคมีภัณฑ์ วัสดุก่อสร้าง โรงพยาบาล น้ำมันและก๊าซ และกลุ่มค้าปลีก ขณะที่มาเลเซียจะเด่นเรื่องแบงก์ ชิปปิ้ง ทำให้มาเสริมซึ่งกันและกันมากกว่าจะมาแข่งขันกัน

แต่หากมองในแง่ศักยภาพของบริษัทจดทะเบียนไทย(บจ.) เทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน พบว่าสามารถแข่งขันได้ โดยมีถึง 7 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราส่วนกำไรต่อทุน (ROE) สูงกว่าค่าเฉลี่ย และมีถึง 5 กลุ่มที่มี ROE สูงที่สุดในอาเซียน คือ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม มีROE ที่ระดับ 18.9% กลุ่มประกันอยู่ที่ 18.3% กลุ่มสื่ออยู่ที่ 52.6% กลุ่มที่อยู่อาศัย 11.8% และกลุ่มค้าปลีก มีROE ที่ระดับ 29.4%

"แต่ละตลาดมีจุดเด่นไม่เหมือนกัน ไทยจะมีนักลงทุนรายย่อยจำนวนมาก ขณะที่มาเลยเซีย มีนักลงทุนสถาบันเยอะ ส่วนสิงคโปร์มีหลายประเภท แต่จะเด่นพวกไฮเน็ตเวิร์ค ซึ่งการเปิดอาเซียนลิงก์นอกจากจะทำให้นักลงทุนรายย่อยไทยไปลงทุนหุ้นต่างประเทศได้สะดวก และมีทางเลื่อกการลงทุนมากขึ้น เราจะโรดโชว์เพื่อดึงนักลงทุนสถาบันจากมาเลเซียมาไทยด้วย ขณะที่รายย่อยของมาเลเซียก็สนใจที่จะลงทุนไทย โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน เช่น ปตท. เพราะกลุ่มพลังงานในมาเลเซียมีน้อย"

ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ มีแนวคิดที่จะชวนบริษัทแต่ละกลุ่มที่อยู่ในอาเซียนลิงก์ไปโรดโชว์ร่วมกันที่สหรัฐและยุโรป แทนที่แต่ละประเทศจะแยกกันไป เช่นกลุ่มธนาคาร กลุ่มพลังงาน เป็นต้น เพราะเมื่อรวมกัน
จะทำให้มีความน่าสนใจมากขึ้น

 
 

จากคุณ : Wild Rabbit
เขียนเมื่อ : 19 ต.ค. 55 17:20:02




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com