ลงทุนหุ้นปันผล 'สุรเชษฐ์ กมลมงคลสุข'
|
|
วันที่ 22 ตุลาคม 2555 01:00 โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ผมจะไม่ซื้อหุ้นสุ่มสี่สุ่มห้าผมมองว่า'จังหวะเข้า'สำคัญกว่า 'จังหวะออก' เสมอ! เราต้องดูว่าราคาที่จะเข้าเกินราคาพื้นฐานของหุ้นตัวนั้นหรือยัง
“สวัสดีครับ! หุ้น VGI เปิดซื้อขายวันแรก 60 บาทเลยเหรอครับ ช่วงนี้หุ้นไอพีโอร้อนแรงหน้าดู” "ฮง" สุรเชษฐ์ กมลมงคลสุข นักธุรกิจวัย 40 ปี กรรมการผู้จัดการ บมจ.ที.เอ็ม.ซี อุตสาหกรรม (TMC) กล่าวทักทาย “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ด้วยประเด็นฮิตประจำวัน เพราะหุ้น TMC ของเขาก็เป็น "ว่าที่..หุ้นน้องใหม่" ในตลาดหลักทรัพย์ mai ได้ฤกษ์เข้าซื้อขายในวันที่ 26 ตุลาคม 2555 ที่จะถึงนี้
บิซวีค เปรยว่า หุ้น TMC เข้าซื้อขายวันแรก ราคาหุ้นน่าจะไปได้สวย เขาตอบว่า "ผมก็หวังว่าจะเป็นเช่นนั้น" หุ้นของเขาจำนวน 85 ล้านหุ้น เคาะราคาไอพีโอ 3.90 บาท มีส่วนลดให้กับนักลงทุนผู้จองซื้อ 25% เมื่อเทียบกับ ค่าพี/อี เรโช ของตลาดหลักทรัพย์ mai ในช่วง 3 เดือน เป็นเทคนิคที่ "ที่ปรึกษาทางการเงิน" ทุกรายชอบใช้ในการ "ปั่นกระแส" หุ้นไอพีโอให้ร้อนแรงหลังเข้าตลาดวันแรก
“ฮง” รำลึกชีวิตวัยเด็กให้ฟังว่า ครอบครัวเป็นคนจีนเป็นลูกชายคนโต เกิดมาก็วิ่งเล่นอยู่ในโรงกลึงชื่อ “ทวีมิตรการช่าง” (ทวีมิตร คือ ชื่อบิดา) กับพี่น้อง 4 คน พ่อยึดอาชีพโรงกลึงได้ 2 ปี ก็เปลี่ยนไปทำเครื่องจักรไฮดรอลิกประเภทเครื่องเพรสขนาดเล็ก ระบบ Manual ตอนนั้นเมืองไทยยังไม่มีใครทำ ส่วนใหญ่จะนำเข้ามาขายจากต่างประเทศ พูดพลางโชว์รูปเครื่องจักรสมัยโบราณให้ดู
แรกๆ คุณพ่อก็ขายเครื่องจักรให้กับพวกอู่ซ่อมรถยนต์ และอู่ซ่อมมอเตอร์ไซค์ เป็นเครื่องขนาด 30 ตัน ปัจจุบันเรามีเครื่องนี้ขนาด 10-150 ตัน ตอนโน้นคุณพ่อทำคนเดียว พอกิจการเริ่มดีก็จ้างลูกน้องมากขึ้น ใช้เวลา 2-3 ปี กว่าลูกค้าจะยอมรับ เมื่อกิจการเข้าสู่ยุค “รุ่งเรือง” ในปี 2525 คุณพ่อก็จัดตั้งโรงกลึงเป็นบริษัท ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท
"ช่วงนั้นผมอายุ 11 ปี ยังไม่ช่วยงานอะไร เริ่มเข้ามาช่วยในบริษัทช่วงปี 2537 หลังเรียนจบปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมอุตสาหการสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ทำได้ 1-2 ปี ก็ออกไปเรียนต่อปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ Murray State University, USA ผมเริ่มปูพื้นการเรียนตัวเองตั้งแต่เด็กๆ เพราะรู้ว่าโตขึ้นต้องมารับกิจการต่อจากคุณพ่อ (พ่อบอกตลอด) โชคดีที่ชอบเรียนเกี่ยวกับคำนวณ อีกอย่างโตมาก็เจอเครื่องจักรแล้วมันซึมซับทุกวัน..เมื่อเรียนจบปริญญาโท ผมก็กลับเข้ามาทำงานในบริษัททันทีประมาณปี 2540 เป็นช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ยอดขายหายไป 50% จากปีละ 200 ล้านบาท"
เมื่อกลับมาทำงานในบริษัทเต็มตัว ฮง เข้ามาจัดการเรื่องระบบการเงินเป็นอันดับแรก เพราะที่ผ่านมาบริษัทกู้เงินมาใช้ผิดประเภท ทำให้มีต้นทุนสูง เมื่อก่อนมีพันธมิตรต่างประเทศอยากมาร่วมงานด้วยพอเขาขอดูระบบการเงินก็โบกมือลาเลย เขาต้องใช้เวลาทำความเข้าใจพักใหญ่พ่อถึงยอมรับการเปลี่ยนแปลง และเห็นว่ามันใช้ได้ผลจริงๆ เพราะกำไรขั้นต้นเริ่มสูงขึ้น ต้นทุนต่างๆ เริ่มลดลง
ก่อนจะเข้าเรื่องแผนธุรกิจของ TMC “ฮง” เล่าว่า ตนเองชอบลงทุนในตลาดหุ้น เริ่มศึกษาจริงจังตอนปี 2553 หลังคิดแผนจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อก่อนไม่รู้จักเลยนะเรื่องหุ้น เงินเก็บก็เอาไปฝากแบงก์ หรือซื้อสลากออมสิน เริ่มศึกษาจากหนังสือ รวมถึงหนังสือของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ใช้เวลาอ่าน 2-3 เดือน ก่อนจะเดินไปเปิดพอร์ตลงทุนกับ บล.ธนชาต จังหวัดชลบุรี ด้วยเงินจำนวน 100,000 บาท
หุ้น ค้าเหล็กไทย (TMT) เป็นหุ้นตัวแรกในชีวิต ตอนนั้นปักธงว่า ต้องเลือกหุ้นปันผล และต้องรู้จักอุตสาหกรรมของหุ้นตัวนั้นเป็นอย่างดี พอมาคัดๆ ก็เจอหุ้น TMT ให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลปีละ 7-8% ซื้อมา 5 บาท ดัชนีราวๆ 800-900 จุด ถือว่าเลือกการลงทุนได้ถูกต้อง เพราะกินเงินปันผลมาเรื่อยๆ ในอดีตเคยซื้อกลุ่มสื่อสาร อาทิ หุ้น ADVANC หุ้นตัวนี้จ่ายเงินปันผลเกิน 10% (รวมเงินปันผลพิเศษ) ซื้อตอน 70 บาท ผ่านมากว่า 1 ปี รับปันผล 2-3 รอบ ราคาทะยานไปหลักร้อยบาทก็ขาย
หุ้นทุกตัวที่ลงทุนไม่ถือว่าประสบความสำเร็จทุกตัว แต่ไม่เคยตัดขาดทุน มีแต่ถือนานๆ แล้วไม่ได้ปันผล พอราคาขยับเกินต้นทุนนิดหน่อยก็จะขายออกไป แล้วก็ไปมองหาหุ้นปันผลตัวอื่น จำไม่ผิดเคยซื้อหุ้น AP สุดท้ายราคาหุ้นต่ำกว่าต้นทุน ติดตัวแดงมานาน ก็เลยขายออกไป แต่ช่วงนั้นได้เงินปันผลตลอด
ถามถึงกลยุทธ์การลงทุน “ฮง” บอกว่า ชื่นชอบหุ้นปันผลอย่างน้อยต้องมีผลตอบแทนจากเงินปันผล 5% จะถือหุ้นตัวนั้นไปจนกว่าจะรู้สึกว่าราคากำลังเข้าข่ายเต็มมูลค่า จากนั้นก็จะขายออกมาเพื่อนำเงินไปซื้อหุ้นตัวใหม่ที่ดีกว่า หรือหากตัวเดิมราคาลงมาและมีแนวโน้มจะไปต่ออีกก็จะหาจังหวะซื้อใหม่อีกครั้ง
"ผมจะไม่เข้าสุ่มสี่สุ่มห้า จังหวะเข้าสำคัญกว่าจังหวะออกเสมอ เราต้องดูว่าราคาที่จะเข้ามันเกินราคาพื้นฐานของหุ้นตัวนั้นหรือยัง ส่วนใหญ่ผมจะตั้งจังหวะออกไว้เมื่อได้กำไร 20% แล้วไปหาจังหวะเข้าตัวเดิมใหม่ "
การที่ไม่ค่อยมีเวลาดูหุ้นมากนัก เขาจึงลงทุนในตลาดหุ้นโดยตรงเพียง 30% ลงทุนผ่านกองทุน RMF และ LTF 20% ที่เหลือจะนำไปฝากประจำและเก็บไว้ใช้จ่ายเพราะการซื้อหุ้นทั้งหมดมีความเสี่ยงมากเกินไป ที่ผ่านได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10-15% ต่อปี..แค่นี้ก็พอใจ
“ฮง” ทิ้งท้ายบทสนทนาว่า ปัจจุบันคุณพ่อ (ทวีมิตร กมลมงคลสุข) เป็นประธานบริษัทแต่ทำหน้าที่เหมือนผู้จัดการโรงงานเดินตรวจโรงงานทุกวัน เดินวันละหลายๆ รอบ คุณพ่อจะสอนเสมอว่า การเดินก็เหมือนการใส่ปุ๋ยให้พื้นที่ของโรงงาน ถ้าเราเดินเยอะธุรกิจก็จะยิ่งเจริญเติบโตงอกงาม เราเองก็ได้เห็นข้อบกพร่องว่าต้องแก้ไขอะไรบ้าง นี่คือ เคล็ดลับทางธุรกิจของ บมจ.ที.เอ็ม.ซี อุตสาหกรรม (TMC) ว่าที่..หุ้นน้องใหม่ในตลาด mai
'ที.เอ็ม.ซี' ตั้งเป้ารายได้เติบโตเฉลี่ยปีละ 30% นักธุรกิจวัย 40 ปี สุรเชษฐ์ กมลมงคลสุข กรรมการผู้จัดการ บมจ.ที.เอ็ม.ซี อุตสาหกรรม ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องจักรระบบไฮดรอลิกประเภทต่างๆ เล่าทิศทางการเติบโตให้ฟังว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ยังเป็นขาขึ้นทำให้ธุรกิจของบริษัทมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก
ส่วนหนึ่งของเงินระดมทุนจะนำไปสร้างโรงงานแห่งที่ 3 จากปัจจุบันโรงงานทั้ง 2 แห่ง ผลิตเต็ม 100% ไม่เพียงพอกับคำสั่งซื้อที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เป็นรายได้หลักกว่า 50% มีออเดอร์เข้ามาเป็นจำนวนมาก ส่วนที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและชำระคืนเงินกู้ยืม ซึ่งในปีนี้ บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 30% คาดว่าสิ้นปีนี้ จะมีรายได้จากอุตสาหกรรมยานยนต์ 50% เครื่องใช้ไฟฟ้า 15% เกษตรแปรรูป 10% ที่เหลือเป็นโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป
สำหรับโรงงานแห่งใหม่จะแบ่งออกเป็น 2 เฟส มีพื้นที่ใช้สอยเฟสละ 4,800 ตารางเมตร รวม 2 เฟส 9,600 ตารางเมตร โดยเฟส 1 จะเริ่มก่อสร้างในไตรมาส 1 ปี 2556 และเฟส 2 คาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างได้ภายหลังเฟสที่ 1 เสร็จแล้ว ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถวางแผนสายการผลิตได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและใช้เวลาในการผลิตน้อยลง ถ้าโรงงานแห่งที่ 3 เสร็จ ที.เอ็ม.ซีอาจมียอดขายเติบโตในช่วง 3 ปีข้างหน้าเฉลี่ยปีละกว่า 30%
"ตอนแรกเราตั้งเป้าการเติบโตของยอดขายแบบอนุรักษนิยมเฉลี่ยที่ 25% เพราะอุตสาหกรรมไฟฟ้าในประเทศชะลอตัว สินค้าใหม่ไม่ได้ออกมาถี่เหมือนอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มักเปลี่ยนโมเดลตลอดเวลา ผมเลยปรับแผนหันมาโฟกัสอุตสาหกรรมยานยนต์มากขึ้น โดยปกติเวลาเจ้าของแบรนด์จะเปลี่ยนรถรุ่นใหม่เราจะรู้ก่อน เราก็จะเข้าไปคุยกับลูกค้าที่ทำงานให้กับเจ้าของแบรนด์นั้นๆ ทันที เพื่อจะได้เตรียมกำลังการผลิตได้ถูกต้อง"
เขาคาดว่า อุตสาหกรรมยานยนต์จะเติบโตปีละกว่า 30% แต่อาจไม่โตในเมืองไทยแต่จะไปเติบโตในต่างประเทศ อาทิ อินโดนีเซียและอินเดีย เป็นต้น อุตสาหกรรมยานยนต์เติบโตที่ไหนบริษัทก็จะไปขายสินค้าที่นั่น ซึ่งในปี 2554 บริษัทมียอดขายในต่างประเทศ 6.97% ผ่านมา 6 เดือนแรกของปี 2555 สัดส่วนนี้เพิ่มเป็น 14.58% ที่เหลืออีก 85% เป็นยอดขายในประเทศ ขณะที่ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ตั้งเป้ามียอดขายต่างประเทศ 20% ในประเทศ 80% เชื่อว่าสัดส่วนนี้ทำได้แน่นอน
จากคุณ |
:
Wild Rabbit
|
เขียนเมื่อ |
:
22 ต.ค. 55 08:51:23
|
|
|
|