|
มีข้อสงสัยเกิดขึ้นนับตั้งแต่การเพิ่มทุนแบบก้าวกระโดดจาก 50 ล้านบาท เป็น 325 ล้านบาท ด้วยวิธีการอันซับซ้อนโดยออกใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิ ได้ (SLC-T1) ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วน 1 หุ้นเดิมได้ SLC-T1 จำนวน 5 หน่วย โดย 1 หน่วยสามารถใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญได้ 1 หุ้น ที่ราคา 0.40 บาท อายุของ SLC-T1 สั้นเพียง 60 วัน (ใช้สิทธิครั้งสุดท้ายวันที่ 15 กรกฎาคม 2553)
นอกจากนี้ มีการออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ (SLC-W1) 250 ล้านหน่วย ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วน 2 หุ้นเดิมได้วอร์แรนท์ 1 หน่วยสามารถใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญได้ 1 หุ้น ที่ราคา 0.40 บาท อายุ 5 ปี (หมดอายุวันที่ 16 พฤษภาคม 2558)
การเพิ่มทุนดังกล่าวของ SLC เพื่อรองรับ SLC-T1 และ SLC-W1 มีจำนวนสูงถึง 5.5 เท่าของทุนชำระแล้วก่อนเพิ่มทุน ทั้งวิธีการและเงื่อนไขการเข้ามาของกลุ่มวงศ์ชินศรี ตลาดหลักทรัพย์ต้องสั่งให้ชี้แจงถี่ยิบ การเปลี่ยนมือจากเจ้าของเดิมกลุ่ม นิทัศน์ มณีศิลาสันต์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ SLC ได้ขายหุ้น 65.30% ให้กลุ่มธนพันธ์ วงศ์ชินศรี ในราคาหุ้นละ 3.50 บาท หลังจากนั้นก็มีการเข้ามาของกลุ่มนักเก็งกำไรยาวเป็นหางว่าว พร้อมกับข่าวลือว่า ฉาย บุนนาค เซียนหุ้นชื่อดังมีฐานะเป็น ญาติ กับตระกูลวงศ์ชินศรี และเกี่ยวข้องกับดีลนี้
ไม่เพียงการเพิ่มทุนจะมโหฬารเท่านั้น ผู้ถือหุ้นกลุ่มวงศ์ชินศรี ยังต้องการมูฟตัวเองจากธุรกิจ ซอฟต์แวร์-ฮาร์ดแวร์ ไปสู่ธุรกิจใหม่ เป้าหมายต้องการระดมทุนจำนวน 1,000 ล้านบาท นำไปลงทุนในธุรกิจใหม่หนึ่งในเป้าหมายสำคัญคือธุรกิจ New Medias ทั้งโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม และซื้อหนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ
จาก มด จะแปลงร่างเป็น ช้าง ภาพปริศนาต่างๆ หลายคนจึงไม่มั่นใจว่าจะเป็น ของจริง ที่ผ่านมาบริษัทได้เริ่มทดลองออกอากาศสถานี สปริง นิวส์ (Spring News) ผ่านระบบเคยู-แบนด์ มาตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2553 บางกระแสระบุว่าเป็นการจับมือกันระหว่างทีมของ ไอเอ็นซี (ฉัตรชัย ตะวันธรงค์) กับ โฆสิต สุวินิจจิต อดีตผู้ก่อตั้งมีเดีย ออฟ มีเดียส์
สำหรับข้อสงสัยมีความเกี่ยวดองเป็นญาติกับ ฉาย บุนนาค เซียนหุ้นคนดัง ธนพันธ์ วงศ์ชินศรี ชี้แจงว่า ที่จริงแล้วมีความเกี่ยวข้องที่ห่างกันมากๆ เคยเจอกันเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น ขอรับรองว่าไม่ได้เป็นนอมินีของฉายแน่นอน อดีตพนักงานขายฝ่ายเทคนิค บริษัท สิทธิพร แอสโซซิเอส จำกัด หนุ่มน้อยวัย 26 ปี เหตุไฉนมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ SLC ได้ ธนพันธ์ เล่าว่า บริษัท สิทธิพร แอสโซซิเอส จำกัด เป็นธุรกิจของครอบครัว ดำเนินกิจการจำหน่ายเครื่องมือวิทยาศาสตร์ทั้งหมด 13 ประเภท มีมูลค่าธุรกิจประมาณ 700-800 ล้านบาท แรกเริ่มบริษัทถูกชักชวนจากตลาดหลักทรัพย์ให้เข้าตลาดหุ้น (mai) ตั้งนานแล้ว แต่สุดท้ายเลือกเข้ามาถือหุ้น SLC แทนเพราะน่าจะช่วยเสริมเรื่องระบบซอฟต์แวร์เข้ากับฮาร์ดแวร์ได้
ผมมองว่าสองบริษัทน่าจะ Synergy กันได้ ตอนแรกก็คิดที่จะ Backdoor เหมือนกันแต่เรามีผู้ถือหุ้นหลายคนทำให้ความเห็นไม่ลงตัว ถึงตอนนี้คิดว่าคงไม่นำบริษัท สิทธิพร แอสโซซิเอส เข้าตลาดหุ้นแล้ว
สำหรับ บมจ.โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) แผนงานในส่วนของธุรกิจซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ จะขยายไปหากลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่และรายเล็กจากเดิมเน้นจับลูกค้าขนาดกลาง คาดว่าจะช่วยขยายฐานลูกค้าได้อีกมากและมีมาร์จินมากขึ้น ปกติบริษัทจะรับงานประมูลจากราชการ 70% และเอกชน 30% ตอนนี้มีงานรอรับรู้รายได้ 60-70 ล้านบาทแล้ว คาดว่าจะมีงานประมูลใหม่มูลค่า 800-900 ล้านบาท บริษัทคาดหวังว่าจะประมูลได้ 80-90% และจะเน้นงานด้านพัฒนาบุคคล (HRM) ที่ถนัด ส่วนงบลงทุนในปีนี้ตั้งไว้ 200 ล้านบาท จะนำไปซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติมส่วนใหญ่มาจากเงินเพิ่มทุน
เราคาดหวังว่าปีนี้ บริษัทจะไม่ขาดทุน ส่วนเรื่องกำไรคงทำได้แค่ถึงจุดคุ้มทุน แต่ในแง่รายได้น่าจะโตได้ 20% (ปี 2552 มีรายได้รวม 46 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 28 ล้านบาท) ธนพันธ์ ยังบอกด้วยว่า การซื้อหุ้นเพิ่มทุนของกลุ่มวงศ์ชินศรี (ถือหุ้นอยู่ 16%) ถึงตอนนี้ยังไม่ตัดสินใจว่าจะซื้อหุ้นเพิ่มทุนอีกเท่าไรขอรอดูสถานการณ์ก่อน
ส่วนแผนการขยายธุรกิจนิวมีเดียด้วยการจัดตั้งบริษัท สปริงก์ คอร์ปอเรชั่น เพื่อทำสถานีข่าวในชื่อ Spring News ที่มีข่าวลือว่ามีอดีตนักการเมืองใหญ่หนุนหลัง อารักษ์ ราษฎร์บริหาร ชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริง
ชีวิตนี้ผมไม่คิดคบนักการเมืองอยู่แล้ว เป็นไปได้ว่าพี่ซัน (ฉัตรชัย ตะวันธรงค์ กรรมการผู้จัดการ) เขาอาจจะรู้จัก แต่ผมไม่รู้จัก
สำหรับธุรกิจใหม่นี้ตั้งเป้าขอมีสปอนเซอร์ 10-20 ราย รายได้โฆษณาเข้าเดือนละ 5-6 ล้านบาท คาดว่าจะใช้เงินลงทุนกับธุรกิจนิวมีเดีย 300 ล้านบาท ตอนนี้ใช้ไปแล้ว 50-60 ล้านบาท ธุรกิจทีวีดาวเทียม 2 ปีแรกไม่หวังเรื่องกำไร น่าจะคุ้มทุนในปีที่ 3 คาดหวังผลตอบแทนการลงทุนไว้ที่ 15%
สำหรับแผนการซื้อหัวหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ อารักษ์ บอกว่า ดีลน่าจะจบได้ในไตรมาสสามปีนี้ มีข้อตกลงว่าจะไม่รับซื้อส่วนที่เป็นหนี้สิน เรื่องของเงินที่ต้องใช้ยังไม่สามารถระบุได้ แม้จะยอมรับว่าเป็นการลงทุนที่ เกินขนาด แต่น่าจะเป็นชิ้นส่วนที่เชื่อมต่อกับธุรกิจทีวีดาวเทียมได้ลงตัว
เขาบอกว่าหลังการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น บริษัทได้กวาดบ้านครั้งใหญ่ทั้งผู้บริหารและบอร์ดบริหารมีผู้เชี่ยวชาญหลาก หลายเพื่อเสริมความแข็งแกร่ง ถามว่าอนาคตของ บมจ.โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จะเป็นอย่างไร ซีอีโอรายนี้ตอบว่า ทิศทางรายได้ในปีนี้น่าจะ ดีขึ้น กว่าปีที่แล้วที่ขาดทุน 28 ล้านบาท ตรงนี้แน่นอน ส่วนเม็ดเงินจากการออก SLC-T1 จะเรียกชำระเงินในสัปดาห์ที่ 3 หรือ 4 ของเดือนมิถุนายน และหุ้นจะเข้าเทรดในไม่เกินเดือนกรกฎาคม
ส่วนเรื่องที่มีการแก้ไขราคาพาร์จาก 1 บาท เป็น 0.10 บาท โดยไม่แจ้งวาระล่วงหน้า อารักษ์ ชี้แจงว่ามีผู้ถือหุ้นรายหนึ่งถือหุ้นในระดับที่มีสิทธิเสนอวาระเพิ่มเติม ได้ เสนอให้แตกพาร์เพื่อเพิ่มสภาพคล่องซึ่งผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่อนุมัติ บริษัทมองว่าไม่มีผลต่อผลประกอบการ
ส่วนรูปร่างหน้าตาของบริษัทหลังจากนี้ สัดส่วนรายได้ปี 2553 น่าจะมาจากธุรกิจซอฟต์แวร์ 70% และธุรกิจดาวเทียม 30% ส่วนรายได้จากสื่อสิ่งพิมพ์จะตามมาทีหลังในปี 2554 เป้าระยะสั้นในภาวะแบบนี้ขอไม่ขาดทุนก็ดีใจแล้ว ส่วนแนวโน้มในอนาคตมั่นใจว่าเป็น ขาขึ้น แน่นอน
ผมยืนยันได้ว่กลุ่มวงศ์ชินศรี เขาเข้ามาลงทุนหุ้น SLC ระยะยาว อารักษ์ ราษฎร์บริหาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) ให้ความเชื่อมั่น โดยมี ธนพันธ์ วงศ์ชินศรี ผู้ถือหุ้นใหญ่วัย 26 ปี นั่งอยู่เคียงข้าง ท่ามกลาง เสือ-สิงห์ ที่เข้ามาจับจองหุ้น SLC เอาไว้แล้วก่อนหน้านี้
จากคุณ |
:
TNDS
|
เขียนเมื่อ |
:
26 ต.ค. 55 16:56:22
|
|
|
|
|